ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กรณีของวัดพระธรรมกายกำลังกลายเป็นประเด็นที่สร้างความสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ต่อ “ศรัทธา” ที่ชาวพุทธไทยมีต่อองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยซึ่งมีชื่อว่า มหาเถรสมาคม(มส.)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังฃองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยประชุมกันเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน และมีมติออกมาว่าพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เจ้าอาวาสวัดธรรมกาย บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่ต้องโทษ “อาบัติปาราชิก” ตาม พระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เพราะในยุทธจักรดงขมิ้นรู้ดีว่า สายสัมพันธ์ของพระธมฺมชโยกับพระผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการนี้นั้นลึกซึ้งและกว้างขวางแค่ไหน
ที่ร้ายกว่านั้นคือ หลังจากสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ยังมีการแก้เกมแบบ “หน้าไม่อาย” ออกมา โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับ พศ.ถึงกับบากหน้าออกมาประกาศว่า มส.มิได้มีมติอย่างไรออกมาเกี่ยวกับเรื่องพระธมฺมชโยอีกต่างหาก
ขณะเดียวกันเรื่องของพระธมฺมชโยและวัดพระธรรมกายยังไปเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ปัจจุบันคือกรณีรับเงินโกงจาก “นายศุภชัย ศรีศุภอักษร” อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ศิษย์เอกของทางวัด ด้วยตัวเลขเฉียดพันล้านบาท ซึ่งขณะนี้ทาง สปช.และดีเอสไอกำลังเร่งดำเนินคดี และว่ากันว่าจะเป็นคดีสำคัญที่นำไปสู่จุดจบของวัดพระธรรมกาย
รวมกระทั่งถึงถึงการเปิดตัวของ “เครือข่ายนะจ๊ะ” ที่ดาหน้ากันออกมาปกป้อง
พระลิขิตชี้ชัด “ปาราชิก”
ประเด็นแรกที่สำคัญที่สุดต่อกรณีของพระธมฺมชโยและวัดพระธรรมกายเห็นจะเป็นพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งมหาเถรสมาคมยอมรับว่าเป็นความจริง แต่มีการตะแบงหรือบิดเบือนออกไป
อ้างว่าเป็นพระลิขิตไม่ใช่พระบัญชาบ้าง
อ้างว่าพระลิขิตบางฉบับปลอมบ้าง
อ้างว่าพระพระธมฺมชโย ยอมรับและปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชในการคืนที่ดินทุกประการ ฯลฯ
ทว่า ความจริงก็ย่อมเป็นความจริง เพราะในที่สุดมหาเถรสมาคมเองยอมรับว่าพระลิขิตเป็นของจริง
ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับไปดูถ้อยแถลงของพระพรหมเมธี(จำนงค์ ธมฺมจารี) กรรมการและโฆษก มส. เปิดเผยภายหลังการประชุม ก็จะเห็นข้อเท็จจริงว่า ไม่ชอบด้วยเหตุผลในหลายประการ
พระพรหมเมธีอธิบายมติของ มส.โดยสรุปได้ดังนี้
หนึ่ง-ประชุม มส.ได้ยกมติมส.ในปี 2549 ขึ้นมาพิจารณาแล้ว พบว่า พระธมฺมชโย ยอมรับและปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชในการคืนที่ดินทุกประการ
สอง-พระธมฺมชโยได้ทยอยคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่วัดพระธรรมกาย ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการฝ่ายสงฆ์ ซึ่งประกอบด้วยเจ้าคณะปกครอง ได้ดำเนินการสอบสวนความผิดและผลสรุปออกมาว่า ไม่มีเจตนาฉ้อโกง ไม่ผิดพระวินัย ไม่ถือเป็นความผิด ถือเป็นอันยุติ
และสาม-เมื่อไม่มีเจตนาฉ้อโกง ไม่ได้ฝ่าฝืนพระลิขิต ไม่ถือว่ามีความผิด และพ้นมลทิน รวมทั้งยึดตามมติ มส.ปี 2549 โดยได้คืนตำแหน่งเจ้าอาวาส และได้ขอพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ให้ ดังนั้น สถานะภาพปัจจุบันของพระธมฺมชโย ยังคงดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดและดำรงสมณศักดิ์เช่นเดิม
สำหรับกรณีที่มีนายสมพร เทพสิทธา และนายมาณพ พลไพรินทร์ เป็นฝ่ายโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาว่า พระธมฺมชโยยักยอกทรัพย์ของวัดพระธรรมกาย ต่อมานายมาณพ หนึ่งในโจทย์ร่วมฟ้องได้ถอนฟ้องพระธมฺมชโย ทางอัยการได้พิจาณาแล้ว จึงได้ถอนฟ้องคดีดังกล่าว ถือว่า พระธมฺมชโยได้พ้นมลทินแล้ว
