xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ยกข้อมูล “ดร.เดชรัตน์” ปิดปากนายกฯ ยันเสียเวลาแก้ กม.ปิโตรเลียมไม่ถึงวิกฤตพลังงานแน่นอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
“รสนา” สยบข้ออ้างนายกฯ ยกการคำนวณใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าของ “ดร.เดชรัตน์” ชี้มีเวลา 3 ปี สำหรับการแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมเพื่อให้ประเทศได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า หากเลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่เกินต้องการ 8,000 เมกะวัตต์ออกไป เท่ากับจะลดการใช้ก๊าซลงได้ 1,300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เทียบเท่าปริมาณก๊าซส่วนที่ขาดหายไปจากแหล่งยูโนแคล และแหล่งบงกชพอดี

วันนี้ (19 ก.พ.) เมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล ชวนตั้งข้อสังเกต ถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อ้างเป็นห่วงถ้าไม่รีบให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในปีนี้ ก๊าซจะขาดและมีผลกระทบต่อระบบผลิตไฟฟ้าในอีก 7-8 ปีข้างหน้านั้น มีผลประโยชน์อะไรแอบแฝงอยู่เบื้องหลังหรือไม่!?! ตามข้อความดังนี้

“การอ้างเวลา 7 ปีว่าประเทศจะเกิดวิกฤตความมั่นคงเรื่องพลังงาน ถ้าไม่ให้สัมปทานตั้งแต่ปีนี้เพราะก๊าซจะหมดนั้น ซึ่งที่จริงเป็นช่วงเวลาที่แหล่งก๊าซ2แหล่งใหญ่ในประเทศ คือบงกช และเอราวัณ จะหมดสัมปทานในปี 2565, 2566 (7-8 ปีจากปีนี้) การหมดสัมปทานไม่ใช่ก๊าซหมดไปด้วย แต่ก็มีความพยายามจะเอา 2 เรื่องมาเป็นเรื่องเดียวกัน และเพื่อจะให้สัมปทานโดยไม่มีการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมที่ประเทศเสียเปรียบเสียก่อน ก็อ้างเรื่องเวลาในการแก้ไขกฎหมายว่าต้องใช้ถึง 6 ปี ทำนองว่าจะไม่ทันกับวิกฤตพลังงานที่จะเกิดขึ้น แต่ไม่สนใจว่าการเปิดสัมปทานครั้งนี้จะผูกพันประเทศชาติไป 39 ปี โดยประเทศชาติเสียประโยชน์ในกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมให้กับเอกชน

ควรตั้งข้อสังเกตว่ามีผลประโยชน์อะไรแอบแฝงอยู่เบื้องหลังหรือไม่!?!

“ขอให้ท่านนายกฯ ลองอ่านข้อเสนอของ ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด ที่คำนวณตัวเลขการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าของประเทศจากฐานตัวเลขที่เป็นจริง ว่าสามารถแก้ไขวิกฤติที่ท่านนายกฯ กังวลได้ กล่าวคือ ขณะนี้กำลังสำรองไฟฟ้าของเราล้นเกินจากสำรองมาตราฐานที่ 15% เป็น 25% และจะล้นเกินเป็น 40% ของความต้องการใช้ในปี 2562-2568 ดังนั้นในอีก 7 ปีข้างหน้า หากไม่รวมปริมาณก๊าซจากแหล่งบงกชและเอราวัณ ซึ่งมีปริมาณ 1,300 ล้านลูกบาศก์ฟุต ข้อเสนอของ ดร.เดชรัตน์ คือให้ชะลอโรงไฟฟ้าที่จะเข้าสู่ระบบสัก 8,000 เมกะวัตต์ออกไป 3 ปี จะลดการใช้ก๊าซลงได้ 1,300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน พอดี วิธีการนี้ยังจะช่วยลดการลงทุนที่ไม่จำเป็นถึง 400,000 ล้านบาท และยังลดค่าไฟให้ประชาชนได้ถึงหน่วยละ 37 สตางค์

ดังนั้น การใช้เวลาสัก 1-2 ปีเพื่อแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมให้ประเทศและประชาชนได้ประโยชน์อย่างสูงสุด มีหลักฐานชัดเจนว่าไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงเรื่องไฟฟ้าในอีก 7-8 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน ยิ่งถ้ามีการส่งเสริมประชาชนในการร่วมผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านตามที่ กมธ.พลังงานของ สปช.เสนอด้วยแล้ว ปัญหาที่ท่านนายกฯ กังวล เป็นอันแก้ไขได้แน่นอน

จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะยกมาอ้างเพื่อเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ให้ได้ โดยไม่แก้ไขกฎหมายเสียก่อน ซึ่งย่อมจะถูกตั้งข้อสงสัยได้ว่ามีผลประโยชน์อื่นอยู่เบื้องหลังคำกล่าวอ้างว่าต้องทำเพื่อความมั่นคงของประชาชนหรือไม่!?!

