ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ผู้ต้องหาหนีคดีหมิ่นเบื้องสูง มั่นใจทางการนิวซีแลนด์ไม่ลากตัวมาดำเนินคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูงในไทยแน่ อ้างถูกละเมิดเพราะแสดงความคิดเห็นการเมือง รำคาญ กปปส. นิวซีแลนด์ ล่ารายชื่อ เผยยูเอ็นช่วยเหลืออย่างดี เคยเสนอเงินเดือนให้แต่ไม่รับ ปัจจุบันทำงานเป็นช่างเครื่องกลเลี้ยงตัวเอง ด้าน “บก.ลายจุด” หยันกระแสเลิกบริจาค UNHCR บอกจะมีคนไทยสักกี่คนที่รู้จัก ท้าแสดงหลักฐานผู้บริจาคตัวจริง
วันนี้ (12 ม.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า นายเอกภพ เหลือรา หรือ “ตั้ง อาชีวะ” ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการขึ้นเวทีปราศรัยจาบจ้วง กล่าวอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันเบื้องสูง บนเวทีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ในนามแกนนำกลุ่มนักศึกษาอาชีวะเพื่อประชาธิปไตย ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน เมื่อปี 2556 ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ไทยวอยซ์มีเดีย ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่มี นายจอม เพชรประดับ อยู่เบื้องหลัง เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยแสดงความมั่นใจว่าเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลนิวซีแลนด์จะส่งตัวตนกลับประเทศไทย เพราะขณะนี้รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้รับรองสถานะการขอลี้ภัยให้กับตนแล้ว ถือเป็นพลเมืองของนิวซีแลนด์
นายเอกภพ อ้างว่า สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นผู้ส่งตัวตนมาที่นิวซีแลนด์ หลังจากที่ตนทำเรื่องขอลี้ภัย เพราะเห็นว่ากรณีของตนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และมองว่า ยิ่งรัฐบาลไทยติดตามตัวตนมากเท่าใด ยูเอ็นจะเห็นใจและให้ความช่วยเหลือมากขึ้นเท่านั้น และนิวซีแลนด์เป็นประเทศประชาธิปไตยที่เห็นความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนมากที่สุดประเทศหนึ่ง ดีงนั้นตนเชื่อว่าเขาไม่ฟังรัฐบาลไทย แต่ฟังยูเอ็นมากกว่า
ส่วนกลุ่มผู้สนับสนุนคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในนิวซีแลนด์ ที่เคลื่อนไหวรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอให้นายจอห์น คีย์ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ขับไล่ตนออกนอกประเทศ หรือยกเลิกการรับรองสถานะการเป็นพลเมืองในนิวซีแลนด์นั้น ไม่ได้สร้างความกังวลแต่อย่างใด แต่ตนรู้สึกรำคาญมากกว่า และมีกลุ่มคนเสื้อแดงที่อาศัยอยู่ในนิวซีแลนด์มาให้กำลังใจเช่นเดียวกัน
เมื่อถามว่า รัฐบาลนิวซีแลนด์ดูแลความปลอดภัยให้มากน้อยแค่ไหน นายเอกภพกล่าวว่า รัฐบาลนิวซีแลนด์กังวลว่า จะมีคนมาทำร้ายมากกว่า และเตือนไม่ให้เคลื่อนไหวอะไรในขณะนี้ แต่รัฐบาลนิวซีแลนด์ไม่กลัวการเคลื่อนไหวของ กลุ่ม กปปส. นิวซีแลนด์แน่นอน โดยอ้างว่า รัฐบาลนิวซีแลนด์ รับไม่ได้กับการทำรัฐประหารในประเทศไทยอยู่แล้ว ดังนั้น กปปส .นิวซีแลนด์ เคลื่อนไหวอย่างไรก็ไม่มีผล ตนก็ไม่กลัวด้วย แต่มันรำคาญมากกว่า