“ขณะนี้ รัฐบาลเน้นสร้างความปรองดองของคนในชาติ จึงไม่อยากให้นำเรื่องที่ยุติลงแล้วมาพูดซ้ำ”กรรมการและโฆษกมส. อธิบายพร้อมอ้างเรื่องของความปรองดอง
เมื่อฟังการชี้แจงในแต่ละประเด็นที่โฆษก มส.ออกมาแถลงข่าวต่อสาธารณชนด้วยแล้ว ก็ให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังหนักขึ้นกว่าเก่า โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสายสัมพันธ์วัดแห่งนี้มีต่อกรรมการมหาเถรสมาคม เนื่องเพราะ “ เคลียร์” ให้กับพระธมฺมชโยและวัดพระธรรมกายในทุกข้อกล่าวหา แถมยังหยิบยกข้ออ้างในเรื่องของ “ความปรองดอง” มาใช้ในการอธิบายเพื่อปกป้องอีกต่างหาก
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ การนำทรัพย์สินที่เป็นสมบัติของวัดไปเป็นสมบัติส่วนตัว ก่อนที่จะจับได้ไล่ทันและนำคืนให้แก่วัดนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้จริงหรือ เพราะสังคมเข้าใจว่า พระธมฺมชโยได้กระทำความผิดสำเร็จแล้วโดยต้องอาบัติปาราชิกซึ่งประกอบไปด้วย 4 สิกขาบท คือ 1.เสพเมถุน 2.ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ราคาตั้งแต่หนึ่งบาท 3.ฆ่ามนุษย์ และ 4.อวดอุตตริมนุสสธรรม
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช. ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ตั้งข้อสังเกตและโต้แย้งเอาว่ามติ มส.ดังกล่าวเป็นมติที่จะต้องถูกตรวจสอบเพราะขัดและแย้งกับพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชปี 2542 ที่รับรองโดยมติ มส.เอง ทั้งนี้ คิดว่า มติมส.ล่าสุดมีปัญหาแน่และที่ผ่านมากรรมการใน มส.หลายรูปถูกร้องเรียนว่า มีลักษณะทับซ้อนกับการใช้ดุลพินิจในเรื่องพระธมฺมชโย
“มติที่ออกมาแล้วอ้างว่าไม่ขัดกับพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชนั้น ยังไงก็ขัดพระลิขิตแน่ ส่วนที่บอกว่าพระธมฺมชโยคืนทรัพย์สินให้วัดไปหมดแล้วไม่มีเจตนาถือไว้ ไม่ต้องปาราชิกเป็นคนละเรื่องกัน เพราะการเอาทรัพย์สินที่เป็นของวัดมาใส่ชื่อตัวเอง ต้องถือว่าขาดจากความเป็นพระ”นายไพบูลย์อธิบาย
ด้วยเหตุดังกล่าว สิ่งที่ต้องตรวจสอบก็คือ พระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเนื้อหาในมติ มส.ที่ 193/2542 เรื่องพระดำริของสมเด็จพระสังฆราช ระบุว่า ในการประชุม มส.ครั้งที่ 16/2542 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 42 เลขาธิการ มส.เสนอว่า พระราชรัตนมงคล ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้มีลิขิตที่ พ 258/2542 ลงวันที่ 29 เมษายน 42 ขอให้กรมศาสนาเผยแพร่พระดำริของสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งลงพระนามในวันที่ 26 เมษายน 42 วันที่ 1 พฤษภาคม 42 และวันที่ 10 พฤษภาคม 42
ที่ประชุมรับทราบพระดำริที่สมเด็จพระสังฆราชประทานมาทั้งหมด มส.มีมติสนองพระดำริมาโดยตลอดให้ชอบด้วยกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎหมายมหาเถรสมาคม จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และเห็นสมควรส่งเรื่องให้ฝ่ายสังฆการดำเนินการตามมติ มส.ต่อไป
สำหรับเนื้อหาพระดำริของสมเด็จพระสังฆราช ที่ลงพระนามเมื่อวันที่ 26 เมษายน 42 ได้กล่าวถึง ความบิดเบือนพระพุทธคำสอน โดยกล่าวหาว่าพระไตรปิฎกบกพร่องเป็นการทำให้สงฆ์หลงเชื่อคำบิดเบือน แตกแยกกลายเป็นสอง มีความเข้าใจเชื่อถือพระพุทธศาสนาตรงกันข้าม เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา ทำสงฆ์ให้แตกแยก เป็นอนันตริยกรรม มีโทษทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่หนัก ส่วนที่ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นการทำที่ถูกต้อง คือ ต้องมอบสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดทันที
ไม่คิดให้มีโทษ เพราะคิดในแง่ยกประโยชน์ให้ว่า อาจมิใช่มีเจตนาถือเอาสมบัติวัดเป็นของตนแต่เมื่อถึงอย่างไรก็ไม่ยอมมอบคืน สมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระ ก็แสดงชัดแจ้งว่า ต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสีย ให้เกิดแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา
ส่วนเนื้อหาที่ลงพระนามในวันที่ 1 พฤษภาคม 2542 ระบุสั้นๆ ว่า “ในกรณีที่เกี่ยวกับเรื่องวัดพระธรรมกาย เราได้ทำหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราชสมบูรณ์ตามอำนาจแล้ว จึงไม่มีจะพูดอีกในขณะนี้”
และเนื้อหาที่ลงพระนามในวันที่ 10 พฤษภาคม 2542 ใจความชัดเจนว่า ในตำแหน่งผู้เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เพื่อเทิดทูนรักษาพระพุทธศาสนาให้พ้นถูกทำลาย สมบูรณ์ที่สุดแล้วตามอำนาจ ท่านกรรมการมหาเถรสมาคมทั้งหลายจะทำอะไรต่อไปตามความต้องการ จะไม่มานั่งรับรู้รับฟังในที่ประชุมวันที่ 10 พฤษภาคม 2542
จากพระดำริของสมเด็จพระสังฆราช 3 ฉบับ ระบุชัดเจนว่า พระธมฺมชโยเป็น “อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย” เนื่องมาจากการประพฤติตนเข้าข่ายทำลายพระพุทธศาสนาทำสงฆ์ให้แตกแยก เป็นอนันตริยกรรมที่โทษหนักทั้งในปัจจุบันและอนาคต ประกอบกับการไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระ
ที่สำคัญคือแม้มติ มส.ล่าสุดที่มีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์เป็นประธานที่ประชุมจะอ้างว่า พระธมฺมชโยได้มอบที่ดินส่วนตนให้แก่วัดแล้ว แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ การคืนที่ดินของพระธมฺมชโยนั้นเกิดขึ้นหลังพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ผู้เป็นสกลมหาสังฆปริณายกฉบับแรกเมื่อวันที่ 26 เมษายน 42 ที่ระบุว่า ไม่ยอมมอบที่ดินส่วนตนคืนวัดในขณะที่เป็นพระ
นั่นหมายความว่า พระธมฺมชโยต้องอาบัติปราชิกพ้นจากความเป็นพระโดยอัตโนมัติและกล่าวถึงกรณีดังกล่าวโดยเรียกว่า “อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย” ในพระดำริฉบับลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2542
และต่อมา มส.มีมติ ในวันที่ 10 พฤษภาคม 42 อย่างชัดเจนว่า “มส.มีมติสนองพระดำริมาโดยตลอดให้ชอบด้วยกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎหมายมหาเถรสมาคม เห็นสมควรส่งเรื่องให้ฝ่ายสังฆการดำเนินการตามมติมส.ต่อไป”
นายปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า เรื่องพระธมฺมชโยปาราชิก หรือไม่นี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2542 เมื่อ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีหนังสือที่เรียกว่า “พระลิขิต” ออกมาถึง 3 ฉบับ ต่อเนื่องกัน หนึ่งในสามฉบับนั้น ลงวันที่ 26 เม.ย. 42 ชี้ชัดว่า พระธมฺมชโยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต้องอาบัติปาราชิก พ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ
ทั้งนี้ ความตอนหนึ่งในพระลิขิต ระบุว่า “แต่เมื่อถึงอย่างไรก็ไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัด ก็แสดงชัดแจ้งว่าต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ ด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสียให้เกิดแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา”
นายปรีชา กล่าวว่า การที่พระไม่ยอมคืนทรัพย์ของวัด ให้กับวัด ถือเป็นการยักยอกทรัพย์ของวัด เป็นของตนเอง ผิดพระธรรมวินัยว่าด้วยการลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ ต้องอาบัติปาราชิก เมื่อมีเจตนายักยอก เถยจิตเป็นโจร เท่ากับเจตนาทุจริต ขาดจากความเป็นพระทันที เป็นไปโดยอัตโนมัติตั้งแต่วินาทีนั้นเลย ไม่ต้องมีการสึกใดๆทั้งสิ้น นี่คือหลักใหญ่ของพระลิขิต ของสมเด็จพระสังฆราช
เมื่อ มส.-ธรรมกายนะจ๊ะ มีหัวใจดวงเดียวกัน?!
แน่นอนว่า ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความผิดของพระธมฺมชโยย่อมหนีไม่พ้นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยที่ชื่อมหาเถรสมาคมนับเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม จงอย่าแปลกใจที่มหาเถรสมาคมมีมติเช่นนั้น เพราะเมื่อไล่เรียงและตรวจสอบรายชื่อกรรมการ มส. 12 รูปจาก 20 รูปที่ลงมติในวันนั้นดูแล้ว ก็จะพบว่า แต่ละคนล้วนแล้วแต่มีสายสัมพันธ์กับวัดพระธรรมกายทั้งสิ้น
ฝ่ายมหานิกาย
1.สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.9) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ประธานที่ปรึกษา โครงการ (ธรรมกาย)อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน 100,000 รูป
2.สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี ป.ธ.9) วัดสุทัศนเทพวราราม กรรมการที่ปรึกษา โครงการ (ธรรมกาย) อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน 100,000 รูป
3.สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9) วัดพิชยญาติการาม กรรมการที่ปรึกษา โครงการ (ธรรมกาย) อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน 100,000 รูป เป็นพยานให้ธัมมชโยในคดีอาญา รับรองการสอนของธัมมชโยว่า ถูกต้องตามพระไตรปิฎก ทุกประการ
4.สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ ป.ธ.9) วัดไตรมิตรวิทยาราม กรรมการที่ปรึกษา โครงการ (ธรรมกาย) อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน 100,000 รูป
5.พระพรหมวชิรญาณ (ประสิทธิ์ เขมงฺกโร ป.ธ.3) วัดยานนาวา กรรมการที่ปรึกษา โครงการ (ธรรมกาย) อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน 100,000 รูป
6.พระวิสุทธิวงศาจารย์ (วิเชียร อโนมคุโณ ป.ธ.9) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการที่ปรึกษา โครงการ (ธรรมกาย) อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน 100,000 รูป
7.พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม ป.ธ.9) วัดสามพระยา กรรมการที่ปรึกษา โครงการ (ธรรมกาย) อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน 100,000 รูป
8.พระพรหมโมลี (สุชาติ ธมฺมรตโน ป.ธ.9) วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรรมการที่ปรึกษา โครงการ (ธรรมกาย) อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน 100,000 รูป
9.พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) วัดสระเกศ กรรมการที่ปรึกษา โครงการ (ธรรมกาย) อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน 100,000 รูป
10.พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.) วัดประยุรวงศาวาส กรรมการที่ปรึกษา โครงการ (ธรรมกาย) อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน 100,000 รูป
ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย
1.สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร ป.ธ.9) วัดสัมพันธวงศาราม (นานาสังวาส) กรรมการที่ปรึกษา โครงการ (ธรรมกาย) อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน 100,000 รูป 2.พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) วัดสัมพันธวงศาราม (นานาสังวาส) กรรมการที่ปรึกษา โครงการ (ธรรมกาย) อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน 100,000 รูป
จากข้อมูลที่ปรากฏ ย่อมไม่แปลกใจเลยว่า สังคมจะตั้งข้อกล่าวหากับสิ่งที่เกิดขึ้นว่า กรรมการ มส.กระทำการภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ซึ่งไม่เหมาะสมยิ่ง เนื่องเพราะกรรมการ มส.ล้วนแล้วเคยร่วมงานกับวัดพระธรรมกายมาแล้วทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ในโซเชียลเน็ตเวิร์กยังมีการตั้งคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว อาทิ พระธัมมชโยเคยมอบเงินให้กับสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ จำนวนเงิน 100 ล้านบาท เพื่อสมทบทุนในการก่อสร้างมหาเจดีย์วัดปากน้ำภาษี เจริญ....ใช่หรือไม่
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นประธานมอบพัดยศ และงานฉลองพัดยศให้กับพระธัมมชโย...ใช่หรือไม่
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์เคยกล่าวไว้ว่า อาตมาเองตั้งแต่เกิดมาจนถึงบัดนี้ 87 ปีแล้ว เพิ่งจะวันนี้เองที่ได้เดินบนกลีบกุหลาบ จึงชื่นใจ กรณีเป็นประธานเดินธุดงค์เดินดอกไม้ และวัดปากน้ำกับวัดพระธรรมกายเป็นวัดพี่วัดน้อง หรือเสมือนหนึ่งว่าเป็นวัดเดียวกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน วัดปากน้ำมีอะไร วัดพระธรรมกายมีอะไร ก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน...ใช่หรือไม่
นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนชื่อดังได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ Sulak Sivaraksa วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558 แสดงความเห็นต่อมติดังกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า การที่ มส. ลงมติ ว่า ธมฺมชโยไม่เป็นปาราชิกนั้น แสดงว่า มส. ที่ลงคะแนนให้ พระธมฺมชโย น่าจะมีชนักติดหลังในทำนองเดียวกัน
แต่นี่ไม่ใช่คราวแรกที่มหาเถรสมาคมมีพฤติกรรมเช่นนี้ เช่นเมื่อคราวกิตฺติวุฒฺโฑภิกขุสั่งรถวอลโว่เข้ามาโดยไม่ยอมเสียภาษี นี่ก็เป็นอทินนาทานปาราชิกเช่นเดียวกัน เพราะพระมีค่าเพียงแค่เงินบาทเดียว ฉ้อฉลเพียงบาทเดียวก็ต้องอทินนาทานปาราชิกหมดความเป็นภิกษุภาวะ คราวกิตฺติวุฒฺโฑ มหาเถรสมาคมก็ลงมติว่าเป็นนิสสัคคียปาจิตตีย์ และให้เอาเงินไปเสียภาษี เพื่อจบเรื่อง ดังกรณีธัมฺมชโยก็เช่นกัน อ้างว่าได้คืนเงินคืนทองไปแล้ว ยังสามารถคงความเป็นลัชชีไว้ได้ นี่เป็นตัวอย่างแห่งความอัปลักษณ์ของกรรมการมหาเถรสมาคม
ที่สำคัญคือ ในเมื่อลายพระหัตถ์สมเด็จพระสังฆราชชี้ชัดว่าบุคคลผู้นี้ต้องอทินนาทานปาราชิก แล้วกรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งอ้างว่าเคารพสมเด็จพระสังฆบิดร กลับไม่ทำตามมติสมเด็จพระสังฆราช โดยที่อ้างว่าเขาคืนเงินให้แล้ว เป็นอันหมดมลทิน นั่นเป็นเรื่องตะแบงพระวินัยอย่างชัดเจน
“เมื่อถอดสมภารวัดสระเกศออกจากมหาเถรสมาคม และจากตำแหน่งต่าง ๆ อย่างน้อยแสดงว่ามหาเถรสมาคมมีความกล้าหาญทางจริยธรรมอยู่บ้าง แต่แล้วความกล้าหาญที่ว่านี้ก็ปลาสนาการไป เพราะคณะพระธรรมกายมีเงินและอำนาจมากมายมหาศาล ที่จะซื้อกรรมการมหาเถรสมาคมได้แทบทั้งหมด ยังท่านผู้รักษาการในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ก็ปกป้องคณะพระธรรมกายมาโดยตลอด ถึงกับไปร่วมเดินกับคณะนี้เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยอ้างว่านั่นเป็นธุดงควัตร”ส.ศิวรักษ์แสดงความคิดเห็น
ด้านพระไพศาล วิสาโล โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นเอาไว้อย่างน่าสนใจเกี่ยวกับมหาเถรสมาคมบางช่วงบางตอนว่า กรณีธมฺมชโย ธรรมกาย เป็นปัญหาที่ร้ายแรงในตัวมันเอง ขณะเดียวกันก็เป็นภาพสะท้อนปัญหาที่ร้ายแรงยิ่งกว่าของวงการพุทธศาสนาไทย ประการแรกกรณีดังกล่าวไม่เพียงชวนตั้งคำถามกับคุณธรรมและวิจารณญาณของกรรมการมหาเถรสมาคมเป็นรายบุคคลเท่านั้นหากยังบ่งชี้ถึงข้อบกพร่องของระบบการปกครองคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะการรวมศูนย์อำนาจมาไว้ที่คนเพียง 20 คน โดยไม่มีกลไกการตรวจสอบภายใน ไม่ต้องรับผิด(accountability)กับผู้ใด อีกทั้งขาดความโปร่งใส จึงเปิดโอกาสให้มีการวิ่งเต้นใช้เส้นสายหรือผลประโยชน์เพื่อชักจูงโน้มน้าวกรรมการมหาเถรสมาคม นำไปสู่การละเลย ไม่ใส่ใจ ต่อการประพฤติผิดพระธรรมวินัยของพระที่ร่ำรวยหลายรูป หรือถึงกับสนับสนุน รู้ เห็น เป็นใจให้กับพระเหล่านั้นครั้งแล้วครั้งเล่า (รวมทั้งเลื่อนสมณศักดิ์) จนบุคคลอย่างธมฺมชโย สามารถแผ่อำนาจและเครือข่ายไปอย่างกว้างขวาง
เครือข่ายนะจ๊ะเคลื่อนพล ปกป้องธรรมกาย-มส.
ในขณะที่หลวงปู่พุทธะอิสระออกโรงตั้งคำถามเอากับมติของ มส.
ในขณะที่นายไพบูลย์ตลอดรวมถึงสังคมกำลังตั้งคำถามเอากับมติที่ไม่ชอบมาพากลของ มส.
การแก้เกมเพื่อปกป้องวัดพระธรมกายและ มส.ก็ขับเคลื่อนออกมากันอย่างพร้อมเพรียง
โดยผู้ที่นำร่องเปิดเกมก็คือ 1 พระกับอีก 1 ฆราวาส โดยเรียกร้องให้มีการยุบคณะกรรมการฯ ชุดที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวันเป็นประธานไปเสีย
ฆราวาสผู้นั้นถือ “ผศ.ดร.เสถียร วิพรมหา” อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยและนายกสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา(สนพ.)
พระรูปนั้นคือ “พระเมธีธรรมาจารย์(ประสาร จันทสาโร)” รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา(สนพ.)
