xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดปม“พญาอินทรี”ลนลาน รุกหนักแทรกการเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 แพทริค เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เข้าพบนายยงยุทธ์ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ท่าทีของ “พี่เบิ้ม” ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่จับจ้องมายังการบริหารประเทศของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เหมือนจะจงใจที่จะ “เล่นงาน” โดยนำประเด็นการ “ยึดอำนาจ” มาพูดกระพือออกสื่อ ส่งสัญญาณไปฟ้องประชาคมโลกว่า ประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย

มองเผินๆสหรัฐฯคงหวังผลกดดันให้ “บิ๊กตู่” เร่งคืนอำนาจให้กับประชาชนให้เร็วที่สุด โดยไม่สนใจถึงความรู้สึกของ “คนไทย” ไม่สนใจว่าความสัมพันธ์ของไทย-สหรัฐฯ จะถูกปรับลดระดับลงก็ตาม

จุดเริ่มต้นมาจากการเดินทางมาเยือนไทยของ “แดเนียล รัสเซล” ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทันทีที่เท้าแตะแผ่นดินสยาม ก็เดินเกมด้วยการเปิดโอกาสให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าพบ แม้จะพ่วงด้วยการเดินทางไปพบ “พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร” รองนายกฯและ รมว.ต่างประเทศ และพบ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยก็ตาม

ดูเหมือนจะต้องการทำให้เห็นภาพเข้าพบทุกกลุ่ม-ทุกขั้ว แต่สุดท้าย “แดเนียล รัสเซล” ก็เลือกที่จะหยิบประเด็นที่การยึดอำนาจ และการบังคับใช้ “กฎอัยการศึก” มาโจมตี “รัฐบาลบิ๊กตู่” ว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตย

ซึ่งความจริงแล้วรัฐบาลค่อนข้างแฮปปี้กับการเดินทางมาของ “แดเนียล รัสเซล” ในฐานะผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯคนแรกที่เดินทางมาเยือนไทยในยุค คสช. แต่ก็คาดการณ์ผิดเมื่อโดนฤทธิ์ “พญาอินทรี” ย้อนศรหักหลัง ทิ้งระเบิดไว้โครมเบ้อเริ่ม โดยเฉพาะสปีชที่จุฬาฯ ที่เลือกหยิบประเด็นการถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” โยงกับสถานการณ์การเมืองของไทย

จนรัฐบาล คสช. โดย “ดอน ปรมัตถ์วินัย” รมช.ต่างประเทศ ต้องออกแอคชั่นเรียก “แพทริค เมอร์ฟี” อุปทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย มา “ปรับทัศนคติ” ซึ่งนัยทางการทูตคือการเรียกมาประท้วงสิ่งที่ “แดเนียล รัสเซล” ทำเอาไว้นั่นเอง

แต่ให้หลังไม่กี่วันก็เป็น “แพทริค เมอร์ฟี” อุปทูตสหรัฐฯเองที่คว้าไมค์เวทีเปิดการฝึก “คอร์บร้า โกดล์ 15” ผสมโรงขยายความจุดยืนของ “พญาอินทรี” เข้าไปอีก โดยระบุว่า อยากให้ไทยกลับเข้าสู้ประชาธิปไตยเร็วที่สุด และเห็นว่าการฝึกร่วมรบจะเป็นก้าวหนึ่งขอความร่วมมือที่ทำให้ไทยเป็นประชาธิปไตย

ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯโดนจับจ้องจากทั่วทิศทางทันที เพราะทางการทูตแล้วถือว่าไม่แฟร์ต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง

ออฟไซต์-แทรกแซงกันแบบชัดเจน

ความเคลื่อนไหวของสหรับฯระลอกนี้ “แหล่งข่าวด้านความมั่นคง” ตั้งข้อสมมุติฐานไว้ 3 ข้อ ว่า

สมมติฐานแรก มีบางคนในกลุ่มอดีตนักการทูตของสหรัฐฯ โดยเฉพาะ “คริสตี้ เคนนีย์” อดีตเอกอัคราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย ที่อาจจะเป็นคนตั้งใจเดินหมากเกมนี้ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าเจ้าของฉายา “ทูตมะกันหัวใจสีแดง” ผู้นี้ถือหาง “ระบอบทักษิณ” ตลอดระยะเวลาที่มาอาศัยแผ่นดินไทยเป็นที่ทำงาน

ถึงขนาดมีการเม้าส์กันว่า “คริสตี้” พนันไว้ว่า 1 ปี “ระบอบทักษิณ” จะกลับมามีอำนาจทางการเมืองในไทย

“เราจะเห็นว่าตอนที่แดเนียล รัสเซล ขึ้นเวทีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาพูดถึงอดีตทูตก่อนเลย ซึ่งอาจจะได้รับคำแนะนำมาให้แสดงท่าทีแข็งกร้าว ประเทศมหาอำนาจเขาทำอะไรเขาต้องคิดวางแผนอยู่แล้ว เราจึงต้องตั้งข้อสมมุติฐานนี้ไว้ด้วย”

