ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เรียกว่าสู้กันมันส์หยดทุกยกทุกการขับเคลื่อนในการปฏิรูปพลังงานของชาติ ล่าสุดคือกรณีที่ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ประชุมพิจารณาเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ซึ่งสปช.สายพลังงาน ตัวแทนกลุ่มทุนเกือบทั้งชุดชงเรื่องขึ้นมาให้สปช.ชุดใหญ่พิจารณาและลงมติเห็นด้วยกับการเดินหน้าเปิดสัมปทานกันต่อไปนั้น กลับเกิดเหตุการณ์พลิกล็อกราวปาฏิหาริย์เมื่อเสียงส่วนใหญ่ลงมติไม่เอาด้วย
ถือเป็นจุดหักเหสำคัญที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องฟังแทนการดันทุรังอย่างที่แล้วๆ มา
นี่ไม่ใช่การมโนหรือคิดกันไปเองอย่างที่ สปช.ผู้มีส่วนได้เสียกับกลุ่มทุนพลังงานบางคนพยายามจะบอกเช่นนั้น แต่เป็นมติเสียงส่วนใหญ่ของ สปช.ที่พล.อ.ประยุทธ์ บอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่าใครมีอะไรให้มาพูดคุยกันในเวทีนี้แล้วตนเองจะฟังเพราะเป็นเวทีที่มีตัวแทนของทุกฝ่ายอยู่พร้อมหน้า
ขนาดลูกเสือยังถือสัจจะ “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์” นี่ผู้นำประเทศและเป็นนายทหารระดับพล.อ.ก็คงต้องรักษาสัจจะวาจาว่าจะฟังความรอบข้างอย่างที่เคยลั่นวาจาไว้ ยิ่งเป็นมติของสปช.ก็ต้องถือว่าเรื่องนี้ไม่ธรรมดา
ลอกคราบทุนพลังงานใน สปช.-รัฐบาล เปิด 79 รายชื่อสปช.หนุนเปิดสัมปทาน
อย่างไรก็ตาม เวลานี้ต้องติดตามดูว่ากลุ่มทุนพลังงานที่น่าเคลือบแคลงว่ามีอำนาจชักใยอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มาโดยตลอดนั้น จะสำแดงอิทธิฤทธิ์ให้การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 นี้เดินหน้าต่อไปอย่างไม่สะทกสะท้านได้อย่างไรหรือไม่ หลังจาก สปช.มีมติดังกล่าวออกมาแล้ว
เหตุที่ต้องติดตามดูท่าทีของกลุ่มทุนพลังงานและรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็เพราะจะว่าไปแล้วหลังจาก คสช.ขึ้นเถลิงอำนาจนับตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาจนขณะนี้ การดำเนินนโยบายด้านพลังงานไม่เคยสร้างความผิดหวังใดๆ ให้แก่กลุ่มทุนพลังงานไม่ว่าเรื่องไหนๆ และไม่มีเสียงคัดค้านท้วงติงใดๆ ที่จะทำให้มีการทบทวนตรวจสอบการแสวงหาผลประโยชน์ในกิจการพลังงานของประเทศเพื่อความร่ำรวยของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ดังเช่น การแต่งตั้งนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ขึ้นเป็นประธานบอร์ด ปตท. หรือว่าการแยกธุรกิจท่อก๊าซฯมาตั้งบริษัทใหม่ที่มีปตท.ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ ถือโอกาสฮุบเอาท่อก๊าซฯในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติไปเป็นของบริษัทอย่างชอบธรรม การปรับราคาก๊าซแอลพีจีตามตลาดโลกที่กลุ่ม ปตท.เรียกร้องมานาน รวมทั้งการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ที่ใส่เกียร์เดินหน้าทั้งที่มีเสียงท้วงติงรอบทิศทาง
ทุกเรื่องที่กล่าวถึงนั้นที่ผ่านมาจะเห็นการต่อสู้ของฝ่ายกลุ่มทุนกับภาคประชาชนชัดเจน และไม่ว่าเรื่องใดท้ายที่สุดรัฐบาล คสช.ก็คล้อยตามกลุ่มทุนและนอมินีซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงที่อยู่ตามกระทรวงทบวงกรมที่ถ่างขานั่งเป็นกรรมการบริษัทในเครือกลุ่มทุนรับเบี้ยประชุม โบนัส ผลประโยชน์ต่างๆ กันอย่างเพลิดเพลินทั้งสิ้น
อีกทั้งท่าทีของกระทรวงพลังงานเวลานี้ก็ชัดเจนเหลือเกิน เหมือนจะบอกว่าไม่มีอะไรจะมาขวางได้สำหรับการเปิดสัมปทานรอบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น สปช. หรือใครหน้าไหน เพราะกระทรวงพลังงานยังยืนยันจะเดินหน้าตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลงอย่างที่นายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงาน รายงานเรื่องผลการลงมติของสปช.ให้นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.กระทรวงพลังงานแล้ว นายณรงค์ชัย ยังยืนยันจะไปต่อ และตอนนี้มีผู้สนใจเข้ารับสัมปทานทั้งรายเก่าและใหม่นับสิบรายโดยจะปิดรับข้อเสนอในวันที่ 18 ก.พ.2558 นี้เช่นเดิม ไม่สะดุ้งสะเทือนสะทกสะท้านอะไรทั้งสิ้น แม้แต่การสงวนท่าทีด้วยการขอรอฟังนโยบายจากคณะรัฐมนตรีเสียก่อนก็ไม่มีแม้แต่น้อย โดยนายณรงค์ชัย อ้างว่าหากนโยบายเปลี่ยนแปลงจะทำให้นานาชาติไม่เชื่อถือกระทบต่อความเชื่อมั่นได้
ก็ให้รู้กันไปว่ามติของสปช.จะเป็นเพียงเสียงนกเสียงกา และถ้าเป็นเช่นนั้น รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะเอาเหตุผลอะไรไปตอบคำถามของสังคม
แต่ที่เห็นชัดเจนและเห็นแน่แท้สำหรับสปช.ที่ชูจักกะแร้หนุนให้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมต่อไปตามข้อเสนอของ สปช.สายพลังงานนั้น เปิดรายชื่อกันออกมาก็จะเห็นว่าเป็นคนกันเองกับกลุ่มทุนพลังงานทั้งนั้น และรายชื่อสปช.เหล่านี้คงต้องแปะเอาไว้ข้างฝาเผื่อวันข้างหน้าคนเหล่านี้เสนอหน้าออกมาสร้างภาพเป็นคนดีรักษาประโยชน์ของประเทศชาติ จะได้รู้ถึงความตลบตะแลงหรือพูดอย่างทำอย่าง
สำหรับรายชื่อบิ๊กเนมที่ลงชื่อหนุนการเปิดสัมปทานฯ เช่น นายเกริกไกร จีระแพทย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์และ รมว.พาณิชย์สมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์, นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ผู้บริหารกลุ่มเบียร์สิงห์ และบิดา น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร หรือ ตั๊น แกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.), นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง แนวร่วม กปปส.,นายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชและที่ปรึกษาฝ่ายสังคมจิตวิทยา ในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด ผู้บริหารสื่อในกลุ่มเดลินิวส์,
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน, นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีต ส.ว.กรุงเทพ และอธิบดีกรมชลประทาน, นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินของประเทศไทย อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, นายมนู เลียวไพโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, พลเอก วิชิต ยาทิพย์ คนสนิท พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นต้น ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า นายชัย ชิดชอบ อดีต ส.ส.พรรคภูมิใจไทย บิดานายเนวิน ชิดชอบ และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรกลับลงมติไม่เห็นด้วย
กล่าวสำหรับรายชื่อข้างต้น อย่างนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นชื่อที่บอกได้เลยว่า โปรดอย่าแปลกใจ เพราะบริษัทว็อชด็อก ของนายเจิมศักดิ์ หนึ่งในแนวร่วม กปปส.คนนี้ ก็มีกลุ่มปตท.เป็นสปอนเซอร์อย่างเสมอต้นเสมอปลาย และเขาก็เคยฝากฝีไม้ลายมือให้กลุ่มทุนพลังงานโดยเฉพาะกลุ่มปตท.ประทับใจมาแล้วตั้งแต่คราวที่จัดเวทีปฏิรูปพลังงานนัดแรกๆ ในงานสานพลังสู่การปฏิรูปของ กปปส. ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2557 ก่อนหน้าที่คสช.จะยึดอำนาจและมีดำริตั้งสปช.เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา
คราวนั้น เขาก็ปลื้มและเชียร์นายปิยสวัสดิ์ ชัดเจนว่าถ้าเรื่องพลังงานต้องฟังนายปิยสวัสดิ์ คราวนี้มาฟังดูว่า สปช.อดีตแนวร่วม กปปส. คนนี้ให้เหตุผลว่าอย่างไรก่อนที่จะลงมติหนุนเดินหน้าสัมปทานฯ
"คือเราให้คณะกรรมาธิการฯ (ปฏิรูปพลังงาน) เขาไปศึกษา ส่วนกรรมาธิการการมีส่วนร่วมไปฟังความเห็นประชาชน ซึ่งความเห็นของประชาชนมีมาอย่างไร เราส่งไปผมเห็นด้วย แต่จะมาบอกว่าเราเห็นด้วยกับความเห็นของประชาชนไม่ได้ เพราะว่าความเห็นของประชาชนเป็นความรู้สึก เป็นสิ่งที่ไม่ได้มาบอกเราว่าทำไมจึงเห็นเช่นนั้น มีข้อมูลมาให้ดูว่า เขาเห็นอย่างนั้นเนี่ยเราเห็นด้วยกับเขาหรือไม่ ไม่ใช่ว่าประชาชนพูดอะไรมามันก็ถูกหมดมันก็ไม่ใช่อีก
"แต่ว่าเราไปให้กรรมาธิการชุดนี้เขาไปศึกษา และเขาก็ศึกษามาและมีข้อเสนออยู่ 2 ข้อ ข้อหนึ่ง เขาบอกว่าให้เปิดสัมปทานรอบที่ 21 ในระบบสัมปทาน เราเห็นด้วยกับเขาหรือไม่ ถ้าเราเห็นด้วยก็ลงมติเห็นด้วย ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่เห็นด้วย และข้อสอง เขาบอกว่าให้กระทรวงพลังงานดำเนินการศึกษาและเตรียมระบบโปรดักชัน แชริง คอนแทร็ก (Production Sharing Contract; PSC) เราเห็นด้วยหรือไม่ ก็เป็นอย่างนั้น แต่จะเอารายงานของกรรมาธิการฯ ไปเห็นด้วยกับรายงานของกรรมาธิการฯ หรือเห็นด้วยกับไปฟังประชาชนมา ผมว่ามันเทียบกันไม่ได้ มันเทียบกัน 2 ตัวเนี่ยจะให้ผมไปโหวตอย่างไรละครับ
"ผมเห็นด้วยที่ประชาชนส่งเสียงมาและก็ส่งไป แต่ผมอยากจะโหวตว่าผมจะเห็นด้วยกับกรรมาธิการฯ มั้ย หรือจะไม่เห็นด้วยก็ได้ ผมว่าอย่างนั้นดีกว่าไหมครับ เขาเสนอมา 2 ข้อ ก็โหวต 2 ข้อ ถ้าใครคิดว่าไม่เห็นด้วยกับระบบสัมปทานก็โหวตไม่เห็นด้วย ก็เท่ากับชะลอเราก็เห็นว่ายังไม่เห็นด้วย ส่วนการตัดสินใจก็อยู่ที่รัฐบาล ใช่ไหมครับ"
สัมปทานปิโตรเลียม เป็นผลประโยชน์ของกลุ่มปตท. และ สปอนเซอร์จาก ปตท.ก็เป็นผลประโยชน์ของบริษัทว็อชด็อก โดยเฉพาะในรายการสารคดีรู้ค่าพลังงาน ที่มีนายเจิมศักดิ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งรายการนี้หัวใจสำคัญอยู่ที่มีบมจ.ปตท.เป็นผู้สนับสนุนลงโฆษณาอย่างเป็นทางการ
และที่สำคัญการลงโฆษณาในรายการกลับไม่จำกัดอยู่แค่การซื้อพื้นที่โฆษณาเหมือนสื่อทั่วไป แต่เป็นลักษณะก้าวไกลไปว่านั้นด้วยเนื้อหาในรายการที่มุ่งเน้นสร้างภาพลักษณ์ให้กับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ดังนั้นแล้ว การตั้งคำถามถึงนายเจิมศักดิ์ จึงต้องเกิดขึ้นในฐานะที่มีผลประโยชน์บางอย่างเกี่ยวกับกลุ่มทุนพลังงานยักษ์ใหญ่ที่มีมาอย่างยาวนานหรือไม่
อีกคนที่ต้องเอ่ยถึงก็คือ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ในฐานะสมาชิก สปช. ซึ่งหลังจากลงมติหนุนแล้ว ยังไปชี้แจงในระหว่างการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ร่วมกับนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า มติของ สปช.ไม่ถึงขนาดตีตกทั้งหมด เพียงแต่เป็นการท้วงติงในเรื่องวิธีการเท่านั้น หากมีการปรับวิธีการคาดว่าจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ฟังความเห็นของประธาน คตช. แล้วก็ให้นึกถึงอนาคตของการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และนี่คงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนความคิดอ่านของตัวแทนกลุ่มทุนที่เข้ามาสร้างภาพต้านคอร์รัปชั่นได้อย่างดีทีเดียว
หมัดต่อหมัดทุนพลังงาน VS ภาคประชาชน
กล่าวสำหรับรายงานเรื่อง “การเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21” ที่นายทองฉัตร หงส์ลดารมย์ ประธาน สปช. สายพลังงาน ได้รายงานผลการศึกษาต่อที่ประชุมสปช.ที่มีนายเทียนฉาย กีระนันท์ เป็นประธาน ระบุว่า จากที่ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกิจารพลังงานทั่วประเทศ มาให้ความเห็น ประเด็นหลักที่นำมาพิจารณา คือ
1. ผลที่คาดว่าจะได้จากการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตามแผน 2.การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เป็นการดำเนินการที่เร่งรีบเกินไปหรือไม่ และ 3.ผลกระทบหากจะยกเลิกการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อรอให้มีการศึกษาและเตรียมพร้อมของระบบ แบ่งปันผลประโยชน์ก่อน แล้วจึงนำมาใช้ในการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยตามระบบสัมปทานที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ผลการพิจารณาสรุปได้ทางเลือก 3 แนวทาง คือ 1. ให้กระทรวงพลังงานดำเนินการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตามระบบ ไทยแลนด์ทรี พลัส ตามแผนงานที่มีในปัจจุบัน 2. ยกเลิกระบบในการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 และนำระบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้ (PSC) และ 3. ให้ดำเนินการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ระบบตามแผนงานปัจจุบัน และให้กระทรวงพลังงานศึกษาเตรีมการให้มีระบบแบ่งปันผลผลิตที่เหมาะสมกับศักยภาพการปิโตรเลียมให้พร้อมไว้ เพื่อเป็นทางเลือกให้รัฐบาลตัดสินใจในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งต่อๆ ไป โดยคณะกรรมาธิการ พิจารณาแล้ว เห็นพ้องต้องกัน โดยเสนอทางเลือกที่ 3 ต่อสภาเพื่อพิจารณาก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ขณะที่นายประชา เตรัตน์ สปช. ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมขององค์กรที่สำคัญ ได้รายงานผลการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายต่างๆ ทางสังคมว่าประชาชนจากทุกภาคไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21เพราะสร้างผลกระทบสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การเกษตร ไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ขาดการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพอนามัย รวมทั้งบริษัทที่ขุดเจาะเป็นของต่างชาติจึงไม่เข้าใจสภาพวิถีชีวิต ชุมชนท้องถิ่น เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนโดยไม่มีผู้รับผิดชอบ อย่างเช่น ที่อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ พบว่ามีการลากสาย และวางระเบิดกว่า 13,000 ลูก ทำให้เกิดก๊าซไข่เน่า ประชาชนเจ็บป่วยด้านระบบประสาท ทางเดินหายใจ บางพื้นที่น้ำจากบ่อบาดาลไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้
เสียงของประชาชนส่วนใหญ่เห็นควรให้ชะลอการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 แยกการสำรวจ และการผลิตออกจากรัฐ โดยรัฐอาจเป็นผู้ทำการสำรวจเสียก่อน และให้รัฐใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิต มากกว่าจะใช้ระบบสัมปทาน เหมือนกับทุกประเทศในเออีซี เพราะจะสร้างความมั่นคงทางพลังงานได้มากกว่า และมีการกำหนดให้ทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นสมบัติของแผ่นดินและชาวไทย แก้ไข พ.ร.บ. ปิโตรเลียม ปี 2514