เป็นนายเสถียรคนเดียวกับนายเสถียรที่ขึ้นเวที นปช.ลั่นกลองรบ ที่ถนนอักษะ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2557
เป็นพระเมธีธรรมาจารย์รูปเดียวกับพระเมธีธรรมาจารย์ที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับระบอบทักษิณ โดยปรากฏตัวทางสถานีโทรทัศน์ Peace TV และเคยเป็นแขกรักเชิญในรายการของจอม เพชรประดับ
ความจริงเรื่องความสัมพันธ์ของวัดพระธรรมกายกับคนเสื้อแดงนั้น เป็นที่โจษขานกันมาเนิ่นนานพอสมควร หากยังจำกันได้เคยปรากฏภาพของ นช.ทักษิณ ชินวัตร คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร เคยร่วมทำบุญกับวัดพระธรรมกาย รวมกระทั่งถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็เคยไปร่วมงานบุญของวัดพระธรรมกายเช่นเดียวกัน
แต่ที่เด็ดที่สุดคือในยุคที่ นช.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะหลังจากคดียักยอกเงินวัดของพระธมฺมชโยเดินทางมาถึงจุดเข้าได้เข้าเข็ม โดยเรื่องมาหยุดอยู่ตรงที่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการอัยการสูงสุด ปรากฏว่า วันดีคืนดีอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของพระธมฺมชโยหน้าตาเฉยท่ามกลางข้อสงสัยของคนทั้งแผ่นดิน
อัยการอ้างว่าได้คืนเงินให้วัดแล้วจึงถอนคดีในนาทีสุดท้าย ทำให้คดีสิ้นสุดโดยที่ศาลไม่ได้ตัดสิน
และที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ “พระราชวิจิตรปฏิภาณ” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เจ้าคุณพิพิธ” แห่งวัดสุทัศนเทพวนาราม ที่ออกมารับบทองครักษ์พิทักษ์มหาเถรสมาคม(มส.) โดยเฉพาะสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์อย่างออกนอกหน้า ด้วยการระบุว่า การเคลื่อนไหวของหลวงปู่พุทธะอิสระและนายไพบูลย์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของแผนในการสกัดไม่ให้สมเด็จวัดปากน้ำขึ้นเป็นสมเด็จ พระสังฆราช
นี่คือการแก้เกมของเครือข่ายนะจ๊ะที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับพระชั้นผู้ใหญ่ใน มส.และเครือข่ายคนเสื้อแดงถึงขนาดจะมีการปลุกม็อบพระออกมาเคลื่อนไหวกันเลยทีเดียว
ขนาดนักวิชาการชื่อดังอย่าง “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ยังแสดงความคิดเห็นปกป้องวัดพระธรรมกายเช่นกัน
“ควรเคารพสติปัญญาของคนธรรมดา อย่ารังเกียจธรรมกายหรือสันติอโศก หากใครไม่ชอบไม่นับถือก็ไม่ต้องเดินทางไปที่วัดดังกล่าว ต้องปล่อยให้คนเลือกสิ่งที่จะนับถือด้วยตนเอง เลือกสิ่งที่คิดว่าดีสำหรับตน ส่วนหากจะมองว่าธรรมกายไม่เป็นไปตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าคิดว่าในสมัยพุทธกาลพระอรหันต์แต่ละรูปก็ไม่ได้จดจำสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนได้ทั้งหมด หรืออาจจำได้ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นต้องปล่อยให้ประชาชนคิดเอาเองว่าจะนับถือใคร โดยต้องปล่อยให้สำนักต่างๆ มีการแข่งขันกันเพื่อให้สังคมมีของดี และหากสามารถนำเสนอทางเลือกที่สอดคล้องกับโลกในยุคปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย และไม่จำเป็นต้องสนใจ มส.”นายนิธิกล่าว
พระชั้นผู้ใหญ่และนักวิชาการระดับครูบาอาจารย์เหล่านั้นเคยตั้งคำถามกับตัวเองบ้างหรือไม่ว่า ขณะที่ออกมาปกป้องวัดพระธรรมกาย ออกมาปกป้องมหาเถรสมาคมนั้น ได้เคยทำหน้าที่ตั้งคำถามนั้นกับวัดพระธรรมกายและพระธมฺมชโยบ้างหรือไม่
การอวดอ้างว่า สามารถขึ้นสวรรค์ชั้นฟ้าไปเข้าเฝ้าพระอินทร์ สามารถสื่อสารกับพระพุทธเจ้าได้ในอาตยนะนิพพาน หรือการอ้างว่าใช้ญาณตรวจสอบภพภูมิของสตีฟ จ็อบส์หลังความตายได้ รวมทั้งคำสอนที่ว่า ยิ่งทำบุญมากๆ ยิ่งได้ขึ้นสวรรค์ชั้นสูงขึ้นนั้นถูกต้องตามหลักการของพระพุทธศาสนาและพระธรรมวินัยหรือไม่
รัฐอุ้ม มส.ตีมึนมหาเถรฯ ยังไม่มีมติ
