ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวบ้านบางพระ-ศรีราชา พอใจ หลังการทางพิเศษแห่งประเทศไทย รับปากทางด่วนบูรพาวิถี-พัทยา จะเปลี่ยนแนวสายทางเลือกสายที่ 4 ที่จะผ่านชุมชน โดยอาจจะเลี่ยงไปใช้ทางหลาวหมายเลข 7 แทน
วันนี้ (1 เม.ย.) ที่บริเวณสวนสาธารณะชายทะเลบางพระ เทศบาลตำบลบางพระ จัดให้มีการรับฟังคำชี้แจงของผู้แทนบริษัทที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างทางสายพิเศษบูรพาวิถี-พัทยา หลังจากที่ชาวบ้าน ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี รวมตัวกันลงชื่อคัดค้านโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา หลังทราบว่า โครงการดังกล่าวจะมีการเวนคืนที่ดินที่จะสร้างผ่านชุมชนตลาดบางพระ
โดย 2 ข้างทางถนนสุขุมวิทมีอาคารบ้านเรือนของประชาชนจำนวนมาก หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจะต้องถูกเวนคืนที่ดินออกไปข้างละ 15 เมตร ทำให้อาคารบ้านเรือนของประชาชนริมถนนสุขุมวิทหายไป ซึ่งทำให้ชาวบ้านเกรงว่าจะทำให้วิธีชีวิตของชุมชนเปลี่ยนไป รวมถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม และปัญหาการจราจรในช่วงการก่อสร้าง จึงได้รวมตัวกันคัดค้านโครงการดังกล่าว โดยที่ผ่านมา ทางโครงการฯ ได้มีการเปิดเวทีฟังความคิดเห็นของประชาชนไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ได้รับการคัดค้านโดยขอให้มีการเปลี่ยนเส้นทางใหม่
นายกนก เข็มนาค ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม ของกลุ่มบริษัทปรึกษาโครงการ โครงการก่อสร้างทางสายพิเศษบูรพาวิถี-พัทยา ประกอบด้วย บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด บริษัท เอเซี่ยน คอนซัลแต้นส์ จำกัด และบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ เผยว่า โครงการดังกล่าวได้รับมอบจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการ โดยใช้เงินกู้พิเศษของ กทพ.มีกระทรวงการคลัง เป็นผู้ค้ำประกัน ไม่ผูกพันกับงบประมาณของรัฐบาล วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาด้านการขนส่ง และระบายสินค้า จากท่าเรือคลองเตย มาสู่ท่าเรือแหลมฉบัง เพราะปัจจุบันพบว่ามีปัญหาเรื่องการขนถ่ายสินค้า จึงจำเป็นต้องให้ กทพ.เป็นผู้ดำเนินการ
ประกอบกับเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะจะใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังเมืองพัทยา ด้วยเวลาไม่นาน โครงการดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนการเสนอทางเลือกให้ประชาชน ในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
โดยที่ผ่านมา ได้มีการศึกษาเส้นทางโดยมีการนำเสนอทางเลือกทั้งหมด 7 เส้นทาง ซึ่งจากการศึกษาพบว่า แนวสายทางเลือกที่ 4 เป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด แต่จะต้องผ่านมาชุมชนบางพระ-ศรีราชา ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ประชาชนไม่เห็นชอบต่อแนวทางดังกล่าว ทางบริษัทที่ปรึกษาจึงต้องกลับไปทบทวนใหม่
โดยที่ผ่านมา ทางทีมงานได้เรื่องไปหารือกับหลายๆ ฝ่าย รวมทั้งกับนาคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ผลสรุปคือ ไม่เห็นด้วยกับทางทางเลือกที่ 4 ดังนั้น ในขณะนี้ทางคณะที่ปรึกษาจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางใหม่ โดยขอยืนยันว่าจะไม่ให้กระทบต่อประชาชน หรือให้กระทบน้อยที่สุด ซึ่งแนวทางดังกล่าวอาจจะเป็นแนวทางเลือกที่ 3 คือ ใช้ถนนทางหลวงหมาย 7 แทน ทางหลวงหมายเลข 3 หรือถนนสุขุมวิท
แต่ทั้งนี้ทางบริษัทที่ปรึกษาจะต้องไปศึกษาแนวทางดังกล่าวอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อหาวิธีที่จะเชื่อมต่อเส้นทางสาหลักเพื่อช่วยแก้ไข้ปัญหาการจราจรของชุมชนเมือง และเชื่อมคือกับท่าเรือแหลมฉบัง คาดว่าคงจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วันจึงจะส่ามารถสรุปได้ ส่วนการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นคิด ครั้งที่ 3 เพี่อสรุปนั้นคงจะต้องเลื่อนออกไปจากเดือนพฤษภาคม 2557 ที่ได้กำหนดไว้ เพราะต้องมีการศึกษาแนวเส้นทางใหม่ทั้งหมด
ด้านนายรังสิมันต์ ปรัชญกุล ชาวบ้านตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เผยว่า หลังจากได้รับฟังจากทางบริษัทที่ปรึกษา หรือผู้แทนจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในวันนี้รู้สึกพอใจในระดับหนึ่ง แต่ชาวบ้านทุกคนยังไม่นิ่งนอนใจว่าจะเป็นการรับปากที่แน่นอนหรือไม่ คงต้องรอให้ถึงวันเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 3 ก่อน ซึ่งจะเป็นครั้งที่สรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร และกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร พวกเราจึงจะวางใจได้
สำหรับโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา ขณะนี้อยู่ในระหว่างศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นการต่อขยายทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) จากเดิมที่สิ้นสุดบริเวณก่อนถึงแยกทางเลี่ยงเมืองชลบุรี ได้ขยายออกไปจนถึงบริเวณพัทยาใต้ รวมระยะทางต่อขยาย 57 กิโลเมตร พร้อมทั้งต่อเชื่อมเข้านิคมอุตสาหกรรม และท่าเรือแหลมฉบัง
รวมทั้งชายหาดบางแสน และเมืองพัทยาที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษจากทางพิเศษบูรพาวิถี ไปยังภาคตะวันออก รวมทั้งรองรับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกในอนาคต