xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ธมฺมชโย” ปาราชิกนะจ๊ะ คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ “มส.-นายกฯลุงตู่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ใครๆ ก็รู้ว่า “วัดพระธรรมกาย” ที่มี พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เป็นเจ้าอาวาสนั้น “ใหญ่” เพียงใด ทั้งๆ ที่มีแนวทางการเผยแผ่ที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักธรรมขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะไม่เคยมีองค์กรทางพุทธศาสนาองค์กรไหนในประเทศไทยสามารถจัดการให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมได้

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวของ ธมฺมชโย ซึ่งเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุตามพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

พระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆ ปริณายก ลงวันที่ 26 เมษายน 2542 ระบุไว้ชัดเจนว่า ต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ ด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสียให้เกิดแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา” และพระลิขิตเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2542 ก็ระบุไว้ด้วยว่า “ต้องมอบสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดทันที”

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ณ ขณะนี้สถานะความเป็นพระของธมฺมชโย กำลังถูกรื้อกลับคืนมาบนโต๊ะอีกครั้งหลังถูกซุกเอาไว้ใต้โต๊ะแบบเอาหูไปนาเอาตาไปไร่มาเป็นเวลานาน เมื่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการการศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งมี นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน ที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้เชิญผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมาชี้แจง ประกอบหลักฐานต่างๆ จำนวนมาก และในที่สุดก็ชี้ว่า ธมฺมชโย เป็นปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุตามพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องบังคับการให้เป็นไปตามมติมหาเถรสมาคม

เรื่องนี้ถูกเปิดเผยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 178 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา โดยนายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผ่านการโพสต์เฟซบุ๊ก www.facebook.com/Paisal.Fanpage

เนื้อหาที่นายไพศาลนำมาเปิดเผยก็คือ “พระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ดังกล่าวได้นำเข้าสู่การพิจารณาของมหาเถรสมาคมสองครั้ง และมหาเถรสมาคมมีมติครั้งที่ 191/2542 และครั้งที่ 193/2542 ว่า ให้ดำเนินการรับโอนที่ดินเป็นของวัดพระธรรมกาย ส่วนกรณีอื่นๆ (หมายถึงกรณีต้องปฏิบัติในการเป็นปาราชิก) ให้กรมการศาสนาร่วมกับเจ้าคณะภาค 1 ติดตามเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป และในมติที่ 193/2542 ก็มีมติชัดเจนว่ามหาเถรสมาคมมีมติรับทราบพระดำริที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานมาทั้งหมด และ “มหาเถรสมาคมมีมติสนองพระดำริมาโดยตลอด ให้ชอบด้วยกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม” และส่งเรื่องให้ฝ่ายสังฆการดำเนินการตามมติมหาเถรสมาคมต่อไป

“หลังมหาเถรสมาคมมีมติแล้วได้มีการดำเนินการรับโอนที่ดินเป็นของวัดเรียบร้อยแล้ว แต่มติที่ให้ดำเนินการตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในกรณีที่ธัมมชโยเป็นปาราชิก ซึ่งต้อง “พ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ” นั้น ยังไม่ได้มีการปฏิบัติจนกระทั่งบัดนี้ ซึ่งในที่ประชุมผู้แทนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

“คณะกรรมาธิการหลายท่านมีความเห็นว่า จะต้องให้รัฐบาลซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบบังคับการให้เป็นไปตามมติมหาเถรสมาคมที่มีมติรับรองพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และให้ดำเนินการตามพระลิขิตนั้นให้สำเร็จ”

พลันที่ข้อมูลปรากฏ ยุทธจักรดงขมิ้นก็ร้อนฉ่าขึ้นมาในทันที

ร้อนก็เพราะมีความชัดเจนว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถบังคับให้วัดพระธรรมกายและธมฺมชโยเป็นไปตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกได้

ร้อนก็เพราะผู้แทนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ร้อนก็เพราะคณะกรรมาธิการมีความเห็นว่าจะต้องให้ “รัฐบาล” เข้ามาจัดการเรื่องนี้ให้ถูกต้อง

