เอเจนซีส์ – รัฐมนตรีต่างประเทศอียูหารือแนวทางสร้างเครือข่ายพันธมิตร ซึ่งรวมถึงประเทศมุสลิม เพื่อรับมือภัยคุกคามจากกลุ่มนักรบอิสลามิสต์ ขณะที่ยุโรปยังคงเฝ้าระวังในระดับสูง หลังเกิดเหตุโจมตีปารีสและการบุกกวาดล้างเครือข่ายก่อการร้ายในเบลเยียม
จุดสนใจเฉพาะหน้าในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ 28 ชาติสหภาพยุโรป (อียู) คือ วิธีการป้องกันพลเมืองที่รู้ว่าเป็น “นักรบต่างชาติ” ผู้เดินทางกลับจากไปร่วมรบในซีเรียและอิรัก พร้อมทั้งฝักใฝ่ในลัทธิหัวรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งยังได้รับการฝึกฝนอาวุธมาเป็นอย่างดี
เฟเดริกา โมเกรินี ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของอียู เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (19) ก่อนเริ่มต้นการหารือว่า ที่ประชุมจะหารือวิธีการต่อต้านการก่อการร้ายไม่เพียงเฉพาะในยุโรปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภูมิภาคอื่นๆ ของโลกด้วย ซึ่งหมายถึงการแบ่งปันข้อมูลและการร่วมมือกันระหว่างนานาชาติมากขึ้น
อนึ่ง ในการประชุมครั้งนี้ สันนิบาตอาหรับได้ส่งเลขาธิการใหญ่ นาบิล อัล-อาราบี ร่วมหารือด้วย
ทางด้าน ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ระบุว่า การโจมตีในปารีสเมื่อต้นเดือน “เปลี่ยนแปลงยุโรปและโลก” และยุโรปจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับประเทศมุสลิมมากขึ้น
ฟิลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษขานรับว่า ประเทศมุสลิมเป็นผู้ที่รับภาระหนักที่สุดจากลัทธิก่อการร้ายและจะยังคงเป็นด่านหน้าในการเผชิญกับลัทธินี้ต่อไป ดังนั้น ยุโรปจึงควรร่วมมือกับประเทศเหล่านี้ให้มากขึ้นเพื่อร่วมกันรับมือภัยก่อการร้าย
นอกจากนี้ที่ประชุมยังตัดสินใจอุทธรณ์คำตัดสินของศาลทั่วไป ซึ่งเป็นศาลสูงสุดอันดับ 2 ของอียูเมื่อวันที่ 17 ธันวาคมปีที่ผ่านมา ให้ยกเลิกการขึ้นบัญชีดำกลุ่มฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้าย เนื่องจากเป็นการสรุปจากข้อมูลจากสื่อและอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่วิจารณญาณทางกฎหมาย
หลังการตัดสินใจดังกล่าว ฮามาสที่ครอบครองฉนวนกาซ่าตั้งแต่ปี 2007 ออกมาวิจารณ์ทันทีว่า อียูเข้าข้างอิสราเอล ขณะที่ทางการยิวสนับสนุนให้บรัสเซลส์แซงก์ชันฮามาสต่อ โดยอ้างว่า สหรัฐฯ ยังคงจัดให้กลุ่มนี้เป็นขบวนการก่อการร้ายไม่เปลี่ยนแปลง
อนึ่ง การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอียูในวันจันทร์ (19) ถือเป็นการเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดนัดพิเศษในวันที่ 12 เดือนหน้าว่าด้วยประเด็นการต่อต้านการก่อการร้ายโดยเฉพาะ
ขณะเดียวกัน ทางการเบลเยียมยังคงตามล่า อับเดลฮามิด อาบาอูด ซึ่งเชื่อว่า เป็นแกนนำขบวนการที่มีแผนสังหารตำรวจเบลเยียมแต่ถูกกวาดล้างเสียก่อนเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (15)
