xs
xsm
sm
md
lg

กังขาปฏิรูปพลังงานตรงไหน สปช.แจ้นลงมติรีบเปิด “สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21” เอาใจรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิก สปช. (ภาพจากแฟ้ม)
สปช. ถกเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เสียงข้างมาก 139 เสียงโหวตให้ลงมติด่วน “คุรุจิต” แจงอ้างไทยแลนด์ทรีไม่ล้าสมัย สมาชิกโวย กมธ. เร่งรัดเอาใจรัฐบาล เสนอเลื่อนลงมติแต่เอาไม่อยู่ กางผลรับฟังความเห็น ปชช. ให้ชะลอเปิดสัมปทานรอบ 21 จี้แก้ไข กม. ปิโตรฯ - ตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ “รสนา” ชี้อีสานวุ่นแน่ ที่ผ่านมา ไร้เยียวยา คดีกองศาลปกครอง เปิดสัมปทานเมื่อไหร่อนาคตก็ไม่เหลือพื้นที่ให้ปฏิรูปแล้ว “คำนูณ” กังขาลงมติหนุนสัมปทานปฏิรูปตรงไหน

วันนี้ (13 ม.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณารายงานเรื่อง “การเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21” ของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน โดย นายทองฉัตร หงส์ลดารมย์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน ได้รายงานผลการศึกษา ว่า จากที่ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกิจารพลังงานทั่วประเทศ มาให้ความเห็น ประเด็นหลักที่นำมาพิจารณา คือ 1. ผลที่คาดว่าจะได้จากการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตามแผน 2. การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เป็นการดำเนินการที่เร่งรีบเกินไปหรือไม่ และ 3. ผลกระทบหากจะยกเลิกการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อรอให้มีการศึกษาและเตรียมพร้อมของระบบ แบ่งปันผลประโยชน์ก่อน แล้วจึงนำมาใช้ในการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยตามระบบสัมปทานที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ซึ่งผลการพิจารณาสรุปได้ทางเลือก 3 แนวทาง คือ 1. ให้กระทรวงพลังงานดำเนินการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตามระบบ ไทยแลนด์ทรี พลัส ตามแผนงานที่มีในปัจจุบัน 2. ยกเลิกระบบในการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 และนำระบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้ (PSC) และ 3. ให้ดำเนินการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ระบบตามแผนงานปัจจุบัน และให้กระทรวงพลังงานศึกษาเตรีมการให้มีระบบแบ่งปันผลผลิตที่เหมาะสมกับศักยภาพการปิโตรเลียมให้พร้อมไว้ เพื่อเป็นทางเลือกให้รัฐบาลตัดสินใจในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งต่อๆ ไป โดยคณะกรรมาธิการ พิจารณาแล้ว เห็นพ้องต้องกัน โดยเสนอทางเลือกที่ 3 ต่อสภาเพื่อพิจารณาก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

ด้าน นายคุรุจิต นาครทรรพ รองประธานกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ความจำเป็นที่ต้องเปิดให้มีสัมปทานรอบที่ 21 เนื่องจากปีที่ผ่านมา ไทยมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติสูงมากเพิ่มขึ้น 9 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มเป็น 1,000% ก๊าซธรรมชาติกลายเป็นสายเลือกสำคัญในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศ 70% นำไปใช้ผลิตไฟฟ้า 25% นำไปผลิตก๊าซหุงต้ม LPG และหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และ 15% นำไปเป็นเชื้อเพลิงภาคอุตสาหกรรมโรงงาน และ 7% ใช้ในยานยนต์หรือ NGV แต่จากการพยากรณ์จะมีการใช้ก๊าซเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่แหล่งที่พบในประเทศมีปริมาณสำรองไม่เพียงพอต่อ ความต้องการที่คาดว่าจะสูงเป็น 6 - 6.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุต ใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันก๊าซที่มีในประเทศสามารถป้องความต้องการได้แค่ 80% เท่านั้น ประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต จะมาจากแหล่งผลิตร่วมไทยมาเลย์ ส่วนใหญ่เกือบ 20% ต้องนำเข้าจากพม่า 2 ปีที่ผ่านมาไทยเริ่มนำเข้าธรรมชาติเหลว หรือ LNG จากตะวันออกกลาง การคาดการณ์อุปสงค์ภายในไม่ถึง 7 - 8 ปี จะเกิดภาวะขาดแคลนไม่สามารถแสวงหาแหล่งก๊าซเพิ่มเติม ทั้งในละนอกประเทศได้ ตอนนี้ก็คาดว่าจะต้องนำเข้าก๊าซเหลว LNG ที่ราคาแพงมาก ค่าไฟฟ้าในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 - 7 บาทก็ได้

