xs
xsm
sm
md
lg

ชาวกระนวนร้องศาล ปค.คุ้มครองชั่วคราว หลังบริษัทเอกชนเร่งขุดเจาะ “แหล่งก๊าซดงมูล” (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น กว่า 100 คน ร้องต่อศาลปกครองขอนแก่นให้คุ้มครองชั่วคราว หลังบริษัทเอกชนรับสัมปทานฯ เร่งขนย้ายอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ หวั่นเกิดผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ขณะที่ชาวบ้านชี้กระบวนการ EIA ของบริษัทฯ ไม่โปร่งใส ด้านนายอำเภอกระนวนเร่งปรับความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่

วันนี้ (15 ม.ค. 58) ที่ศาลปกครองจังหวัดขอนแก่น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น รวมตัวกว่า 100 คน ให้กำลังใจศาลปกครองจังหวัดขอนแก่นหลังจากที่ชาวบ้านนามูลได้ยื่นฟ้องกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะผู้อนุมัติ อนุญาต กำกับดูแล โครงการพัฒนาปิโตรเลียมบนบก (DM-B) แปลงสำรวจ L27/ 43 หรือดงมูลบี ของบริษัทอพิโก้ (โคราช) จำกัด

โดยมีตัวแทนชาวบ้านนามูล-ดูนสาด จำนวน 3 คน พร้อมทนายความจากศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนเพิ่มเติมเพื่อให้ศาลปกครองจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวการขนย้ายอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมหลุมเจาะดงมูลบี (DM-B) ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของทหารและตำรวจกว่า 50 นาย หลัง “อพิโก้ (โคราช)” บริษัทรับสัมปทานเร่งขุดเจาะก๊าซในพื้นที่ตำบลกุงเก่า อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 13-26 มกราคม 2558 ซึ่งหลุมเจาะก๊าซอยู่ห่างจากบ้านนามูล-ดูนสาด ประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งชาวบ้านหวั่นเกิดผลกระทบในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับกระบวนการ EIA ไม่โปรงใส

พระสุวัฒน์ ปภัสโร พระลูกวัดภูน้ำป๊อก บ้านนามูล หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านเข้ายื่นหนังสือเพิ่มเติม กล่าวว่า ชาวบ้านนามูล ม.4 และ ม.7 ไม่เอาบ่อก๊าช เพราะเพียงแค่การสำรวจก่อนที่จะมีการเคลื่อนย้ายหัวเจาะเข้าในพื้นที่ก็พบปัญหาแล้ว เนื่องจากว่า โครงการดังกล่าวนี้ได้มีการเจาะสำรวจบ่อก๊าซบ่อแรกที่บ้านนาคำน้อย ต.หนองกุงเก่า อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ดินติดกันกับบ้านนามูล

การเจาะสำรวจที่บ้านนาคำน้อยนั้นมีการทดลองเผาระบายก๊าซจากหลุมสำรวจตลอด 24 ชั่วโมง ไอร้อนแผ่กระจายไปทั่วหนองน้ำสาธารณะ ที่เคยใช้ตลอดปีมานานก็แห้ง พืชผลทางการเกษตร ต้นยางก็ยืนต้นเฉาตาย น้ำยางพารามีสีดำ ปริมาณน้ำยางน้อยกว่าปกติ

“ปัญหาดังกล่าวกระทบต่อชาวบ้านมาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเป็นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูล-ดูนสาด ทำเรื่องยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา ให้มีการยุติการดำเนินการดังกล่าวจนกว่าจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนใหม่” พระสุวัฒน์กล่าว

ต่อมาเวลาประมาณ 14.00 น. วันเดียวกันนี้ ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังหลุมสำรวจปิโตรเลียมดงมูล 5 (DM-5) ต.กุงเก่า อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ พื้นที่คาบเกี่ยวอำเภอกระนวน จ.ขอนแก่น

จากการสอบถามชาวบ้านนามูล อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น เล่าว่า กระบวนการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ผลผลิตการเกษตร และสิ่งแวดล้อมโดยรอบชุมชน โดยเฉพาะขั้นตอนการเผาทดสอบปริมาณก๊าซที่มีการปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซไข่เน่า (H2S) หลังปี 2532 มีการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมของบริษัทเอสโซ่ ในพื้นที่ใกล้กับหลุมเจาะดงมูล บี ในปีนั้นผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย แหล่งน้ำใกล้กับแท่นขุดเจาะเมื่อนำมาใช้เกิดอาการผื่นคัน

เช่นเดียวกับปี 2556 มีการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมใกล้กับพื้นที่บ้านนาคำน้อย ตำบลหนองใหญ่ อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ ผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านนามูล ได้แก่ มะพร้าว ยางพาราได้รับความเสียหายด้วย

ทั้งนี้ ชาวบ้านนามูลหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 7 ส่วนใหญ่มีความเห็นให้มีการยุติโครงการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ

ด้านนางนิภา สุวรรณสุจริต นายอำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จากกรณีที่มีชาวบ้านนามูล อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ออกมาต่อต้านการขุดเจาะก๊าซในพื้นที่คาบเกี่ยวอำเภอกระนวนขอนแก่น เป็นเพราะประชาชนบางส่วนยังไม่เข้าใจและยังไม่พอใจต่อการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งในส่วนของอำเภอกระนวนจึงได้ขอร้องไปทางจังหวัดขอนแก่นและปกครองจังหวัดขอนแก่นให้ช่วยเหลือในการสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่

ขณะที่ทางบริษัทรับสัมปทานยืนยันดำเนินการต่อตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้พร้อมรับผิดชอบหากเกิดผลกระทบไม่ว่ากรณีใดก็ตาม

“ทั้งนี้ เรื่องการขุดเจาะก๊าซดังกล่าวนี้เริ่มขั้นตอนมาตั้งแต่ปี 2554 ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดมาแล้ว 3 ท่าน ทางจังหวัดเองจึงหาทางออกโดยจัดให้มีการประชุมเพื่อหารือปัญหาดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2558 ซึ่งทางฝ่ายผู้ต่อต้านก็ยังไม่พอใจ แม้ว่าที่ผ่านมาบริษัทรับสัมปทานเองจะผ่านมาหลายขั้นตอนจนได้รับอนุญาต ทั้งนี้ เบื้องหลังการต่อต้านมีอะไรทับซ้อนอยู่ซึ่งก็ยังไม่ทราบได้ แต่จะพยายามสร้างความเข้าใจในเรื่องที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านว่าการขุดเจาะก๊าซมีอันตรายรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินหรือไม่ โดยจะรับฟังและให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย” นายอำเภอกระนวนจังหวัดขอนแก่นกล่าว

จากรายงานแจ้งว่า ขณะนี้ทางศาลปกครองจังหวัดขอนแก่น ศาลยังไม่ชี้ขาดฝ่ายใดและตามที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่นได้ยื่นคำร้องให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวการขนย้ายอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมหลุมเจาะดงมูลบี (DM-B) ยังไม่เป็นผล










กำลังโหลดความคิดเห็น