xs
xsm
sm
md
lg

ทำอย่างไรให้ “พลเมืองเป็นใหญ่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

พลเมืองเป็นใหญ่หรือการเพิ่มอำนาจให้พลเมืองเป็นแนวคิดที่เป็นขั้วตรงข้ามกับแนวคิดอำนาจกลุ่มทุนและข้าราชการ การที่พลเมืองมีอำนาจเพิ่มขึ้น มีนัยว่าอำนาจกลุ่มทุนและกลุ่มข้าราชการประจำต้องลดลง การเพิ่ม “อำนาจจริงๆ ที่เป็นรูปธรรม” ให้แก่ประชาชนมิใช่เรื่องง่ายนัก ดูเหมือนว่า “การเพิ่มอำนาจโดยลมปากและจารึกไว้ในคัมภีร์” จะง่ายกว่า

ดูกันต่อไปนะครับว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วประโยคที่ว่า “พลเมืองเป็นใหญ่” ในที่สุดพลเมืองจะเป็นใหญ่ได้จริงหรือไม่ เป็นใหญ่ในเรื่องอะไรบ้าง เป็นใหญ่ได้ระดับใด และเป็นใหญ่ได้เมื่อไร แต่ในเบื้องต้นเรามาดูกันก่อนว่าอำนาจของกลุ่มทุนและกลุ่มราชการมีรากฐานจากแนวคิดอะไร

อำนาจกลุ่มทุนได้รับการเกื้อหนุนทำให้เติบโตจากประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ซึ่งมองว่ากิจกรรมและการตัดสินใจทางการเมืองอยู่ในอาณาเขตอำนาจของรัฐบาลและผู้นำกลุ่มผลประโยชน์ ส่วนอำนาจกลุ่มข้าราชการเป็นแนวคิดที่สืบทอดจากระบอบจารีตดั้งเดิมซึ่งมองว่าการตัดสินใจทางการเมืองที่สำคัญควรอยู่ในมือของข้าราชการประจำเพราะเป็นกลุ่มที่ปกป้องบ้านเมืองให้อยู่รอดมาโดยตลอด

นักการเมืองและผู้สนับสนุนประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมมองว่าความไม่รู้สึกรู้สาและความเฉื่อยชาทางการเมืองของพลเมืองเป็นส่วนสำคัญต่อประชาธิปไตย เพราะว่าหากประชาชนมีความรู้มากและเรียกร้องการมีส่วนร่วมมาก ก็จะทำให้อำนาจในการตัดสินใจของกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองลดลง อันเป็นสถานการณ์ที่พวกเขาไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง

ชุดของวาทกรรมที่บรรดานักการเมืองของลัทธิเสรีนิยมประชาธิปไตยชอบอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมต่อการใช้อำนาจการตัดสินใจทางการเมืองของพวกเขาคือ ประชาชนได้มอบอำนาจให้พวกเขาผ่านการเลือกตั้งแล้ว พวกเขาจึงเป็นตัวแทนอันชอบธรรมของประชาชนในการใช้อำนาจตัดสินใจ ออกกฎหมาย กำหนดนโยบายและนำนโยบายไปปฏิบัติ ประชาชนต้องยอมรับผลการตัดสินใจเหล่านั้น จะเข้ามาก้าวก่ายหรือแทรกแซงมิได้ หากประชาชนไม่พอใจก็ต้องรอให้ครบวาระและมีการเลือกตั้งใหม่ จากนั้นจึงไปตัดสินใจใหม่อีกทีในคูหาเลือกตั้งว่าจะเอาอย่างไรกับการทำงานที่ผ่านมาของบรรดานักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น

เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์การเมือง มีหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนมากในหลายประเทศ แม้กระทั่งประเทศที่อ้างว่าเป็นแบบอย่างของระบอบประชาธิปไตยพบว่าเส้นทางการพัฒนาของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการอ้างว่า อำนาจเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน กลับมีลักษณะเบี่ยงเบนจากหลักการนั้นไปอย่างสิ้นเชิง ซ้ำร้ายในบางครั้งยังมีลักษณะเป็นปรปักษ์กับผลประโยชน์และสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยซ้ำไป

ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมจึงกลายมาเป็น “ประชาธิปไตยเพื่อชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ” (democracy for the catallactic) และมีกลุ่มที่เรียกว่า “ชนชั้นนำประชาธิปไตย (democratic elitist) ขึ้นมาครองความเป็นเจ้าทางการเมือง กลุ่มเหล่านี้ใช้รูปแบบและกลไกทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม เช่น การเลือกตั้ง รัฐสภา และสถาบันทางการเมืองและสังคมอย่างอื่น เช่น พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ เป็นเครื่องมือในการพันธนาการทางความคิด การตื่นรู้ และกิจกรรมทางการเมืองของประชาชน ด้วยเหตุผลดังกล่าวประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมจึงกลายเป็นกำแพงกีดกั้นการพัฒนาจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และบั่นทอนมิให้ประชาชนพัฒนาตนเองเป็น “พลเมือง” ผู้ตื่นรู้และเท่าทันการตัดสินใจทางการเมืองของพวกเขา

ด้วยความบกพร่องทั้งเชิงแนวคิดและการปฏิบัติการทางการเมืองที่เป็นจริงของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางสังคมกลุ่มหนึ่งจึงได้มีการเสนอความคิดเพื่อขยายการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” (participatory democracy) ขึ้นมา

ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดย อาร์โนลด์ คอฟแมน ในค.ศ. 1960 ในเหตุการณ์การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในสหรัฐอเมริกา คำนี้ปรากฏอยู่ในเอกสารที่เรียกว่า “แถลงการณ์แห่งท่าเรือฮูรอน” (the Port of Huron Statement) ซึ่งร่างโดยนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนและมีคอฟแมนเป็นหนึ่งในบรรดาที่ปรึกษา เอกสารฉบับนี้ได้ถูกนำไปเป็นแนวทางการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในสหรัฐอเมริกาทั่วไประเทศ นักศึกษาเหล่านั้นแสดงเจตจำนงและความประสงค์ในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับรัฐบาล รวมทั้งวิพากษ์แนวคิดการต่อต้านการมีส่วนร่วมของนักวิชาการฝ่ายเสรีนิยม

ความตอนหนึ่งในเอกสารชิ้นนี้ระบุว่า ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเป็นทั้งวิธีการและเป้าหมายในตัวมันเอง มีพื้นฐานจากหลักการอหิงสา (non-violent) หลักการอารยะขัดขืน (civil disobedience) และความคิดที่ว่าพลเมืองในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคลควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางสังคมเพื่อกำหนดคุณภาพและทิศทางเป้าหมายของชีวิตพวกเขาเอง แถลงการณ์ฉบับนี้และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของขบวนการนักศึกษาในสหรัฐยุคนั้นได้ทำให้คำว่า “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง

สังคมไทยได้นำแนวคิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมบรรจุอยู่ในเอกสารที่เป็นทางการอันได้แก่รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หลังจากนั้นก็ได้นำแนวคิดนี้บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 รวมทั้งฉบับที่กำลังร่างอยู่ในปัจจุบันซึ่งคาดว่า น่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 ด้วย

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศหลักการสำคัญที่พัทยา จังหวัดชลบุรี หรือ เราจะเรียกให้ดูขลังว่า “คำประกาศแห่งพัทยา” ก็ได้ หลักการในการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ.2557 มี 4 ประการ คือ 1.พลเมืองเป็นใหญ่ 2.การเมืองใสสะอาดและสมดุล 3.หนุนสังคมมีความเป็นธรรม และ 4.นำชาติสู่สันติสุข จะเห็นได้ว่า หลักการพลเมืองเป็นใหญ่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาเป็นลำดับแรกของหลักการทั้งสี่ข้างต้น ผมจึงอนุมานว่าคณะผู้ร่างให้ความสำคัญกับหลักการพลเมืองเป็นใหญ่เหนือหลักการอื่น

ความหมายของคำว่า “พลเมืองเป็นใหญ่” ที่ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อธิบายคือ การคืนอำนาจสู่ประชาชน โดยร่างรัฐธรรมนูญหลายประเด็นเพื่อสร้างประชาชนให้เป็นพลเมือง ด้วยการขยายสิทธิ เสรีภาพ และการเพิ่มอำนาจให้ประชาชน สำหรับรูปแบบและกลไกในการการเพิ่มอำนาจพลเมืองจะมีอะไรบ้างและกลไกเหล่านั้นจะทำงานอย่างไร อีกไม่นานก็คงจะปรากฏออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม

แม้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะมีความหวังดีในการเพิ่มอำนาจพลเมือง แต่ดูเหมือนว่าเส้นทางการเพิ่มอำนาจพลเมืองในทางปฏิบัตินั้นมิใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่าย ปรปักษ์ของการเพิ่มอำนาจประชาชนมีทั้งในส่วนที่เป็นนักการเมืองหรือชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ และส่วนที่เป็นข้าราชการประจำที่ยังสนุกสนานกับการใช้อำนาจอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงกฎหมายและระเบียบต่างๆในระดับรองลงมา และในส่วนที่เป็นประชาชนด้วยกันเองอีกด้วย

สำหรับในส่วนของนักการเมืองนั้นคงมีกระแสต่อต้านออกมา และคงใช้วาทกรรมของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมมาเป็นเครื่องมือแบบแผ่นเสียงตกร่อง นั่นคือการอ้างเรื่อง “ว่ามาจากประชาชนและการเชื่อมโยงกับประชาชน” เพื่อปกป้องอำนาจและผลประโยชน์ตนเอง สำหรับในส่วนของข้าราชการประจำโดยเฉพาะข้าราชการระดับสูงก็คงจะอ้างเรื่องความมั่นของชาติและความเป็นระเบียบของสังคมเป็นวาทกรรมที่ปกป้องอำนาจของตนเอง ในส่วนของประชาชนด้วยกันเองก็มีจำนวนมากที่ตกอยู่ภายใต้กรอบคิดที่ถูกชี้นำทั้งจากชุดวาทกรรมแบบเสรีนิยมของนักการเมืองและชุดวาทกรรมความมั่นคงและความเป็นระเบียบของข้าราชการ จึงอาจทำให้กรอบคิด “พลเมืองเป็นใหญ่” ดูจะเป็นความหวังดีที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริงเสียมากกว่า

ไม่ต้องไปดูอื่นไกลเพียงแค่ การเร่งรัดในการออก พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ ก็ดูเหมือนจะขัดแย้งกับหลักการพลเมืองเป็นใหญ่ของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญเสียแล้ว เพราะว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้กำลังยึดอำนาจของประชาชนในการแสดงออกและการเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญ ให้อยู่ในมือของข้าราชการและนักการเมือง การกระทำของกลุ่ม สนช.ซึ่งเต็มไปด้วยข้าราชการประจำจึงทำให้คำพูดของประธานผู้ร่างรัฐธรรมนูญ อย่างบวรศักดิ์ อุวรรณโณกลายเป็นเรื่องตลกไป

แต่หากจะทำให้พลเมืองเป็นใหญ่จริง รัฐธรรมนูญก็ต้องร่าง “ให้ประชาชนในฐานะปัจเจกชนมีอำนาจและใช้อำนาจนั้นได้ทันทีโดยไม่ผ่านกลไกหรือตัวแทนใด” เช่น ร่างให้ประชาชนกำหนดการจัดสรรเงินภาษีบุคคลธรรมดาที่พวกเขาจ่ายเป็นรายปีว่าจะจัดสรรให้หน่วยงานใดของรัฐบ้างทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ไม่ต้องทั้งหมดหรอกครับ เพียงแค่ร้อยละ 30 ของภาษีที่ต้องจ่ายทั้งหมดก็พอ หรือ หากรัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการขนาดใหญ่ เช่น กู้เงินเกินหมื่นล้านขึ้นไป จะต้องได้รับการอนุมัติผ่านการทำประชามติจากประชาชนที่เสียภาษีโดยตรงเสียก่อน หรือ เรื่องอื่นๆที่กลุ่มผู้ร่างจะไปคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา

ทำอย่างนี้ซิครับ อำนาจจึงจะเป็นของพลเมือง หรือ “พลเมืองเป็นใหญ่” อย่างแท้จริง มิใช้พูดไปลอยๆ สวยหรูดูดีไปวันๆ หนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น