ศูนย์ข่าวขอนแก่น - “รสนา โตสิตระกูล” นำคณะ สปช.ลงพื้นที่รับฟังปัญหาชาวบ้านนามูล-ดูนสาด หลังเกิดข้อพิพาทกรณีสัมปทานขุดเจาะก๊าซ ชาวบ้านหวั่นผลกระทบ ยกตัวอย่างหลุมเจาะเก่าจากชุมชนใกล้เคียง ทำผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ยางพารายืนต้นตาย ขณะเดียวกัน มีชาวบ้านอีกกลุ่มโผล่หนุนนายทุน รัฐบาลเต็มสูบ
เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (21 ก.พ.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะ ลงพื้นที่รับทราบปัญหาของชาวบ้านนามูล ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น กรณีพิพาทโครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมแปลงสำรวจ L27/43 หลุมดงมูล-บี (ดงมูล 5) ของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด
ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้มีการขุดเจาะสำรวจแหล่งก๊าซในพื้นที่ เพราะวิตกจะได้รับผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และพืชผลไร่นาเสียหาย โดยปัญหาต่อต้านยืดเยื้อมานานและดูเหมือนว่าหน่วยงานราชการ และฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ก็ให้การสนับสนุนฝ่ายนายทุนค่อนข้างชัดเจน
นายประสาร กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อต้องการรับฟังปัญหาจากชาวบ้านโดยตรง หลังจากเห็นข่าว และเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกลุ่มต่อต้านโครงการ บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด และเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคงที่เป็นทหาร ภายหลังรับทราบประเด็นปัญหาจากชาวบ้าน และส่วนงานที่เกี่ยวข้องต่อโครงการนี้แล้ว จะรวบรวมข้อมูลนำเข้าสู่การหารือในสภาปฏิรูปแห่งชาติต่อไป
จากนั้นตัวแทนชาวบ้านได้ทยอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบการขุดเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียม
นายปกรณ์ สระแจ้งตูม ตัวแทนชาวบ้านนามูล กล่าวว่า ปัญหาที่เคยประสบมาก่อนจากหลุมเจาะเก่าที่บ้านนาคำน้อย ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านนามูลประมาณ 5 กิโลเมตร แม้หลุมนี้ได้ปิดไปแล้วเมื่อปี2556 และไม่ใช่ของบริษัท อพิโก้ จำกัด แต่พบปัญหาตามมาจนถึงทุกวันนี้ คือ ต้นยางพาราที่ชาวบ้านปลูกกันในพื้นที่อยู่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบด้านผลผลิต ทำให้น้ำยางพาราที่กรีดได้มีสีดำ ผลผลิตยางต่ำ ปริมาณที่กรีดลดลง และต้นยางพาราทอยอยยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังทำให้ผลผลิตด้านการเกษตรทั้งข้าว และมันสำปะหลังได้รับความเสียหายเช่นกัน ทั้งนี้ สิ่งที่ชาวบ้านต่างประสบปัญหาด้านสุขภาพเช่นกัน คือ พบว่ามีเวลาอาบน้ำมักจะมีตุ่มใสและเกิดผื่นคัน
ด้าน น.ส.รสนา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540-2550 สิทธิของชุมชนในพื้นที่ได้รับการรับรอง โดยมาตรา 66 และมาตรา 77 ระบุชัดเจนว่า “ชุมชนมีสิทธิในการที่จะดูแลในเรื่องการใช้ทรัพยากรและมีบทบาทที่จะกำหนดทิศทางต่างๆ” แต่ว่าในทางปฏิบัติชาวบ้าน หรือชุมชนใดก็ไม่สามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้สำเร็จ
ทั่งนี้ เนื่องจาก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 มีความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหลายฉบับ จึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย เพื่อที่จะให้สิทธิของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และไม่ใช่ว่าอยู่ๆ รัฐก็เอาแปลงสัมปทานให้แก่ใครก็ไม่รู้ และการขุดเจาะบนบกทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ
“ทั้งนี้ เพราะประชาชนใช้น้ำมันก๊าซธรรมชาติ และก๊าซหุงต้มราคาตลาดโลก สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่ตั้งคำถามว่า เวลาเราให้สัมปทานที่ไปรบกวนชุมชน ประชาชนแล้วประชาชนได้ประโยชน์อะไร ซึ่งจากการลงพื้นที่ครั้งนี้จะนำไปสู่การผลักดันให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมใต่อไป”
ขณะที่ นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ศึกษาวิจัย พบว่า การขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม มีก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า ส่งผลให้ชาวบ้านเจ็บป่วย แม้ที่ตรวจพบมีปริมาณน้อย และที่ผ่านมา บางหลุมสำรวจชาวบ้านเจ็บป่วย 200 คน และไม่ได้รับการดูแลจากเจ้าของโครงการ
นอกจากนี้ การขุดเจาะยังส่งผลกระทบต่อการเกษตรทำให้ผลผลิตจากยางพาราที่เป็นพืชทางเศรษฐกิจที่สำคัญลดลงร้อยละ 50 ทั้งนี้ ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำของหมู่บ้านในพื้นที่อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ชาวบ้านนามูลกลุ่มต่อต้านการขุดเจาะหลุมก๊าซ หรือกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล ให้ข้อมูลต่อคณะ สปช.อยู่นั้น ได้มีชาวบ้านอีกกลุ่มเดินถือป้ายประท้วงกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล มี นายสมหมาย กาพล อดีตกำนันตำบลดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เป็นแกนนำ
โดยชาวบ้านกลุ่มนี้ระบุว่า ต้องการให้ชาวบ้านนามูลมีความสามัคคีกัน และไม่เกิดความแตกแยก และต้องการขับไล่คนนอกพื้นที่ทั้ง NGO และนักศึกษาที่เข้ามาเกี่ยวข้องออกจากหมู่บ้านเพราะเข้ามาปลุกปั่นชาวบ้านให้เกิดความแตกแยก
ชาวบ้านกลุ่มนี้ยืนยันว่า ต้องการความเจริญ และอยากให้รัฐบาล และบริษัทอพิโก้ (โคราช) ทำการสำรวจบ่อก๊าซในพื้นที่ต่อไป ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นมองว่ายังไม่เกิดปัญหาตามที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูลหวั่นวิตก