กระนั้นก็ดี ดูเหมือนว่า การแก้เกมจากวัดพระธรรมกายและมส.นอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ยังยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของกรรมการ มส.ตกต่ำลง ไปอีกต่างหาก ซึ่งแน่นอนว่า นั่นย่อมกระทบต่อความน่าเชื่อถือในองค์กรปกครองสูงของคณะสงฆ์ไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แล้วในที่สุดความมหัศจรรย์พันลึกก็เกิดขึ้นชนิดที่สามารถกล่าวได้ว่า ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้
กล่าวคือขณะที่พระพรหมเมธี(จำนงค์ ธมฺมจารี) กรรมการและโฆษก มส.ออกมาแถลงว่า มส.มีมติว่า พระธมฺมชโยไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ซึ่งเป็นเลขานุการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่งกลับบอกว่า มส.ไม่ได้มีมติเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีซึ่งกำกับดูแล พศ.เป็นผู้ออกมายืนยันชัดเจนว่า มส.ไม่ได้มีมติในเรื่องนี้จริง
นี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะวันนั้นพระพรหมเมธีตั้งโต๊ะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ สื่อทุกแขนงต่างก็รายงานเหมือนกัน ถ้า พศ.และนายวิษณุยืนยันว่า มส.ไม่ได้มีมติปกป้องพระธมฺมชโย ก็ต้องย้อนกลับไปถามว่า แล้วพระพรหมเมธีซึ่งเป็นพระชั้นผู้ใหญ่มีสมณศักดิ์ชั้นพรหม เป็นทั้งโฆษก มส.และเป็นกรรมการ มส. ทำไมถึงไปแถลงแบบนั้น
แม้ว่าพระพรหมเมธีผู้นี้จะเคยกล่าวถึงโครงการธุดงค์ธรรมชัยเอาไว้ว่า “ขอกราบอนุโมทนากับหลวงพี่ธัมมชโย ที่ท่านคิดอะไรข้ามกาลเวลา เราคิดไม่ถึง แต่ท่านคิดได้ เป็นการทอดสะพานบุญให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าน้อมใจนึกได้ว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งอันอุดม ทำให้เกิดความอบอุ่น ถ้าพระสงฆ์ทั่วประเทศได้ปฏิบัติตามเป็นจารีตประเพณีในการธุดงควัตรเช่นนี้ ความมั่นคงในพระพุทธศาสนาจะหยั่งรากลึกแน่นในแผ่นดินของเรา”
แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่พระพรหมเมธีจะแถลงมั่วซั่วเพราะจับต้นชนปลายไม่ถูก จะบอกว่า พระพรหมเมธีแถลงเองเพราะมีสายสัมพันธ์อันดีเยี่ยมกับวัดพระธรรมกายก็ไม่น่าจะใช่ เนื่องจากเชื่อว่า พระพรหมเมธีไม่น่าจะกล้าพอที่จะทำอะไรที่เกินไปกว่าความเห็นของ มส.
ที่สำคัญคือ ถ้า พศ.และนายวิษณุยืนยันว่า มส.ไม่ได้มีมติเรื่องพระธมฺมชโย ทำไมกรรมการ มส.ถึงไม่มีการโต้แย้งถ้อยแถลงของพระพรหมเมธีในทันที ทำไมถึงปล่อยให้เวลาผ่านไป 4-5 วัน จึงได้ออกมากลับลำเช่นนี้
แน่นอน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยให้ผ่านไปง่ายๆ เพราะเป็นเรื่องของการผิดศีล 5 ซึ่งเป็นศีลพื้นฐานของพระสงฆ์ ถ้า พศ.และนายวิษณุยืนยันว่า ไม่มีมติ พระพรหมเมธีแถลงผิดเอง พระพรหมเมธีไม่เพียงแต่สมควรที่จะถูกปลดออกจากตำแหน่งโฆษกของ มส.ในทันที เพราะแสดงว่า ขาดคุณสมบัติของการเป็นโฆษกขั้นร้ายแรง หากยังต้องขาดจากความเป็นพระอีกด้วย
แต่จะอย่างไรก็ดี เชื่อว่า พระพรหมเมธีไม่ได้แถลงผิด ทว่า การที่นายวิษณุและ พศ.พลิกกลับมาในอีกทางหนึ่ง ก็เป็นไปได้ว่า มีการแก้เกมบางอย่างเพื่อผ่อนคลายสถานการณ์เนื่องจากขณะนี้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ มส.ในทางลบดังกระหึ่มทั่วทั้งแผ่นดินถึงขนาดมีการเรียกร้องให้ปฏิรูป มส.และปรับปรุง พ.ร.บ.คณะสงฆ์กันเลยทีเดียว
“บิ๊กตู่” โบ้ย “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์” มอบ “วิษณุ” ดูธรรมกาย
กล่าวสำหรับความเคลื่อนไหวของฝ่ายอาณาจักรที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นหัวเรือใหญ่นั้น ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน
โดยเฉพาะตัว พล.อ.ประยุทธ์เองที่ดูเหมือนว่าจะหงุดหงิดและอารมณ์เสียที่มีเรื่องของวัดพระธรรมกายเข้ามาให้ปวดเศียรเวียนเกล้าไม่แพ้เรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21
สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ก็ทำให้สังคมเกิดความปริวิตกหนักเข้าไปอีกเมื่อมอบหมายให้ “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี เข้าไปดูแลเรื่องของพระธมฺมชโยและวัดพระธรรมกาย
วันที่ 23 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการดำเนินการกับปัญหาความเห็นต่างต่อมติของมหาเถรสมาคมในการลงโทษพระธมฺมชโยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายว่า กำลังดำเนินการกันอยู่ โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดูแลอยู่
“เอาให้มันสงบๆกันซะบ้างไม่ได้หรือ ทั้งคนทั้งพระทั้งฆราวาส วุ่นไปหมดเลยประเทศไทย”พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ไม่รู้หรือว่า นายวิษณุคือใคร
นายวิษณุ เครืองามคืออดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่ง เป็นผู้ออกประกาศว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงพระประชวรหนัก ไม่ทรงอยู่ในฐานะที่จะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้ และนายวิษณุ เครืองาม เองก็เป็นผู้ออกประกาศแต่งตั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ทำให้นายวิษณุถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเพราะเป็นการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ทำท่าว่าจะปรองดองกับวัดพระธรรมกายอีกแล้วครับท่าน โดยอ้างว่าเป็นเรื่องของศาสนจักร
“ขอให้แยกคำว่าอาณาจักรซึ่งหมายถึงประชาชนคนไทย และศาสนจักรซึ่งหมายถึงพระสงฆ์องค์เจ้าออกจากกัน โดยแต่ละองค์กรมีกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้ว ในส่วนของพระก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และพ.ร.บ.หลายฉบับก็ต้องว่ากันตามกระบวนการดังกล่าว จะผิดหรือถูกเราไม่ควรไปยุ่งในส่วนนั้น ให้เป็นเรื่องของการปกครองคณะสงฆ์ บางอย่างที่มีการตัดสินไปแล้ว สิ่งที่เราสามารถทำได้คือต้องไปดูแลด้านกฎหมาย เรื่องคดีอาญา คดีทุจริต หรือกฎหมายการเงิน โดยกรณีดังกล่าว ผมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบการทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ว่ามีส่วนโยงใยกับใครอย่างไร
“อย่าให้ไปก้าวล่วงกันมากนักเลย เดี๋ยวมันจะเกิดปัญหา ทุกคนก็เป็นไทยพุทธ หลายคนนับถือทางโน้นบ้างทางนี้บ้าง ขึ้นอยู่กับความเชื่อ แต่หากมีคำสอนผิดคำสอนถูก ผมจะให้กระทรวงวัฒนธรรมไปทบทวนว่าคำสอนไหนถูกหรือผิด และต้องให้คณะสงฆ์พิจารณากันด้วย อะไรเป็นเรื่องของพระก็ต้องให้พระแก้ไข เพราะไม่ใช่มีแค่เรื่องพระอย่างเดียว แต่ยังมีกลุ่มคนที่นับถือศรัทธาอีกเป็นล้านๆ คน เราจึงไม่อยากให้ประชาชนมาขัดแย้งกันด้วยเรื่องศาสนา การนับถือพระนั้น ไม่มีใครบังคับเราได้ หากคิดว่าองค์ใดไม่ดี ไม่น่าศรัทธา เราก็ไม่เคารพ ก็ปล่อยท่านไป ท่านมีองค์กรของท่าน หากไม่ดูแลองค์กรก็จะเสียหายเอง หากเราจะไปก้าวก่ายทุกเรื่องคงไม่ได้ จะเสียหายเพราะมีคนกราบไหว้กันอยู่”
พล.อ.ประยุทธ์คงลืมไปว่า กรณีของพระธมฺมชโยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายไม่ใช่เรื่อง “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์” หากแต่เป็นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ เนื่องเพราะศาสนาคือ 1 ใน 3 สถาบันหลักของราชอาณาจักรไทย เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะนิ่งเฉยเลยผ่านไปได้ หากแต่จะต้องเข้ามาจัดการและแก้ปัญหา
นี่คือหน้าที่ของพุทธบริษัท 4 ดังพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ดูกรอานนท์ ถ้าตราบใดพุทธบริษัท4 ยังมีอยู่ พุทธศาสนาของเราตถาคตจะไม่รู้จักคำว่าเสื่อม”