xs
xsm
sm
md
lg

ภาคประชาชนร่วมถกปรับระเบียบ ศอ.บต. ยึดหลักประโยชน์ส่วนรวม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - ผู้แทนภาคประชาชนในทุกสาขาอาชีพร่วมกันคิด และปรับปรุงระเบียบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมบูรณาการทุกฝ่ายอย่างเป็นระบบ ดึงหลักศาสนาเข้ามาประยุกต์ใช้ โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

วันนี้ (29 มี.ค.) ที่โรงแรมเซาท์เทิร์นปัตตานี จังหวัดปัตตานี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการปรับปรุงระเบียบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการในการคัดเลือกเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และอิหม่ามประจำมัสยิด ผู้แทนเจ้าอาวาสในศาสนาพุทธ ผู้แทนผู้ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ผู้แทนผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ผู้แทนกลุ่มสตรี ผู้แทนหอการค้าจังหวัด และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีในด้านเศรษฐกิจ พาณิชย์ อุตสาหกรรม แรงงาน หรือเกษตรกรรม จำนวนกว่า 300 คน เข้าร่วมในครั้งนี้

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เหตุผลที่มีพระราชบัญญัติศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมา เพราะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่พิเศษในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ตลอดจนมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับประเทศที่มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้งมีสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในบางพื้นที่ส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของประชาชน และการพัฒนาของประเทศ

ดังนั้น จึงสมควรที่จะมีกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้หน่วยปฏิบัติสามารถบูรณาการการพัฒนา และแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบ มีเอกภาพ ทั้งในเรื่องยุทธศาสตร์ การบังคับบัญชา การปฏิบัติการ รวมทั้งในความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน นั่นก็คือ สมาชิกของสภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งหน้าที่หนึ่ง คือการสร้างความเสมอภาค และการสร้างความเป็นธรรมในทุกศาสนา

รูปแบบของสภาที่ปรึกษาฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสมาชิกของสภาที่ปรึกษาฯ ทั้ง 49 คน น่าจะเป็นตัวแทนในแต่ละภาคส่วนได้ดีที่สุด ถ้ากฎหมายเขียนดีแล้ว สิ่งที่เป็นอนุของกฎหมายคือหลักเกณฑ์ในการเลือก ซึ่งสมาชิกที่จะเลือกใหม่ในเดือนเมษายนนี้ จะต้องมาพิจารณาหลักเกณฑ์ให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนมากขึ้น จึงอยากเปิดโอกาสให้ทุกท่านในวันนี้ได้ช่วยกันคิดที่จะปรับปรุงระเบียบของ ศอ.บต. ซึ่งผมจะนำข้อคิดเห็นในวันนี้ไปเข้าในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ภาคใต้ และมีปลัดกระทรวงต่างๆ จากนั้นจะนำมาประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ทุกคนทราบ และนำไปสู่การเลือกตั้ง

โดยจะต้องใช้หลักศาสนาเป็นแม่บทของการบริหารทั้งตุลาการ และนิติบัญญัติ ใช้แนวทางของศาสนาเป็นบรรทัดฐานของค่านิยม และจริยธรรม ซึ่งในประเทศโลกมุสลิมจะยึดมั่นในระบอบการประชุมสภา หรือศาสนาอิสลามเรียกว่า “การซูรอ” ซึ่งคนที่จะมาให้ความคิดเห็นจะต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญทุกสาขาอาชีพ ดังนั้น จึงต้องมีการคัดสรรว่าใครเหมาะสมที่จะเป็นตัวแทน สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ จะต้องยึดมั่นในความยุติธรรม ความโปร่งใส และความเสมอภาค ซึ่งกฎเกณฑ์จะต้องมีความชัดเจนให้คนที่สมัครใจจะเป็นตัวแทนของสมาชิกสภาฯ จะต้องยึดผลประโยชน์ และความต้องการของประชาชนสำคัญที่สุด เพียงแต่สะสะท้อนผ่านมุมมอง ประสบการณ์ของสาขาอาชีพนั้นๆ

ซึ่งจะต้องทำอย่างไรให้ประชาชนมีความเจริญงอกงามทั้งความรู้ มีคุณธรรม มีความรุ่งเรือง มีเกียรติยศ เป็นที่ยอมรับ และเป็นประชาชนที่มีคุณภาพ ซึ่งหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาฯ นอกจากจะให้ข้อคิด และข้อเสนอแนะแล้ว บางครั้งอาจจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมปฏิบัติ และผู้ประสานงานด้วย

สำหรับหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาการบริหาร และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีดังต่อไปนี้

1) ให้ความเห็นในนโยบายการบริหาร และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สำนักงาน สภาความมั่นคงแห่งชาติจัดทำ หรือปรับปรุงเพื่อเสนอสภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณา

2) ให้คำปรึกษา เสนอแนะ ร่วมมือ และประสานงานกับ ศอ.บต. ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

3) ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ของ ศอ.บต.แล้วรายงานต่อเลขาธิการ และนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบ

4) ให้ความเห็นในเรื่องที่นายกรัฐมนตรี หรือเลขาธิการเห็นว่า สมควรได้รับฟังความคิดเห็น ของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อประกอบการพิจารณาในการบริหารการพัฒนา และการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

5) แสวงหาข้อเท็จจริง ข้อมูลข่าวสาร หรือข้อคิดเห็นจากแหล่งต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่

6) เสนอความเห็นต่อเลขาธิการเพื่อประกอบการพิจารณาในการสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ฝ่ายพลเรือนออกไปจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามมาตรา 12 และหากมีกรณีฉุกเฉิน หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ประธานสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเสนอความเห็นไปก่อนก็ได้ แล้วรายงานให้สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทราบโดยเร็ว

7) พิจารณาเรื่องร้องเรียนของประชาชนที่เกี่ยวกับปัญหาความไม่เป็นธรรม หรือได้รับความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ หรือให้จัดส่งเอกสาร หรือข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น

8) แต่งตั้งคณะกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือ หรือปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม

9) ออกระเบียบเกี่ยวกับการประชุม และระเบียบอื่นที่จำเป็นในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น