นอกจากนี้ ปริมาณสำรองปิโตรเลียมจากการสำรวจ 40 กว่าปี พบก๊าซธรรมชาติมากกว่าน้ำมัน ทำให้น้ำมันไม่เพียงพอต้องนำเข้า 80% ส่วนปริมาณก๊าซธรรมชาติที่สำรองอยู่ ที่ผลิตในไทยอย่างเดียว ในส่วนที่มั่นใจว่าผลิตได้แน่นอน 90% จะมีใช้ไม่ถึง 7 ปี แต่ถ้านำที่มั่นใจได้แค่ 50% ก็จะมีใช้ประมาณ 12 ปี ถ้าเราไม่ลงทุนและทำการสำรวจเพิ่ม ก็จะมีความมั่นใจให้เหลือใช้ไม่เกิน 7 ปี ส่วนการเตรียมการเปิดให้มีการขอสิทธิเปิดสัมปทานสำรวจรอบที่ 21 ที่เตรียมการไว้ 29 แปลง บนบก 23 แปลง และในอ่าวไทย 6 แปลง คาดว่าถ้ามีการยื่นขอสัมปทานทั้ง 29 แปลงจะมีโอกาสลงทุนสำรวจ มีเงินลงทุนเข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท แต่โอกาสจะพบหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้สำรวจ แต่คาดว่าอย่างน้อยจะพบแหล่งก๊าซธรรมชาติ 1 - 5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต รวมทั้งน้ำมันดิบไม่เกิน 50 ล้านบาร์เรล

นายคุรุจิต กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่ถกเถียงในสังคมว่าระบบไทยแลนด์ ทรีพลัส มีความเหมาะสมให้ประโยชน์ได้ดีแล้วหรือยัง ธุรกิจปิโตรเลียมมีการให้ผลประโยชน์กับรัฐสูงกว่าธุรกิจอื่นๆ โดยจ่ายให้รัฐ 3 ทาง คือ ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ยอดขายจำหน่ายรายได้ 5 - 15% ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่สูงกว่าภาษีนิติบุคคล คือ 50% ของกำไรสุทธิ และในออก พ.ร.บ.ปิโตรเลียมปี 2532 มีการเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษรายปีและรายแปลงสำรวจ ในอัตราเริ่มต้นที่ 0 - 75% ของกำไรปิโตรเลียมประจำปี และรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายก๊าซส่งผ่านผู้ซื้อเป็นทอดๆ และผู้รับสัมปทานอาจยื่นขอผลประโยชน์เพิ่มเติม ในรูปของทุนการศึกษา เงินบริจาคท้องถิ่น เงินให้เปล่าเข้ากระทรวงการคลัง ดังนั้นผลประโยชน์ของรัฐจากระบบไทยแลนด์ ทรี ใช้มาตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ว่าจ้างนักวิชาการจากหลายสถาบันให้ทำการศึกษาและปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย โดยที่ปรึกษาเห็นว่ามีความทันสมัยแล้ว และแหล่งปิโตรเลียมที่จะพบน่าจะเป็นแหล่งขนาดเล็ก ดังนั้น ระบบไทยแลนด์ ทรี จึงมีความเหมาะสมที่สุด เอื้อให้เกิดการพัฒนา สำรวจ ลงทุน การหาแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มเติม

ส่วนข้อวิจารณ์ว่าระบบไทยแลนด์ ทรี เป็นระบบที่นิ่ง ถ้าบังเอิญไปพบแหล่งใหญ่ราคาน้ำมันเพิ่มสูง จะเป็นการเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐแบบถดถอย ไม่เป็นความจริง ระบบดังกล่าวประกอบด้วย 3 ส่วน ค่าภาคหลวงเป็นอัตราก้าวหน้าแน่นอน และเก็บเป็นรายแปลงสำรวจ ส่วนภาษีเงินได้ปิโตรเลียมก็เป็นหลักสากล เก็บอันตราเดียว 50% ของกำไรสุทธิ แต่แยกว่าผู้รับสัมปทานตามกฎหมายเก่าไม่ให้เอาตามกฎหมายเก่า แต่ต้องทำตามกฎหมายใหม่ แต่หากข้ามแปลงได้ถูกต้อง และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ เก็บเมื่อมีกำไรเกินสมควร โดยรวมเป็นการเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐแบบก้าวหน้าอย่างแน่นอน

จากการเตรียมการเป็นเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เสนอรัฐบาลชุดที่แล้ว ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2555 ที่จะให้มีการเปิดสัมปทานเพราะ เราเปิดครั้งที่ 20 ในรัฐบาลคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เดือน มี.ค. 2550 ขณะนี้เกือบ 8 ปีแล้ว เราพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่น้อยมาก ที่น่าห่วงคือปริมาณสำรองลดลงอย่างมาก แต่รัฐบาลขณะนั้นไม่กล้าตัดสินใจเพราะมีเสียงคัดค้าน จึงได้จัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นหลายสิบเวที และคณะกรรมาธิการพลังงานทั้งสองสภาได้เชิญไปชี้แจงและเห็นตรงกันให้เดินหน้าต่อไป เพราะเป็นประโยชน์ต่อพลังงานของประเทศ แต่จากการรับฟังในเวทีต่างๆ มีข้อท้วงติงว่าเราอาจจะเก็บผลประโยชน์น้อยเกินไปหรือไม่ จึงเป็นที่มาของกระทรวงพลังงานเสนอให้ใช้ระบบไทยแลนด์ ทรีพลัส คือ การเรียกผลประโยชน์เพิ่มเติมเพิ่มขึ้น ในลักษณะที่มีการประมูลผลประโยชน์ด้วย โดยต้องเสนอเป็นเงื่อนไขบังคับเรื่องเงินให้เปล่าในการลงนามสัมปทาน เงินสนับสนุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างน้อยช่วงสำรวจต้องบริจาค 1 ล้านบาท ในเรื่องการศึกษาในท้องถิ่น หากมีการผลิตถึงระดับหนึ่งต้องมีจ่ายโบนัส ที่สำคัญต้องเปิดโอกาสให้บริษัทคนไทยเข้าร่วมทุนในแหล่งที่ค้นพบแล้วเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยี รวมถึงเงื่อนไขให้ใช้เรือไทยและสิ้นค้าไทยด้วย

ส่วนระบบปิโตรเลียมของไทยล้าสมัยหรือไม่ ขอเรียนว่าระบบจัดการปิโตรเลียมในโลกมีหลายระบบ จากการไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ พบว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่กฎหมายว่าจะเก็บผลประโยชน์ให้รัฐอย่างไร ยอมรับว่าระบบของอินโดฯ มาเลย์มีการเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐในสัดส่วนสูงกว่าระบบของไทย แต่เขามีปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสมบูรณ์เรา ขณะที่บางประเทศก็มีการออกระบบให้เอื้อต่อนักลงทันและเก็บเข้ารัฐน้อยกว่าเราก็มีส่วนผลประโยชน์ของรัฐสามารถออกแบบได้ และระบบ PSC ไม่ได้ทำให้รัฐได้มากกว่าระบบสัมปทานเสมอไป เช่น ของมาเลเซีย ความเป็นเจ้าของในทรัยพากรรัฐเป็นเจ้าของทั้งสองระบบ ระบบสัมปทานก็เขียนไว้ในมาตรา 23 ว่าปิโตรเลียมเป็นของรัฐ ผู้ใดสำรวจหรือผลิตในที่ใด ไม่ว่าเป็นของตนหรือของผู้อื่นต้องได้รับสัมปทาน มาตรา 13 สิทธิในสัมปทานปิโตรเลียมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี และยังระบุอุปกรณ์ต่างๆเมื่อใช้เสร็จแล้วต้องตกเป็นของรัฐ รัฐยังมีสิทธิ์ในการกำกับดูแล สั่งระงับ หรือห้ามส่งออก ด้วย

“รัฐบาลมองเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานเป็นสิ่งสำคัญ 55% ของพลังงานต้องนำเข้า ในปี 57 สถิติมูลค่านำเข้าถึง 1.4 ล้านล้านบาท มากกว่า 10% ของจีดีพี ถ้ามีการสำรวจและมีการผลิตจะมีรายได้ในรูปต่างๆ เป็นการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างงาน ถ่ายทอดเทคโนโลยี และอื่นๆ มากมาย ยืนยันว่าระบบไทยแลนด์ทรี พลัส มีความยุติธรรม จูงใจและให้ประโยชน์ต่อรัฐเหมาะสมดีแล้ว ใช้หลัก มัฌชิมาปฏิปทา พบน้อยก็เก็บน้อย พบแหล่งใหญ่ราคาน้ำมันขึ้นก็เก็บมาก ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับคุ้มค่าต่อการลงทุน สมน้ำสมเนื้อกับศักยภาพที่เรามี โดยพิจารณาบนพื้นฐานความมั่นคงด้านพลังงาน ผลประโยชน์ของรัฐ และความคุ้มค่าต่อการลงทุน การนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประสิทธิผล เราจึงเห็นว่ารัฐบาลได้พิจารณาอย่างรอบคอบปิดความเสี่ยงทุกด้านแล้วและสมควรที่จะเดินหน้าต่อไป”

ด้าน นายพรายพล คุ้มทรัพย์ กรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน อภิปรายเสริมว่า ข้อดีและข้อเสียของระบบสัมปทานและแบ่งปันผลผลิตมีพอๆ กัน ระบบสัมปทานมีความโปร่งใส แต่อำนาจรัฐแทรกแซงได้น้อยมาก ในขณะที่ระบบแบ่งปันผลผลิตนั้น รัฐบาลสามารถเข้าไปกำกับดูแลได้ ถึงขนาดให้บริษัทของรัฐเข้าไปร่วมลงทุนได้ แต่เชื่อว่าระบบสัมปทานยังมีความเหมาะสมที่จะใช้ต่อ เพราะรัฐได้ส่วนแบ่งถึง 72% ของรายได้สุทธิของผู้รับสัมปทาน ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงกว่าระบบในต่างประเทศ ที่อยู่แค่ 60% กว่าๆ ส่วนระบบแบ่งปันผลผลิตนั้น อาจยังไม่เหมาะ เพราะแหล่งปิโตรเลียมของประเทศไทยมีไม่มาก หลุมเล็ก ต้นทุนขุดเจาะสูง อาจไม่คุ้มให้รัฐต้องรับความเสี่ยง นอกจากนั้น ระบบแบ่งปันผลผลิตยังเป็นวุ้นอยู่ ไม่มีอะไรเลย หากใช้ระบบนี้ ต้องมีการวางระบบ ตั้งองค์กรน้ำมันแห่งชาติของรัฐบาลเอง ซึ่งต้องใช้เวลา 3 - 6 ปี จึงเริ่มทำระบบแบ่งปันผลผลิตได้ และใช้เวลาอีก 5 - 6 ปี จึงจะเจอ อีก 3 ปีเพื่อพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม ซึ่งใช้เวลากว่า 10 ปี ตอนนั้นก๊าซก็หมดแล้ว ดังนั้นเราต้องขุดและใช้วันนี้ เท่าที่เทคโนโลยียังมีอยู่ เรารอไม่ได้แล้ว ถ้ารอก็เสียประโยชน์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากตัวแทนกรรมาธิการได้ชี้แจงจบ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สปช. ได้เสนอญัตติให้สมาชิกอภิปรายแสดงความเห็นให้จบภายในวันนี้ แต่ให้เลื่อนการลงมติไปในการประชุมสัปดาห์หน้า เพราะเรื่องนี้สำคัญ และเป็นประเด็นแหลมคมและมีความเห็นรอบด้านที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปและการนำเสนอรัฐธรรมนูญ แต่สมาชิกเพิ่งได้รับเอกสารจำนวนมาก โดยกรรมาธิการเพิ่งสรุปเสร็จเมื่อ 6 โมงเย็นเมื่อวานนี้ (12 ม.ค.) สมาชิกอ่านไม่ทัน และที่บอกว่าจะเกี่ยวพันกับฝ่ายบริหารที่จะมีการสัมปทานในเดือนหน้า รัฐบาลมีการหารือไม่เป็นทางการ แต่ในรายงานไม่มีการพูดถึงเรื่องดังกล่าว

“เราต้องมีอิสระในการพิจารณาอย่างสูง จะใช้ความเร่งด่วนไม่ได้ เกรงจะมีปัญหาเรื่องบรรทัดฐานและความสง่างาม ผมเสนอว่าวันนี้ให้สมาชิกแสดงความเห็นเต็มที่ แต่ควรเลื่อนการลงมติไปในการประชุมคราวถัดไป เพื่อให้สมาชิกกลับไปอ่านศึกษาให้รอบด้าน” นพ.อำพล กล่าว

ด้าน นายประมณฑ์ สุธีวงศ์ สปช. แสดงความเห็นว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการปฏิรูป แต่เป็นการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร และเรามีการทำสัมปทานมาแล้ว 20 ครั้ง สปช. ต้องดูว่าอะไรคือการปฏิรูป อะไรคือการบริหาร เรื่องการให้สัมปทาน มีความขัดแย้งและละเอียดอ่อน ตนเห็นด้วยที่ข้อมูลที่ให้มาหากจะให้ศึกษาจริงๆ ต้องใช้เวลามาก แต่หากกรรมาธิการจะสรุปความเห็นและควบคู่ไปกับความเห็นต่างของเสียงส่วนน้อยไปให้กับผู้บริหารก็จะเป็นการดี เราไม่ควรต้องเป็นผู้ที่เข้าไปเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพียงแต่รับทราบรายงานและส่งต่อรัฐบาลก็พอ

ด้าน นายสุธรรม ลิ้มสุวรรณเกษม สปช. ได้เสนอญัตติขอให้พิจารณารายงานของกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน เสนอข้อมูลมาตนฟังแล้วคิดว่าตัดสินใจได้แล้ว จึงขอให้ดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ สมาชิกหลายคนได้อภิปรายสนับสนุนญัตติของนายสุธรรม เพราะเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เห็นควรให้ดำเนินการต่อไป อาทิ นายชิงชัย หาญเจนลักษณ์ สปช. กล่าวว่า เท่าที่ศึกษาและพูดคุยกับกรรมาธิการบางคน คิดว่าเรื่องที่เสนอมาน่าจะให้เบื้องหลัง และข้อเท็จจริงได้เพียงพอแล้ว รัฐบาลจะเอาระบบไหน ขึ้นอยู่กับนโยบาย ปัญหาอยู่ที่ระยะเวลาเร่งรีบเพราะกระเทือนถึงเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศด้วย ที่ตอนนี้เป็นขาลง จึงจำเป็นต้องมีรายได้เพิ่ม ถ้าเดินหน้าได้ตนก็อยากสนับสนุนมติกรรมาธิการ

ในที่สุดที่ประชุมได้มีมติ 139 ต่อ 81 เสียง เห็นควรให้ดำเนินการให้อภิปรายและลงมติภายในวันนี้ เพื่อที่จะส่งต่อให้รัฐบาลต่อไป

ต่อมา นายประชา เตรัตน์ สปช. ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมขององค์กรที่สำคัญ ได้รายงานผลการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายต่างๆ ทางสังคมในประเด็นการเปิดสัมปทานการขุดเจาะปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยระบุว่าประชาชนจากทุกภาคไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพราะสร้างผลกระทบสังคมมากมาย อาทิ ในภาคอีสานจะมีผลกระทบกับประชาชนในด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การเกษตร สังคม เพราะการขออนุญาตสำรวจและขุดเจาะที่ดำเนินการในส่วนกลาง คนในพื้นที่ไมได้รับรู้ถึงขั้นตอนวิธีการ ไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ขาดการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพอนามัย รวมทั้งบริษัทที่ขุดเจาะเป็นของต่างชาติจึงไม่เข้าใจสภาพวิถีชีวิต ชุมชนท้องถิ่น เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชน โดยไม่มีผู้รับผิดชอบ อย่างเช่น ที่อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ พบว่ามีการลากสาย และวางระเบิดกว่า 13,000 ลูกทำให้เกิดก๊าซไข่เน่า ประชาชนเจ็บป่วยด้านระบบประสาท ทางเดินหายใจ บางพื้นที่น้ำจากบ่อบาดาลไม่สามารถใช้อุปโภค บริโภคได้ ดังนั้น รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลการสำรวจให้ประชาชนรับทราบ

ทั้งนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นควรให้ชะลอการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 แยกการสำรวจ และการผลิตออกจากรัฐ โดยรัฐอาจเป็นผู้ทำการสำรวจเสียก่อน และให้รัฐใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิต มากกว่าจะใช้ระบบสัมปทาน เหมือนกับทุกประเทศในเออีซี เพราะจะสร้างความมั่นคงทางพลังงานได้มากกว่า และมีการกำหนดให้ทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นสมบัติของแผ่นดินและชาวไทย แก้ไข พ.ร.บ. ปิโตรเลียม ปี 2514 โดยยกเลิกระบบสัมปทาน โดยใช้การแบ่งปันผลผลิต และระบบอื่นๆ แทน จัดตั้งสำนักจัดเก็บภาษีปิโตรเลียมเป็นการเฉพาะ ให้มีการตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นโดยโอนทรัพย์สินในด้านการจัดการพลังงาน เช่น ท่อก๊าซทั้งบนบกในทะเลมาเป็นของบริษัท จัดตั้งสภาพลังงานประชาชน และกองทุนพัฒนาปิโตรเลียม เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางตรงในการกำหนดนโยบายผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับปิโตรเลียมและทรัพยากรพลังงาน ให้มีการเปิดเผยข้อมูลในสัญญา แปลงสัมปทานปิโตรเลียมที่มีการดำเนินการแล้วว่าส่วนแบ่งรายได้ ผลประกอบการ ขาดทุน กำไร อย่างไร เพื่อประโยชน์ในการจัดการและการตรวจสอบในอนาคตแปลงที่ยังไม่ดำเนินการ กำหนดพื้นที่ประกอบกิจการปิโตรเลียมที่จะต้องอยู่ในระยะที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่อยู่อาศัย และเกษตรกรรม ของประชาขน

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช. ในฐานะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างน้อย กล่าวว่า กรรมาธิการเสียงข้างน้อยในกรรมาธิการพลังงาน กล่าวว่า ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวแม้จะมีการเชิญนักวิชาการด้านพลังงานมาให้ข้อมูล แต่ในกรรมาธิการหลายคนเป็นข้าราชการในกระทรวงพลังงาน บอร์ด ที่ปรึกษารัฐมนตรี ทำให้แนวทางกรรมาธิการมุ่งไปในทางที่จะเปิดสัมปทานพลังงานรอบ 21 มีคำกล่าวว่าการเปิดสัมปทานรอบนี้ไม่เกี่ยวกับการปฏิรูปนั้นไม่จริง เพราะการเปิดสัมปทานรอบ 21 จะผูกพันประเทศไปอย่างน้อย 29 ปี เนื่องจากจะการสำรวจมีระยะเวลา 9 ปี บวกระยะเวลาผลิตอีก 20 ปี และสามารถต่อได้อีก 10 ปี ฉะนั้น ถ้าให้สัมปทาน ก็ผูกพันลูกหลานไปอย่างน้อย 20 - 39 ปี ซึ่งอย่าลืมว่าตามกฎหมาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 กำหนดว่าเมื่อให้สัมปทาน เอกชนจะได้เป็นเจ้าของปิโตรเลียมทั้งหมด โดยเอกชนจ่ายค่าตอบแทนรัฐ เป็นค่าภาคหลวง ภาษี และอาจมีผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษเช่นโบนัส แต่ปัญหาคือในระบบสัมปทานอุปกรณ์การผลิตทั้งหลายเป็นของเอกชน เมื่อรัฐให้สัมปทานไป 29 ปี สมมติว่าอีก 10 ปี ที่เหลือ จะเปลี่ยนแปลงก็ทำได้ยาก เพราะอุปกรณ์เป็นของเอกชนหมด และถ้าจะให้รายใหม่เข้ามาทำก็ไม่คุ้ม