และที่ “แดเนียล รัสเซล” เปิดโอกาสให้ “ยิ่งลักษณ์” และ “แกนนำพรรคเพื่อไทย” เดินทางเข้าพบที่บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ก็ถูกมองว่าเป็นการวางแผนไว้ล่วงหน้า

“เขามองว่าการใช้พื้นที่ของสหรัฐฯเองจะปลอดภัยต่อคุณยิ่งลักษณ์ และปลอดภัยต่อสหรัฐฯเอง เพราะคิดว่าพื้นที่ตรงนั้นรัฐบาลไทยไม่สามารถเอาผิดอะไรได้เลย”
สมมติฐานที่ 2 หากมองในแง่ดี บางทีสหรัฐฯอาจจะหวังดีต่อสถานการณ์ในประเทศไทยจริง และอาจจะกังวลจริงๆ หรืออาจจะมองว่ามี “กฏอัยการศึก” ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพ สื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพมากนัก ส่งผลให้การร่างรัฐธรรมนูญอาจไม่รอบด้าน

“อย่างนี้ไม่คิดในแง่ร้ายมากนัก เขากลัวมันจะไปไกล คิดแบบนี้เหมือนเพื่อนเตือนกัน เขาคงเป็นห่วงไทยเหลือเกิน เหมือนไทยกำลังตายกินยาแรงอยู่ หากปล่อยไว้เราต้องตาย ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย”

สมมติฐานที่ 3 เกิดจากความผิดพลาดการดำเนินการทางการทูต เพราะจุดปะทุให้เกิดความขัดแย้ง เพราะ “นักการทูต” จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ถ้าสร้างให้เกิดความขัดแย้งถือว่างานด้านการทูตล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

“หากเป็นความผิดพลาดทางการทูต สหรัฐฯคงประเมินไทยต่ำไป เพราะทางการทูตมาสร้างความขัดแย้งถือว่าล้มเหลว ที่ผ่านมาสหรัฐฯไม่ใช้วิธีทางการทูตแบบนี้กับประเทศใดมาก่อนเลย มาแบบนี้รัฐบาลสหรัฐฯไม่เกิดประโยชน์”

จากการคาดการณ์แล้ว วิเคราะห์กันว่า “น่าจะมาจากการไร้ประสบการณ์ของคณะทูตสหรัฐ พลีพลามมากเกินไป เพราะถ้าบอกว่ารัฐบาลชุดนี้อยู่เพียง 1 ปี คุณก็รอพรรคเพื่อไทยไป”

นอกจากนี้ “มังกรจีน” ยังเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ “พญาอินทรี” ลนลานเดินเกมจนเสียขบวน เพราะหากย้อนไปดูในช่วง “รัฐประหาร 2549” จุดยืนของ “ไทย” ไม่ได้หันไปคบหาสมาคมกับ “จีน” แบบออกนอกหน้านอกตาเหมือนครั้งนี้

ดังนั้นสหรัฐฯจึงไม่ไว้ใจท่าทีของไทย และอยากให้ไทยกลับไปเลือกตั้งให้เร็วที่สุด หวังว่าเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายการต่างประเทศก็จะเปลี่ยนไปด้วย

ตรงนี้เป็นมุมมองการเมืองระดับโลก เพราะอย่าลืมว่าขณะนี้หากประเมินขั้วอำนาจของโลกด้วยสายตา จะเห็นว่า “มังกรจีน” เหลื่อมหน้าแซง “อินทรีสหรัฐฯ” ไปเกือบช่วงตัว ใกล้ยึดเบอร์หนึ่งของโลกได้แล้ว หาก ปล่อยไทยซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของ “อาเซียน” ไปเป็นฐานที่มั่นของคู่แข่ง ก็เท่ากับถวายพาน “เออีซี” ให้ “พี่จีน” ไปรับประทานแบบง่ายดาย และสหรัฐฯจะเป็นฝ่ายสูญเสียผลประโยชน์มากที่สุด

“สหรัฐฯมีความกังวลเรื่องจีน เพราะรัฐบาลมีความสัมพนธ์ที่ดีกับจีน แต่ไม่ควรถึงขนาดทุบกันแบบนี้ ตอนนี้คนรู้สึกว่าทุบไปแล้ว”

ทั้งหลายทั้งปวงคือ สาเหตุที่สหรัฐฯออกอาการเสียศูนย์ให้เห็น และรีบร้อนเดินเกมดันบีบไม่ให้ “ไทย” ได้ขยับตัวได้ง่าย หลังจากนี้ก็ต้องจับตามองมาตรการทางการทูตของไทย-สหรัฐฯว่าจะออกมาในรูปแบบใด

จะประนีประนอมทำความเข้าใจ หรือฟาดฟันกันจนแตกหัก

ฟันธงได้เลยว่าหากรัฐบาล ไม่ได้มาจาก “ระบอบทักษิณ” ท่าทีของสหรัฐฯคงไม่มีทางญาติดีกับ “ประเทศไทย” อย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น