และร้อนก็เพราะคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. ประกาศชัดเจนว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อไป

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. เปิดเผยผ่านรายการ “ตอบโจทย์” ทางสถานีโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมาว่า กรณีวัดพระธรรมกายเป็นเรื่องข้องใจของสังคมอย่างยิ่ง ว่าทำไมกลไกต่าง ๆ ที่คุ้มครองพิทักษ์พระพุทธศาสนาถึงไม่ทำงาน ทั้งที่มีเรื่องกระทำผิดร้ายแรง อาบัติถึงขั้นปาราชิก ทั้งที่มีพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชว่าต้องปาราชิก 2 ประการ คือ เรื่องบิดเบือนคำสอน ทำให้สงฆ์แตกแยก และเรื่องเอาทรัพย์สินที่คนจะให้วัดโอนเป็นชื่อของตัวเอง ซึ่งวันแรกที่โอนก็ปาราชิกแล้ว โดยสมเด็จพระสังฆราชมีพระลิขิตเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2542 มหาเถรสมาคมก็ประชุมในวันเดียวกัน แต่ออกมติเลี่ยงว่าเป็นเรื่องการจัดการของวัดต่าง ๆ เพราะพระลิขิตไม่ได้ระบุชัดว่า ธมฺมชโย วัดพระธรรมกาย สมเด็จพระสังฆราชจึงมีพระลิขิตอีกฉบับ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2542 คราวนี้ระบุเลยว่าเป็นวัดพระธรรมกาย

หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรเพิ่มเติม สมเด็จพระสังฆราชเลยมีพระลิขิตอีกฉบับอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2542 ทั้งหมด 3 ฉบับ เพื่อยืนยันว่าเกี่ยวกับธมฺมชโย มหาเถรสมาคมจึงมีการประชุมวันที่ 10 พ.ค. โดยเอาพระลิขิต 3 ฉบับเข้าที่ประชุม โดยรับทราบพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช และมีมติให้มีผลตามกฎหมาย ซึ่งหลังจากนั้นได้ดำเนินการเฉพาะเรื่องโอนที่ดินคืนวัด ส่วนเรื่องปาราชิกไม่ดำเนินการ จึงเป็นเรื่องที่สังคมข้องใจมาโดยตลอด

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า การไม่ดำเนินการในปี 2542 ทำให้เกิดเหตุขึ้นอีกในปัจจุบัน จากกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่ประธานกรรมการสหกรณ์ฯ(นายศุภชัย ศรีศุภอักษร) ยักยอกเอาเงินของสมาชิกบริจาคผ่านเช็คของสหกรณ์ฯ ให้แก่วัดพระธรรมกาย 819 ล้านบาท ซึ่งอันนี้ก็เข้าข่ายปาราชิกเช่นกัน ความผิดสำเร็จตั้งแต่ตอนทำผิด พ้นจากการเป็นพระโดยอัตโนมัติ ไม่สามารถกลับคืนมาได้ คืนทรัพย์ก็ไม่พ้นการปาราชิก

ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการฯ จะยึดเอากรณีพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชเป็นหลัก ถ้าทางวัดพระธรรมกายอ้างว่าเป็นพระลิขิตปลอม ตนขอชี้แจงว่าพระลิขิตมีทั้งหมด 5 ฉบับ โดย 2 ฉบับแรกไม่เป็นทางการ แต่ 3 ฉบับหลัง รับรองโดยที่ประชุมของมหาเถรสมาคม มีมติว่านำพระลิขิตทั้ง 3 ฉบับเข้าที่ประชุมพิจารณา เท่ากับรับรองสมบูรณ์แล้ว ไม่ต้องสงสัยใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งต้องบังคับให้เป็นไปตามที่มติที่ประชุมมหาเถรสมาคม แต่กลับไม่มีการดำเนินการ แถมมีการพูดว่าคืนสมบัติแล้ว ไม่น่าปาราชิกแล้ว

นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการขั้นต่อไป ทั้งหมดต้องกลับที่มหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของสงฆ์ ในเมื่อออกมติแล้วแต่ไม่เกิดผล ก็ต้องมาติดตามด้วย ซึ่งถ้าติดตามจริงคงไม่ปล่อยมาขนาดนี้ แต่ในฐานะที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาเยอะเราคงต้องทำเรื่องนี้ส่งกลับไปยังมหาเถรสมาคม และทำสำเนาส่งไปยังรัฐบาล หรือนายกฯ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของการปฏิรูป เพราะถ้าปล่อยไว้ เรื่องอื่นที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาก็ไม่สามารถปฏิรูปได้เช่นกัน

หรือหากมหาเถรสมาคมไม่รับเรื่อง ก็ต้องตอบคำถามให้ได้ แล้วช่วงเวลานี้ต่างจากเมื่อก่อน ตอนนี้ประชาชนทนไม่ได้แล้ว ต้องการให้ปฏิรูป ประชาชนตั้งคำถามว่าเรื่องเกิดจากมหาเถรสมาคมหรือไม่ เรื่องนี้จะพิสูจน์ ถ้ามหาเถรสมาคมไม่ทำอะไร ก็ต้องทบทวน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505

ด้านนายสันติสุข โสภณสิริ กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิเสฐียรโกเศศ - นาคะประทีป ที่ได้ออกรายการเดียวกันกล่าวเสริมว่า ตามกฎของสงฆ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 รศ.121 เรื่องปาราชิก ความจริงแล้วโทษหนักถึงประหารชีวิต แล้วเมื่อพระเก็บงำของเยอะขนาดนี้ ต้องบอกเจ้าคณะว่าเอามาทำไม เป็นของใคร และที่สำคัญคือการบิดเบือนคำสอน อันนี้เป็นอนันตริยกรรม ทำสังคมแตก เกิดสังฆเภท หนักยิ่งกว่าโลกวัชชะ เช่นพวกกินเหล้ายังต้องสึก ส่วนเรื่องการคืนทรัพย์ต้องคืนตามระยะเวลาที่กำหนดในพระวินัย เช่น พระมีบาตรได้ไม่เกิน 1 ใบ หากมีคนมาถวายเพิ่ม จะสามารถลูบคลำได้ไม่เกิน 10 วัน หากไม่คืนจะอาบัติร้ายแรง แล้วที่ดินกอดไว้นานเท่าไหร่ แล้วนี่โอนเป็นชื่อตัวเองด้วย

ดังนั้น จึงขอเตือนไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายด้วยว่าการรู้เห็นเป็นใจ ช่วยหมกเม็ด ตามกฎของสงฆ์เท่ากับมีความผิดด้วยเช่นกัน โทษในอดีตคือ ถูกจับสึก เฆี่ยน และสักหน้า แล้วยิ่งกรณีพระธรรมกายไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย เป็นความผิดที่เห็นชัดเจน

ต่อมานายไพบูลย์ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า จากกรณีศึกษาจากวัดพระธรรมกายทำให้ทางคณะกรรมการได้เสนอกลไกการแก้ปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต 3 ประการ ต้องปฏิรูปศาสนาให้กลับไปยึดตามธรรมวินัย หรือพุทธบัญญัติ โดย 1. ดูเรื่องเงินของพระ กับเงินของวัด ต้องกำหนดให้เกิดความชัดเจนว่าครอบครองได้หรือไม่ ต้องเปิดเผยให้ตรวจสอบได้หรือไม่ 2. มีองค์กรมาตีความพุทธบัญญัติให้ชัดเจนคล้ายศาลรัฐธรรมนูญ แทนมหาเถรสมาคม ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่ทั้งบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการในองค์กรเดียว และ 3. ให้มีการส่งเสริมให้วัดทั่วประเทศต้องให้มีส่วนร่วมจากประชาชน ไม่ใช่อำนาจบริหารอยู่ที่เจ้าอาวาสเพียงรูปเดียว โดยคณะสงฆ์ต้องดูแลวัดและกิจกรรมของสงฆ์ร่วมกัน

“เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการไปยุบวัดพระธรรมกาย เพราะเป็นวัดที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพียงแต่จะต้องเปลี่ยนแปลงคำสอนให้ถูกต้องตามแนวพุทธบัญญัติ และพุทธศาสนิกชนที่ไปศึกษาในวัดพระธรรมกายจะได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องตามธรรมวินัย” นายไพบูลย์อธิบาย

กระนั้นก็ดี ดูเหมือนว่าทางวัดพระธรรมกายจะไม่ยอมรับข้อกล่าวหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้แต่อย่างใด

พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวโส ผู้อำนวยสารสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ได้ออกจดหมายชี้แจงผ่านทางเว็บไซต์ของทางวัดเอาไว้ว่า “จากกรณีข่าวที่ปรากฏในสื่อต่างๆ วัดพระธรรมกายขอยืนยันว่า ข้อกล่าวหาต่างๆ ยุติแล้ว จึงเจริญพรมาเพื่อทราบและโปรยเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สาธารณชนด้วย”

ด้านสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวจะมีการหารือในที่ประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) ซึ่งจะมีการพิจารณากันอีกครั้ง

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือมหาเถรสมาคม(มส.) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ในยุคที่มีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เป็นหัวเรือใหญ่ ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จะทำอย่างไร จะดำเนินการตามพระลิขิตหรือไม่

แต่คำถามที่สำคัญที่สุดคือ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

“สื่อก็มาถามให้ผมเร่งไปถามเรื่องนั้นเรื่องนี้ เร่งกันเข้ามา สุมไฟกันเข้าไปทุกๆ เรื่องปัญหาเต็มไปหมด ไปถามรัฐบาลก่อนหน้าผมบ้างว่าทำไมถึงไม่ทำ มติที่ออกมาตั้งแต่เมื่อไร ตั้งแต่ปี 2542 ใช่หรือไม่ เป็นรัฐบาลชุดไหน ไปถามดูว่าทำไมถึงไม่ทำ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยรับเรื่องมาทั้งหมดเดี๋ยวก็คงค่อยดำเนินการไปทีละขั้นตอน”พล.อ.ประยุทธ์แสดงท่าทีเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ ถ้าจะว่าไปแล้ว เรื่องของวัดพระธรรมกายและธมฺมชโยก็มิได้แตกต่างจากกรณีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เท่าใดนัก เพราะเป็นความเห็นที่ออกมาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ แม้จะยังไม่ใช่เป็นมติแต่ก็เป็นความเห็นของคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช.เช่นเดียวกัน

นี่คือบทพิสูจน์ที่มีต่อ คสช.ในการปฏิรูปศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนาซึ่งเป็น 3 สถาบันหลักของชาติเคียงข้างกับสถาบันชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์  
 

ล้อมกรอบ//

ย้อนคดี “ธรรมกาย- ธมฺมชโย”

กล่าวสำหรับคดีความของพระธมฺมชโยนั้น ต้นตอเกิดขึ้นเมื่อปี 2541 พระอดิศักดิ์ วิริสโก อดีตพระลูกวัดพระธรรมกาย กล่าวหาพระธมฺมชโยว่า ยักยอกเงินและที่ดินที่บรรดาญาติโยมบริจาคให้วัด และมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ใกล้ชิดสีกา และอวดอุตริมนุสธรรม ต่อมา กรมที่ดินได้สำรวจพบ พระธมฺมชโยมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินและบริษัทที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายกว่า 400 แปลง เนื้อที่กว่า 2 พันไร่ ใน จังหวัดพิจิตร และเชียงใหม่

