xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ผมนี่ตั้งธงเอาไว้เลย!?” จากกรรมการไทยออยล์ถึงสัมปทานรอบ 21

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การเปลี่ยนท่าทีกลับลำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่สั่งให้ยืดเวลาชนิดพลิกความคาดหมายออกไปอย่างน้อยก็อีกเดือนหนึ่งสำหรับการประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. 2557 กำหนดสิ้นสุดการยื่น 18 ก.พ. 2558 ภายใต้ระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัส สร้างความพิศวงงงงวยกันไม่น้อย

เป็นการเปลี่ยนแปลงที่คล้ายๆ กับกรณีการถอดถอนและสั่งฟ้องคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งแรกเริ่มมีกระแสเสียงว่าหลุดแน่ๆ และยื้อคดีออกไปเพื่อปรองดอง แต่แล้วผลพวงของ “สัญญาณที่ชัดเจน” ทำให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามมาด้วยอัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้องคดีอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา123/1 กรณีละเลยไม่ดำเนินการยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวจนทำให้รัฐเสียหายกว่า 6 แสนล้านบาท

ไม่ต่างจากกรณีสัมปทานปิโตรเลียมที่พล.อ.ประยุทธ์ ใส่เกียร์เดินหน้าเต็มที่ แม้กระทั่งเมื่อมีสัญญาณมาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีมติไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานฯ ใหม่ โดยให้ชะลอออกไปก่อน แต่พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังดื้อตาใสจะเดินหน้าต่อไป แต่ถึงเวลานี้ก็อาจมี “สัญญาณที่ไม่ธรรมดา” ซึ่งทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ต้องใส่เกียร์ถอยชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม อาจเป็นไปได้เช่นกันว่าแท้ที่จริงการเปลี่ยนท่าทีกลับไปกลับมา จะเป็นเพียงการสับขาหลอกของรัฐบาล คสช. เพราะถ้าจะว่าไปแล้วพล.อ.ประยุทธ์ ก็ยืนยันจะเดินหน้ามาโดยตลอดอยู่แล้ว

อีกทั้งบิ๊กทหารและนายตำรวจใหญ่บางคนที่อยู่ในคณะคสช. ต่างเคยอยู่ในวงการพลังงานด้วยการเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดในบริษัทพลังงานกันมาแล้ว มีหรือที่จะไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มีหรือที่จะไม่รู้ว่าผลประโยชน์ของชาติและผลประโยชน์ของบริษัทอยู่ตรงไหน
รายงานประจำปีของ บริษัท ไทยออยล์จำกัด(มหาชน) ในปี 2553 ที่ปรากฏชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็น ประธานคณะกรรมการกำกับดูแล (อิสระ)

หากย้อนกลับไปตรวจสอบข้อมูลของบรรดาบิ๊ก คสช. จะพบว่า อย่างน้อย 4 บิ๊กทหารและบิ๊กตำรวจ ต่างเคยเข้าไปเป็นกรรมการอยู่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานและบริษัทในเครือมาแล้ว

ไล่มาตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับดูแล (อิสระ) บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) โดยได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2553 ก่อนดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก ในวันที่ 1 ต.ค. 2553

เช่นเดียวกันกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้า คสช. และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของ คสช. ก็เคยมีตำแหน่งเป็นกรรมการอิสระและประธานกรรมการสรรหา และกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี ของ บมจ.ปตท. โดยฝากผลงานชิ้นโบว์แดงด้วยการลงนามแต่งตั้งนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ เป็นประธานบอร์ด ปตท. ก่อนที่ พล.อ.อ.ประจิน จะลาออกจากตำแหน่ง กรรมการ ปตท. มีผลตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2557 เพื่อเข้ารับตำแหน่งรมว.กระทรวงคมนาคม

ส่วน พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก และเลขาธิการ คสช. เคยดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ บริษัท ไออาร์พีซี ในเครือปตท. เช่นกัน ก่อนลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทฯ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2557

