xs
xsm
sm
md
lg

การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในระดับอุดมศึกษา ที่สัมพันธ์กับ TQF

เผยแพร่:   โดย: นธี เหมมันต์ และ อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

โดย....นธี เหมมันต์ และ อภินันท์ สิริรัตนจิตต์
มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะของผู้เขียนจากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้มีโอกาสไปเผยแพร่ผลงานวิจัยในเวทีการประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนความรู้ของนักวิชาการและนักวิจัย เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยระหว่างกัน โดยบรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่นและการต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดีจากเจ้าภาพ

นับเป็นโอกาสอันดีที่คณะของผู้เขียน จะได้นำเสนอผลงานวิจัย ในเรื่องเกี่ยวกับการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในระดับอุดมศึกษาที่สัมพันธ์กับ TQF เพราะหลังจากนั้นได้รับคำชื่นชมและเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิว่า เป็นผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ ควรเผยแพร่ผลงานวิจัยชิ้นนี้สู่สาธารณชนให้แวดวงอุดมศึกษาได้อ่านและศึกษาแนวคิดจากผลงานวิจัยดังกล่าว

ความสำคัญของบทความวิจัยนี้ อยู่ที่ความต้องการจะสะท้อนผลการจัดการศึกษา ในระดับอุดมศึกษา ที่สนองต่อแนวคิดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งสัมพันธ์กับผลการเรียนรู้ที่มุ่งหมายให้เกิดขึ้นแก่นักศึกษาในระดับอุดมศึกษา 5 ด้าน ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา คือ ผู้เรียนจะต้องเกิดคุณธรรมจริยธรรม ความรู้ ทักษะทางปัญญา ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ในระหว่างการบ่มเพาะตนเป็นบัณฑิต

ในบทความนี้ ผู้เขียนขอดัดแปลงบทความวิจัยดังกล่าวออกมาเผยแพร่ในรูปแบบของบทความทั่วไป เพื่อให้เห็นถึงสาระสำคัญของบทความวิจัยชิ้นนี้ โดยสรุปสาระสำคัญ ไว้ดังนี้

ความสําคัญของการศึกษาถือว่า เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนามนุษย์ดังที่ รุสโซ (Jean Jacques Rousseau. 1976: 168) ได้กล่าวถึงความสําคัญของการศึกษาว่า พืชเติบโตด้วยการเพาะปลูก มนุษย์จะเจริญงอกงามได้ด้วยการศึกษา สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายการจัดการศึกษาในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2545 ว่า การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข โดยเชื่อว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และให้ถือว่า ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ดังนั้นกระบวนการจัดการเรียนรู้ ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ

แต่จากสภาพปัญหาการเรียนการสอนที่ผ่านมาพบว่า การเรียนการสอน มีลักษณะมุ่งเน้นที่เนื้อหาการสอนมากกว่าการให้ผู้เรียนฝึกคิด วิเคราะห์และการประเมินผลการเรียนรู้ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในเรื่องของคะแนน (นิภาพรรณ เจนสันติกุล. 2554: 36) ซึ่งยังไม่เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รับการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

ในกระบวนการเรียนการสอน ผู้สอนจัดเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (สุเทพ อ่อนไสว. 2541: 100) ในทางตรงกันข้ามจากรายงานการประชุมสัมมนาประชาพิจารณ์โครงการศึกษาวิจัยเรื่อง อุดมศึกษาไทย : วิกฤตและทางออก ได้สรุปปัญหาของอาจารย์ระดับอุดมศึกษาประการหนึ่งในด้านการเรียนการสอนคือ วิธีการสอนของอาจารย์ ยังคงใช้แบบถ่ายเทความรู้ไม่ถ่ายเทความคิดเป็น ทำเป็น กระบวนการสอนมุ่งเน้นการท่องจำเพื่อสอบมากกว่าเน้นให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง (ศิริเพ็ญ มากบุญ. 2541:57)

พันธกิจหลักของอาจารย์ระดับอุดมศึกษานั้น มีหน้าที่จัดการเรียนการสอน การทำวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทั้งนี้อาจารย์ส่วนใหญ่ที่สอนในระดับอุดมศึกษาสำเร็จการศึกษาจากสาขาวิชาต่างๆ ที่ไม่ใช่ครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์และไม่ได้ศึกษาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการสอนมาก่อนทำให้อาจมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องทักษะในการจัดการเรียนการสอน หรือเทคนิควิธีสอนแบบต่างๆ ซึ่งแนวโน้มของการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในปัจจุบันให้ความสำคัญในเรื่องการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยอาศัยปรัชญาการสอนและทฤษฎีการเรียนรู้ การพัฒนาสื่อประกอบการสอน และการวัดผลและการประเมินผล (พัชราพร รัตนวโรภาส. 2553: 10)

แต่สภาพการจัดการศึกษาของไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ทั้งทางด้านวิชาการ หลักสูตร เนื้อหาสาระ และกระบวนการเรียนการสอน การเรียนรู้เป็นการศึกษาแบบท่องจำความรู้ และเรียนวิชาชีพแบบแก่งแย่งแข่งขันเพื่อตัวเองมาก การบริหารจัดการด้านการศึกษาของไทยยังล้าหลังกว่าประเทศอื่น คือยังเป็นศูนย์รวมอยู่ในระบบราชการที่ขาดความคล่องตัวและขาดประสิทธิภาพ ครูอาจารย์ส่วนใหญ่มีคุณภาพปานกลางถึงต่ำ (จันทร์ชลี มาพุทธ. 2545: 1)

สถานการณ์ในปัจจุบันของสถาบันอุดมศึกษา ที่ต้องจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา ที่ต้องการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดผลการเรียนรู้ทั้ง 5 ด้าน คือ คุณธรรมจริยธรรม ความรู้ ทักษะทางปัญญา ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเป็นการพิสูจน์และสะท้อนผลการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา จึงเห็นว่า มีความจำเป็นจะต้องมีการศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อสะท้อนผลการจัดการศึกษาตามเป้าประสงค์ของกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา

ในบทความวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอบทพิสูจน์การเรียนรู้ ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา ทั้ง 5 ด้าน คือ คุณธรรมจริยธรรม ความรู้ ทักษะทางปัญญา ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลขการสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้วยการวิเคราะห์ สังเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในระดับอุดมศึกษา

ผลจากการศึกษางานวิจัยตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญทั้ง 6 เรื่อง ในระดับอุดมศึกษา ได้แก่ งานวิจัยของ (1) ฉันทนา ปาปัดถา (2554: 100) ที่ได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (2) สมใจ จันทร์เต็ม (2553: 134) ได้นำเสนอเกี่ยวกับ Hybrid Learning กับนวัตกรรมการสอนวิชาบัญชีในศตวรรษที่ 21: กรณีศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (3) พัชราวดี ทองเนื่อง (2553: 73) ได้ศึกษาผลของการใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญต่อความรู้และการพัฒนาผู้เรียนในรายวิชาพยาธิสรีรวิทยาสำหรับนักศึกษาพยาบาล

(4) กรกาญจน์ ปานสุวรรณ และธิดารัตน์ คำบุญ (2551: 19) ได้ทำการศึกษาผลการจัดการเรียนการสอนรายวิชาเพศศึกษา โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทัศนคติและความพึงพอใจในการเรียน (5) วิวัฒน์ วรามิตร (2557: 59) ได้ศึกษาเรื่องการประเมินรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในรายวิชาปศุสัตว์ และ (6) วิภาดา ศรีเจริญ (2554: 1) เรื่องการศึกษาผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ในรายวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพเบื้องต้น ได้ปรากฏความถี่จากการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผลการเรียนรู้ 5 ด้านตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา คือ มีการจัดการเรียนการสอนเป็นไปเพื่อพัฒนา (1) คุณธรรม จริยธรรม มีจำนวน 1 ความถี่ (2) ความรู้ มีจำนวน 6 ความถี่ (3) ทักษะทางปัญญา มีจำนวน 2 ความถี่ (4) ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ มีจำนวน 4 ความถี่ และ (5) ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลขการสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ มีจำนวน 2 ความถี่ จากงานวิจัยตัวอย่างทั้ง 6 เรื่อง

ข้อค้นพบซึ่งผู้วิจัยเห็นว่า ควรตั้งเป็นข้อสังเกต คือ ความมุ่งหมายของการวิจัยทั้ง 6 เรื่องนี้ ปรากฏว่า มีความมุ่งหมายจากการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาผลการเรียนรู้ด้านคุณธรรมจริยธรรม ไว้ 1 ความถี่ คืองานวิจัยของวิวัฒน์ วรามิตร (2557: 59) ได้ศึกษาเรื่องการประเมินรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในรายวิชาปศุสัตว์ ซึ่งผลการศึกษาของงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า รูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พฤติกรรมการเข้าเรียน ความรับผิดชอบ และการส่งงานบุคคลหรืองานกลุ่มของผู้เรียนได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยของผู้เรียนที่ทำการสอนโดยวิธีการแบบเดิมที่เน้นผู้สอนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งขอบเขตของคุณธรรม จริยธรรมในงานวิจัยของวิวัฒน์ วรามิตรนี้ ผู้วิจัยตีความว่า คือ พฤติกรรมการเข้าเรียนสะท้อนถึงความมีคุณธรรม จริยธรรม เพราะผู้เรียนมีจิตสำนึกดีในหน้าที่ ทำให้มีพฤติกรรมการเข้าเรียนดีกว่าการสอนที่เน้นผู้สอนเป็นศูนย์กลาง