การจัดเวทีในวันที่ 20 ก.พ ที่จะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ควรเป็นเรื่องมาพูดคุยถึงนโยบาย ไม่ใช่จัดโต้วาทีระหว่างกระทรวงพลังงาน กับภาคประชาชน เพราะความเห็นที่มีร่วมกันคือต้องมีการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม เพื่อเปิดโอกาสให้มีทางเลือกอื่นๆในการให้สิทธิสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมให้กับเอกชน เช่น ระบบแบ่งปันผลผลิต การจ้างผลิต เป็นต้น สิ่งที่ต่างกันมีเพียงเรื่องของระยะเวลาเท่านั้น จึงไม่ควรต้องมาโต้แย้งในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้อง

ท่านนายกฯ สามารถมาเข้าร่วมรับฟังสัก 1 ชั่วโมงเพื่อรับข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจ ซึ่งจะเป็นการแสดงความจริงใจในการรับฟังจากภาคประชาชน และท่านควรมองปรากฎการณ์ที่มีประชาชนเป็นจำนวนมากจากทุกภาคส่วน รวมทั้ง สปช.เสียงข้างมาก ซึ่งมีความกระตือรือร้นและต้องการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปพลังงาน ว่าเป็นโอกาสดีและเป็นสิ่งที่แสดงถึงความปรองดองระหว่างรัฐกับประชาชน และถ้าท่านนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชูธงปฏิรูปพลังงานเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนยิ่งกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มทุนผูกขาดพลังงานแล้ว ย่อมสามารถทำกฎหมายพลังงานฉบับปฏิรูปได้ภายใน 6 เดือนด้วยซ้ำ โดยอาจจะออกเป็นพระราชกำหนดในระยะแรก และค่อยยกระดับเป็นพระราชบัญญัติในลำดับต่อไป และการปฏิรูปพลังงานนี่แหละคือการก้าวเดินออกจากกับดักโรดแมปของรัฐบาลทุนสามานย์ที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นการนำพาประชาชาติสู่การปรองดองอันถาวรอย่างแท้จริง

ข้อเสนอของ ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“ท่านนายกฯ เปิดประเด็นเรื่อง ความจำเป็นที่จะต้องรีบให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ว่า เพื่อที่จะจัดหาก๊าซให้ทันในปี 2565 ซึ่งเป็นเวลาที่สัมปทานของแหล่งก๊าซธรรมชาติ 2 แหล่งใหญ่ คือ แหล่งบงกช (รวมแหล่งบงกชใต้) และแหล่งยูโนแคลจะหมดอายุสัมปทานลง โดยท่านนายกฯ จี้ประเด็นนี้ว่า ในปี 2565 (หรืออีก 7 ปีนับจากนี้) “เราจะไม่มีก๊าซธรรมชาติที่เพียงพอสำหรับโรงไฟฟ้า จนส่งผลต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า” ท่านจึงต้องรีบให้สัมปทาน ณ บัดนี้

“ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ทั้งระบบสัมปทานและระบบแบ่งปันผลผลิต ต่างมีวัตถุประสงค์ในการจัดหาก๊าซทั้งสิ้น เพียงแต่มีวิธีการในแบ่งสรรความเป็นเจ้าของทรัพยากรและผลประโยชน์ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ภาคประชาชนที่ต่อสู้คัดค้านระบบสัมปทานจึงมิใช่การคัดค้านไม่ให้นำก๊าซขึ้นมาใช้ แต่ให้นำมาในระบบใหม่ที่เชื่อว่าจะให้ผลตอบแทนต่อประเทศที่ดีกว่า แต่ฝ่ายรัฐเองกังวลถ้าใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตอาจต้องปรับแก้กฎหมายกันใหม่ ทำให้อาจไม่ได้ก๊าซธรรมชาติทันในปี 2565 ภาครัฐจึงเปิดให้สัมปทานอย่างเร่งด่วน

ดังนั้น ความแตกต่างทางด้านเวลา จึงกลายมาเป็นประเด็นสำคัญ เพราะแม้ภาครัฐอาจจะยอมรับว่าระบบแบ่งปันผลผลิตก็เป็นระบบที่ดี แต่ก็อ้างความเร่งรีบในการยืนยันที่จะใช้ระบบสัมปทานตามเดิม

โจทย์ของผมคือว่า ถ้าเราให้เวลา 2-3 ปี สำหรับการปรับแก้กฎหมายก่อนที่จะทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับเอกชนผู้รับขุดเจาะสำรวจ เราจะยังมีก๊าซธรรมชาติที่เพียงพอสำหรับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหรือไม่?

ในปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าในอัตรา 2,755 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (รวมทั้ง กฟผ. และผู้ผลิตเอกชน) คิดเป็นร้อยละ 58.9 ของการใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งประเทศ

ส่วนแหล่งก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะหมดสัญญาในปี 2565 (ที่ท่านนายกฯ เป็นห่วง) คือ ยูโนแคล 123 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน บงกชเหนือ 550 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และบงกชใต้ 320 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมทั้งหมด 2,110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ถ้ามีการจัดสรรก๊าซธรรมชาติตามอัตราส่วนเดิม (คือ เข้าสู่โรงไฟฟ้าประมาณร้อยละ 60) ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่เข้าสู่โรงไฟฟ้าจะน้อยลงไป 1,242 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (หรือประมาณร้อยละ 45 ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าปัจจุบัน)

แต่สิ่งที่ท่านนายกฯ อาจยังไม่ได้รับรายงานคือ ในช่วงปี 2562-2568 ประเทศไทยจะมีกำลังการผลิตสำรองล้นเกินถึงร้อยละ 40 ในช่วงปี พ.ศ. 2562-2568 จากเกณฑ์มาตรฐานคือ ร้อยละ 15 ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ซึ่งในช่วงเวลาเราจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่ล้นเกินมากถึง 8,000-10,000 เมกะวัตต์

นั่นเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่นายกฯ เป็นห่วงเรื่องการเร่งเปิดสัมปทานใหม่พอดี กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าเราลดความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่เกินความต้องการของระบบลงสัก 8,000 เมกะวัตต์ ในช่วงปี พ.ศ. 2562-2568 (ในช่วงเวลาดังกล่าว กระทรวงพลังงานวางแผนจะมีโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีก 7,562 เมกะวัตต์) เราจะสามารถลดความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าลงได้ถึง 1,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเท่ากับปริมาณก๊าซธรรมชาติส่วนที่ขาดหายไปจากแหล่งยูโนแคล และแหล่งบงกชพอดี

การมีกำลังการผลิตสำรองในระบบล้นเกินกว่า 8,000-10,000 เมกะวัตต์ ทำให้เกิดภาระการลงทุนที่ไม่จำเป็นสูงถึง 400,000 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 37 สตางค์/หน่วย ดังนั้น การลด/เลื่อนการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นนี้ออกไปสามปี จะทำให้เราลดภาระการลงทุนส่วนนี้ลงได้ ไปพร้อมๆ กับการลดความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในช่วงปี 2562-2568 ไปด้วยในตัว

กล่าวโดยสรุป ด้วยสถานการณ์ที่กำลังการผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกินในระบบ การเลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 8,000 เมกะวัตต์ออกไป 3 ปี จะไม่ส่งผลกระทบต่อใดๆ ต่อความมั่นคงในระบบไฟฟ้า และยังช่วยลดความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติลงได้ถึง 1,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งทำให้เราสามารถรักษาความมั่นคงในระบบไฟฟ้าได้ แม้ว่าอาจจะต้องหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติจาก 2 แหล่งดังกล่าวก็ตาม

ดังนั้น หากไม่รวมเวลา 7 ปีสำหรับการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติ จากวันนี้จนถึงปี 2565 เรายังมีเวลาเพิ่มอีก 3 ปี (จนถึงปี 2568) สำหรับการพัฒนาระบบแบ่งปันผลผลิต เพื่อให้ประเทศได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า และยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมที่ผลิตได้

อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลจริงใจและตั้งใจในการพัฒนาระบบแบ่งปันผลผลิต และเร่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากพื้นที่สัมปทานใหม่ ซึ่งติดกับแปลงสัมปทานเดิม ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า มีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองเหลืออยู่จำนวนมาก รัฐบาลและผู้ขุดเจาะก็น่าจะสามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิตได้ทันในปี 2565 ตามกำหนดเดิมแน่นอน”


กำลังโหลดความคิดเห็น