ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวบ้านเฮ! หลังผลสรุปการศึกษาความเหมาะสมโครงการ “ทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา” ขาดความเหมาะสม ผลตอบแทนทางด้านการเงินอยู่ในระดับต่ำ ประชาชนในพื้นที่คัดค้าน หลังดำเนินการศึกษามาแล้วทั้งสิ้น 8 สายทาง
วันนี้ (25 ม.ค.) ณ ศาลาประชาคมแหลมฉบัง ถนนแหลมฉบังสาย 3 ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ที่ปรึกษาโครงการฯ เป็นประธานรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 4 งานศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา โดยมีประชาชน และผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อโครงการนี้ เข้าร่วมรับฟังกว่า 1,000 คน
ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า ตามที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัทอินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด และบริษัท เอ็นวิช คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา
ที่ผ่านมา ทางการพิเศษแห่งประเทศไทย และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ทำการศึกษาเส้นทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา จำนวน 8 สายทาง พร้อมจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 3 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยถึงปัญหา และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีโครงการนี้ เพราะสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนในหลายๆ ด้าน
ดร.กีรติ กล่าวต่อว่า จากการรวบรวมข้อมูล และการศึกษาวิเคราะห์ของกลุ่มที่ปรึกษา พบว่า การดำเนินโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาด้านการจราจร และลดระยะเวลาในการเดินทางแก่ประชาชนผู้ใช้ทางได้
แต่อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ทางด้านการเงินพบว่า โครงการนี้มีผลตอบแทนทางด้านการเงินอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งประชาชนที่อยู่ในแนวสายทางได้แสดงความคัดค้านต่อการก่อสร้างโครงการเป็นจำนวนมาก ซึ่งสรุปได้ว่า ในสภาพปัจจุบันโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา ขาดความเหมาะสมในการก่อสร้างโครงการดังกล่าวต่อไป
หลังจากนี้ ทางบริษัทที่ปรึกษาฯ จะทำรายงานส่งไปยังการทางพิเศษฯ ส่วนทางการพิเศษ ก็ต้องสรุปแผนงานดังกล่าวต่อกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการจราจรมาสู่ภาคตะวันออกนั้น ก็ต้องมามองโครงสร้างเดิม เช่น ขยายมอเตอร์เวย์ จะขยายอย่างไรต่อไป และโครงการถนนสายรองต่างๆ จะมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างไร เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนด้านการจราจรให้แก่พี่น้องประชาขน
ด้านนายณรงค์ชัย ลีวิวัฒน์วงศ์ ตัวแทนชาวบ้านกล่าวว่า โครงการศึกษาความเป็นไปได้ทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา ได้ยุติโดยสิ้นเชิง และไม่มีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว เพราะที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวจะมาเกิดขึ้นแต่ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง และทราบเรื่องเลย แต่เมื่อทราบว่าจะมีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น จึงออกมารวมตัวคัดค้าน และไม่เห็นด้วยต่อโครงการนี้ และถือว่าการต่อสู้ของประชาชนประสบผลสำเร็จ ทำให้โครงการนี้ยุติไป
“ในความเป็นจริงแล้วประชาชนไม่ได้คัดค้านการพัฒนาของประเทศ แต่การพัฒนานั้นจะต้องทำเพื่อประชาชน และไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน และเมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ก็ไม่ควรจะทำต่อไป” นายณรงค์ชัย กล่าว
“ทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา เป็นโครงการหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เพื่อให้บรรลุตามกรอบนโยบาย แะแผนการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ กทพ.จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จํากัด และบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน สำรวจ และออกแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเสนอมาตรการลดผลกระทบ และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม”
วันนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 4 หลังจากที่ได้มีการศึกษา และพิจารณาคัดเลือกแนวสายทางที่เหมาะสมแล้ว จากนั้นจึงทำสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งในวันนี้ ผลสรุปการศึกษาความเหมาะสมโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี -พัทยา ขาดความเหมาะสม เนื่องจากผลตอบแทนทางด้านการเงินอยู่ ในระดับต่ำ ประชาชนในพื้นที่คัดค้าน หลังดำเนินการศึกษามาแล้วทั้งหมด 8 สายทาง
รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 68 กิโลเมตร งบประมาณ ประกอบด้วย ค่าก่อสร้างและค่าควบคุมงาน จำนวน 60,958ล้านบาท ค่าออกแบบรายละเอียดจำนวน 200 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 8,265ล้านบาท รวมเป็น 69,423 ล้านบาท