สำหรับบิ๊กตำรวจนั้น พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. ฝ่ายกิจการพิเศษ ก็เคยดํารงตําแหน่งกรรมการอิสระและกรรมการการกำกับดูแลกิจการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ในเครือ ปตท.ก่อนที่จะลาออกมารับตำแหน่งรมว.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เมื่อเดือนส.ค. 2557 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เช่นกัน

เห็นแล้วใช่ไหมว่า บิ๊กทหารและบิ๊กตำรวจของ คสช. ที่มีอำนาจบริหารบ้านเมืองอยู่ในเวลานี้ ต่างเคยเข้านอกออกในรู้เรื่องเกี่ยวกับกิจการด้านพลังงานของประเทศทั้งสิ้น และรับฟังพร้อมกับเชื่อแต่ข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐและบริษัทโดยไม่มีอะไรสงสัย

นอกจากนี้ ถ้าหากตรวจดูรายชื่อคนที่เป็นกรรมการของไทยออยล์ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะเห็นว่า ล้วนเป็นเทคโนแครตและคนในแวดวงพลังงานหลายต่อหลายคนด้วยกัน เช่น พิชัย ชุณหวชิร มนู เลียวไพโรจน์ ไกรฤทธิ์ นิลคูหา ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ดังนั้น จึงอาจไม่แปลกใจว่าทำไมชุดความคิดของ พล.อ.ประยุทธ์จึงเป็นไปในแนวทางของการเปิดสัมปทานเต็มอัตราศึก โดยสวนทางกับผลประโยชน์ของภาคประชาชนโดยสิ้นเชิง

เป็นพิชัย ชุณหวชิรที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน), กรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), กรรมการ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และเคยเป็นกรรมการบริษัทในเครือปตท.อีกหลายแห่ง

เป็นมนู เลียวไพโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

เป็นไกรฤทธิ์ นิลคูหาที่เคยเป็นอดีตอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ปี 2548 - 2551) อดีตรองปลัดกระทรวงพลังงาน (2551 - 2552) อดีตอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน (2552 - ก.ย. 2555) และกรรมการ บมจ.ปตท. หลายสมัย

และเป็นประเสริฐ บุญสัมพันธ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตประธานกรรมการบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล ประธานกรรมการ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ย้ำคำถามอีกครั้งว่า อะไรเป็นสาเหตุให้พล.อ.ประยุทธ์ ต้องกลับลำเปลี่ยนท่าทีต่อเรื่องนี้ใหม่ อีกทั้งยังเปิดเวทีรับฟังความเห็นรอบด้านอีกครั้ง โดยกำหนดนัดหมายวันศุกร์ที่ 20 ก.พ. 2558 และบอกว่าจะเป็นเวทีสุดท้ายที่จะเปิดรับฟังความเห็น

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปครั้งนี้ คงต้องบอกว่านี่เป็นสัญญาณที่ไม่ธรรมดา

ความจริงแล้วสัญญาณที่ไม่ธรรมดานี้ เป็นผลสืบเนื่องมาตั้งแต่คราวที่ สปช. ลงมติไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานรอบที่ 21แต่คราวนั้น “บิ๊กตู่” ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ จนกระทั่งในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนท่าทีใหม่หลังจากมีการล่ารายชื่อของภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ แล้วยื่นข้อเรียกร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ชะลอการเปิดสัมปทานฯ เอาไว้ก่อน

หนังสือที่ยื่นข้อเรียกร้องให้ทบทวนการเปิดสัมปทานใหม่คราวนี้ มีความไม่ธรรมดาอยู่ตรงที่มีชื่อบิ๊กเนมร่วมลงนามด้วย ดังเช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.กระทรวงการคลัง, น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตรมว.กระทรวงการต่างประเทศ, ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิอีกมากหน้าหลายตา

ระดับบิ๊กเนมที่ลงชื่อในการยื่นข้อเรียกร้องต่อพล.อ.ประยุทธ์ ดังตัวอย่างข้างต้น ต้องถือว่าไม่ธรรมดา โดยเฉพาะผู้ที่ได้ชื่อว่าอยู่ในเครือข่ายของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