น.ส.รสนา ยังกล่าวอีกประเด็นใหญ่คือ 29 แปลงในสัมปทานรอบ 21 ครอบคลุมพื้นที่บนบกในภาคอีสาน 16 จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาในการให้สัมปทานรอบที่ 19 และ 20 ก็กินพื้นที่เกือบทั้งหมดของภาคอีสาน ประชาชนได้รับผลกระทบมาก แต่กลับไม่ได้รับการเยียวยา มีการฟ้องร้องกันอยู่ในศาลปกครอง ดังนั้น ถ้ามีการเปิดสัมปทานรอบ 21 การขุดเจาะสำรวจก็จะเต็มพื้นที่ในภาคอีสาน การละเมิดสิทธิที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพประชาชนก็จะทวีความรุนแรงขึ้นแล้วก็จะเกิดความวุ่นวาย การอ้างว่าหากไม่รีบเปิดสัมปทานรอบที่ 21 อาจทำให้เราขาดพลังงาน เพราะปริมาณก๊าซสำรองจะหมดในอีก 7 ปีข้างหน้า ก็เป็นการสร้างความกลัวเพื่อให้ สปช. นั้นเห็นด้วยกับการให้สัมปทานรอบที่ 21 เป็นการเขียนเสือให้วัวกลัว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าไปดูในเรื่องของสัมปทานก็จะพบว่าสัมปทานการผลิตก๊าซรอบแรกนั้นต่างหากที่จะหมดอายุสัมปทานในอีก 7 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ยังกล่าวด้วยว่า ที่มีการอ้างว่าหากมีการเปลี่ยนจากระบบการให้สัมปทานมาเป็นระบบการแบ่งปันผลผลิต จะทำให้เสียเวลากระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานนั้น ตนเห็นว่า หากจะเปลี่ยนแปลงก็ทำได้ไม่หยุดชะงัก โดยรัฐอาจเลือกแปลงสำรวจขุดเจาะไปก่อน หากว่าแปลงไหนมีประสิทธิภาพก็สามารถเปิดเป็นแบบแบ่งปันผลผลิต โดยการแบ่งส่วนผลประโยชน์รัฐกับเอกชน ก็ให้ทำแบบขั้นบันได ขณะเดียวกันก็ดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 เพื่อยกเลิกระบบสัมปทานแล้วมาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปอย่างแท้จริง โดยในขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการจะแก้ไขกฎหมาย เพราะเป็นช่วงปฏิรูปที่รัฐบาลมาจากการรัฐประหาร

“กระบวนการที่จะปฏิรูปในขณะนี้เราต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน ถ้าเราบอกว่าให้เปิดสัมปทานรอบนี้ไปก่อน ก็เห็นว่าอนาคตมันไม่เหลืออะไรให้เราปฏิรูปพลังงานอีกแล้ว และถ้าเราเปิดโดยไม่ดูเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน เท่ากับเราทอดทิ้งประชาชน” น.ส.รสนา กล่าว

ด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการปฏิรูป กล่าวว่า ตนเห็นต่างกับข้อเสนอของกรรมาธิการ โดยมีข้อเสนอทางเลือกที่ 4 โดยในเรื่องการเปิดสัญญาสัมปทานรอบ 21 นั้น มองว่า เรารอการเปิดสัญญาสัมปทานรอบที่ 21 นี้ มาถึง 7 ปี ถ้าเนิ่นช้าออกไปจะมีปัญหาในเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน และเรามีทางเลือกที่ไม่จำเป็นต้องไปผูกสัมปทานนานถึง 39 ปี โดยเห็นว่า ในการเปิดสัญญาสัมปทานรอบที่ 21 นี้ รัฐก็ควรแยกทำเป็นสองสัญญา คือ 1. สัญญาการสำรวจขุดเจาะ ที่รัฐอาจเลือกว่ารัฐจะเป็นผู้ลงทุนสำรวจเอง โดยเลือกจากแปลงที่คิดว่ามีศักยภาพ ซึ่งคิดว่าจะมีค่าดำเนินการไม่เกิน 2 พันล้านบาท หรือรัฐอาจจะให้เอกชนดำเนินการโดยอาจใช้วิธีประมูลการเข้าสำรวจขุดเจาะ โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าภายใน 1 ปี พบว่า แปลงใดมีศักยภาพให้ผลประโยชน์มากก็ให้ใช้วิธีแบ่งปันผลผลิต แต่ถ้าแปลงใดมีศักยภาพให้ผลประโยชน์น้อยก็ใช้ระบบการให้สัมปทาน ซึ่งก็จะเป็นระบบเหมือนกับที่ทำในประเทศบราซิล และทั่วโลกนำไปใช้เรียกว่า “บราซิลโมเดล” จากนั้นรัฐจึงค่อยมาทำสัญญาสัมปทานในเรื่องของการจัดจำหน่าย โดยหากเลือกระบบนี้ก็จะเป็นธรรมกับประเทศ และบริษัทเอกชน และระหว่างการดำเนินการดังกล่าวรัฐก็สามารถแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ. ปิโตรเลียม ปี 2514 ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาส่งเสริมพลังงานทางเลือก

