xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ประสงค์ สุ่นศิริ “การที่รัฐไม่ฟังเสียงภาคประชาชนในเรื่องพลังงาน จะเป็นบทพิสูจน์สำคัญว่าทำงานเพื่อประชาชนหรือเพื่อคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -“น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และหนึ่งในคณะกรรมการร่วมพลังงานภาคประชาชน ให้สัมภาษณ์แก่ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ถึงเหตุผลที่ต้องการให้รัฐแก้ไขกฎหมายมาตรา 56 พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 เพราะเห็นว่าผลประโยชน์ปิโตรเลียมตกไปอยู่แก่ผู้ได้รับสัมปทานมากกว่าผลประโยชน์ของชาติ

ข้อมูลที่ได้จากเขาคนนี้ จะทำให้เรารู้ว่าความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ไม่ใช่แค่เรื่องผลผลิตอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงอำนาจการกำหนดนโยบายในเรื่องพลังงานของประเทศด้วย เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมที่แท้จริง ไม่ใช่แค่ประโยชน์ของใครคนหนึ่ง

คุณเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ร่วมรายชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเวทีเสวนาพลังงานในวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา อยากรู้ว่าเพราะอะไรถึงเข้ามาร่วมเรียกร้องครั้งนี้ด้วย

เพราะผมเห็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน เรื่องที่จะขอให้รัฐบาลอย่าเพิ่งเปิดประมูลสัมปทานรอบ 21 เหตุผลของเขาคือต้องการที่จะให้มีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ในมาตรา 56 เพราะว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้ออกมาตั้งแต่ปี 2514 ซึ่งในระยะนั้นเป็นระยะที่ความรู้ ความสามารถ เทคนิคทางด้านการสำรวจ ขุดเจาะปิโตรเลียมบนบกในทะเล เรายังไม่มีประสบการณ์ ความสำคัญของมาตรา 56 บอกว่า ให้เปิดประมูลเพื่อให้เปิดสัมปทานกับผู้ที่ได้รับสัมปทานสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเลได้ โดยผู้ได้รับสัมปทานจะต้องเสียค่าหลวง ส่วนขุดเจาะได้อย่างไรแค่ไหน เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ได้รับสัมปทานไปหมด เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นก๊าซ เป็นน้ำมันอะไรต่างๆ เป็นเรื่องของเขา เขาจะเอาไปขายก็ได้ เขาทำอะไรก็ได้ ประเทศไทยเราได้แค่ค่าภาคหลวง หรือได้ภาษีอะไรนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นมาตรานี้มันยังอยู่จนถึงปัจจุบัน ประมูลสัมปทานปิโตรเลียมมาถึงรอบ 20 ผ่านมาแล้ว นี่กำลังจะรอบ 21 ฉะนั้นประชาชนที่เขาติดตามเรื่องนี้ ศึกษาเรื่องนี้ เขาก็ไม่ต้องการ เขาขอให้แก้กฎหมายมาตรานี้เสียก่อน แล้วเปลี่ยนให้เป็นระบบแบ่งปันผลผลิต

ผมมองว่าเรื่องความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ไม่ใช่แค่พิจารณาเฉพาะผลผลิตที่ได้ขึ้นมาจากการสำรวจขุดเจาะ แต่ต้องหมายรวมไปถึงอำนาจของฝ่ายบริหารจัดการทางด้านนโยบายพลังงานด้วย เพื่อถ่วงดุลกับผู้ได้รับสัมปทาน ผมเคยทำงานฝ่ายความมั่นคงมาก่อน จึงพูดได้ว่าความมั่นคงแห่งชาติเป็นเรื่องสำคัญมาก ฉะนั้นความมั่นคงพลังงานของประเทศไม่ใช่เฉพาะเรื่องว่า ผลผลิตขึ้นมาได้แล้วขายไปอย่างไร แต่ต้องดูว่า ฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายเจ้าของทรัพย์สินนั้น จะสามารถที่จะมีอำนาจในการบริหารจัดการกำหนดนโยบายพลังงานได้อย่างไร แต่กลายเป็นว่ามาตรา 56 ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียมปี 14 ไม่มีเลย เพราะฉะนั้นผมเห็นว่ามาตรานี้ควรแก้ไข ซึ่งมันสอดคล้องกับความต้องการของภาคประชาชน

