xs
xsm
sm
md
lg

การสร้างสถาบันการเมืองกับปมปัญหาของอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

สถาบันการเมืองไทยตั้งแต่รัฐบาล พรรคการเมือง จนไปถึงองค์กรอิสระทั้งหลายมักเผชิญกับปมปัญหาอย่างหนึ่งระหว่างการมีอำนาจกับความโน้มเอียงของการใช้อำนาจ หากสถาบันการเมืองได้รับการออกแบบให้มีอำนาจน้อย ผลลัพธ์คือความไร้เสถียรภาพ อ่อนแอ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และไม่อาจปฏิบัติงานให้บรรลุตามความคาดหวังของสังคม ครั้นกำหนดให้มีอำนาจมาก ผลลัพธ์คือความมีเสถียรภาพล้นเกิน แข็งตัว ไม่ตอบสนองความต้องการของสังคม และมีแนวโน้มใช้อำนาจในทางที่ผิด

บทเรียนของสิ่งเหล่านี้เห็นได้จากสถาบันทางการเมืองที่ได้รับการออกแบบในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เริ่มจาก “รัฐบาล” ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นรัฐบาลที่เข้มแข็ง โดยมีฐานมาจากการให้อำนาจแก่พรรคการเมืองมากในการควบคุมสมาชิกพรรค การเป็นส.ส.ได้ต้องสังกัดพรรคการเมือง หาก ส.ส.คนใดถูกขับจากออกจากพรรคอนาคตทางการเมืองก็จะดับวูบลงไป และยังได้กำหนดให้การตรวจสอบรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎรทำได้ยากโดยกำหนดเสียงที่ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสัดส่วนที่สูงมาก

ผลลัพธ์ที่ตามมาจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นเป็นไปตามที่ผู้ออกแบบประสงค์ไว้ส่วนหนึ่งคือ สังคมได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพสูงมาก ส.ส.ที่สังกัดพรรครัฐบาลปฏิบัติตามมติพรรคอย่างเคร่งครัดโดยไม่ไถ่ถามเหตุผลและความชอบธรรมใดๆที่อยู่เบื้องหลัง การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลดำเนินไปอย่างราบรื่นแทบไม่มีอุปสรรคใดมาขวางกั้น และฝ่ายค้านในสภาก็ไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้เลย

แต่ผลลัพธ์อีกด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆกันซึ่งอยู่นอกเหนือจินตนาการและสติปัญญาของผู้ออกแบบคือ รัฐบาลใช้อำนาจในทางที่ผิดและมีการทุจริตอย่างมหาศาลอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีการใช้อำนาจกลั่นแกล้งนักการเมือง สื่อมวลชน และนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลอย่างกว้างขวาง เช่น การใช้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลอย่างไม่เป็นธรรม การใช้อำนาจรัฐในการสังหารประชาชนโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมเกือบสามพันคน และการทุจริตเอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องอีกนับไม่ถ้วน และที่สำคัญคือการมีท่าทีคุกคามสถาบันหลักดั้งเดิมของชาติที่ผู้คนให้ความเคารพ

ปมปัญหาของอำนาจนี้ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะรัฐบาลและพรรคการเมือง หากแต่เกิดขึ้นกับองค์กรอิสระต่างๆด้วย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างน้อยมี 3 แบบ ตามลักษณะของสามองค์การ องค์การแรกคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง ถัดมาคือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสุดท้ายคือสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์การที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อทำให้การเลือกตั้งมีความสุจริตและเที่ยงธรรม ผู้ออกแบบจึงมอบอำนาจให้มากมายทั้งในการจัดการและการควบคุมการเลือกตั้ง โดยมีอำนาจในการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้กระทำการทุจริตในการเลือกตั้ง ผู้ออกแบบคาดหวังว่า กกต.มีความกล้าหาญและความสุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ และดำเนินการกวาดล้างนักการเมืองที่ทุจริตเลือกตั้งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้ได้นักการเมืองที่ดีไปปฏิบัติหน้าที่นิติบัญญัติและบริหารประเทศ

การทำหน้าที่ของกกต.ในระยะสามปีแรกดูเหมือนว่าจะมีร่องรอยของการดำเนินการตามแนวทางที่ผู้ออกแบบประสงค์อยู่บ้าง แต่ต่อมาภายหลังเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง กกต.เป็นชุดใหม่ ปรากฏว่าการทำหน้าที่ของ กกต.นอกจากจะไม่สามารถลดการทุจริตเลือกตั้งได้แล้ว ยังได้สร้างรูปแบบใหม่ของการทุจริตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นไปอีก อันเป็นผลมาจากการใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่มิชอบ ด้วยมีเสียงครหาและเรื่องราวอื้อฉาวออกมาสู่สาธารณะอยู่เนืองๆเกี่ยวกับการขายสำนวนและปัดเป่าคดีการทุจริต ทั้งที่มาจากการเปิดเผยของกกต.บางคนเองซึ่งได้ยอมรับว่ามีปัญหาเจ้าหน้าที่แสวงหาประโยชน์จากสำนวนคดี และที่มาจากการเปิดเผยของนักการเมืองที่เคยมีประสบการณ์ด้วยตนเอง

ยิ่งมีการปฏิบัติหน้าที่นานเท่าไรดูเหมือนความชำนาญในการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเป็นไปอย่างแยบยลมากขึ้น แต่ก็ไม่อาจปกปิดการกระทำเหล่านั้นได้เพราะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ถูกกระทำเป็นนักการเมืองซึ่งมักนำเรื่องราวที่ตนเองประสบไปบอกเล่าแก่ผู้คนรอบข้าง รวมทั้งนักข่าวด้วย เรื่องราวการประพฤติมิชอบของกกต. จึงแพร่หลายออกไป ยิ่งไปกว่านั้น กกต.บางชุดประพฤติมิชอบจนถูกฟ้องร้องและถูกศาลตัดสินจำคุกถึงสองศาลคือศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามหลักฐานของความประพฤติ และแม้ว่าในที่สุดศาลฎีกาจะตัดสินให้ยกฟ้องด้วยระบุว่าผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงจึงไม่มีอำนาจฟ้อง แต่นั่นก็ไม่อาจลบล้างนัยทางสังคมที่สองศาลแรกตัดสินเอาไว้เพราะตัดสินตามพฤติการณ์แห่งคดีเป็นหลัก

ผลลัพธ์ของการทำหน้าที่ของกกต. จึงเบี่ยงเบนไปจากเจตนารมณ์ของผู้ออกแบบชนิดหน้ามือเป็นหลังเท้า จนทำให้การเมืองไทยต้องยังคงจมปลักอยู่ในวังวนของวัฏจักรชั่วร้ายแบบเดิมๆดังที่เกิดขึ้นในอดีตก่อนที่ยังไม่มีการจัดตั้ง กกต.ขึ้นมา ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีกระแสของการเรียกร้องแบบย้อนกลับให้จำกัดการทำหน้าที่ของ กตต. โดยยกหน้าที่การจัดการเลือกตั้งกลับไปให้กระทรวงมหาดไทยเหมือนเดิม แต่การคิดแบบนี้ก็จะทำให้เกิดคำถามแบบเดิมๆอีกคือปัญหาความไม่เป็นกลางในการจัดการเลือกตั้ง เพราะกระทรวงมหาดไทยอยู่ภายใต้การกำกับของนักการเมือง

ยิ่งกว่านั้นบางกระแสก็เสนอถึงขนาดที่ว่าให้ยกเลิก กกต.และยุบสำนักงานกกต.ไปเลย เหมือนกับการยกเลิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพราะว่าการทำหน้าที่ของ กกต.ที่ผ่านมาไร้ประสิทธิผลอย่างสิ้นเชิง หากมีไว้ก็เปลืองงบประมาณของแผ่นดินเปล่าๆ ยิ่งอยู่ไป กกต.ก็ยิ่งขยายอาณาจักรขยายกำลังคนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การทำงานกลับยิ่งสร้างปัญหา หากให้หน่วยงานที่มีอยู่แล้วดำเนินการเลือกตั้งก็เท่ากับเป็นการประหยัดงบประมาณ

