xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ท้ากลุ่มค้านเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบ 21 “ต้องสู้ด้วยข้อเท็จจริง เอาข้อมูลมาเจอกัน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บิ๊กตู่” ท้ากลุ่มค้านเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบ 21 “ต้องสู้ด้วยข้อเท็จจริง เอาข้อมูลมาเจอกัน” ย้ำถ้าสู้ไม่ได้ก็ไม่ได้ สั่งเดินหน้าต่อตามกติกาที่วางไว้ ระบุอาจมีปรับเปลี่ยนเล็กน้อยก็ในพื้นที่สัมปทานใหม่ ด้านผู้ผลิตก๊าซ “แหล่งเยตากุน” พม่ายื่นหนังสือถึง ปตท.ขอปรับลดปริมาณส่งก๊าซตามสัญญาขั้นต่ำ หลังกำลังการผลิตก๊าซในแหล่งเยตากุนลดลงต่อเนื่อง นายกฯ หวั่นกระทบงบประมาณหากนำเข้าแก๊สในปริมาณและราคาที่สูงขึ้น


วันนี้ (13 ก.พ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงกรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ชะลอสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ว่า ปัญหาขัดแย้งการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 นั้นกำลังหาทางแก้กันอยู่ ซึ่งจะไม่มีการคุยกับนายอภิสิทธิ์ เป็นส่วนตัว แต่จะให้กระทรวงพลังงานไปหาทางพูดคุยให้เรียบร้อย อะไรที่มาถึงตนถือเป็นสุดท้าย เพราะตนเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งตอนนี้ยังมีช่องทางพูดคุยอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่ายืนยันจะมีการเปิดสัมปทานในวันที่ 18 ก.พ. หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ถ้ายืนยันก็เปิดไปตามกติกาเดิมบางส่วน แต่ข้อตกลงบางส่วนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ อย่างพื้นที่ 3-4 แปลงที่เป็นแปลงใหม่ ส่วนแปลงเก่านั้นเปิดมาหลายรอบแล้ว อย่างไรก็ตามจะเปิดได้หรือไม่ได้ก็จะไปคุยกัน

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่มีหลายภาคส่วนแสดงความเป็นห่วงเรื่องนี้ นายกฯ กล่าวว่า กังวลเรื่องอะไร ต้องเอาเหตุผลมาว่ากัน ให้ทั้งสองฝ่ายมาพูดกันและต้องรู้เรื่อง ถ้ามีข้อมูลอย่างนี้แล้วกระทรวงพลังงานตอบไม่ได้ก็ไปหาทางออกมา ไม่อย่างนั้นตนไม่เอาด้วย เพราะปัญหาติดไปหมดทุกเรื่อง

“ผมไม่ได้หมายความว่าจะดันทุรัง ถ้าข้อมูลสู้ไม่ได้ก็คือสู้ไม่ได้ เข้าใจรึเปล่า ต้องสู้กันด้วยข้อเท็จจริงสิ ชั้นดิน ชั้นหินว่าอย่างไร มีน้ำมันได้อย่างไร ไม่ใช่เอาข้อมูลมาลอยๆ มันไม่ได้ ต้องเอาตัวเลขมาเจอกัน แล้วมาดูว่าเราจะสามารถทำเองได้หรือไม่สำรวจเองได้หรือเปล่า เราพร้อมหรือยัง ต้องไปพูดในเรื่องนี้กับคนที่คัดค้านมา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าในวันที่ 18 ก.พ. ก็จะเดินหน้าเปิดสัมปทานไปก่อน แต่ถ้ามันไม่ได้ตนคิดว่าก็ยกเลิกได้ แต่ต้องระมัดระวังในเรื่องกฎหมาย ซึ่งต้องดูกัน เพราะใช้เวลาในการสำรวจนานกว่าจะขุดเจาะคือ 5-6 ปี ที่เราต้องเตรียมการ เพราะบริษัทที่รับสัมปทานต้องไปลงทุน ต้องกู้เงิน ต้องให้เขามีเวลาตรงนี้ ไม่อย่างนั้นเขาก็ลงทุนไม่ไหว ทำไม่ได้ แต่ถ้าเราทำเองก็ใช้เงินมหาศาล ไปดูความคุ้มค่าก่อนแล้วกัน

เมื่อถามว่าจะเรียกร้องไปยังผู้คัดค้านหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่เรียกร้องอะไรกับผู้คัดค้าน แต่อยากทำความเข้าใจมากกว่า อย่าเรียกร้องอย่าบังคับเลย ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเป็นเรื่องอื่นอีก เพราะเรื่องอื่นก็มีปัญหาหมด