ถ้าตราบใดไม่แก้ไขมาตรา 56 เสียก่อน ผมคิดว่าผลประโยชน์ส่วนรวมไม่ได้ตกอยู่กับบ้านเมือง ไม่ได้ตกอยู่กับประชาชน แต่ตกอยู่กับผู้ได้สัมปทานไป เพราะเขาสามารถเอาสิ่งที่ผลิตได้ขึ้นมาทั้งหมดเป็นของเขาไปตามกฎหมายมาตรานี้ ดังนั้นผมมองว่าเราควรแก้ไขตรงนี้

สรุปมองว่าการใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตดีกว่าระบบสัมปทานใช่ไหม เพราะอะไร ช่วยอธิบายเพิ่มเติมให้แก่คนที่อาจยังไม่เข้าใจหน่อย

ผมรับราชการมาทางด้านความมั่นคงแห่งชาติมาตลอดแทบชีวิตราชการ เพราะฉะนั้นเห็นว่าความมั่นคงพลังงานของประเทศต้องไม่หมายความแค่เฉพาะผลผลิตอย่างเดียว แต่ต้องหมายถึงอำนาจของการกำหนดนโยบายในเรื่องพลังงานของประเทศด้วย เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่ให้ทุกสิ่งทุกอย่างแล้วแต่ผู้ที่สำรวจได้ไปดำเนินการจัดการเป็นกรรมสิทธิ์ของเขา ฉะนั้นในหลักการความมั่นคงแห่งชาติ ในแง่ของพลังงานที่ผ่านมาทั้งหมด ไม่เป็นประโยชน์อะไรกับส่วนรวม เพราะฉะนั้นผมถึงไปร่วมกับภาคประชาชน เพราะผมเห็นว่าความต้องการของภาคประชาชนถูกต้องแล้ว คือ มองว่าควรยกเลิกระบบสัมปทาน แล้วเปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ระบบแบ่งปันผลผลิตหมายความว่า การประมูลเมื่อเอกชนได้รับไปแล้ว ขุดเจาะขึ้นมาได้อย่างไรแค่ไหน หลังจากที่หักค่าใช้จ่ายในเรื่องการสำรวจขุดเจาะ ผลผลิตที่ได้ขึ้นมาคุณต้องมาดูว่ากี่เปอร์เซ็นต์ รัฐจะเอาเท่าไร่ เอกชนจะเอากำไรเท่าไหร่ คือต้องมาแบ่งกันให้มันยุติธรรม นี่คือระบบแบ่งปันผลผลิต

ทีนี้ที่ผ่านมาทั้งหมดจนถึงปัจจุบันเป็นระบบการให้สัมปทาน แล้วการให้สัมปทานวิธีประมูลกันมันอยู่ที่ใครเสนอมา มันไม่มีหลักเกณฑ์อะไร แล้วแต่ผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่มาด้วยว่า ใครประมูลอย่างไรแค่ไหน ไม่มีเปิดเผยในเรื่องของผลประโยชน์อะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นระบบแบบแบ่งปันผลผลิต มันจะทำให้การประมูลเต็มไปด้วยความโปร่งใส คือให้คนที่ให้เปอร์เซ็นต์สูง และต้องเอาคนที่ให้ผลประโยชน์ส่วนรวมมาก แต่ในระบบสัมปทาน ไม่มีรายได้อะไรให้เข้ากับประชาชน หรือเป็นผลประโยชน์ของส่วนรวม นี่คือเหตุผลในเรื่องความมั่นคง

แล้วอย่างที่บอกว่าความมั่นคงพลังงานของประเทศต้องอยู่ที่การมีอำนาจในการที่จะจัดการทางด้านนโยบายด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่องดูเฉพาะผลผลิตอย่างเดียว บางคนบอกเดี๋ยวผลผลิตมันไม่มีแล้ว อันนี้ผมไม่เห็นด้วย ผลผลิตคุณพูดมาตัวเลข สำหรับผม มีตัวเลขที่อยากจะบอกว่า ในขณะนี้พื้นที่ที่คาดว่าจะมีแหล่งปิโตรเลียมใต้พื้นดินกับใต้ทะเล 1 แสนตารางกิโลเมตร ทำกันไปได้ไม่ถึง 2 หมื่นตารางกิโลเมตรที่ผ่านมาทั้งหมด ยังเหลืออีกเท่าไร ถ้าคุณบอกว่ากำลังขาด มันไม่ใช่ คุณเอาตัวเลขเหล่านี้ คุณไม่เคยเปิดเผยให้ประชาชนทราบมาก่อนเลย นอกจากคนที่ทำงานเกี่ยวข้อง และตรวจสอบเรื่องนี้เขาจะทราบ

เดี๋ยวนี้มีนักวิชาการมากมายพอจะรู้แล้วว่า การพูดว่าเดี๋ยวก๊าซไม่มี น้ำมันไม่มี อะไร ต่างๆ มันไม่ใช่เรื่องจริง มันไม่ใช่ตัวเลขที่ตรงกับข้อมูลที่คนเหล่านี้มีอยู่ เพราะที่ผ่านมาทั้งหมดตั้งแต่เปิดให้สัมปทานมาจนถึงปัจจุบัน มีการขุดเจาะก๊าซและน้ำมันทั้งบนบกและ ใน ทะเลของประเทศไทย เรามีแหล่งสิริกิติ์ มีแหล่งน้ำพอง อยู่บนบกตั้งแต่ตอนภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน แต่ยังน้อยกว่าแหล่งอ่าวไทยในทะเล ขนาดนี้ในอ่าวไทยทั้งหมดมีแท่นขุดเจาะน้ำมันอยู่ทั้งหมด 359 แท่นในทะเล ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นของ 5 บริษัทใหญ่ แต่บริษัทที่ได้มากที่สุดขณะนี้คือ บริษัทเชฟรอน มีมากถึง 289 แท่น ซึ่งเป็นบริษัทของสหรัฐฯ และดำเนินการมาตั้งแต่ต้น ผมถึงกล้าบอกว่า บนบกมีการขุดเจาะ มีการสำรวจ มีแหล่งสำคัญๆ แต่ว่ายังน้อยกว่าในอ่าวไทย

นอกจากนั้น การที่รัฐดูเหมือนต้องการเดินหน้าในเรื่องสัมปทาน ผมมองว่าบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่ได้ทำงานร่วมในระบบสัมปทานมา ฉะนั้นเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ ผมคิดว่าเขาต้องมีบ้าง เพราะว่าตัวเลขของกระทรวงพลังงานปี 56 ปตท.สผ.ซึ่งมีแหล่งขุด ปี 56 มีตัวเลขกำไร 2.2 แสนล้านบาท แล้วเงินตรงนี้ไม่ได้เข้าหลวง ประชาชนไม่ได้อะไรเลย ไปได้ประโยชน์เฉพาะคนกลุ่มนี้ ซึ่งผมคิดว่าไม่ยุติธรรม ฉะนั้นเรื่องนี้ผมอยากให้คนที่จะตัดสินใจคือ รัฐบาล หรือคนมีอำนาจในขณะนี้ได้คิดในเรื่องผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมให้มากที่สุด

การบอกว่าประเทศเราต้องการอำนาจในเรื่องการกำกับนโยบายมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องผลผลิตอย่างเดียว ช่วยอธิบายเพิ่มเติมให้ฟังหน่อยว่าเราควรแก้ไขหรือจัดการเรื่องนี้อย่างไร

คือแก้ไขกฎมาตรา 56 จากสัมปทานให้มาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต หรือการว่าจ้าง แล้วให้มีการจัดการดุลอำนาจในการกำหนดนโยบายให้ผู้ที่จะได้รับการประมูลไปได้ตามระบบแบ่งปันผลผลิต คือจะดำเนินการในเรื่องอะไร แค่ไหน ฝ่ายรัฐต้องมาหารือกับฝ่ายรัฐเพื่อให้เห็นชอบร่วมกัน ถึงจะกำหนดนโยบายการจัดการขุด และการจัดการสำรวจขึ้นมา ไม่ใช่ปล่อยเลยตามเลย มันเป็นการถ่วงดุลอำนาจระหว่างผู้ที่ได้รับประมูลกับฝ่ายราชการ

สมัยก่อนที่สัมปทาน ฝ่ายราชการจะกำหนดนโยบายอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผมอยากจะพูดเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งให้ฟังว่า ระบบสัมปทานทั้งหมดมันเป็นเรื่องของฝ่ายบริษัทต่างชาติที่เข้ามาได้ สิทธิกรรมสิทธิ์ต่างๆ ที่คุณได้จัดเป็นของเขา และถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นที่กระทบกระเทือนต่อสังคม ต่อพื้นที่ หรือต่อความเป็นความเป็นอยู่ของชาวบ้านเขา สิ่งต่างๆ ที่กระทบกระเทือนเหล่านี้ ถ้ามีปัญหาขึ้น บริษัทที่ได้สัมปทานไปสามารถใช้ศาลที่จัดตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมันไม่ใช่ระบบศาล ทำให้เรื่องไม่เข้าศาล อำนาจศาลก็ไม่มี ดังนั้นผมอยากจะยืนยันอย่างนี้ว่า การใช้ระบบอนุญาโตตุลาการกับใช้ระบบศาล เท่ากับที่ผ่านมาทั้งหมดเรื่องไม่ได้ขึ้นศาลเลย แต่ถ้ามีอะไร มันจะไปตัดสินกันที่อนุญาโตตุลาการ อย่างนี้มันใช้ได้ที่ไหน ชาวบ้านไปฟ้องร้องศาล ฟ้องร้องไม่ได้ ฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก มันเท่ากับว่าไม่เคารพอำนาจอธิปไตยทางด้านตุลาการของบ้านเรา

แต่บนเวทีเสวนาพลังงานในวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐบาลอ้างข้อมูลว่าการที่ประเทศเรามีอนุญาโตตุลาการในเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติทางกฎหมาย เพราะในธุรกิจต่างประเทศอื่นๆ ก็ใช้รูปแบบนี้เป็นเรื่องปกติเหมือนกัน คิดเห็นอย่างไรในเรื่องนี้

ผมมองว่าเราสามารถแก้ไขกฎหมายได้ ขอให้ศาลมีโอกาสได้เข้าเสนอศาลไทยได้ คือให้เพิ่มเติมเข้าไปเลย เพราะอำนาจทางตุลาการควรเป็นของประเทศเรา แต่อยู่ดีๆ ทำไมเราต้องไปยกอำนาจการตัดสินให้คนอื่น คือผมมองว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้อนุญาโตตุลาการเหมือนกับประเทศอื่น เราควรจะใช้รูปแบบของเราเอง ผมถึงว่านี่คือการที่เราจะต้องแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ และการผ่านกฎหมายในเรื่องนี้จะเป็นบทพิสูจน์อย่างดี ผมอยากให้ผู้มีอำนาจซึ่งเป็นทหารได้ศึกษาและพิจารณาด้วยความรอบคอบถี่ถ้วน อย่าไปฟังเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เคยได้รับผลประโยชน์มาจากธุรกิจน้ำมันมาตลอด ขอให้ฟังภาคประชาชน และศึกษาจากนักวิชาการจริงๆ จากนั้นค่อยตัดสินใจ

ขณะนี้รัฐบาลกำลังจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายคัดค้านสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในฐานะที่คุณเป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่วมพลังงานภาคประชาชน คุณมองว่าจะเป็นไปได้สูงไหมที่จะสำเร็จลงด้วยดี รวมถึงควรจะดำเนินการอย่างไรถึงจะเหมาะสมที่สุด

การจัดตั้งคณะกรรมครั้งนี้ ภาคประชาชนเชิญผมไปอยู่ในคณะกรรมการร่วมด้วย ทีนี้ผมได้ข้อมูลมาว่ากรรมการร่วมเขาจะให้ภาคประชาชน 4 คน หรือ 5 คน อีกฝ่ายหนึ่งคือรัฐบาล 8 คน 10 คน ซึ่งผมคิดว่าไม่ถูกต้อง เริ่มต้นอย่างนี้ไม่ถูกแล้ว กรรมการมันควรจะมีเท่าๆ กัน เพื่อจะต้องออกเสียงลงมติได้อย่างยุติธรรม ถ้าหากจำนวนไม่เท่ากัน ผมคิดว่ากรรมการร่วมคงจะไม่ยินดีที่จะมานั่งคุยกัน เสียเวลาเปล่าๆ เพราะคุณตั้งธงมาแล้วนี่

ถ้าหากยังตกลงไม่ได้ ก็ควรจะทำประชามติไปเลย อย่าไปทำโพล โพลถามคนไม่กี่คน แต่ประชามติเกิดจากประชาชน 64 - 65 ล้านคน ดังนั้นผลออกมาอย่างไร ประชาชนไม่สามารถจะว่าคุณได้ แต่ถ้าประชาชนไม่เอา เขาอยากจะเอาอย่างเก่า แสดงว่าประชาชนเขาเห็นด้วย แต่ถ้าประชาชนไม่เอาตามวิธีการของรัฐ คุณต้องฟังเสียงประชาชน เพราะที่นี่ประชาชนเขาเป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตย ทรัพย์สินทรัพยากรธรรมชาติเป็นของรัฐก็คือของประชาชน เพราะฉะนั้นในวิธีการจัดการบริหารราชการแผ่นดิน คือการจัดการบริหารผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกันอย่างยุติธรรม สำหรับประชาชนในประเทศ

จากนี้คิดว่าภาคประชาชนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปในเรื่องนี้

ผมคิดว่าหลังจากนี้แล้ว ฝ่ายภาคประชาชนคงจะมีการชี้แจง และอาจจะมีอะไรใหม่ๆ ที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจข้อเท็จจริงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ หรือการประชุม หรือการแถลงอะไรต่างๆ

นอกจากนั้นผมเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้าใจปัญหา เขาจะไม่ยอมแน่ ขอบอกไว้เพียงว่าอย่าไปดูหมิ่นน้ำใจประชาชนที่เขารักบ้านรักเมือง รักผลประโยชน์ รักแผ่นดิน ดูจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาแต่ละครั้ง ทหารยึดอำนาจ ทหารมีอำนาจ เจ้าหน้าที่มีกำลัง ผมก็ไม่เห็นประชาชนเขากลัวเลย อันนี้ฝากไว้ด้วย อย่างไรขอให้ตัดสินใจกันให้ดี ผมอยากจะขอร้องคนที่ยึดอำนาจคราวนี้ ผมก็เคยเป็นทหารมา ผลประโยชน์แห่งชาติเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของจิตสำนึกของทหาร เรามีหน้าที่ในการป้องกันรักษาความมั่นคงปลอดภัยกับประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันเรามีหน้าที่ในการช่วยปกป้องรักษาปิโตรเลียมทั้งหมดซึ่งเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติของประเทศชาติใช่ไหม

เห็นคุณประสงค์เคยออกมาเตือนรัฐบาลว่าอย่าลืมคำปฏิญาณที่เคยให้ไว้ คุณต้องการบอกอะไร

คือ ผมคิดว่าคนมีอำนาจในชุดนี้มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร โดยเฉพาะเป็นทหาร ผมเลยขอให้คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศของประชาชน ทำให้เห็นเสียที เรื่องปัญหาการขุดเจาะน้ำมันคราวนี้ การให้สัมปทานปิโตรเลียมครั้งนี้ จะ เป็น เครื่องพิสูจน์อย่างดีสำหรับผู้ยึดอำนาจคราวนี้ว่า คุณยึดอำนาจแล้ว คุณจะเห็นกับประโยชน์ที่ประชาชนเรียกร้องตรวจสอบจริงหรือไม่จริงแค่ไหน ถ้าเป็นเรื่องจริงคุณต้องทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับส่วนรวม ไม่ใช่ให้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลประโยชน์อย่างเก่าๆ มา

เพราะฉะนั้นวิธีการในการที่จะเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมในวันที่ 16 มีนาคมนี้ ผมคิดว่าตราบใดที่ยังไม่แก้ไขกฎหมายมาตรา 56 ของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ก็ขอให้เลื่อนออกไปก่อน มาพูดจาตกลงกันในเรื่องของการแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ก่อน และอย่าไปอ้างว่ามันช้า ใช้เวลาเป็นปี ผมอยู่ในสภาฯ มาหลายยุคหลายสมัย เลยรู้ว่าคุณจะทำให้เร็วภายใน 1 เดือนก็ทำได้ คุณไม่ต้องไปโยกโย้อะไร คุณใช้กรรมาธิการทั้งสภาฯ เดือนเดียวก็เสร็จ ผมพูดในฐานะที่ผมเคยอยู่ และทำงานมาก่อน เลยรู้ว่าสามารถทำได้ ถ้ามีความตั้งใจจริง ทำเดือนเดียวก็เสร็จ ประชาชนเขามองดูอยู่

ผมอยากจะให้ผู้มีอำนาจได้คำนึงถึงเรื่องนี้ เพราะว่าเรื่องนี้จะเป็นบทพิสูจน์สำคัญว่าพวกเราที่เป็นทหาร ผมก็เป็นทหาร ต้องการเข้ามาช่วยชาติบ้านเมือง เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติไหม ถ้าหากว่าใช่ ก็ขอให้ยับยั้งชั่งใจ และแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมสำหรับส่วนรวมของประเทศเสียก่อน ไม่ต้องไปคิดว่าจะยืดเยื้ออย่างไรแค่ไหน ขอให้แก้ให้เสร็จ และเมื่อแก้เสร็จ จะเปลี่ยนมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต หรือจะเป็นระบบการว่าจ้างผลิตเป็นเรื่องๆ ไปก็ได้ 2 วิธีนี้มันให้ประโยชน์มากกว่าสัมปทาน ที่คนให้สัมปทานได้ปิโตรเลียมไปหมดเลย สรุปว่าผมต้องการให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.การปิโตรเลียมให้เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน ไม่ใช่ประโยชน์ของกลุ่มบุคคล คณะบุคคล หรือบริษัทต่างชาติอย่างที่กอบโกยกันไปตลอดมาจนถึงวันนี้

ฉะนั้นตราบใดที่ยังไม่มีแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมให้เกิดความเป็นธรรม หรือการที่รัฐไม่ฟังเสียงภาคประชาชนในเรื่องพลังงาน จะเป็นบทพิสูจน์สำคัญว่าทำงานเพื่อประชาชนหรือเพื่อคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ภาพโดย วชิร สายจำปา





กำลังโหลดความคิดเห็น