ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวบ้านบางพระค้านสุดตัวโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา ผ่านชุมชนบางพระ หวั่นกระทบความเป็นอยู่ ต้องถูกเวนคืนที่ดิน แถมจัดรับฟังความคิดเห็นไม่โปร่งใส
จากกรณีที่ชาวบ้านใน ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี รวมตัวกันลงชื่อคัดค้านโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา หลังทราบว่าโครงการดังกล่าวจะมีการเวนคืนที่ดิน ที่จะสร้างผ่านชุมชนตลาดบางพระ โดยมีประชาชนอยู่กว่า 30,000 คน
โดย 2 ข้างทางถนนสุขุมวิทมีอาคารบ้านเรือนของประชาชนจำนวนมาก หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจะต้องใช้พื้นที่ถนนกว้างถึง 60 เมตร และยังมีไหล่ทางอีก ทำให้อาคารบ้านเรือนของประชาชนริมถนนสุขุมวิทหายไป สร้างความตระหนกตกใจให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะชาวบ้านบางคนกว่าจะซื้อบ้านมาหลังหนึ่งต้องทำงานหาเงินมาเพื่อสร้างครอบครัวทั้งชีวิต จึงได้รวมตัวกันคัดค้านโครงการให้ถึงที่สุด โดยที่ผ่านมา ทางโครงการไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบมาก่อน
ล่าสุด วันนี้ (18 มี.ค.) เทศบาลตำบลบางพระ ได้เชิญบริษัทที่ปรึกษา และตัวแทนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มาชี้แจงให้ประชาชนชาวบางพระรับทราบรายละเอียดของโครงการ ก่อนที่จะมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้ง 2 วันพรุ่งนี้ (19 มี.ค.) ที่โรงแรมราวินทรา บีช รีสอร์ท แอนด์สปา อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เวลา 08.30 น.
นายสมเจตน์ เกตุวัตถา นายกเทศบาลตำบลบางพระ กล่าวว่า เพื่อความสบายใจของชาวบางพระ เพราะทุกคนยังไม่ทราบเรื่องเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว คิดว่าทางเทศบาลเห็นชอบกับโครงการไปแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงตนก็ไม่ทราบรายละเอียดมากนัก และที่สำคัญโครงการดังกล่าวเป็นของรัฐบาล อะไรที่ยังไม่ชัดเจนตนก็ไม่สามารถที่จะนำมาเปิดเผยได้ อย่างไรก็ตาม ตนเข้าใจความรู้สึก และความเดือดร้อนของประชาชน จึงได้จัดให้มีการชี้แจงรายละเอียดข้อมูลของโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถีในวันนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศการรับฟังการชี้แจงในวันนี้ค่อนข้างตึงเครียด เนื่องจากชาวบ้านไม่ยอมรับตัวโครงการ ขาดความมั่นใจ และไม่ไว้วางใจบริษัทที่ปรึกษาโครงการ เนื่องจากไม่มีความโปร่งใสในการดำเนินโครงการ
นายเจริญ สุขกิจเจริญ ประชาชนชาวบางพระ กล่าวว่า รู้สึกรับไม่ได้กับโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา เพราะเห็นว่าไม่โปร่งใสมาตั้งแต่แรก ทราบว่าก่อนหน้านี้มีการแอบประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปแล้วครั้งหนึ่ง โดยไม่ได้แจ้งให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ มีประชาชนเพียงไม่กี่คนที่เข้าร่วมรับฟัง แล้วทางบริษัทที่ปรึกษาไปสรุปว่าชาวบางพระเห็นชอบกับโครงการแล้ว
ซึ่งความจริงพวกเราไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน โดยเฉพาะมีการรับความเห็นครั้งแรกไปเมื่อไหร่ ซึ่งตามระเบียบแล้วก่อนจะดำเนินการโครงการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน จะต้องมีการสอบถามความคิดเห็นก่อน แต่โครงการนี้ทำแบบเงียบๆ ประชาชนในพื้นที่ไม่ทราบเลย และที่ทราบมาพบว่ามีการศึกษาถึง 7 เส้นทาง แต่ทำไมถึงมาใช้เส้นทางนี้ พวกเราเห็นว่าควรที่จะไปใช้เส้นอื่นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนน่าจะเหมาะสมกว่า
นายวิชัย พรศิริพงษ์ ผู้จัดการโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา กล่าวว่า ทางการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด บริษัท เอเซี่ยน คอนซัลแต้นส์ จำกัด และบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัดศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งพื้นที่โครงการครอบคลุมพื้นที่ตามแนวสายทางของโครงการใน 3 อำเภอ 7 ตำบล 12 เทศบาลของ จ.ชลบุรี
โดยวันที่ 19 มีนาคมนี้ ทางโครงการกำหนดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 2 เพื่อชี้แจงข้อมูลความก้าวหน้าของโครงการ พร้อมนำเสนอผลการคัดเลือกแนวสายทางที่เหมาะสม พร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อนำไปประกอบการศึกษาให้มีความสมบูรณ์ต่อไป แต่หากประชาชนชาวบางพระไม่เห็นด้วย ก็คงจะมีการหารือกันอีกครั้งถึงแนวทางเลือก แต่แนวทางเลือกสายทางเส้นนี้ถือว่าเหมาะสมที่สุด
สำหรับโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา ขณะนี้อยู่ในระหว่างศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นการต่อขยายทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) จากเดิมที่สิ้นสุดบริเวณก่อนถึงแยกทางเลี่ยงเมืองชลบุรี ได้ขยายออกไปจนถึงบริเวณพัทยาใต้ รวมระยะทางต่อขยาย 57 กิโลเมตร พร้อมทั้งต่อเชื่อมเข้านิคมอุตสาหกรรม และท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งชายหาดบางแสน และเมืองพัทยาที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษจากทางพิเศษบูรพาวิถี ไปยังภาคตะวันออก รวมทั้งรองรับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกในอนาคต
สำหรับโครงการจะก่อสร้างเป็นทางพิเศษระดับดินขนาด 6 ช่องจราจร เชื่อมต่อกับทางพิเศษบูรพาวิถี โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณด่านชลบุรี มุ่งไปทางทิศใต้ตามแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ผ่าน อ.เมือง ศรีราชา แหลมฉบัง ซึ่งจะมีทางเชื่อมต่อเข้าไปยังนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง และท่าเรือแหลมฉบัง หลังจากนั้น แนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศใต้ ผ่าน อ.บางละมุง สิ้นสุดแนวสายทางบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 บริเวณถนนพัทยาใต้ รวมระยะทาง 57 กิโลเมตร