xs
xsm
sm
md
lg

ยางราคาตก คณะทำงานเศรษฐกิจมหภาคระดมสมองแก้ปัญหา วอนรัฐช่วยแก้อย่างจริงจัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สุราษฎร์ธานี - ยางราคาตกต่ำสุดในประวัติการณ์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง แนะร่วมระดมสมองแก้ด้วยยุทธศาสตร์ชาติร่วมกัน ชี้รัฐบาลล้วนล้มเหลวกับการแก้ปัญหายาง วอนรัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

วันนี้ (30 เม.ย.) ณ ห้องทักษิณาลัย โรงแรมสยามธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังจากการจัดสัมมนา เรื่อง “มาตรการเชิงรุก-เชิงรับสินค้าเกษตรกับการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจภาคการเกษตรฐานอุตสาหกรรมยางพาราต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” เพื่อติดตามความเห็น และข้อเสนอแนะของคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง รวมทั้งศึกษา และจัดทำรายงานใน 2 ประเด็น

คือการติดตามความเห็น และข้อเสนอแนะและการสังเคราะห์ความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อกลั่นเป็นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป และเพื่อเปิดเวทีระดมความคิดเห็นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการวิพากษ์วิจารณ์ และการเสนอความคิดเห็นขององค์กรภาคประชาชน ภาคราชการ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคม ในการจัดทำพิมพ์เขียว “การปฏิรูปยางพาราไทย” เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ชาติในการเดินหน้าเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยจะก้าวสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะทำให้ตลาดการค้าและการลงทุนและการแลกเปลี่ยนสินค้ากว้างใหญ่มากขึ้น ยางพารา และอุตสาหกรรมยางก็เป็นสินค้าเกษตรสำคัญอีกประเภทหนึ่งที่ต้องการการจัดระเบียบใหม่ โดยการปฏิรูปตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนและสอดคล้องกับช่วงเวลาสภาพการณ์ของการเปลี่ยนแปลง คณะทำงานเศรษฐกิจ มหภาค การเงิน การคลัง จึงกำหนดจัดการสัมมนา เรื่อง “มาตรการเชิงรุก-เชิงรับสินค้าเกษตรกับการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจภาคการเกษตรฐานอุตสาหกรรมยางพาราต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอในการปฏิรูปต่อไป

นอกจากนี้ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาคฯ สภาที่ปรึกษาฯ ได้กล่าวถึงบทบาทของ IRCo ที่ไม่ทำหน้าที่ของตน เป็นเหตุให้ปัญหาเสถียรภาพราคายางในตลาดโลกยิ่งน่าเป็นห่วง ย้ำทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา และไม่ควรเทขายยางในสต๊อกซึ่งจะทำให้เป็นการซ้ำเติมเกษตรกร จากการระดมแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันในวันนี้ ในเวทีได้เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้บริหารบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ หรือ IRCo ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ต่างประเทศว่า ไม่สามารถดำเนินการแทรกแซงราคายางในตลาดโลกได้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ พร้อมทั้งแนะให้ประเทศสมาชิกทั้ง 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เร่งขายแก้ไขปัญหาราคายางโดยการกระตุ้นการขายภายในประเทศ และบริหารจัดการสต๊อกภายในของตัวเองแทนการพึ่งพาการส่งออก นั้น

ทั้งนี้ ถ้าผู้บริหาร IRCo มีแนวคิดการดำเนินการแก้ไขปัญหาราคา หรือการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา โดยให้แต่ละประเทศต่างคนต่างดำเนินการแบบนี้ ยังจะต้องมีหน่วยงานดังกล่าวไว้ทำไม? จากประสบการณ์ที่คลุกคลีในวงการยางพารามายาวนาน และปัจจุบันเป็นประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาคฯ สภาที่ปรึกษาฯ รู้สึกไม่สบายใจที่หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรักษาเสถียรภาพราคายาง มีแนวคิดแบบนี้ เพราะภายหลังจากที่บทสัมภาษณ์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ลงวันที่ 21 เมษายน 2557 ราคายางแผ่นดิบตลาดกลางหาดใหญ่ลดลงทันที กิโลกรัมละ 3 บาท และลดลงอีก 2.42 บาทต่อกิโลกรัมในวันถัดมา เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 ล่าสุดวันที่ 23 เมษายน 2557 ราคายางลดลงอีก 0.46 บาทต่อกิโลกรัม รวม 7 วัน ราคายางพาราลดลง 5.88 บาทต่อกิโลกรัม โดยปัจจุบันราคายางแผ่นดิบตลาดกลางหาดใหญ่ เหลือกิโลกรัมละ 59.15 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตที่ทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรกำหนดที่ 64.19 บาทต่อกิโลกรัม หรืออาจกล่าวได้ว่าผลจากการสัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้เกษตรกรต้องขายต่ำกว่าต้นทุนการผลิตถึงกิโลกรัมละ 5.04 บาท

นายอุทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ตลาดกระดาษล่วงหน้าในประเทศจีน และญี่ปุ่น มีแรงเทขายยางพาราจำนวนมาก ทำให้ราคาลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากการเก็งกำไรเพื่อสร้างโอกาสให้บริษัทตนเองซื้อของในราคาถูก ในภาวะปกติกลไกตลาดกระดาษมีอิทธิพลต่อราคาของยางจริง ซึ่งโดยส่วนมากประเทศผู้ผลิตยอมรับกลไกตลาด แต่ถ้าราคาชี้นำลงมาต่ำเกินความเป็นจริง ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกร เพราะต่ำกว่าราคาต้นทุนของเกษตรกร ซึ่งจะส่งผลต่อความสมดุลของตลาดระยะยาวในอนาคต ตลาดยางจริงผู้ผลิตควรมีจุดยืนโดยไม่ควรขายยางราคาต่ำกว่าราคาต้นทุนของเกษตรกร ส่วนแนวทางปัจจุบัน ถึงแม้มีรัฐบาลชั่วคราว ก็ควรจะออกมาแสดงบทบาทเพื่อแก้ปัญหาราคายางซึ่งต่ำกว่าต้นทุน โดยให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องเรียกร้องเพื่อหาความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตยาง เพื่อเป็นการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำและสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางและลดความผันผวนของตลาดกระดาษ

อนึ่ง ที่ผ่านมาการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารยางแต่ละคนล้วนแสดงท่าทีส่งผลกระทบเชิงลบต่อราคายางในตลาดโลก โดยเฉพาะยาง 210,000 ตัน ในสต๊อกไทย เนื่องจากยางราคากำลังลดลง ข่าวออกมาจะซ้ำเติมตลาด ในการประกาศขายยางในสต๊อกก็จะมีผลลบต่อราคายางมาก เพราะปัจจุบันราคายางต่ำกว่าทุนอยู่แล้ว ส่วนประเทศเวียดนามจะขายยางในสต๊อก ทาง IRCo ควรหาทางเจรจาให้รัฐบาลเวียดนามชะลอการขายยางในสต๊อกออกไปจนกว่าราคายางจะดีกว่านี้ อีกประการหนึ่งไม่ควรขายยางในสต๊อกเป็นค่าใช้จ่าย ค่าบริหารโครงการ ค่าผลิต ค่าฝากเก็บ และค่าประกันภัย ในช่วงนี้ถ้ามีปัญหาเรื่องเงินก็ควรนำเงินค่าประกันไฟไหม้โกดังที่ อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งประกันจะต้องจ่ายประมาณ 200 ล้านบาท มาใช้เงินที่ คงค้างค่าใช้จ่ายอยู่ประมาณ 60 ล้านบาท

“ที่ผ่านมาช่วงที่ยางพาราตกต่ำ 80 - 90 บาท รัฐบาลชุดนี้ออกมาประกันที่ 120 บาท โดยสต๊อกยางที่ 210,000 ตัน เพื่อหวังแก้ปัญหายางราคาตกต่ำ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะยางราคาตกลงมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ตกลงมาที่ 50 กว่าบาท รัฐบาลก็ยังมีแนวคิดจะเอายางในสต๊อกเทออกมาขาย เพื่อเอา ตัวรอด เพราะกลัวว่ายางจะราคาลงมากกว่านี้ จะเห็นได้ว่าตัดสินใจของรัฐบาลดังกล่าวจะเกิดการขาดทุนทันที รวมทั้งจะยังให้ราคายางพาราของเกษตรกรชาวสวนยางลดลงไปอีก ความคิดและการกระทำอย่างนี้สะท้อนให้เห็นว่าการตัดสินใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหาราคายางล้มเหลวทุกครั้ง และสะท้อนต่อความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพราคายางทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ผู้ผลิตยางของประเทศไทยและอาเซียน”

ผลจัดสัมมนาครั้งนี้ จะได้ข้อสรุปรายงานการศึกษาเรื่อง มาตรการเชิงรุก-เชิงรับสินค้าเกษตรกับการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจภาคการเกษตรฐานอุตสาหกรรมยางพาราต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเกิดความเคลื่อนไหวในการขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจภาคการเกษตรในระดับต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ของยางพาราไทย รวมทั้งได้ข้อมูลสารสนเทศ/ข้อมูลในระดับพื้นที่ และความคิดเห็นของเวทีสัมมนา ใช้ประกอบการดำเนินงานของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยต่อไป


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น