xs
xsm
sm
md
lg

ค้านด่วนบูรพาวิถี-พัทยา หวั่นทำข้าวหลามหนองมนขายไม่ออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
ชาวบางพระ-ศรีราชา ค้าน กทพ.สร้างทางด่วนต่อขยายบูรพาวิถี-พัทยาบนแนวถนนสุขุมวิท หวั่นมีทางด่วนลอยฟ้านักท่องเที่ยวไม่แวะซื้อของ ทำตลาดหนองมนซบเซา ทำลายเมืองวัฒนธรรม การค้าขาย

นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจการเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา เพื่อสรุปผลการคัดเลือกแนวสายทางที่เหมาะสม เมื่อวันที่ 19 มีนาคม โดยมีหน่วยงานและประชาชนเข้าร่วมประมาณ 400 คน ว่า วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อพัฒนาโครงข่ายระบบทางพิเศษเชื่อมกรุงเทพฯ-ภาคตะวันออก และเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรและขนส่งให้แก่ประชาชน รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาได้ศึกษา 7 แนวสายทางเลือกและเสนอทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดคือ สายทางเลือกที่ 4 โดยมีจุดเริ่มต้นต่อจากทางพิเศษบูรพาวิถีมาตามถนนทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ผ่านนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จากนั้นเบี่ยงซ้ายไปตามถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี ผ่านสุสานไตรสาธารณพุทธสมาคม แล้วแนวสายทางจะไปในทิศทางขนานกับทางรถไฟสายตะวันออก ระยะทางประมาณ 4.7 กม. ช่วงนี้เป็นการเปิดแนวทางใหม่ ระยะทาง 1.5 กม. แล้วจึงปรับเข้าไปใช้แนวเส้นทางยกระดับบนแนวทางหลวงชนบทหมายเลข ชบ. 1076 และไปบรรจบทางหลวงหมายเลข 3 ไปจนสิ้นสุดโครงการบริเวณแยกทัพพระยา

โดยจะผ่านพื้นที่ใกล้เคียง เช่น โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะมีทางเชื่อมเข้าท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 1 กม. รวมระยะทางประมาณ 71 กม. มีจุดทางขึ้นลง 8 จุด ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ชลบุรี บางแสน ศรีราชา แหลมฉบัง-อ่าวอุดม แหลมฉบัง พัทยาเหนือ และพัทยาใต้ รูปแบบโครงสร้างทางเป็นทางยกระดับแบบคานรูปตัวไอ ลักษณะเป็นคานคอนกรีตอัดแรง หล่อเป็นรูปไอ เสาเดี่ยว สูงประมาณ 16 เมตร จากระดับดิน มีขนาด 6 ช่องจราจร ไปกลับ กว้างช่องละ 3.50 เมตร ซึ่งจะมีการจัดประชุมรับฟังความเห็นอีกครั้งเพื่อสรุปรายละเอียดทั้งหมดอีกครั้ง

ด้านนายธวัชชัย ยินดีสุข ตัวแทนชาวบ้าน อ.บางพระ และศรีราชา กล่าวว่า เบื้องต้นอยากให้ กทพ.ปรับเปลี่ยนแนวเส้นทางจากถนนบายพาสให้ตัดเข้าทางหลวงหมายเลข 7 ของกรมทางหลวงแทนวกกลับมาใช้ถนนสุขุมวิท ซึ่งตัดผ่านเมืองและชุมชนหลายแห่ง ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ด้านวัฒนธรรม รวมถึงการประกอบอาชีพค้าขายตั้งแต่ชลบุรี ตลาดหนองมน บางพระ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ไม่เคยรับทราบข้อมูลมาก่อน ตั้งแต่การประชุมรับฟังความเห็นครั้งที่ 1 ส่วนครั้งที่ 2 ยังไม่ได้รับแจ้งเช่นกัน แต่เป็นการบอกต่อกัน ถือว่าการประชาสัมพันธ์โครงการน้อยมาก และการสรุปว่าผลการคัดเลือกแนวสายทางโดยอ้างเป็นความเห็นของชาวบ้านไม่ถูกต้อง

“ชาวบ้านไม่ได้คัดค้านโครงการ แต่อยากให้ปรับเปลี่ยนแนวเส้นทาง เพราะจากการประชุมครั้งที่ 1 ได้เสนอ 3 แนวทาง หลังจากประชุมกลุ่มย่อยเพิ่มอีก 3 แนวทาง และเลือกแนวที่ 4 ทั้งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่อง ตอนนี้จึงได้รวบรวมรายชื่อชาวบ้านกว่า 1,000 คน เสนอ กทพ.พิจารณาทบทวน ขณะเดียวกันจะปรึกษาฝ่ายกฎหมายว่ากระบวนการที่ทำมานั้นถูกต้องหรือไม่และชาวบ้านควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป” นายธวัชชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม การเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพมหานครกับพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงท่าเรือแหลมฉบังที่เป็นประตูการนำเข้าและส่งออกสินค้าหลักของประเทศ โดยมีสัดส่วนการนำเข้าและส่งออกถึงร้อยละ 54 ของปริมาณการนำเข้าและส่งออกทั้งประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับความต้องการการขนส่งสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สาคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชายหาดบางแสนและพัทยา ที่มีการเติบโตด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน

กำลังโหลดความคิดเห็น