บทสรุปขององค์ประกอบสำคัญของระบบการศึกษาประกอบด้วย ปรัชญาการศึกษา หลักสูตรการเรียนสอน วัดผล ประเมินผล และการวิจัย โดยการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในระดับอุดมศึกษานั้น เป็นกระบวนการที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างและพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามความมุ่งหมายของมาตรฐานผลการเรียนรู้ทั้ง 5 ด้านของผู้เรียน โดยมีเงื่อนไขของความสอดคล้องกับความต้องการของสังคม ประเทศและสถาบันที่ซ้อนเข้ามาประกอบ

การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องอาศัยการฝึกการสะสมประสบการณ์ และการพัฒนาแก้ไขปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีแนวคิดและงานวิจัยที่ได้ศึกษาไว้มากมาย อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวอาจสามารถใช้ได้จริงกับบางกลุ่มบางสถาบันการศึกษาเท่านั้น เพราะว่าการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จะเกิดประสิทธิภาพเมื่อมีการยึดหลักการวิเคราะห์ความแตกต่างของผู้เรียน และการจัดการเรียนการสอนที่มีความพร้อมทั้ง 3 ส่วนสำคัญคือ ผู้สอน ผู้เรียน และการเรียนการสอน โดยนำเอากระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม ผนวกทฤษฎีทางการเรียนรู้และปรัชญา แนวคิดทางการศึกษาต่างๆ มาปรับใช้ให้มีสมดุลทั้งผู้สอนและผู้เรียน ซึ่งเชื่อได้ว่า เป็นการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพราะไม่ใช่การเรียนที่น่าเบื่อ เน้นไปที่การท่องจำ แต่ผู้เรียนจะได้เป็นผู้ลงมือปฏิบัติ ร่วมกระบวนการสร้างความรู้และมีความรู้ ทักษะกระบวนการ คุณลักษณะที่พึงประสงค์อันเป็นผลลัพธ์ของการเรียนรู้ที่แท้จริง

บทสรุปของบทความนี้ ผู้เขียน มีข้อเสนอแนะต่อผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษา ดังนี้

1. จากการศึกษาวิเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในระดับอุดมศึกษาทั้ง 6 เรื่อง พบว่า การเรียนการสอนเป็นไปเพื่อพัฒนาด้านความรู้ แต่การพัฒนาด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร ทักษะทางปัญญา และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ยังมีน้อยมาก ดังนั้น ควรพัฒนาและออกแบบการเรียนการสอนหรือการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทั้ง 5 ด้านอย่างสมดุล

2. การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในศตวรรษที่ 21 มีความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทต่อผู้เรียนเป็นอย่างมาก ดังนั้น ผู้สอนควรศึกษาองค์ความรู้และพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ให้เหมาะสมกับรูปแบบการเรียนรู้และพฤติกรรมการใช้เวลาว่างของผู้เรียนในระดับอุดมศึกษา

3. การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จะเกิดประสิทธิภาพต่อผู้เรียน เมื่อผู้สอนคำนึงถึงเป้าหมายแห่งการเรียนการสอน วิธีการเรียนการสอน การวัดผลและประเมินผลที่มีความหมายต่อผู้เรียน โดยให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาที่ได้กำหนดไว้ มากกว่าการกรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์มเอกสารทางวิชาการที่กำหนดให้ หรือจัดทำประมวลการสอนและแผนการสอนให้ดูดี แต่ควรทุ่มเทพัฒนาไปที่ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้จริง

ด้วยความมุ่งหมายถึงการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา ที่จะเป็นไปเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้เกิดขึ้นอย่างเต็มประสิทธิภาพ และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ในฐานะบุคลากรทางการศึกษาคณะหนึ่งในระดับอุดมศึกษา จึงขอเผยแพร่บทความนี้ ที่ดัดแปลงมาบางส่วนจากบทความวิจัย เพื่อเป็นการทบทวนเติมเต็ม แลกเปลี่ยนทัศนะทางวิชาการต่อแวดวงอุดมศึกษา ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ต่อการคิดต่อยอดการศึกษาและวิจัยถึงการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา ให้เกิดคุณภาพและมาตรฐานอย่างเต็มที่ มากกว่าการคำนึงถึงการกรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์มเอกสารทางวิชาการที่มีเยอะแยะ
กำลังโหลดความคิดเห็น