เมื่อถามว่าหมายถึงผู้คัดค้านเองต้องมีทางออกให้กรณีเกิดปัญหาพลังงานไม่มีใช้ ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องมีทางออกมา และถ้าเกิดปัญหาพลังงานไม่มีใช้ขึ้นมาต้องมีคนรับผิดชอบนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องตอบคำถามตนให้ได้กรณีที่จะมีการปรับปริมาณการส่งแก๊สจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาไทยในปีหน้า เพราะเป็นวงรอบของประเทศเพื่อนบ้าน ที่ปรับไปประเทศเขามากกว่าเดิม ประมาณ 300ล้านลูกบาศก์ฟุต หากปริมาณหายไป 300 ล้านลูกบาศก์ฟุต ตรงนี้จะทำอย่างไร ใครจะรับผิดชอบ

นายกฯ กล่าวต่อว่า วันข้างหน้าแหล่งพลังงานที่เราใช้ เราดูดจากในประเทศส่วนหนึ่ง พอใช้มากก็ไม่พอต้องไปซื้อต่างประเทศมา แต่ถ้าในประเทศมีน้อยลงไปเรื่อยๆก็ต้องซื้อทั้งหมด ราคาก็ต่างกัน แหล่งแก๊สในประเทศไม่เหมือนน้ำมัน โดยแก๊สในประเทศจะถูกกว่าประมาณ 200 บาทต่อล้านบีทียู แต่ต่างประเทศ 300-400 บาทต่อล้านบีทียู ขึ้นไป ฉะนั้นเราต้องเตรียมหาใหม่ มาสำรองพลังงานที่จะหมดลง แต่ส่วนที่ซื้อก็ซื้ออยู่แล้ว เพราะทุกวันนี้เราใช้เกินพลังงานในบ้านเรามีไม่พอ แต่ถ้าในประเทศเราหมด ขณะที่สัมปทานปีนี้ยังเปิดไม่ได้ อีก 5 ปีของเดิมหมด จะทำอย่างไรมันหายไปแล้วส่วนหนึ่ง และหลุมอื่นๆอีกกี่สัมปทาน จะหมดไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ไล่เจาะใหม่ในประเทศก็ต้องไปซื้อทั้งหมด พอซื้อทั้งหมดจะกลายเป็นว่าต้องซื้อ 300 ถึง 400 บาทต่อล้านบีทียู แทนที่จะซื้อ 250 บาทต่อล้านบีทียู แบบในปัจจุบัน ซึ่งมันต้องดูในภาพรวมด้วย

"โอเค ผมฟังทั้งหมด แต่ผมต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่รู้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ อะไรต่างๆ รวมถึงทรัพยากรธรณี เกี่ยวกับเรื่องน้ำมัน เขามาชี้แจงกัน เดี๋ยวจะจัดเวลาให้คุยกัน อย่าเพิ่งให้ตัดสินเลย แต่ผมคงไม่ลงไปพูดคุยเอง ในเมื่อคุณเอาข้อมูลมายืนยันกับรัฐก็หาข้อมูลมาให้สมบูรณ์ และเอาคำถามมาคำถามเดียวแล้วต่างคนต่างตอบ ถามว่าใครตัดสินเพราะที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้ เถียงกันไปมาแล้วไม่ยอมรับกัน ใครจะเป็นคนตัดสินล่ะ สื่อไปนั่งฟังด้วยสิ เหตุผลทางไหนได้เรื่องแล้วจะเป็นอย่างไร ถ้ามันออกมาว่าทำไม่ได้ ต้องมีคนรับผิดชอบ ต้องทำหลักฐานกันไว้ ว่าในวันนี้ทำไม่ได้ เพราะอะไร ใครบ้าง แล้ววันหน้ามาว่ากัน วันหน้าผมก็ไม่อยู่แล้วมั้ง แก๊สแพงราคาสูงก็ไปฟ้องศาลเอา ว่าใครทำให้มันเกิดปัญหา ผมว่าอย่างนั้นดีกว่า" นายกฯ กล่าว

