xs
xsm
sm
md
lg

ข้อสังเกตบางประการในเวทีเสวนาพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

1. รัฐบาลใช้วิธีการ “DAD” แทนที่จะเป็น “ADD”

ในระหว่างที่ผมนั่งรถแท็กซี่เพื่อไปร่วมเวที “เดินหน้าประเทศไทย เพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน” ตามคำเชิญของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ข่าวจากวิทยุสถานีหนึ่งรายงานการสัมภาษณ์รองปลัดกระทรวงพลังงานยืนยันว่า “ต้องเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียม” และในตอนเย็นก็เช่นเดียวกัน ยังไม่ทันที่เจ้าหน้าที่จะได้สรุปผลการรับฟังความเห็น ข่าวจากวิทยุในรถแท็กซี่ซึ่งสัมภาษณ์รัฐมนตรีพลังงานก็ยืนยันเหมือนเดิมราวกับแผ่นเสียงตกร่อง (แต่เปลี่ยนคนพูด)

การดำเนินการของรัฐบาลในครั้งนี้จึงจัดเป็นกระบวนที่เรียกว่า “DAD” ซึ่งมาจากอักษรตัวแรกของคำในภาษาอังกฤษ 3 คำคือ Decide (ตัดสินใจ), Announce (ประกาศ), และ Defend (ปกป้อง) กล่าวคือรัฐบาลได้ตัดสินใจไปแล้วว่าจะทำอะไรและอย่างไร จากนั้นก็ประกาศให้ประชาชนรับรู้ และเมื่อประชาชนเริ่มไม่เห็นด้วย ก็ใช้วิธีการหาเหตุผลเพื่อมาปกป้องตนเอง วิธีการเช่นนี้จึงเป็นวิธีการที่นิยมใช้กันในสังคมอำนาจนิยมและเผด็จการ

แต่ในสังคมที่ต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชน เขาจะใช้กระบวนการที่เรียกว่า “ADD” ซึ่งมาจากตัวย่อของคำ 3 คำในภาษาอังกฤษ คือ Announce, Discuss (อภิปราย ถกเถียง) และ Decide (ตัดสินใจ) คือรัฐบาลประกาศหรือริเริ่มแนวคิดคร่าวๆว่าจะทำอะไร จากนั้นก็เปิดโอกาสให้มีการถกแถลงเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน บนข้อมูลที่รอบด้านและเท่าเทียมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันรวมทั้งช่วยกันวางแผน ประเมินผลและรับผลประโยชน์จากโครงการในตอนค่ำของวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ทราบว่าท่านนายกรัฐมนตรีได้เลื่อนการปิดการรับสัมปทานออกไปอีก 30 วัน เป็นวันที่ 20 มีนาคม พร้อมกับตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อศึกษาในสิ่งที่เห็นไม่ตรงกัน

ในความเห็นของผมแล้ว เวลาที่ยืดออกไป 30 วันนั้นไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ในประเด็นสำคัญๆ ที่ตัวแทนภาคประชาชนนำเสนอ กล่าวคือ ให้ออกกฎหมายใหม่เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลมีทางเลือกมากขึ้นในการจัดการ ไม่ใช่ไปบังคับเอาไว้ว่าให้ใช้วิธีการสัญญาสัมปทานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือนหรือ 2 ปี แต่ตัวแทนกระทรวงพลังงานก็บอกว่าไม่ได้เพราะได้เลื่อนมาหลายครั้งแล้ว ประกอบกับบางสัญญาจะหมดอายุในอีก 7 ปีข้างหน้า จะทำให้ประเทศขาดเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

โดยสรุป ไม่ว่าประชาชนจะมีความคิดเห็นที่ดีและมีประโยชน์เท่าใดก็ตาม แต่รัฐบาลนี้ก็ไม่รับฟังพร้อมกับแก้ตัวไปแบบน้ำขุ่นๆ เพราะได้ใช้ “DAD” และไม่เห็นคุณค่าของการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของประชาชนซึ่งได้ค่อยๆ สะสมบทเรียนมาเป็นลำดับนับตั้งกระบวนการธงเขียวในรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา

ผมขอยืมบทสรุปสั้นๆ ของอดีตสมาชิกรัฐสภาของประเทศเยอรมนีและประธานสมาคมพลังงานหมุนเวียนโลก (ดร.เฮอร์มันน์ เชีย) ซึ่งกล่าวปราศรัยเรื่อง “Rethinking the Energy Paradigm” ในเวที WTO เมื่อปี 2551 ว่า อุปสรรคของการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า อยู่ที่ผู้นำ คือ ชอบดีแต่ปาก ชอบแก้ตัว และขาดความกล้าหาญที่จะยกเลิกผลประโยชน์ของพ่อค้าพลังงานที่ก่อปัญหา

