xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เลือกตั้งต้นปี 59 ก็ยังไม่แน่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศตามรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่เริ่มเห็นคร่าวๆ มาบ้างแล้ว เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) บอกกับผู้สื่อข่าว ภายหลังการประชุม “แม่น้ำ 5 สาย” ซึ่งหมายถึง 5 องค์กรที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค.2557 ที่สโมสรทหารบก เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ว่า การเลือกตั้งจะเป็นไปตามกรอบเวลาคือ ต้นปี 2559

พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า การประชุม“แม่น้ำ 5 สาย” อันประกอบไปด้วยคณะรัฐมนตรี คสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันนั้น ตนได้เข้าร่วมประชุมในฐานะเป็นหัวหน้า คสช. เพื่อติดตามความก้าวหน้าโรดแมปของ คสช. ซึ่งจะพูดถึงการขับเคลื่อนของรัฐบาลในปัจจุบัน เรื่องความก้าวหน้าของ สนช.ในการออกกฎหมายที่สำคัญเร่งด่วน และเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญว่าไปถึงไหนอย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์บอกอีกว่า ได้ย้ำหลักการเดิมของ คสช.ว่า เราจะไม่ไปสร้างความขัดแย้งเพิ่มเติม และทำอย่างไรจะทำให้เกิดบรรยากาศเอื้อต่อการปฏิรูปได้ ฉะนั้น อะไรที่ยังไม่ได้ข้อยุติควรต้องหารือเพิ่มเติม ประชาชนก็อย่าเพิ่งไปเดือดร้อน รวมทั้งนักการเมือง อดีตนักการเมืองอย่าเพิ่งไปเดือดร้อน ว่ากฎหมายนี้จะออกมาอย่างโน้นอย่างนี้ อย่าเพิ่งไปวิเคราะห์วิจารณ์เพราะยังไม่จบขั้นตอนกระบวนการ ยังเป็นแนวความคิด

จากคำพูดดังกล่าว ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เร่งรีบที่จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จ หากยังมีความขัดแย้งกันอยู่ และยังไม่ได้ข้อยุติในการปฏิรูปด้านต่างๆ

แต่ พล.อ.ประยุทธ์กลับบอกว่า เป็นห่วงเวลามีอยู่อย่างจำกัด อะไรที่จะจบสิ้นภายใน 1 ปี และต้องทำให้เสร็จ อะไรเป็นเรื่องการปฏิรูป และจะปฏิรูปต่อกันไปอย่างไร ทำอย่างไรสิ่งที่วางแผนไว้ระยะสั้น ระยะยาว จะต่อเนื่อง จะมีกลไกอะไรหรือไม่ ซึ่งตนคงชี้นำไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญและการบังคับใช้ข้อกฎหมาย ซึ่งพวกเราไม่ค่อยถนัดเรื่องของข้อกฎหมาย

“วันนี้เราเดินหน้าประเทศด้วยการเอาปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่วันนี้ในอดีตที่ผ่านมา มาแก้ไข ว่าทำอย่างไรให้เกิดความมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืน ทั้งมิติด้านความมั่นคง ด้านสังคมวิทยา ด้านเศรษฐกิจที่เรากำลังส่งเสริมให้เข้มแข็ง เพื่อไปสู่การแข่งขันให้ได้ในวันข้างหน้า ทั้งหมดไม่สามารถจะทำให้ดีขึ้นในเวลาสั้นๆ ได้ คือ 1 ปียากที่สุด” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์เชื่อว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ภายในเดือน เม.ย.นี้ ตามกำหนด หรืออาจจะเร็วกว่า เพราะคณะกรรมาธิการยกร่างฯ พยายามจะทำให้เร็ว เพื่อที่จะมีเวลาซักค้าน ปรับปรุงแก้ไขกันอีก เพราะต้องไปเสนอให้ สปช. ครม. คสช.ดูอีก

ส่วนจะจบได้ตามโรดแมปที่วางไว้ได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า ต้องไปถามคนมีส่วนร่วมข้างนอกด้วยว่า วันนี้ทางฝ่ายการเมืองผู้เห็นต่างว่าอย่างไร ที่เขาทำวันนี้เข้าใจหรือเปล่า ว่าประเทศชาติเราเจออะไรกันอยู่ ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าทุกคนก็มีส่วนในการทำให้เกิดความขัดแย้ง มันจะด้วยถูกหรือผิดต้องพิสูจน์กันด้วยกระบวนการยุติธรรม และต้องยอมรับในกระบวนการยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นในช่วงเป็นต้นปี 59 ตามกำหนดเดิม แต่ก็มีเรื่องของกฎหมายลูกซึ่งคงใช้เวลาไม่นาน รวมถึงการเตรียมการเลือกตั้งก็มีกลไกอยู่

