xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรเด็ก บุกสภาค้านร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิตอลฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

องค์กรด้านเด็กเยาวชน บุกสภา คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิตอลฯ หวั่นกระทบต่อกองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่พึ่งผ่าน สนช. ไปเข้าทางนายทุน

วันนี้ (19 มี.ค.) น.ส.รัตนา ปานกลิ่น ผู้ประสานงานสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านพัฒนาเด็กและเยาวชน เครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก สมาคมสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัวภาคตะวันออก มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา และสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนกว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายจุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยี สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.. เนื่องจากกังวลว่าจะเข้าทางนายทุน ส่งผลกระทบต่อเด็กเยาวชน และประชาชนทั่วไปที่จะได้เข้าถึงกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

น.ส.รัตนา กล่าวว่า ที่ผ่านมา เราได้สนับสนุนให้เกิดกลไกปกป้องเด็กและเยาวชนจากสื่อร้าย ขยายการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์และสร้างภูมิคุ้มกันต่างๆให้เด็กและเยาวชน อีกทั้งยังต้องใช้เวลายาวนานถึง 11 ปี กว่า พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 จะผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วยเหตุนี้ จึงมีความเป็นห่วงและกังวลกับร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอล ที่คณะรัฐมนตรีได้ผ่านความเห็นชอบจำนวน 10 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ…. ซึ่งมีสาระสำคัญคือยกเลิกกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในการจัดสรรงบประมาณให้กับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเครือข่ายฯเกรงว่าจะส่งผลกระทบโดยรวมต่อการสนับสนุนและพัฒนาสื่อที่ดีและสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน

น.ส.รัตนา กล่าวว่า เครือข่ายฯไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอล ด้วยเหตุผลดังต่อนี้ 1. เชื่อว่าจะมีผลกระทบตามมาเนื่องจากไม่มีหลักประกันว่าการใช้เงินกองทุนใหม่จะเป็นไปเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสื่อที่ดีและเป็นประโยชน์สร้างการรู้เท่าทันแก่เด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง เพราะแม้ว่า ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิตอลฯ จะยังคงจัดสรรเงิน ให้แก่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แต่วัตถุประสงค์กลับเน้นพัฒนาสื่อเพื่อดิจิตอลเป็นหลัก อีกทั้งขยายนิยามขอบเขตการใช้เงินให้กว้างขวางครอบคลุมไปถึงการกู้ยืม ลงทุน และซื้อที่ดิน ฯลฯ ซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมณ์และเป้าหมายของการก่อเกิดกองทุนก่อนหน้านี้ 2. กองทุนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไม่ให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมเพราะไม่มีการระบุประเด็นที่สนับสนุนความเข้มแข็งของผู้บริโภค หรือส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากและมีรายละเอียดมากกว่าการรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิตอลตามที่ระบุไว้ในร่างกฎหมายเท่านั้น 3. คณะกรรมการกองทุนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีเพียงผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ การเงิน และเทคโนโลยีดิจิตอล แต่ขาดองค์ประกอบผู้เชียวชาญด้านสังคมและการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งจะทำให้การบริหารกองทุน และการอนุมัติโครงการ ขาดมิติด้านสังคม

“เครือข่ายฯจึงขอคัดค้านร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิตอลฯ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อหลักการจัดสรรงบประมาณให้กับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ควรต้องคำนึงถึงประเด็นสำคัญ คือ วัตถุประสงค์การใช้เงินต้องชัดเจน ตรงกับเจตนารมณ์ของการจัดตั้งกองทุน เป็นไปเพื่อให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตสื่อที่ดี การรู้เท่าทันสื่อที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง มีการกระจายงบประมาณอย่างทั่วถึง กว้างขวาง เป็นธรรม บนหลักการที่มีธรรมาภิบาลและโปร่งใสตรวจสอบได้ และต้องไม่ละเลยมิติทางสังคม และการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย โดยคำนึงถึงและให้ความสำคัญลำดับแรกต่อผลที่จะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติและมีจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ” น.ส.รัตนา กล่าว
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น