2. “ความมั่นคงทางพลังงาน” ไม่ใช่แค่การจัดหาปิโตรเลียมให้พอใช้อย่างยั่งยืน

ในขณะที่เวทีในทำเนียบรัฐบาลกำลังแลกเปลี่ยนเสวนากันในเรื่อง “ความมั่นคงทางพลังงาน” ชาวบ้านนามูล-ดูลสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ซึ่งจับกลุ่มกันชมการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ได้สะท้อนว่า ภาครัฐไม่มีใครพูดถึง “ความมั่นคงของชุมชน” พวกเขาจะได้รับผลกระทบจากการสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมในชุมชนของเขา ทำให้พวกเขามีปัญหาทั้งทางสุขภาพและการทำมาหากินทางการเกษตรจากก๊าซไข่เน่าที่ปนมากับก๊าซธรรมชาติ

นอกจากนี้ ภาครัฐก็ไม่มีการพิจารณาถึงแหล่งพลังงานอื่นๆ เพื่อเป็นทางเลือกเลย เพราะทั้งหมดได้กำหนดมาแล้วตามกระบวนการ “DAD” หากรัฐบาลหันมาใช้กระบวนการ “ADD” เปิดโอกาสให้สังคมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางก็จะมีทางออกอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเพื่อนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้

นักวิทยาศาสตร์ได้ประเมินแล้วว่า พลังงานที่มนุษย์ทั้งโลกใช้ทั้งปีนั้นรวมกันแล้วเท่ากับพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ส่องมาถึงผิวโลกในเวลาเพียง 8 นาทีเท่านั้น

ดังนั้น หากรัฐบาลส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานแสงแดดตามโครงการ “ปฏิรูปเร็ว” ที่เรียกว่า “โซลาร์รูฟเสรี” ซึ่งเสนอโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ ความจำเป็นในการเร่งผลิตก๊าซก็จะลดลงมา แต่ขณะนี้เรื่องดังกล่าวกลับเงียบหายไปเฉยๆ ยังไม่มีอะไรคืบหน้า แม้เวลาได้ผ่านไปเกือบ 2 เดือนแล้วทั้งๆ ที่เรียกว่าปฏิรูปเร็ว

กลับมาที่ประเด็นความมั่นคงครับ รัฐบาลใช้คำว่า “เพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน” มันจะมั่นคงและยั่งยืนได้อย่างไรครับ เพราะปิโตรเลียมซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป และเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับชุมชนและระดับโลกร้อนอีกต่างหากต่อให้เรามีปิโตรเลียมมากราวก็น้ำทะเลก็ยังมีปัญหาครับ

กล่าวให้แคบเข้ามาถึงการใช้ปิโตรเลียมในประเทศไทยซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ครับ ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะก๊าซธรรมชาติเท่านั้น เพราะน้ำมันดิบสามารถขนส่งไปขายหรือนำเข้ามาใช้ได้สะดวก ต่างจากก๊าซธรรมชาติซึ่งต้องขนส่งทางท่อเท่านั้น

จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานพบว่า ก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่เราใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้า แต่จากตารางข้างล่าง เราจะเห็นว่า ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา การใช้ในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวคือจาก 572 เป็น 911 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในขณะที่การใช้ในภาคไฟฟ้าเกือบเท่าเดิม

ดังนั้น จึงทำให้เกิดความสงสัยว่า เหตุผลที่แท้จริงของการรีบเปิดสัมปทานปิโตรเลียมอยู่ตรงไหนกันแน่ ระหว่างเอามาผลิตไฟฟ้าหรือเป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หรือทั้งสองอย่าง

ประเด็นที่ภาคปิโตรเคมีใช้ก๊าซมากนี้แหละที่ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าก๊าซหุงต้มในราคาแพง ในขณะที่ระบบสัมปทาน (ภายใต้นโยบายรัฐบาล) ได้เปิดโอกาสให้บริษัท ปตท.ขายให้กับบริษัทลูกของตนเองในราคาที่ถูกกว่าที่ขายให้ประชาชนทั่วไป

หัวใจสำคัญของ “สัญญาสัมปทาน” ก็คือกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมที่ขึ้นมาเป็นของบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทาน

อนึ่ง กรุณาสังเกตในตารางนี้พบว่า ในปี 2557 การใช้ก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยวันละ 4,424 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในหัวข้อที่ 3 ต่อไป