โฟกัสรายชื่อบิ๊กเนม ซึ่งฉายจับไปที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ มือไม้ในเครือข่ายของ “ป๋า” ที่แตะมือกับกลุ่มมวลชนต่างๆ ในการโค่นล้มระบอบทักษิณ นับแต่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนมาถึงยุคสมัยในการเคลื่อนไหวของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือกลุ่ม กปปส. ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นกันแล้วว่าเมื่อใกล้ไคลแม็กซ์ในเรื่องสำคัญเรื่องใด มักจะมีชื่อของน.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเสมอ

เมื่อโยงเข้ากับการเดินเกมล็อบบี้ให้สมาชิก สปช. ลงมติไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมฯ มาก่อนหน้านี้ ของ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิก สปช. หนึ่งในเครือข่ายพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษก็จะเห็นสัญญาณที่ไม่ธรรมดา

เพราะเป็นการเคลื่อนไหวของเครือข่ายพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้ที่เคยนั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2524 และเป็นประธานในพิธีเปิดป้ายโรงแยกก๊าซฯ แห่งแรกของประเทศไทย พร้อมกับชูคำขวัญ “โชติช่วงชัชวาล” ประเทศไทยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในอ่าวมีก๊าซฯ

เป็นจิ๊กซอว์ต่อภาพที่ทำให้มองเห็นที่มาที่ไปของสัญญาณที่ไม่ธรรมดา ที่มาพร้อมกับคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น

มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าเนื่องเพราะตลอด 30 ปีกว่านับจากการเปิดโรงแยกก๊าซฯที่สูบขึ้นมาจากอ่าวไทยแห่งแรก จากสัมปทานปิโตรเลียมที่ให้ต่างชาติเข้ามาขุดเจาะก๊าซฯ ในอ่าวไทยนั้น ทำให้อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีบทบาทในการกุมชะตากรรมของประเทศเห็นอะไรต่อมิอะไรมากมาย จนทำให้เครือข่ายของอดีตนายกรัฐมนตรียุคโชติช่วงชัชวาล ต้องออกมาเคลื่อนไหวส่งสัญญาณควรถึงเวลามาใคร่ครวญทบทวนกันใหม่ถึงผลประโยชน์ที่ประเทศชาติได้รับจากการให้สัมปทานปิโตรเลียมว่าคุ้มกันหรือไม่

เป็นการเคลื่อนไหวไปพร้อมๆ กับการมองหาทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากระบบสัมปทาน อย่างเช่น ระบบแบ่งปันผลผลิต ที่มีเสียงเรียกร้องจากภาคประชาชนให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ หันมาสนใจศึกษาเปรียบเทียบกับระบบสัมปทานแบบเดิมก่อนที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามาขุดเจาะปิโตรเลียมรอบใหม่ว่าน่าสนใจกว่า ให้ผลประโยชน์แก่ประเทศชาติมากกว่า หรือไม่

สัญญาณนี้ย่อมไม่ธรรมดาจริงๆ เพราะแม้แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ร่วมลงชื่อในหนังสือที่ยื่นถึงพล.อ.ประยุทธ์ ด้วย

อย่าลืมว่ากำพืดของพรรคประชาธิปัตย์นั้น เป็นพรรคนอมินีของกลุ่มอำมาตย์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร และถนัดนักในการเล่นบทตีกินเมื่อถึงเวลาอันเหมาะอันควร

การเคลื่อนไหวที่สอดประสานกันตั้งแต่เครือข่ายภาคประชาชนจนถึงเครือข่ายต่างๆ จับมือไขว้ไปถึงพรรคการเมืองเก่าแก่ ซึ่งส่งคนไปหยั่งขาไว้ในทุกภาคส่วนขึ้นอยู่กับว่าแต่ละช่วงเวลาจะเดินหมากตัวไหน อย่างเช่น การส่งนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ นั่งเป็นประธานบอร์ด บมจ. ปตท. ที่มีจุดยืนดันสัมปทานรอบใหม่สุดลิ่ม แต่เมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กลับมาลงชื่อให้ชะลอการเปิดสัมปทานเอาไว้ก่อน ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ใช่หรือไม่ที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จำต้องหยุดชั่วคราว

