xs
xsm
sm
md
lg

ชัยชนะของชาวบ้าน ... ปิดฉากโครงการทางพิเศษสาย บูรพาวิถี-พัทยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นอันยุติโครงการก่อสร้างทางพิเศษสาย บูรพาวิถี-พัทยา หลังบริษัทที่ปรึกษาได้สรุปผลว่า ขาดความเหมาะสม และชาวบ้านคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง

โครงการทางพิเศษสาย บูรพาวิถี-พัทยา เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยกระทรวงคมนาคม ได้นำเสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2555 ในระหว่างการตรวจเยี่ยมพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังถึงความจำเป็นในการพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมต่อท่าเรือแหลมฉบัง ไปยังพื้นที่ต่างๆ ทุกรูปแบบ ได้แก่ การขนส่งทางราง การขนส่งทางถนน และทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา เป็นโครงการหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกในอนาคต

ทั้งนี้ เนื่องจากมองพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการนำเข้า และส่งออกสินค้าหลักของประเทศด้วยสัดส่วนถึงร้อยละ 54 ของปริมาณการนำเข้าและส่งออกทั้งประเทศ รวมไปถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีอัตราความเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทุกขณะ

ส่งผลให้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) และทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี) เป็นเส้นทางหลักที่ใช้ในการเดินทางขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพมหานครและพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกต้องประสบปัญหาสภาพการจราจรที่หนาแน่น มีรถบรรทุกขนส่งสินค้าขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณการจราจรในอัตราที่ค่อนข้างสูงขึ้นในอนาคต

จึงพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษเพื่อรองรับความต้องการเดินทาง และขนส่งสินค้าดังกล่าว จึงได้วางแผนการดำเนินงานในระยะเร่งด่วน เพื่อต่อขยายโครงข่ายทางพิเศษบูรพาวิถีไปยังนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งชายหาดบางแสน และเมืองพัทยา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญสำหรับโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา เป็นโครงการหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกในอนาคต รวมทั้งรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558

จากนั้น กทพ.ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด และบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา โดยมีระยะเวลาศึกษารวมทั้งสิ้น 15 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย.2556

หลังจากนั้น โครงการดังกล่าวเริ่มรู้ถึงหูประชาชนในพื้นที่เป้าหมายคือ จังหวัดชลบุรี เมื่อมีการลงพื้นที่ของบริษัทที่ปรึกษา ชาวบ้านเริ่มตื่นตระหนก เนื่องจากไม่มีการประชาสัมพันธ์ ชาวบ้านไม่เคยรับทราบถึงโครงการดังกล่าวมาก่อน พร้อมทั้งไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว จึงได้มีการรวมตัวกันคัดค้าน

พร้อมทั้งมองว่า การดำเนินการของโครงการนี้ไม่มีความโปร่งใสในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น จาก 10 คน เป็น 100 คน และเพิ่มขึ้นนับพันคน พร้อมขึ้นป้ายไม่เอาโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-แหลมฉบัง ตลอดเส้นทางสายสุขุมวิท

นายณรงค์ชัย ลีวิวัฒน์วงศ์ ตัวแทนชาวบ้านเผยว่า การศึกษาความเป็นไปได้ทางพิเศษสายบูรพาวิถี เกิดขึ้นมา แต่ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง และทราบเรื่องเลย พวกเรารับทราบจากเพื่อนๆ ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารจากทางสื่อโซเซียล ว่าจะมีโครงการเกิดขึ้น และส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

ด้าน นายเจริญ สุขกิจเจริญ ประชาชนชาวบางพระ กล่าวว่า รู้สึกรับไม่ได้ต่อโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา เพราะเห็นว่าไม่โปร่งใสมาตั้งแต่แรก มีการแอบประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยไม่ได้แจ้งให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ มีประชาชนเพียงไม่กี่คนที่เข้าร่วมรับฟัง แล้วทางบริษัทที่ปรึกษาไปสรุปว่า ประชาชนเห็นชอบต่อโครงการแล้ว ซึ่งความจริงพวกเราไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน

โดยเฉพาะมีการรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกไปเมื่อไหร่ ซึ่งตามระเบียบแล้วก่อนจะดำเนินการโครงการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน จะต้องมีการสอบถามความคิดเห็นก่อน แต่โครงการนี้ทำแบบเงียบๆ ประชาชนในพื้นที่ไม่ทราบเลย จึงออกมารวมตัวคัดค้าน และไม่เห็นด้วยต่อโครงการนี้ และถือว่าการต่อสู้ของประชาชนประสบผลสำเร็จ ทำให้โครงการนี้ยุติไป

“ในความเป็นจริงแล้วประชาชนไม่ได้คัดค้านการพัฒนาของประเทศ แต่การพัฒนานั้นจะต้องทำเพื่อประชาชน และไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน และเมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ก็ไม่ควรจะทำต่อไป”

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า ตามที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา ที่ผ่านมา ทางการพิเศษแห่งประเทศไทย และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ทำการศึกษาเส้นทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา จำนวน 8 สายทาง

พร้อมจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 3 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยถึงปัญหา และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีโครงการนี้ เพราะสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนในหลายๆ ด้าน

จากการรวบรวมข้อมูล และการศึกษาวิเคราะห์ของกลุ่มที่ปรึกษา พบว่า การดำเนินโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาด้านการจราจร และลดระยะเวลาในการเดินทางแก่ประชาชนผู้ใช้ทางได้ และจากการวิเคราะห์ทางด้านการเงินพบว่า โครงการนี้มีผลตอบแทนทางด้านการเงินอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งประชาชนที่อยู่ในแนวสายทางได้แสดงความคัดค้านต่อการก่อสร้างโครงการเป็นจำนวนมาก

ผลสรุปการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ คือ ในสภาพปัจจุบันโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา ขาดความเหมาะสมในการก่อสร้าง

หลังจากนี้ ทางบริษัทที่ปรึกษาฯ จะทำรายงานส่งไปยังการทางพิเศษฯ ส่วนทางการพิเศษฯ ก็ต้องสรุปแผนงานดังกล่าวต่อกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการจราจรมาสู่ภาคตะวันออกนั้น ก็ต้องมามองโครงสร้างเดิม เช่น ขยายมอเตอร์เวย์ จะขยายอย่างไรต่อไป และโครงการถนนสายรองต่างๆ จะมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างไร เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนด้านการจราจรให้แก่ประชาขน

สำหรับโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา มีระยะทางทั้งหมดประมาณ 68 กิโลเมตร งบประมาณ ประกอบด้วย ค่าก่อสร้าง และค่าควบคุมงาน จำนวน 60,958 ล้านบาท ค่าออกแบบรายละเอียด จำนวน 200 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 8,265 ล้านบาท รวมเป็น 69,423 ล้านบาท




กำลังโหลดความคิดเห็น