นายคำนูญ สิทธิสมาน สปช. อภิปรายว่า การพิจารณาเรื่องนี้มีความสำคัญและจะมีผลกระทบอย่างแน่นอนต่อ สปช. ซึ่งเดิมตนเข้าใจว่าในวันนี้จะมีการลงมติใน 3 ทางเลือกให้กับรัฐบาล แต่คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานกลับปรับให้เอาทางเลือกที่ 3 ซึ่งไม่ต่างกับทางเลือกที่ 1 เพราะเมื่อเปิดสัมปทานรอบที่ 21 แล้วจะใช้เวลาสัมปทานตามกรอบ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2518 ไม่ต่ำกว่า 29 ปี การเปิดสัมปทานคือการเปิดพื้นที่จำนวนมาก แม้จะมีการระบุไว้งดงามว่าให้ศึกษาระบบแบ่งปันผลิต ก็ไม่ได้กำหนดว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ และศึกษาแล้วจะต้องไปดำเนินการแก้ไขอะไร หรือไม่อย่างไร ซึ่งต้องเป็นภารกิจของรัฐบาลปกติ แต่ภารกิจของ สปช. ที่เกิดขึ้นโดยอำนาจพิเศษ คือ การปฏิรูป 11 ด้าน ซึ่งด้านพลังงานเป็นหนึ่งในนั้น จากการเรียกร้องของประชาชนให้มีการปฏิรูปพลังงานที่มีพลังค่อนข้างสูง การจะมีมติให้รัฐบาลดำเนินการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตามแผนเดิม ตนไม่เข้าใจเป็นการปฏิรูปตรงไหน นอกจากบริหารแผ่นดินตามปกติ หรือ สปช. เห็นพ้องว่าเกณฑ์การผลิตปิโตรเลียมตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียมถูกต้องสมบูรณ์แบบไม่ต้องปฏิรูปเลย

“การเสนอและลงมติทางเลือกที่ 3 ไปยังรัฐบาลไม่ใช่การปฏิรูป แต่เป็นการเร่งรีบให้ดำเนินการเปิดสัมปทาน อันที่จริงควรเปิดมาในรัฐบาลปกติไม่ต่ำกว่า 2 - 3 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมามีเสียงคัดค้านจากประชานจำนวนมาก แม้รัฐบาลในสถานการณ์ปกติที่มีอำนาจเข็ดขาดในสภายังต้องรับฟัง แต่ในสถานการณ์พิเศษเราเสนอให้ดำเนินการไปภายใต้สภาวะที่ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเหมือนที่ผ่านมา โดยมีกฎอัยการศึกอยู่ ผมเห็นว่าสมาชิกทุกคนต้องคิดให้ดี ผมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำตามความเห็นของกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน หนึ่งในมาตราที่จะบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญคือ “ทรัพยากรธรรมชาติเป็นของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ การสงวนการจัดการ การใช้ประโยชน์ การอนุรักษ์ บำรุงรักษาต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐ ประชาชน และชุมชนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น” ผมจะร่างอย่างไรถ้าวันนี้ สปช. ลงมติทำตามมติของกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างมาก” นายคำนูณ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายของสมาชิกมีทั้งสนับสนุนและคัดค้านมติของกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ ขณะที่บางคนได้ท้วงติงถึงเร่งรีบให้ สปช. ลงมติเร็วเกินไป ทั้งที่รัฐบาลไม่ได้ทำหนังสือขอให้ สปช. พิจารณาอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการพูดผ่านอากาศ จากการให้สัมภาษณ์กับสื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เหมือนบอกผ่านมายัง สปช. ให้ช่วยนำไปหารือแสดงความเห็นว่าเป็นอย่างไรเท่านั้น แต่กลับรีบรับมาทำอย่างเร่งรีบ เพื่อให้มีมติไปสนับสนุนความต้องการของรัฐบาลหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น