นี่ไม่นับรวมถึงการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มคลังสมองของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร” ดำเนินการโดยมูลนิธิคลังสมอง วปอ.ซึ่งก่อนหน้าได้เคยออกหนังสือเป็นทางการลงนามโดย พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ ในฐานะประธาน ขอให้รัฐบาลระงับการให้สัมปทานรอบที่ 21 มาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2555 สมัยที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วครั้งหนึ่ง และในครั้งนี้ “ณรงค์ โชควัฒนา” ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มได้ออกมาเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ดร.มนูญ อร่ามรัตน์ ประธานกลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การพลังงานและสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่า การเปิดสัมปทานรอบใหม่นี้กระทบอย่างร้ายแรงต่อผลประโยชน์ของชาติและประชาชนคนไทย พร้อมทั้งได้ทำหนังสือ 3 ฉบับถึงหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ให้ระงับการเปิดสัมปทานรอบที่ 21

ถามต่อว่า หยุดชั่วคราวแล้วเปิดเวทีรับฟังความเห็นรอบสุดท้าย จะฟังจริงหรือไม่ เพราะท่าทีที่ผ่านมาเห็นชัดอยู่แล้วว่า ไม่เคยฟัง แล้วคราวนี้จะฟังจริงไหม?

หากมองโลกสวยใส ก็เชื่อว่า นายกรัฐมนตรีจะรับฟังความเห็นและข้อมูลที่แตกต่างไปจากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน ข้าราชการ และบริษัทพลังงาน เหตุที่ต้องฟังเพราะดันทุรังไปก็ตอบคำถามสังคมไม่ได้ เป็นเหตุผลที่ฟังดูง่ายๆ ตื้นๆ

แต่หากมองอย่างพินิจพิจารณาจากท่าทีที่ผ่านๆ มา ก็คงมีคำตอบล่วงหน้าว่านี่อาจเป็นเกมยื้อ เกมต่อรอง เกมล็อบบี้ โดยยืมมือภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวคัดค้าน ซึ่งหากเป็นไปตามการตั้งข้อสังเกตที่ว่าเป็นแค่เกมยื้อเพื่อต่อรอง ก็คงหนีไม่พ้นข้อครหานินทาว่า งานนี้น่าจะมีอะไรในกอไผ่ เพราะไหนๆ ก็ไปมีสัญญาประชาคมกับชาวโลกไว้แล้วว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นแน่ๆ อย่างช้าในต้นปี 2559 ดังนั้น การเปิดสัมปทานรอบที่ 21 จึงถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของ คสช.เนื่องจากเหลือเวลาอีกไม่มากนักในการปิดจ๊อบ

ประเด็นนี้ น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ตั้งข้อสังเกตว่า การที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเลื่อนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ออกไป เพียงแค่หนึ่งเดือน และเปิดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 20 ก.พ. นี้ เป็นเพียงการลดแรงกดดันเพื่อซื้อเวลาเท่านั้น คงไม่อาจเปลี่ยนแนวทางของกระทรวงพลังงานได้ จึงอยากเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจและภาวะผู้นำในการตัดสินเรื่องดังกล่าวให้เด็ดขาด

พร้อมกับย้ำด้วยว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มีการะบุถึงการปฏิรูปอย่างชัดเจน ดังนั้น นายกรัฐมนตรี ควรที่จะตัดสินใจดำเนินการปฏิรูปในเรื่องพลังงานให้เรียบร้อยก่อนที่จะเปิดสัมปทานตามเจตนารมณ์เดิม ด้วยการใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ในการแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่ใช้มาตั้งแต่ ปี 2014 ซึ่งมีจุดอ่อนและช่องโหว่ให้เรียบร้อยเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน

การตั้งข้อสังเกตว่าเป็นแค่เกมยื้อเวลาเพื่อต่อรองอะไรบางอย่างและในที่สุดคงมีการเดินหน้าเปิดสัมปทานต่อไปนั้น มีความเป็นไปได้อย่างสูงยิ่ง เพราะท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ ต่อการจัดเวทีคราวนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากทุกครั้งที่ผ่านๆ มา คือ ไม่มีเวลาเข้าร่วม ไม่มีเวลาไปฟัง ไม่ต้องมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีไปรับฟังข้อมูลด้วยตนเองเพราะมีงานเยอะและยุ่งมาก และสุดท้ายก็โยนให้หน่วยงานของรัฐ คือ กระทรวงพลังงาน เป็นผู้สรุปเนื้อหาทั้งหมดเสนอต่อนายกรัฐมนตรี

รูปการณ์เช่นนี้ เชื่อขนมกินได้เลยว่า ข้อเสนอจากการสรุปผลการรับฟังความเห็นของกระทรวงพลังงาน คงเป็นไปตามธงที่ตั้งเอาไว้แล้วว่ามีเหตุจำเป็นต้องเร่งเปิดสัมปทานใหม่ เพราะก๊าซฯ จะหมด ถ้าเสียเวลาไปศึกษาระบบใหม่จะไม่ทันการณ์ ย้ำอยู่เช่นนั้นเหมือน แผ่นเสียงตกร่อง

แต่อย่างไรก็ตาม สปช.สายพลังงานจากภาคประชาชนเพียงหนึ่งเดียว ยังคงเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยขอให้เวทีวันที่ 20 ก.พ. 2558 เป็นเวทีเพื่อการตัดสินในเชิงนโยบายไม่ใช่เวทีที่จะมาโต้วาทีกันเหมือนที่ผ่านๆ มา ซึ่งไม่ค่อยได้ประโยชน์

นอกจากนั้น ยังตอบคำถามที่สร้างความวิตกกังวลให้แก่นายกรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องวิกฤตความมั่นคงด้านพลังงานที่ผู้นำประเทศวิตกกังวลอยู่ในเวลานี้ โดย น.ส.รสนา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า การอ้างเวลา 7 ปีว่าประเทศจะเกิดวิกฤตความมั่นคงเรื่องพลังงาน ถ้าไม่ให้สัมปทานตั้งแต่ปีนี้เพราะก๊าซจะหมดนั้น ซึ่งที่จริงเป็นช่วงเวลาที่แหล่งก๊าซ 2 แหล่งใหญ่ในประเทศ คือบงกช และเอราวัณ จะหมดสัมปทานในปี2565, 2566 ( 7, 8ปีจากปีนี้)

"การหมดสัมปทานไม่ใช่ก๊าซหมดไปด้วย แต่ก็มีความพยายามจะเอา2เรื่องมาเป็นเรื่องเดียวกัน และเพื่อจะให้สัมปทานโดยไม่มีการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมที่ประเทศเสียเปรียบเสียก่อน ก็อ้างเรื่องเวลาในการแก้ไขกฎหมายว่าต้องใช้ถึง 6 ปี ทำนองว่าจะไม่ทันกับวิกฤตพลังงานที่จะเกิดขึ้น แต่ไม่สนใจว่าการเปิดสัมปทานครั้งนี้จะผูกพันประเทศชาติไป 39 ปี โดยประเทศชาติเสียประโยชน์ในกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมให้กับเอกชน ควรตั้งข้อสังเกตว่ามีผลประโยชน์อะไรแอบแฝงอยู่เบื้องหลังหรือไม่ !?!

"ขอให้ท่านนายกฯลองอ่านข้อเสนอของ ดร. เดชรัตน์ สุขกำเนิด ที่คำนวณตัวเลขการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าของประเทศจากฐานตัวเลขที่เป็นจริง ว่าสามารถแก้ไขวิกฤตที่ท่านนายกฯกังวลได้ กล่าวคือ ขณะนี้กำลังสำรองไฟฟ้าของเราล้นเกินจากสำรองมาตรฐานที่ 15% เป็น 25% และจะล้นเกินเป็น 40% ของความต้องการใช้ในปี 2562-2568 ดังนั้นในอีก 7 ปีข้างหน้า หากไม่รวมปริมาณก๊าซจากแหล่งบงกชและเอราวัณ ซึ่งมีปริมาณ 1,300ล้านลูกบาศก์ฟุต"

