xs
xsm
sm
md
lg

อียูยันไม่ผ่อนปรนคว่ำบาตรรัสเซีย หลังวิกฤตยูเครนเลวร้ายลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เฟเดริกา โมเกรินี ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของอียู
เอเอฟพี - เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศอียูเห็นพ้องกันเมื่อวันจันทร์ (19 ม.ค.) ว่าทางกลุ่มจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อรัสเซีย ในนั้นรวมถึงมาตรการคว่ำบาตร ขณะที่หัวหน้าทูตของสหภาพแห่งนี้เตือนว่าสถานการณ์ในยูเครนช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา “เลวร้ายลงอย่างมาก”

บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปยืนยันว่าพวกเขาจะยึดมั่นในแนวทางของตนเองจนกว่ารัสเซียจะบังคับใช้ข้อตกลงสันติภาพยูเครนอย่างสมบูรณ์ ตามที่ตกลงกันไว้เมื่อเดือนกันยายนปีก่อน แม้เฟเดริกา โมเกรินี ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของอียู บ่งชี้ว่ากำลังดำเนินการทบทวนข้อตกลงต่างๆ ที่อียูทำไว้กับรัสเซีย

“เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศของอียูเห็นพ้องกันว่าเราต้องคงมาตรการคว่ำบาตรต่อไปเพื่อกดดันรัสเซียจนกว่าพวกเขาจะช่วยส่งมอบสันติภาพในยูเครน” ฟิลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักรระบุในทวิตเตอร์ ตามหลังการหารือในบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม “อียูยังต้องอยู่บนเส้นทาง” เขากล่าว

28 ชาติสมาชิกอียูกำหนดมาตรการคว่ำบาตรอย่างจำกัดต่อรัสเซีย หลังจากมอสโกผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในเดือนมีนาคม 2014 จากนั้นก็เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการคว่ำบาตร ตามหลังโศกนาฏกรรมเครื่องบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MH17 ถูกยิงตกทางภาคตะวันออกของยูเครนในเดือนกรกฎาคม

ด้วยเหตุปะทะรอบใหม่กำลังปะทุขึ้นทางภาคตะวันออกของยูเครน โมเกรินีบอกว่าพัฒนาการทางภาคพื้นที่ไม่ได้ดีขึ้น แถมยังเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามอีกต่างหาก “สถานการณ์ทางภาคพื้นในวันนี้ เลวร้ายกว่าเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน” ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของอียู แถลงกับผู้สื่อข่าวหลังการหารือ

ในการแถลงก่อนการประชุม โมเกรินี ร้องขอเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศมองข้ามวิกฤตยูเครนไปก่อน หากสองฝ่ายเดินหน้าแบ่งปันความกังวลต่างๆ ทั้งเรื่องซีเรีย อิรักและก่อการร้าย นอกจากนี้เธอยังบ่งชี้ว่าทางกลุ่มมีข้อถกเถียงกันเล็กน้อยในความเห็นต่างเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย กรณีผนวกไครเมีย กับมาตรการคว่ำบาตรพวกกบฏฝักใฝ่มอสโกทางภาคตะวันออกของยูเครน กระนั้น โมเกรินียืนยันว่าอียูยังคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน “ใครที่คาดหวังเห็นความแตกแยกในวันนี้ คงต้องผิดหวังเล็กน้อย” เธอกล่าว

อียูมีความเห็นแตกแยกมานานเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตร โดยบางประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าและการเมืองกับรัสเซีย อย่างเยอรมนี และอิตาลี ไม่สู้เต็มใจเพิ่มความหนักหน่วงของมาตรการคว่ำบาตร ตามหลังโศกนาฏกรรม MH17 ทั้งนี้ด้วยมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ครบ 1 ปีในเดือนมีนาคม นั่นหมายความว่าจะมีการทบทวนมาตรการชุดแรกๆ เร็วๆ นี้ ทำให้อียูตกเป็นเป้าสนใจว่าพวกเขาจะตัดสินใจดำเนินการอย่างไรต่อไป

ข้อตกลงที่กรุงมินสก์ เมื่อเดือนกันยายน ประกอบด้วยการหยุดยิงและถอนทหาร แต่สุดท้ายมันก็ล้มเหลวระงับการสู้รบระหว่างสองฝ่ายที่คร่าชีวิตนับตั้งแต่เดือนเมษายนแล้วกว่า 4,800 ศพ โดยทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่าอีกฝ่ายไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลง ขณะที่ในวันจันทร์ (19 ม.ค.) ก็เพิ่งเกิดการปะทะอย่างดุเดือดรอบใหม่ที่สนามบินโดเนตสก์

เอกสารการหารือของอียูรั่วไหลไปถึงมือสื่อมวลชนก่อนหน้าการประชุมในวันจันทร์ (19 ม.ค.) เรียกเสียงตำหนิจากรัฐมนตรีต่างประเทศบางส่วนที่กังวลต่อจุดยืนของโมเกรินี ซึ่งเคยถูกกล่าวหาว่ามีท่าทีโอนอ่อนต่อมอสโกเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศอิตาลี ก่อนขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของอียู “เราไม่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงจุดยืนในตอนนี้” แหล่งข่าวด้านการทูตอียูคนหนึ่งบอกก่อนการประชุม พร้อมระบุว่าเอกสารที่หลุดออกมาไม่ได้่ช่วยอะไรเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น