มีรายงานว่า ในการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ซึ่งใช้เวลาในการหารือนานกว่า 3 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศตอนหนึ่งว่า มีการเสนอมามากเกินไป ไม่ใช่ใครคิดอะไรได้ ก็เสนอกันเข้ามา ขอให้ดูกับระยะเวลาที่เหลืออยู่ ให้เสนอแต่เรื่องที่สามารถทำได้กับเวลาที่มี และขอให้บอกมาด้วยว่า ปัญหาที่มีคืออะไร มีอะไร แก้อย่างไร ขอให้บอกวีธีแก้ไขและเนวทางมาด้วย เพราะการปฏิรูปสามารถทำได้ ทั้งการปฏิรูปที่ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย หรือถ้าต้องแก้กฎหมายให้สอดคล้องรองรับ ก็ให้รีบเสนอมา เพื่อจะได้นำเข้าที่ประชุม สนช.ต่อไป

นั่นสะท้อนถึงความสับสนของ พล.อ.ประยุทธ์เอง ใจหนึ่งก็อยากเร่งให้มีการเลือกตั้งตามกำหนดเดิม แต่อีกใจหนึ่งก็กังวลว่า ช่วงเวลาที่เหลืออยู่อาจวางแนวทางการปฏิรูปประเทศ 11 ด้านตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวยังไม่แล้วเสร็จ

นี่จะเป็นเพราะมีแรงกดดันมาจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาหรือไม่ หลังจากที่นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางมาไทยช่วงวันที่ 24-26 ม.ค.ที่ผ่านมา และได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองไทย ตอกย้ำด้วยท่าทีของนาย ดับเบิลยู.แพทริก เมอร์ฟีย์ อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย รักษาการแทนเอกอัครราชทูตฯ ที่ยังแสดงท่าทีว่าประเทศไทยจะต้องดำเนินขั้นตอนกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว หลังจากที่นายแพทริก เมอร์ฟีย์ ถูกกระทรวงการต่างประเทศของไทยเรียกตัวเข้าพบ

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวหลังการประชุมแม่น้ำ 5 สายว่า การประชุมครั้งต่อไปในเดือน มี.ค.จะเป็นการตรวจการบ้าน เพราะในครั้งนี้มีการพูดคุยถึงงานที่แต่ละฝ่ายจะต้องไปดำเนินการ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกจะแล้วเสร็จในเดือน เม.ย.หรือไม่ ใกล้ๆ เวลานั้นคงจะรู้แล้ว แต่คงไม่ต้องรอถึงวันที่ 23 ก.ค.ที่กรรมาธิการยกร่างฯ จะเปิดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เป็นวันสุดท้าย

ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ดูจะเร่งรีบคลอดร่างรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้งตามกำหนด ภาระก็มาตกที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม นายบวรศักดิ์ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ว่า ไม่รู้สึกกดดันที่นายกฯ พูดไปก่อนว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญอาจจะเสร็จเร็วกว่ากำหนด ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ แต่ก็ยังไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาที่แน่นอนได้ว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งได้ช่วงใด เพราะต้องดูทิศทางหลังจากร่างรัฐธรรมนูญแรกเสร็จสิ้นก่อนที่จะเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาในวันที่ 17 เม.ย.นี้

นายบวรศักดิ์ย้ำว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะต้องมีการจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นทั้ง 11 ฉบับก่อน จึงจะมีการบังคับใช้ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับไม่ออกมาพร้อมกับรัฐธรรมนูญ

ส่วนการทำประชามติก็จะมีความชัดเจนก่อนวันที่ 6 สิงหาคม ซึ่งจะเป็นวันสุดท้ายที่มีการปรับแก้ไขร่างฯ เนื่องจากการกำหนด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจะต้องระบุไว้ในส่วนของบทเฉพาะกาล และหากจะมีการทำประชามติก็จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อเปิดทางให้สามารถดำเนินการได้

นั่นหมายความว่า หากว่ากันตามขั้นตอนที่นายบวรศักดิ์บอกแล้ว การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คงต้องล่าช้าออกไปไม่มากก็น้อย เพราะต้องรอให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 11 ฉบับ เสร็จสิ้นก่อน ยิ่งถ้าจะต้องมีการทำประชามติ ก็ต้องผ่านขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อเปิดช่องให้ดำเนินการได้ หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการทำประชามติ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกนับเดือน
กำหนดการเลือกตั้งต้นปี 2559 จึงอาจไม่ใช่กำหนดการที่แน่นอน แต่ก็คงไม่ช้ากว่าช่วงกลางปีเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น