ส่วนเสียงท้วงติงจากขาประจำเจ้าเก่าที่เชื่อว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ สปช. มีมติออกมาชนิดพลิกล็อกจากความคาดหมาย ก็คือการอภิปรายของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช. ในฐานะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างน้อย ซึ่งกล่าวในที่ประชุมสปช.ว่า การเปิดสัมปทานรอบ 21 จะผูกพันประเทศไปอย่างน้อย 29 ปี เนื่องจากการสำรวจมีระยะเวลา 9ปี บวกระยะเวลาผลิตอีก 20 ปี และสามารถต่อได้อีก 10 ปี
อย่าลืมว่าตามกฎหมาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 กำหนดว่าเมื่อให้สัมปทาน เอกชนจะได้เป็นเจ้าของปิโตรเลียมทั้งหมด โดยเอกชนจ่ายค่าตอบแทนรัฐ เป็นค่าภาคหลวง ภาษี และอาจมีผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ เช่น โบนัส แต่ปัญหาคือในระบบสัมปทานอุปกรณ์การผลิตทั้งหลายเป็นของเอกชน เมื่อรัฐให้สัมปทานไป 29 ปี สมมติว่าอีก 10 ปี ที่เหลือ จะเปลี่ยนแปลงก็ทำได้ยาก เพราะอุปกรณ์เป็นของเอกชนหมด และถ้าจะให้รายใหม่เข้ามาทำก็ไม่คุ้ม
อีกประเด็นใหญ่คือ 29 แปลงในสัมปทานรอบ 21 ครอบคลุมพื้นที่บนบกในภาคอีสาน 16 จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาในการให้สัมปทานรอบที่ 19 และ 20 ก็กินพื้นที่เกือบทั้งหมดของภาคอีสาน ประชาชนได้รับผลกระทบมากแต่กลับไม่ได้รับการเยียวยา มีการฟ้องร้องกันอยู่ในศาลปกครอง ดังนั้น ถ้าเปิดสัมปทานรอบ 21 การขุดเจาะสำรวจก็จะเต็มพื้นที่ในภาคอีสาน การละเมิดสิทธิที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพประชาชนก็จะทวีความรุนแรงขึ้นแล้วก็จะเกิดความวุ่นวาย
ส่วนการอ้างว่าหากมีการเปลี่ยนจากระบบการให้สัมปทานมาเป็นระบบการแบ่งปันผลผลิต จะทำให้เสียเวลากระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานนั้น น.ส.รสนา เห็นว่า หากจะเปลี่ยนแปลงก็ทำได้ไม่หยุดชะงัก โดยรัฐอาจเลือกแปลงสำรวจขุดเจาะไปก่อน หากว่าแปลงไหนมีประสิทธิภาพก็สามารถเปิดเป็นแบบแบ่งปันผลผลิต โดยการแบ่งส่วนผลประโยชน์รัฐกับเอกชน ก็ให้ทำแบบขั้นบันได ขณะเดียวกันก็ดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 เพื่อยกเลิกระบบสัมปทานแล้วมาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปอย่างแท้จริง
“กระบวนการที่จะปฏิรูปในขณะนี้เราต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน ถ้าเราบอกว่าให้เปิดสัมปทานรอบนี้ไปก่อน ก็เห็นว่าอนาคตมันไม่เหลืออะไรให้เราปฏิรูปพลังงานอีกแล้ว และถ้าเราเปิดโดยไม่ดูเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน เท่ากับเราทอดทิ้งประชาชน” น.ส.รสนา กล่าวทิ้งทวนก่อนที่สปช.จะลงมติในเย็นวันเดียวกัน
นั่นก็คือผลการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2558 ในญัตติขอให้ที่ประชุมลงมติเห็นชอบกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปเสียงข้างมาก เรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และรายงานเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21และแนวทางการบริหารจัดการพลังงานปิโตรเลียมอย่างยั่งยืน โดยมี น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม มีการลงมติเมื่อเวลา 19.32น. จากจำนวนผู้เข้าประชุม 230 คน มีผู้แสดงความไม่เห็นด้วย 130 คน งดออกเสียง 21 คน และเห็นด้วย 79 คน
ส่งสัญญาณไม่แยแสมติ สปช.