รายงานข่าวจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ล่าสุดทางผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเยตากุนของพม่าซึ่งเป็นคู่สัญญาซื้อขายก๊าซกับ ปตท.ได้ทำหนังสือขอเจรจาเพื่อที่จะปรับลดปริมาณก๊าซที่จะต้องส่งมอบตามสัญญาในแต่ละวันลงจากเดิม ซึ่งส่งตามสัญญา 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือ 250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากไม่สามารถที่จะเพิ่มระดับการผลิตก๊าซให้เป็นไปตามสัญญาได้ ทำให้ที่ผ่านมาได้ถูก ปตท.เรียกค่าปรับมาเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้ว ทั้งนี้ ก๊าซจากแหล่งเยตากุนถือเป็นก๊าซที่มีค่าความร้อนสูง ปกติจะต้องนำมาผสมกับก๊าซจากแหล่งยาดานาซึ่งมีค่าความร้อนต่ำกว่าเพื่อให้ได้ค่าความร้อนในระดับที่เหมาะสมในการนำมาใช้ ดังนั้น การปรับลดปริมาณรับซื้อก๊าซจากแหล่งเยตากุนต้องปรับลดก๊าซจากแหล่งยาดานาบางส่วนด้วย โดยเบื้องต้น ปตท.จะเจรจาขอให้ทางพม่ารับก๊าซจากแหล่งยาดานาส่วนที่เหลือ และเพิ่มปริมาณก๊าซจากแหล่งซอติก้าเข้ามาแทน ทำให้ปริมาณก๊าซที่ส่งมาจากพม่าไม่ลดลงมากนัก ซึ่งปัจจุบันตามสัญญา ปตท. ซื้อก๊าซจากแหล่งยาดานาในปริมาณ 560 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเยตากุน 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจากแหล่งซอติก้า 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวม 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุต แต่ที่รับก๊าซจริงน้อยกว่าสัญญาจากปัญหาของแหล่งเยตากุน

นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเตรียมแผนเพื่อแก้ปัญหาก๊าซจากแหล่งเยตากุนและยาดานา ที่จะหมดสัญญาในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า และเหลือเพียงแหล่งก๊าซจากซอติก้าแห่งเดียว ทำให้ท่อส่งก๊าซจากพม่ามายังไทยยังมีพื้นที่ความจุเหลืออยู่

“ปตท.มีแผนที่จะใช้เรือคลังก๊าซลอยน้ำ หรือเรือ FSRU มาใช้เพื่อรองรับก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี นำเข้าจากต่างประเทศส่งเข้ามาทางท่อในฝั่งเมียนมา จากที่ก่อนหน้านี้จะมีการสร้างคลังรับแอลเอ็นจีบนบก ซึ่งเรือ FSRU จะมีต้นทุนการดำเนินการสูงกว่า แต่ก็ใช้เงินลงทุนต่ำกว่า เพราะสร้างได้เร็วกว่า”

รายงานระบุว่า ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมามีวิธีแก้ปัญหาโดยเชิญตัวแทนห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทั่วประเทศขอความร่วมมือให้ประหยัดไฟซึ่งสำหรับห้างสรรพสินค้ามีเป้าหมายให้ลดการใช้ไฟฟ้ารวมกันให้ได้ 300 เมกะวัตต์ โดยจะสลับกันปิดไฟห้างละ 1 ชั่วโมง เป็นต้น

อดีต ส.ส.ปชป.ร่วมลงชื่อ ขวางเปิดสัมปทานรอบ 21

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกร่วมกับบรรดานักการเมือง นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เพื่อขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ว่า ตนเห็นด้วยกับการระงับเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ไว้ไม่เกิน 2 ปี โดยเวลานั้นให้แก้ไขเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ เพื่อเปิดช่องให้รัฐมีทางเลือก ในการรับประโยชน์จากสัมปทานในรูปแบบอื่นด้วยนอกจากเงินจะกว้างกว่า เช่น การรับประโยชน์เป็นน้ำมันหรือก๊าซ แบบที่หลายคนเรียกว่าระบบแบ่งปันผลผลิต หรือให้รัฐมีทางเลือกในการจ้างผลิตได้ด้วยหากมองว่าดีกว่า และควรปรับรูปแบบภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

ทั้งนี้ ปัจจุบันกฎหมายเอื้อให้นำกำไรแปลงเก่ามาหักกลบกับค่าใช้จ่ายสำรวจในแปลงใหม่ได้ ทำให้รัฐได้ภาษีน้อยและผู้ได้สัมปทานรายเก่าได้เปรียบเกินไป และในเวลาที่ระงับอยู่นั้นให้รัฐเร่งสำรวจศักยภาพที่แท้จริงของพื้นที่โดยด่วน เพื่อประกอบการตัดสินใจที่ชัดเจนของรัฐและเอกชนผู้ลงทุนในอนาคต ขั้นตอนนี้จะไม่ส่งผลต่อความไม่ยั่งยืนทางพลังงาน กล่าวคือพลังงานมีใช้ไม่ขาดตอน เพราะหากเปิดสัมปทานครั้ง 21 นี้ไปในวันที่ 18 ก.พ. เอกชนก็ต้องเสียเวลาสำรวจเท่ากันด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น