ขออนุญาตกลับมาที่ประเด็นการที่ประชาชนถูกภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแย่งก๊าซหุงต้มไปใช้ในราคาถูก ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกำกับดูแลของรัฐ ประเด็นนี้คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ราคาค่าโดยสารรถเมล์และแท็กซี่ในประเทศไทยกลับขึ้นราคา ราคาข้าวแกงก็ขึ้นราคา”

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญแต่ไม่มีการพูดถึงในเวทีก็คือ พลังงานกับความเป็นประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่เรากำลังอยู่ในช่วงปฏิรูปการเมือง ท่านที่สนใจโปรดอ่านบทความเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเรื่อง ประชาธิปไตยที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ของผมนะครับ

ผมอยากจะสรุปหัวข้อนี้ด้วยข้อมูลที่ชัดเจนว่า หากรัฐบาลนี้สามารถส่งเสริมให้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรีโดยไม่จำกัดจำนวน (ตามข้อเสนอของสภาปฏิรูป) ให้ได้สัก 1 ล้านหลัง ก็สามารถลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงได้ 192 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน(หรือประมาณ 4% ของการใช้ในปัจจุบัน)

จำนวน 1 ล้านหลังคา อย่าคิดว่ามากเกินนะครับ เพราะข้อมูลเมื่อปี 2557 พบว่าบ้านอยู่อาศัยในรัฐออสเตรเลียใต้ ประเทศออสเตรเลียทุกๆ 4 หลังจะมีคนติด 1 หลัง และกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

3. การพยากรณ์ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติสูงเกินจริง

ประเด็นสงสัยที่ผมกำลังชวนท่านผู้อ่านคิดก็คือ เราต้องรีบเปิดสัมปทานเพราะก๊าซธรรมชาติจะขาดในอีก 7 ปีข้างหน้าจริงหรือ?

การจะตอบคำถามนี้ได้ก็ต้องมาพิจารณาว่า ทางกระทรวงพลังงานได้คาดหมายว่าอัตราการใช้ในอนาคตเป็นเท่าใด จากแผ่นสไลด์ที่รองปลัดกระทรวงพลังงานนำเสนอพบว่าในปี 2557 มีอัตราการใช้ที่ประมาณ 5,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่จากตารางในข้อ 2 การใช้จริงอยู่ที่ 4,424 เท่านั้น

นั่นคือ ข้อมูลการใช้ก๊าซที่นำเสนอต่อสาธารณะ (และเสนอนายกรัฐมนตรีด้วย) สูงกว่าความเป็นจริงถึงปีละ 15% ดังนั้น ถ้าคาดว่าก๊าซจะหมดภายใน 7 ปี ในความจริงก็สามารถยืดไปได้อีก 1 ปี สบายๆ โดยไม่ต้องทำอย่างอื่นประกอบ

ผมเสียดายที่ภาพถ่ายแผ่นสไลด์ดังกล่าวไม่ชัดเจน แต่ก็คล้ายกับข้อมูลของกระทรวงพลังงานเคยนำเสนอมาก่อนแล้ว (4 พฤษภาคม 2554 โดย ดร.ทรงภพ พลจันทร์ ขออภัยที่ผมต้องตัดสัญลักษณ์ของสีออกไป เพื่อให้กราฟใหญ่และชัดขึ้น) ซึ่งผมขอนำมาลงในที่นี้เพื่อเป็นหลักฐานด้วย

การคาดหมายการใช้ก๊าซที่สูงเกินจริงจะเกิดผลเสียอะไร?

คำตอบแรกก็คือ ทำให้เกิดความกลัวว่าก๊าซจะหมดเร็ว เพราะเราคาดว่าจะใช้เยอะแต่ความจริงคือใช้น้อยกว่าเมื่อเกิดความกลัวแล้ว ก็ต้องรีบแก้ปัญหาดังที่กระทรวงพลังงานกำลังทำอยู่

คำตอบที่สองก็คือ ส่งผลให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินไป ข้อมูลที่ผมได้ฟังจากคุณอลงกรณ์ พลบุตร (ในรายการตอบโจทย์ ไทยพีบีเอส) พบว่าในปีประมาณ2565 โรงไฟฟ้าสำรองในประเทศไทยจะสูงถึง 40-44% ของความต้องการสูงสุด ในขณะที่มาตรฐานสากลอยู่ที่ 15% เท่านั้นการคาดหมายที่เกินจริงนี้จะทำให้เราต้องเสียเงินก่อสร้างโรงไฟฟ้าโดยไม่จำเป็นถึง 4 แสนล้านบาท