เมื่อถามว่า ได้รับความช่วยเหลือจากยูเอ็น ในลักษณะไหน อย่างไร ก่อนที่จะมาอยู่ในนิวซีแลนด์ นายเอกภพ กล่าวว่า ได้รับการช่วยเหลือจาก ยูเอ็น เป็นอย่างดี ทั้งจะให้เงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนด้วย แต่ได้ปฏิเสธไป เห็นว่าควรจะเอาเงินไปช่วยผู้ลี้ภัยคนอื่นดีกว่า เพราะเมื่อเป็นพลเมืองนิวซีแลนด์แล้ว ก็สามารถทำงานได้ ตอนนี้มีทำงานเป็นช่างเครื่องกล อยู่ในบริษัทแห่งหนึ่งในนิวซีแลนด์ ซึ่งได้ใช้ความรู้ ตามวิชาชีพที่เรียนมา มีรายได้ และเลี้ยงชีพได้แล้วขณะนี้
ด้าน นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนอนวันอาทิตย์สีแดง ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก ชื่อ “สมบัติ บุญงามอนงค์” ตำหนิกรณีที่มีการเสนอเรื่องราวว่ามีคนไทยซึ่งบริจาคให้สำนักงานใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ประกาศยุติการบริจาคเงินให้องค์กรดังกล่าว ภายหลังจากที่ยูเอ็นเอชซีอาร์ให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่นายเอกภพ จนสามารถอาศัยอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ได้ ว่า ไม่เชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นจริง
นายสมบัติ กล่าวว่า มีคนไทยสักกี่คนที่รู้จักยูเอ็นเอชซีอาร์ว่าทำงานอะไรบ้างทั่วโลก และเป็นองค์กรภายใต้ยูเอ็น และกี่คนที่รู้ว่ารัฐบาลไทย คือผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดในประเทศนี้ในฐานะสมาชิกยูเอ็น ที่ต้องส่งเงินสนับสนุนกิจการของยูเอ็น เวลาคนไทยทำบุญ ภาพที่เห็นส่วนใหญ่เงินไปอยู่ที่วัด ทำสิ่งก่อสร้างใหญ่โต หรือไม่ก็บริจาคให้กับมูลนิธิดังๆ ไม่กี่แห่ง จะมีองค์กรระดับนานาชาติที่คนไทยรู้จักและบริจาคมากสุดน่าจะเป็นกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ แต่ไม่แน่ใจว่ารู้จักใครสักคนที่เป็นผู้บริจาคให้กับยูเอ็นเอชซีอาร์ที่เป็นคนไทย
“แน่นอนว่า ผู้บริจาคย่อมสามารถแสดงท่าทีไม่พอใจต่อการดำเนินการขององค์กรที่ตนเองสนับสนุนได้ แต่ถ้าจะให้ดี คนที่อ้างตัวว่าเป็นผู้บริจาคช่วยแสดงหลักฐานว่าคุณเป็นผู้บริจาคตัวจริงหน่อย และที่สำคัญคือคุณพร้อมอธิบายโต้เถียงและทำความเข้าใจต่อหลักคิดและการดำเนินการขององค์กรเหล่านั้น” นายสมบัติ กล่าว
ส่วนความเคลื่อนไหวแฟนเพจ UNHCRThailand ล่าสุด ได้ระบุข้อความเมื่อวานนี้ (11 ม.ค.) ว่า “UNHCR เป็นหน่วยงานด้านมนุษยธรรมที่เป็นกลาง และไม่เกี่ยวข้องทางการเมือง” และยังกล่าวอีกว่า “อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี พ.ศ. 2494 นิยามคำว่าผู้ลี้ภัยหมายถึงบุคคลที่ “มีสาเหตุจากความหวาดกลัวเนื่องจากถูกประหัตประหารด้วยเหตุผลด้านเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะหรือความคิดเห็นทางการเมือง ต้องอาศัยนอกประเทศของตนเอง และไม่ได้รับความคุ้มครองจากประเทศของตน” UNHCR ไม่เคยแสดงความคิดเห็นต่อสถานะรายบุคคลไม่ว่าคนๆนั้นจะเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่”
Post by UNHCRThailand.
Post by UNHCRThailand.