มหาเถรสมาคมจึงมอบหมายให้ พระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ซึ่งเป็นเจ้าคณะภาค 1 ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งมีข้อสรุปว่า เป็นจริงตามที่ถูกกล่าวหา มหาเถรสมาคม จึงมีมติให้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของเจ้าคณะภาค 1 คือ ให้ปรับปรุงคำสอนของวัดพระธรรมกายว่า นิพพานเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา และยุติการเรี่ยไรเงินนอกวัด และสมเด็จพระสังฆราชฯ สกลมหาสังฆปรินายก ได้มีพระลิขิตให้คืนที่ดินและทรัพย์สินขณะเป็นพระให้วัดพระธรรมกาย แต่ พระธมฺมชโยไม่ยอม กรมการศาสนาจึงได้เข้าแจ้งความต่อกองปราบปราม กล่าวโทษในคดีอาญา ม.137 ,147 และ 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังยักยอกทรัพย์และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ข้อหาที่พระธมฺมชโยถูกฟ้องก็คือ เป็นเจ้าพนักงานและสนับสนุนเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยร่วมกันยักยอกทรัพย์และเงินบริจาคของวัดพระธรรมกาย จำนวน 6.8 ล้านบาท ไปซื้อที่ดินเขาพนมพา ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร โดยโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อนายถาวร จำเลยที่ 2 และนำเงินอีกเกือบ 30 ล้านไปซื้อที่ดินกว่า 900 ไร่ ใน ต.หนองพระ (จ.พิจิตร) และที่ ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ โดยโอนกรรมสิทธิ์ให้นายถาวร พรหมถาวร ลูกศิษย์

นอกจากนี้ ยังมีอดีตทนายความวัดพระธรรมกายและประชาชนที่เคยเลื่อมใสศรัทธา ในวัดพระธรรมกาย เข้าแจ้งความดำเนินคดีพระธมฺมชโยเช่นกัน ฐานฉ้อโกงเงิน 35 ล้าน โดยแยกเป็นคดีความทั้งหมด 5 คดี

ทว่า เกือบ 7 ปี ของการดำเนินคดี ตั้งแต่ปี 2542-2547 เหลือสืบพยานจำเลยอีก 2 นัด ในวันที่ 23 และ 24 สิงหาคม 2549 เท่านั้น แต่แล้วในวันที่ 21 สิงหาคม พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ซึ่งเป็นโจทก์ ก็ขอถอนฟ้องจำเลย คือ พระธมฺมชโย และ นายถาวร พรหมถาวร ลูกศิษย์ โดยเรืออากาศโทวิญญู วิญญกุล อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา5 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาล สรุปว่า ปัจจุบันจำเลยที่1 กับพวก ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาตรงตามพระไตรปิฎกและนโยบายของคณะสงฆ์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เป็นที่ยอมรับทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกิจการของศาสนา ทั้งของคณะสงฆ์ ภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก ส่วนด้านทรัพย์สินนั้น จำเลยที่ 1 กับพวก ได้มอบทรัพย์สินทั้งหมดคืน ทั้งที่ดินและเงินจำนวน 959,300,000บาท คืนให้แก่วัดพระธรรมกาย

การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 กับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ครบถ้วนทุกประการแล้ว ประกอบกับขณะนี้ บ้านเมืองต้องร่วมกันสร้างความสามัคคีของคนในชาติทุกหมู่เหล่า เห็นว่าหากดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองต่อไป อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในศาสนจักรและไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ อัยการสูงสุด (นายพชร ยุติธรรมดำรง) จึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ทุกข้อกล่าวหา

แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ ก่อนหน้าที่อัยการจะถอนฟ้องเพียงเดือนเศษ ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2549 พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ได้ใช้สถานที่วัดพระธรรมกาย จัดงาน “ รวมใจทุกศาสนา พัฒนาท้องถิ่นไทย ถวายองค์ราชา ครองราชย์ 60 ปี “ โดยระดมเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั่วประเทศ 80,000 คน มาร่วมงาน ซึ่งมี นช. ทักษิณ ชินวัตร เป็นประธานและกล่าวปาฐกถา ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมขับไล่ นช.ทักษิณ



กำลังโหลดความคิดเห็น