เมื่อประมาณปี 2545 เหตุการณ์โรงไฟฟ้าล้นเกินก็เคยเกิดขึ้นแล้ว ผมยังจำคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า “เรามีโรงไฟฟ้าล้นเกินถึง 4 แสนล้านบาท เพราะการพยากรณ์ที่ผิดพลาด”

ผมได้มีโอกาสเรียนคุณทักษิณด้วยตัวผมเองว่า “เราเสียค่าไม่ซื้อก็ต้องจ่ายในโครงการท่อก๊าซไทย-พม่าจำนวนหลายหมื่นล้านบาท”

คุณทักษิณตอบว่า “เรื่องนี้เกิดในสมัยที่ ส.ส.สงขลาเป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรม(ซึ่งขณะนั้นต้องดูแลเรื่องพลังงาน) รัฐบาลนี้กำลังแก้ปัญหาอยู่”

ตราบจนถึงวันนี้ (สิ้นปี 2555) ทาง ปตท.ก็ยังไม่สามารถเรียกคืน (Make Up) ก๊าซดังกล่าวได้ครบ กล่าวคือยังไม่สามารถใช้ก๊าซในส่วนที่ได้จ่ายเงินไปก่อนแล้วได้ ยังคงค้างอยู่เกือบ 6 พันล้านบาท ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า จะเรียกคืนมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อต้องใช้ก๊าซให้ได้ในจำนวนที่มากกว่าที่ได้ทำสัญญาเอาไว้ ความจริงข้อนี้สะท้อนว่า การทำสัญญารับซื้อก๊าซในอัตราที่มากกว่าความจำเป็นต้องใช้ และการซ้ำรอยเดิมก็กำลังจะเกิดขึ้นอีก

4. ปัญหาทางกฎหมายที่กำลังจะเป็นปัญหาของประเทศ

เนื่องจาก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ระบุว่า (1) การนำปิโตรเลียมมาใช้ต้องได้รับสัมปทาน และ (2) อายุสัมปทานเมื่อหมดลงสามารถต่อได้เพียง 1 ครั้ง รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 40 ปี (สำหรับสัญญาไทยแลนด์หนึ่ง)

ปัญหาคือ แหล่งเอราวัณ (แหล่งแรกในอ่าวไทย) จะหมดอายุสัมปทานในปี 2565 (ปี 2022 ดูกราฟในข้อ 3 แถบล่างสุดที่เขียนว่า Concession End) แต่ปริมาณก๊าซยังไม่หมดครับ

แล้วรัฐบาลจะจัดการอย่างไรกับกรณีนี้ ผู้รับสัมปทานคือบริษัทเชฟรอนจะต่ออายุอีกก็ไม่ได้ ทางออกก็คือต้องเปิดสัมปทานให้รายอื่นเข้ามาทำแทน บริษัทใหม่จะเข้ามาก็อาจจะไม่คุ้มกับการลงทุน อุปกรณ์แท่นเจาะและข้อมูลก็เป็นของเชฟรอน (ถ้าเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตอุปกรณ์และข้อมูลเป็นของรัฐตั้งแต่วันเริ่มต้น)

ในประเทศมาเลเซียเขาเปิดโอกาสให้ว่าจ้างการผลิต (ซึ่งอาจจะคุ้มต่อการดำเนินการ) แต่ของประเทศไทยไม่เปิดโอกาส ต้องเป็นสัมปทานอย่างเดียว

กรณีแหล่งเอราวัณเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษามากครับ เขาเริ่มผลิตในปี 2524 (แต่สัญญาสัมปทานเริ่มปี 2515) เท่าที่ผมค้นข้อมูลพบว่าแหล่งนี้เดิมมีปริมาณที่สำรวจได้ 1.8 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มีการคาดการณ์ว่าจะหมดภายใน 17 ปี แต่เอาเข้าจริงผ่านไปแล้ว 33 ปี ได้ขุดเจาะไปแล้ว 2.88 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต (นับถึงสิ้นปี 2556) เกือบ 2 เท่าของที่เคยสำรวจพบก็ยังไม่หมด โดยในปี 2557 มีการเจาะในอัตราเฉลี่ย 217 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

โดยมีราคาที่ปากหลุมเกือบคงที่ตลอดอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาวต่อราคาตลาดโลก กล่าวคือในเดือนมีนาคมและธันวาคมอยู่ที่ $6.99 และ $6.93 ต่อล้านบีทียู ในขณะที่ราคาในตลาด Henry Hub ประมาณ $4.0 เท่านั้น

5. กิจการไฟฟ้าในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่การผูกขาดโดยธรรมชาติแล้ว

