ศูนย์ข่าวศรีราชา - กทพ.ประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 สรุปผลการคัดเลือกแนวสายทางที่เหมาะสมทางพิเศษบูรพาวิถี-พัทยา ด้านผู้ได้รับผลกระทบแห่นำรายชื่อคัดค้านไม่เห็นด้วย แฉโครงการไม่จริงใจทำแบบหมกเม็ดจะมัดมือชก ระบุอยากเห็นผลประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ ชาวบ้านไม่เดือดร้อน
วันนี้ (19 มี.ค.) ที่โรงแรมราวิทรา บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา จ.ชลบุรี การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (สรุปผลการคัดเลือกแนวสายทางที่เหมาะสม) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษบูรพาวิถี-พัทยา โดยมีชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ก่อสร้างโครงการเข้าร่วมประชุม
นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้รับมอบจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการ โดยใช้เงินกู้พิเศษของ กทพ. มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน ไม่ผูกพันกับงบประมาณของรัฐบาล วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาด้านการขนส่ง และระบายสินค้า จากท่าเรือคลองเตยมาสู่ท่าเรือแหลมฉบัง เพราะปัจจุบันพบว่ามีปัญหาเรื่องการขนถ่ายสินค้า จึงจำเป็นต้องให้ กทพ.เป็นผู้ดำเนินการ
ประกอบกับเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะจะใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังเมืองพัทยา ด้วยเวลาไม่นาน โครงการดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนการเสนอทางเลือกให้ประชาชน ในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
นายอัยยณัฐ กล่าวว่า ได้ประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปแล้วครั้งแรกที่โรงแรมเดอะไทด์ รีสอร์ท บางแสน ซึ่งมีการนำเสนอทางเลือก 3 เส้นทาง และการประชุมครั้งนี้มีการเสนอเพิ่มอีก 4 เส้นทาง รวม 7 เส้นทาง โดยจากการศึกษาพบว่าแนวสายทางเลือกที่ 4 เป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด
ซึ่งการจัดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษา เป็นการรวบรวมข้อมูล ข้อเสนอแนะ และผลกระทบ ก่อนใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาตามขั้นตอน หากแล้วเสร็จจะเป็นส่งเสริมเศรษฐกิจให้มีการขับเคลื่อน ผลประโยชน์สูงสุดจะตกอยู่แก่ประเทศ ซึ่งจะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 ที่ตัวเมืองชลบุรี เร็วๆ นี้
ด้านนายประสพสุข เจริญแพทย์ ชาวบ้านจากชุมชนบางพระ กล่าวว่า ต.บางพระ เป็นพื้นที่ก่อสร้าง แต่ที่ผ่านมา ไม่เคยมีหน่วยงานใดมาทำความเข้าใจ และชี้แจงรายละเอียดเลย ทั้งที่เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก หากมีการดำเนินการก่อสร้าง อยากให้พิจารณาสายทางเลือกที่หลีกเลี่ยงพื้นที่ด้วย
นพ.วัชรเวช ทองสุข ชาวบ้านอีกรายกล่าวเสริมว่า การดำเนินโครงการค่อนข้างมีลับลมคมใน มีการประชุมใหญ่ไปแล้วหนึ่งครั้ง แต่ชาวบ้านทราบข่าวน้อยมาก จนมีการประชุมกลุ่มย่อยตามพื้นที่ต่างๆ อย่างเงียบๆ และสุดท้ายมาในวันนี้จะสรุปเอาสายทางเลือกที่บอกว่าศึกษามาแล้วนั้นดีที่สุด แต่ความเดือดร้อนของชาวบ้านยังไม่มีการชี้แจงอย่างละเอียด ไม่มีการทำความเข้าใจแก่ผู้ได้รับผลกระทบ ทำโครงการแบบหมกเม็ดไม่ชัดเจน
ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าสายทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด คือ แนวที่ 4 จุดเริ่มต้นต่อจากทางพิเศษบูรพาวิถี บริเวณเทศบาลตำบลคลองตำหรุ อ.เมือง โดยจะเป็นทางยกระดับต่อมาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ผ่านนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จากนั้นแนวสายทางจะเบี่ยงซ้ายไปตามแนวถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี ผ่านสุสานไตรสาธารณพุทธสมาคม ไปทางขนานกับทางรถไฟสายตะวันออก ระยะทาง 4.7 กิโลเมตร
ช่วงนี้เป็นการเปิดแนวใหม่ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร แล้วปรับเข้าแนวเส้นทางยกระดับบนทางหลวงชนบทหมายเลข ชบ.1076 ไปบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) จากนั้นเป็นทางยกระดับบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ไปจนสิ้นสุดโครงการ โดยจะผ่านพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ท่าเรือแหลมฉบัง ไปสิ้นสุดโครงการบริเวณสามแยกถนนทัพพระยา รวมระยะทาง 71.6 กิโลเมตร งบประมาณกว่า 5 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ นายธานี รัตนานนท์ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองศรีราชา กล่าวว่า หากสรุปเลือกสายทางที่ 4 จริง ชาวศรีราชา จะได้รับผลกระทบ เพราะโครงการก่อสร้างจะกินพื้นที่เมืองศรีราชา คนศรีราชาไม่อยากได้ ไม่เห็นด้วย ถ้าเส้นทางเลี่ยงเมืองศรีราชาได้ก็ควรเลี่ยง เพราะศรีราชาเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของชลบุรี
“แบบสายทางเลือกที่ 2-3 ค่าใช้จ่ายการเวนคืนที่จะสูง แต่ก็กระทบชาวศรีราชาน้อย เพราะระหว่างการก่อสร้างจะเกิดความเสียหาย ทั้งความเป็นอยู่ของประชาชน และภาพรวมของเมือง ขณะที่มีอีกหลายทางเลือกให้พิจารณา แบบสายทางเลือกที่ 6-7 ก็ได้ เอาที่กระทบชาวบ้านน้อยสุด เข้าใจว่าผลประโยชน์ตกอยู่แก่ประเทศมากที่สุด แต่รูปแบบการพัฒนาโครงการต่างๆ นั้น ต้องกระทบชาวบ้านเจ้าของพื้นที่น้อยที่สุดเช่นกัน”