อัยการเบลเยียมเผยว่า จะขอให้กรีซส่งตัวผู้ต้องสงสัยที่จับได้เมื่อวันเสาร์ (17) ให้ เนื่องจากเชื่อว่า อาจมีส่วนโยงใยกับกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าว
ที่เยอรมนี ตำรวจสั่งห้ามการชุมนุมต่อต้านอิสลามของขบวนการ PEGIDA รวมทั้งการชุมนุมกลางแจ้งอื่นๆ ในวันจันทร์ที่เมืองเดรสเดน เนื่องจากมีรายงานจากสื่อท้องถิ่นว่า กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่ยึดครองพื้นที่กว้างขวางในซีเรียและอิรัก มีแผนสังหาร ลุทซ์ บาคแมนน์ ผู้นำกลุ่ม PEGIDA
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มเดินขบวนเมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว PEGIDA สามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมมากขึ้น และทำสถิติสูงสุด 25,000 คนเมื่อวันจันทร์ที่แล้ว (12) จากกระแสการโจมตีในปารีส
การเดินขบวนต่อต้านอิสลามยังแผ่ขยายไปยังอีกหลายประเทศในยุโรป เช่น กลุ่ม PEGIDA ในเดนมาร์กจะเริ่มชุมนุมครั้งแรกที่กรุงโคเปนเฮเกนในวันจันทร์ (19) ซึ่งแกนนำคาดว่า จะมีคนเข้าร่วม 300 คน
ที่ฝรั่งเศสเมื่อวันอาทิตย์ (18) ศาลสั่งห้ามการเดินขบวนต่อต้านอิสลามในปารีส เนื่องจากเชื่อว่า เป็นการส่งเสริมกระแส Islamophobia (ความหวาดกลัวอิสลาม)
ในทางกลับกัน ชาวมุสลิมในหลายประเทศชุมนุมต่อต้านนิตยสารชาร์ลี เอ็บโดของฝรั่งเศส ฉบับพิเศษโดย ที่ใช้การ์ตูนล้อเลียนศาสดาโมฮัมหมัดขึ้นปก
ชาร์ลี เอ็บโด นิตยสารแนวเสียดสีของแดนน้ำหอม ถูกมือปืนอิสลามิสต์ 2 คนบุกเข้าไปกราดยิงในสำนักงานในกรุงปารีสเมื่อวันที่ 7 มกราคม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน
การชุมนุมที่ลุกลามกลายเป็นความรุนแรงในไนเจอร์ ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 รายเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
กระนั้น เจอราร์ บิอาร์ด บรรณาธิการบริหารชาร์ลี เอ็บโด ยืนกรานว่า การ์ตูนล้อศาสดาของศาสนาต่างๆ เป็นการปกป้องเสรีภาพด้านศาสนา
ชาร์ลี เอ็บโดฉบับ “ผู้รอดชีวิต” ขายไปแล้ว 2.7 ล้านฉบับนับจากวางแผงเมื่อวันพุธที่แล้ว (14) ในขณะที่ก่อนเกิดเหตุมียอดตีพิมพ์เพียง 60,000 ฉบับเท่านั้น
เมื่อวันอาทิตย์ (18) ประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ โอลองด์ของฝรั่งเศส แถลงยืนยันจุดยืนว่า ฝรั่งเศสยึดมั่นในเสรีภาพในการแสดงออก พร้อมเรียกร้องพลเมืองอย่าละทิ้งจุดยืนนี้เนื่องจากจะเป็นการยอมจำนนต่อลัทธิก่อการร้าย
อนึ่ง นับแต่เกิดเหตุการณ์โจมตีปารีส คะแนนนิยมของโอลองด์พุ่งขึ้นมาตลอด ล่าสุดผลสำรวจจากไอฟอปที่ออกมาเมื่อวันจันทร์ (19) ระบุว่า เรทติ้งผู้นำแดนน้ำหอมขึ้นไปอยู่ที่ 40% จากที่เคยเรี่ยติดดินที่ 21% และตกต่ำเป็นประวัติการณ์เมื่อประเทศประสบปัญหาอัตราว่างงานพุ่งโด่งและการเติบโตซบเซา
เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี มานูเอล วาลส์ ที่คะแนนนิยมทะยานขึ้น 17% ไปอยู่ที่ 61% สูงกว่าเมื่อตอนเข้ารับตำแหน่งครั้งแรก