ก่อนเริ่มเวทีเสวนา คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้ร่วมลงชื่อให้รัฐบาลทบทวนการเปิดสัมปทานได้กล่าวและตั้งคำถามได้ดีมากๆ ผมเห็นด้วยในทุกประเด็น แต่มีประเด็นคุณอภิสิทธิ์ได้กล่าวว่า “กิจการพลังงานมีการผูกขาดโดยธรรมชาติสูงมาก” อาจจะเป็นเพราะคุณอภิสิทธิ์ไม่มีเวลาอธิบายขยายความ ในที่นี้ผมขออนุญาตเห็นต่างครับ

แต่เนื่องจากผมก็ไม่มีเนื้อที่มากพอ จึงขอสรุปสั้นๆ พร้อมกับเสนอเอกสารเพื่อให้สาธารณะได้ศึกษาเพิ่มเติมครับ

การผูกขาดในกิจการไฟฟ้าเคยเป็นมาตลอด 130 ปีของประวัติศาสตร์กิจการไฟฟ้าในโลก แต่นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา แนวโน้มในอนาคตชี้ว่าสิ่งเคยเป็นในอดีตนั้นจะไม่จริงอีกต่อไปแล้ว

เหตุผลก็คือ เรามีเทคโนโลยีใหม่ทั้งระบบการผลิตและระบบสายส่ง จากเดิมที่มีแหล่งผลิตขนาดใหญ่ ให้บริการนับล้านราย ได้เปลี่ยนมาสู่การผลิตรายเล็กและใช้ในบริเวณกลุ่มเล็กๆ จนสามารถเรียกได้ว่า จากสังคมเผด็จการด้านพลังงานไปสู่การกระจายอำนาจ หรือประชาธิปไตยพลังงาน (Energy Democracy)

บทความแรกที่ผมอยากจะแนะนำก็คือ Electricity’s Un-Natural Monopoly โดย John Farrell (http://ilsr.org/electricitys-unnatural-monopoly/)

บทความนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า ปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าต่อหัวของชาวอเมริกันนอกจากจะไม่ได้เพิ่มขึ้นแล้ว กลับมีแนวโน้มลด ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่าน ในประเทศเยอรมนีก็เช่นเดียวกันครับในขณะที่จีดีพีกลับเพิ่มขึ้น

อีกบทความหนึ่งชื่อว่า “บริษัทไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับการสูญเสียรายได้ปีละ $48,000 ล้าน เพราะพลังงานแสงอาทิตย์และการประหยัดพลังงาน” (U.S. utilities face up to $48B revenue loss from solar, efficiency ตามรูปประกอบที่แนบ)

ไม่เพียงแต่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ในยุโรปก็จะสูญเสียถึงปีละ 61,000 ล้านยูโรในปี 2025 (ปีเดียว) นอกจากนี้ บทความนี้ยังได้อ้างข้อมูลจากงานวิจัยในออสเตรเลีย พบว่า ปัจจุบันประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 20% แต่กำลังจะเพิ่มเป็น 42% ในปีหน้า

6. สรุป

ผมทราบมาแว่วๆ ว่า กลุ่มนักวิชาการที่อยู่เบื้องหลังกระทรวงพลังงานมีความเชื่อว่า “อีกไม่นานปิโตรเลียมจะไม่มีค่า ดังนั้น จึงควรจะรีบนำมาใช้ให้หมดโดยเร็ว”

เมื่อสดับตรับฟังทั้งจากแนวคิดและข้อมูลที่ผมได้กล่าวมาแล้ว ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรครับ

คุณสมบัติที่สำคัญและจำเป็นสำหรับความเป็นมนุษย์ก็คือการคาดหมายหรือจินตนาการเหตุการณ์ล่วงหน้าตามความเป็นจริง แต่ได้ถูกบิดเบือนไปว่า “พวกนี้ชอบมโนไปเอง”

ความจริงแล้ว การ “มโน” นี่แหละครับเป็นสิ่งที่ดีสำหรับมนุษย์ ทำนองเดียวกับคำว่า “ประสาท” (ชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้ผม) ซึ่งแปลว่า “ยินดีให้ โปรดให้ ให้ความรู้อย่างไม่หวังผลตอบแทนหรือประสาทวิชา” แต่ได้ถูกทำให้กลายเป็น “เพี้ยนๆ” จากหนังเรื่อง “ประสาท” ของคุณเปี๊ยก โปสเตอร์

ก็ไม่เป็นไรครับ เกิดเป็นคนต้องมีความมั่นคงและแน่วแน่แม้จะถูกโจมตีก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น