ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวชลบุรีพร้อมใจไม่รับฟังการประชุมการรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 โครงการบูรพาวิถี-พัทยา ยันไม่ต้องการ ด้านรองผู้ว่าฯ การทางพิเศษฯ เผยหากไม่เห็นด้วยคงต้องพิจารณากันใหม่อีกครั้ง
วันนี้ (8 ก.ค.) ที่โรงแรมซิตี้ ศรีราชา จ.ชลบุรี การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา มีนายเลิศศักดิ์ จิงหะรานนท์ รองผู้ว่ากทพ. พร้อมทีมบริษัทที่ปรึกษาเชี้แจงผลการศึกษา
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศตั้งแต่เวลา 08.30 น. มีประชาชนมาร่วมกว่า 500 คน ทำให้ห้องประชุมไม่สามารถรองรับได้หมด จึงล้นทะลักออกนอกห้อง ทำให้ไม่สามารถเปิดการประชุมได้ เนื่องจากชาวบ้านต่างร้องตะโกนว่า “ไม่เอาโครงการ”
ทำให้บรรยากาศกค่อนข้างตึงเครียด และไม่สามารถดำเนินการต่อได้ จน พ.ต.อ.สุวิชาญ ญาณกิติกุล รอง ผบก.ภ.จว.ชลบุรี ต้องเข้ามาเจรจาขอให้ยุติ พร้อมสรุปให้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย พร้อมทั้งให้ทางผู้ว่าฯ กทพ.ยอมรับหนังสือคัดค้าน ชาวบ้านจึงยอมสงบ และปิดการประชุม โดยที่ไม่มีการชี้แจงใดๆ จากทางบริษัทที่ปรึกษา
น.ส.ปัดชญา ธีระพิริยะ ชาวบ้านริมถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี กล่าวว่า ตนเองมาในวันนี้เพราะต้องการมาแสดงความคิดเห็นว่า ตนและชาวบ้านพร้อมใจกันมาเพราะไม่เห็นด้วย เนื่องจากได้รับผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้างโครงการ ทั้งฝุ่นละออง เสียง การจราจร
นอกจากนี้ คือ เรื่องเศรษฐกิจ เนื่องจากริมถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี มีเงินหนุนเวียนจาการประกอบธุรกิจมหาศาล ราคาที่ดินไร่ละกว่า 10 ล้านบาท หากมีการก่อสร้างจะทำให้เศรษฐกิจบริเวณดังกล่าวซบเซาโดยสิ้นเชิง แล้วประชาชนจะไปประกอบอาชีพอะไร รวมทั้งวิถีชีวิตบริเวณดังกล่าวต้องเสียไป จึงจะร่วมกันคัดค้านให้ถึงที่สุด
ด้าน นพ.พระจันทร์ อัศวุตมางกูร หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ กล่าวว่า การที่ออกมาคัดค้านเนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากโครงการตัดผ่ากลางบ้านที่ตนอาศัยอยู่กับครอบครัว ซึ่งมีครั้งพ่อและแม่ที่อายุมากแล้วจึงรับไม่ได้ เพราะเป็นบ้านที่อยู่อาศัยกันมานาน มีความผูกพัน
ที่สำคัญโครงการไม่โปร่งใสหลายประการ เช่น การประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 คือ ครั้งสุดท้ายแล้ว แต่มีชาวบ้านจำนวนมากไม่ทราบมาก่อน บางคนเพิ่งจะรู้เมื่อวานนี้ว่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น ยิ่งทำให้พวกเราไม่สบายใจ คิดว่าโครงการอาจมีอะไรที่ไม่โปร่งใส
อย่างไรก็ตาม พวกเราไม่ได้คัดค้านการพัฒนาประเทศ แต่การพัฒนาต้องอยู่ในพื้นฐานของความถูกต้อง และชัดเจน ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่นั้น วันนี้จึงไม่ต้องการรับฟังการชี้แจงใดๆ จากทางโครงการอีก และขอให้ กทพ.นำข้อมูลและบรรยากาศในวันนี้ไปทบทวนอีกครั้ง และขอให้ได้ข้อสรุป พร้อมประกาศให้ประชาชนโดยทั่วไปทราบ ว่าจะไม่มีโครงการดังกล่าวขึ้นบริเวณที่ประชาชนเดือดร้อน
ด้านนายเลิศศักดิ์ จิงหะรานนท์ รองผู้ว่าฯ กทพ. กล่าวว่า โครงการทางพิเศษบูรพาวิถี-พัทยา เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายทางพิเศษ ส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว รองรับความต้องการเดินทาง และการขนส่งสินค้าจากชายฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการนำเข้า และส่งออกสินค้าหลัก
รวมถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่มีอัตราความเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) และทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี) อันเป็นเส้นทางหลักประสบปัญหาการจราจรค่อนข้างหนาแน่น
กทพ. จึงคิดถึงความจำเป็นในการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษ เพื่อรองรับความต้องการเดินทางและขนส่งสินค้าดังกล่าว จึงได้วางแผนการดำเนินการในระยะเร่งด่วน เพื่อต่อขยายโครงข่ายทางพิเศษบูรพาวิถี ไปยังนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งชายหาดบางแสน และเมืองพัทยา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยกระทรวงคมนาคม ได้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2555 ระหว่างการตรวจเยี่ยมท่าเรือแหลมฉบัง ถึงความจำเป็นในการพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมต่อท่าเรือแหลมฉบังไปยังพื้นที่ต่างๆ
“ทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา เป็นโครงการหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เพื่อให้บรรลุตามกรอบนโยบาย และแผนการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ กทพ.จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จํากัด และบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน สำรวจ และออกแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเสนอมาตรการลดผลกระทบ และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม”
วันนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 หลังจากที่ได้มีการศึกษา และพิจารณาคัดเลือกแนวสายทางที่เหมาะสมแล้ว จากนั้นจึงทำสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนรับทราบ แต่วันนี้ไม่สามารถที่จะชี้แจงได้ ซึ่งสุดท้ายยังไม่ได้เลือกแนวสายทางใดสายหนึ่ง เป็นเพียงสายที่ได้รับการศึกษาเท่านั้น ซึ่งข้อสรุปวันนี้จะนำกลับไปนำเสนอให้แก่บริหารรับทราบ และพิจารณาที่ดำเนินการในขั้นตอนต่อไปว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่อย่างไร คงจะต้องมีการหารือกันอีกครั้ง