ข้อเสนอของดร.เดชรัตน์ คือให้ชะลอโรงไฟฟ้าที่จะเข้าสู่ระบบสัก 8,000เมกกะวัตต์ ออกไป 3 ปี จะลดการใช้ก๊าซลงได้ 1,300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน พอดี วิธีการนี้ยังจะช่วยลดการลงทุนที่ไม่จำเป็นถึง 400,000 ล้านบาท และยังลดค่าไฟให้ประชาชนได้ถึงหน่วยละ 37 สตางค์

ดังนั้น การใช้เวลาสัก 1-2 ปีเพื่อแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมให้ประเทศและประชาชนได้ประโยชน์อย่างสูงสุด มีหลักฐานชัดเจนว่าไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงเรื่องไฟฟ้าในอีก 7-8 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน

ยิ่งถ้ามีการส่งเสริมประชาชนในการร่วมผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านตามที่ กมธ.พลังงาน ของ สปช. เสนอด้วยแล้ว ปัญหาที่ท่านนายกฯ กังวล เป็นอันแก้ไขได้แน่นอน จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะยกมาอ้างเพื่อเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ให้ได้ โดยไม่แก้ไขกฎหมายเสียก่อน ซึ่งย่อมจะถูกตั้งข้อสงสัยได้ว่า มีผลประโยชน์อื่นอยู่เบื้องหลังคำกล่าวอ้างว่า ต้องทำเพื่อความมั่นคงของประชาชนหรือไม่!?!

สำหรับการจัดเวทีในวันที่ 20 ก.พ ที่จะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ควรเป็นเรื่องมาพูดคุยถึงนโยบาย ไม่ใช่จัดโต้วาทีระหว่างกระทรวงพลังงาน กับภาคประชาชน เพราะความเห็นที่มีร่วมกันคือต้องมีการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม เพื่อเปิดโอกาสให้มีทางเลือกอื่นๆ ในการให้สิทธิสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมให้กับเอกชน เช่น ระบบแบ่งปันผลผลิต การจ้างผลิตเป็นต้น สิ่งที่ต่างกันมีเพียงเรื่องของระยะเวลาเท่านั้น จึงไม่ควรต้องมาโต้แย้งในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้อง

"ท่านนายกฯสามารถมาเข้าร่วมรับฟังสัก 1 ชั่วโมงเพื่อรับข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจ ซึ่งจะเป็นการแสดงความจริงใจในการรับฟังจากภาคประชาชน และท่านควรมองปรากฏการณ์ที่มีประชาชนเป็นจำนวนมากจากทุกภาคส่วน รวมทั้ง สปช.เสียงข้างมาก ซึ่งมีความกระตือรือร้นและต้องการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปพลังงาน ว่าเป็นโอกาสดีและเป็นสิ่งที่แสดงถึงความปรองดองระหว่างรัฐกับประชาชน

"และถ้าท่านนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชูธงปฏิรูปพลังงานเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนยิ่งกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มทุนผูกขาดพลังงานแล้ว ย่อมสามารถทำกฎหมายพลังงานฉบับปฏิรูปได้ภายใน 6 เดือนด้วยซ้ำ โดยอาจจะออกเป็นพระราชกำหนดในระยะแรก และค่อยยกระดับเป็นพระราชบัญญัติในลำดับต่อไป และการปฏิรูปพลังงานนี่แหละคือการก้าวเดินออกจากกับดักโรดแมปของรัฐบาลทุนสามานย์ที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นการนำพาประชาชาติสู่การปรองดองอันถาวรอย่างแท้จริง"น.ส.รสนาแสดงความคิดเห็น

กระนั้นก็ดี กรณีสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังยื้อยุดกันอยู่ในเวลานี้ เชื่อว่าอีกไม่นาน สังคมไทยคงได้คำตอบประจักษ์ชัดว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งมั่นปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปกิจการพลังงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน หรือว่าสุดท้ายแล้วนี่เป็นธงที่ตั้งไว้ของกลุ่มทุนพลังงานร่วมกับนักการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และผู้อำนาจทั้งหลาย




กำลังโหลดความคิดเห็น