ส่วนการควบคุมการเลือกตั้งปราบปรามการทุจริตก็ต้องทำใจปล่อยไว้ให้เป็นเรื่องของการวิวัฒนาการของการเมืองและสังคมในอนาคตจัดการเอาเองตามธรรมชาติ เพราะดูเหมือนว่าไม่มีหน่วยงานใดในสังคมไทยไม่ว่าจะเป็นกกต. กระทรวงมหาดไทย หรือตำรวจสำนักงานแห่งชาติที่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตเลือกตั้งได้เลย แม้จะมีกฎหมายให้อำนาจไว้มากมายก็ตาม

สำหรับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับการออกแบบให้มีอำนาจน้อย ไม่มีอำนาจในการให้คุณให้โทษใครหรือหน่วยงานใดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้อำนาจในทางที่ผิดจึงไม่มี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความไร้ประสิทธิผลในการทำงาน การละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยก็เกิดขึ้นอยู่เนืองๆโดยไม่มีหน่วยงานใดทำอะไรได้ คณะกรรมการสิทธิฯ ก็ทำได้แต่เพียงเสนอรายงานสถานการณ์เป็นหลักเท่านั้น และแทบไม่มีส่วนช่วยในการยกระดับการเคารพสิทธิมนุษยชนของสังคมไทยแต่อย่างใด สิ่งที่ผมได้ยินข่าวคราวของคณะกรรมการสิทธิฯอยู่บ้างก็คือเป็นหน่วยงานที่มีความขัดแย้งกันภายในสูงมากหน่วยงานหนึ่งเท่านั้นเอง

ส่วนสภาที่ปรึกษาฯซึ่งถูกยุบไปแล้วเป็นหน่วยงานที่เต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน มีหน้าที่เพียงแค่ให้คำปรึกษารัฐบาลด้านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แต่เป็นหน่วยงานที่น่าสังเวชมากในแง่การได้มาของสมาชิกและการปฏิบัติงานภายในของสำนักงาน ด้านการเข้ามาเป็นสมาชิกมีการจัดตั้งองค์กรเพื่อเลือกพรรคพวกตนเองกันแบบบล็อกโหวต คนที่อยากเป็นสมาชิกมีเป้าหมายเพื่อให้ได้สิทธิในการขอเครื่องราชฯ จะได้นำไปอวดสังคมเป็นหลัก ส่วนด้านการปฏิบัติงานก็แทบไม่มีงานใดที่สามารถสร้างผลกระทบทางบวกในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแม้แต่น้อย ท้ายที่สุดจึงถูกยุบเป็นหน่วยงานแรกหลังการรัฐประหาร

ที่เขียนมาทั้งหมดก็เพื่อให้ผู้ที่กำลังออกแบบรัฐธรรมนูญในปัจจุบันได้ตระหนักและศึกษาบทเรียนที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดรอบคอบก่อนที่จะสร้างสถาบันหรือองค์กรใหม่ๆขึ้นมา ได้ตระหนักเอาไว้ ไม่ใช่ตัดสินตามกระแสที่ถูกปลุกขึ้นมา จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นมาอีก

ดังนั้นจึงขอให้ สปช. ทบทวนให้หนักๆอีกครั้งในการสร้าง “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ” ขึ้นมา เพราะดูวิธีคิด กระแส และการผลักดันแล้วน่าเป็นห่วงมาก หากยังเป็นเช่นนี้ ผมทำนายเอาไว้ล่วงหน้าก็ได้ว่าผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นคงไม่แตกต่างไปจากสถาบันทางการเมืองทั้งหลายที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มากนัก นั่นคือนอกจากจะสิ้นเปลืองงบประมาณ ทำงานไม่ได้ผลแล้ว ยังอาจสร้างปัญหาใหม่ๆให้ต้องตามแก้ไขกันอีกในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น