พลิกความคาดหมายกันขนาดนี้ แม้แต่มือกฎหมายชั้นครูอย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลยังอึ้งกิมกี่ชนิดไปไม่เป็น ต้องขอตั้งหลักก่อนเมื่อถูกถามว่าจะชะลอหรือทบทวนหรือเดินหน้ากันต่อไปหรือไม่
“โดยมารยาทรัฐบาลควรจะให้เกียรติ รับฟังข้อเสนอของ สปช. ทำได้ก็ทำ ทำได้บางส่วนก็ทำบางส่วน หรือจะไม่ทำตามก็ต้องชี้แจงกลับไปว่า ขอบคุณสำหรับคำแนะนำ แต่ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้เพราะอะไร และเปิดเผยให้สาธารณชนรู้ด้วย อันนี้เป็นการพูดตามกฎหมาย ไม่ใช่จะไปต่อล้อต่อเถียงกับ สปช.”
นี่เท่ากับว่านายวิษณุเองก็ไม่กล้าหักมติสปช.แหกโค้งเร่งสัมปทานฯต่อเหมือนอย่างท่าทีของกระทรวงพลังงาน และหลังจากนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขาธิการ สปช. จะส่งมติดังกล่าวไปให้พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมกับข้อมูลต่างๆ คือ รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน รายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมขององค์กรที่สำคัญ ที่ได้รายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและเครือข่ายต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 รวมถึงจุดยืนของสมาชิกที่ไม่เห็นด้วยให้มีการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ไปพร้อมๆ กัน ทั้งจุดยืนของ สปช. เสียงข้างมากที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทาน
นายอลงกรณ์ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุม สปช. เสียงข้างมากมีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวสองแนวทาง คือ 1. เห็นควรให้มีการชะลอการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 แล้วนำระบบการแบ่งปันผลผลิต มาใช้แทนระบบสัมปทาน 2. ให้รัฐใช้ระบบผสม โดยในแปลงที่มีศักยภาพด้านพลังงานสูง ให้รัฐใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิต ส่วนในแปลงที่มีศักยภาพพลังงานต่ำก็ให้รัฐใช้ระบบสัมปทาน
หลังจากนี้ ก็ขึ้นกับพล.อ.ประยุทธ์ และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป จะเดินหน้าเปิดสัมปทานต่อโดยไม่สน สปช. หรือจะมีการทบทวนกันใหม่
แต่เมื่อเห็นคำให้สัมภาษณ์ของ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรณะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เปิดเผยถึงการหารือกับสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2558 ก็พอจะเห็นชัดเจนว่า สุดท้ายเป็นอย่างไร
นายสุวพันธุ์ตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่า เรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งทางรัฐบาลเห็นว่าการดำเนินการต่างๆ ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ประเด็นในการปฏิรูป และการบริหารราชการแผ่นดินตามปกติ และที่ต้องแยกออกจากกัน เนื่องจากการบริหารราชการแผ่นดิน มีการพิจารณาและวิเคราะห์อย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการดำเนินการประเด็นนี้มาเป็นอย่างดี หากจะเกิดผลดีหรือผลเสีย ในฐานะรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบต่อการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแน่นอน
หรือว่าท่าทีของนายณรงค์ชัย นั้น คือคำตอบที่ชัดเจนแล้ว
และถ้าเป็นเช่นนั้น การตั้ง สปช.ก็เป็นเพียงพิธีกรรมอำพรางเพื่อสร้างสภาพให้รัฐบาลและ คสช.ดูดี
และถ้าเป็นเช่นนั้น ก็อย่าหวังว่า จะเกิดการปฏิรูปใดๆ เกิดขึ้นในประเทศไทย
เอวัง....