บีบีซี/เอเอฟพี - นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีและประธานาธิบดีโยอาคิม เกาค์ เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมความอดทน การยอมรับเสรีภาพในการนับถือศาสนาในประเทศ ซึ่งจัดโดยกลุ่มมุสลิมเมื่อวันอังคาร (13 ม.ค.) ด้วยมีจุดประสงค์ตอบโต้การเดินขบวนของกลุ่มต่อต้านอิสลาม และแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเหยื่อโจมตีในฝรั่งเศส
มีพลเรือนราว 10,000 คน เหล่าผู้นำทางศาสนาและนักการเมือง เช่นเดียวกับนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีและประธานาธิบดีโยอาคิม เกาค์ ที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ ที่เริ่มต้นด้วยพิธีวางพวงหรีด ณ สถานทูตฝรั่งเศสและอิหม่ามคนหนึ่งอ่านกลอนคัมภีร์อัลกุรอาน ประณามการเข่นฆ่าชีวิตมนุษย์
ฝ่ายจัดงานบอกว่า กิจกรรมนี้มีเป้าหมายคือเพื่อประณามเหตุโจมตีในฝรั่งเศสและแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเหยื่อ และยังเป็นการตอบโต้การเดินขบวนต่อต้านกระแสอิสลามานุวัตรทั่วเยอรมนีเมื่อเร็วๆนี้ที่จัดโดยแกนนำการชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า ชาวยุโรปรักชาติต่อต้านกระแสอิสลามานุวัตรแห่งตะวันตก” (Patriotic Europeans Against the Islamization of the West) หรือ PEGIDA
เหตุการณ์โจมตีของผู้ก่อการร้ายในปารีสนาน 3 วันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 17 ราย ปลุกเร้ากระแสต่อต้านอิสลามในเยอรมนี โดยวันจันทร์ที่ผ่านมา การชุมนุมต่อต้านอิสลามประจำสัปดาห์ที่เดรสเดนสามารถดึงดูดผู้คนได้ถึง 40,000 คน แม้ตำรวจให้ตัวเลขเพียง 25,000 คนก็ตาม
เหล่าผู้นำทางการเมืองของเยอรมนีกล่าวหากลุ่มเคลื่อนไหว PEGIDA ว่ากำลังพยายามแสวงหาประโยชน์จากเหตุโจมตีในเยอรมนีและเกรงว่ามันจะลุกลามบานปลายไปยังเมืองอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนกลุ่มคัดค้านการเดินขบวนต่อต้านอิสลามจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่า สำนักข่าวดีพีเอ ของเมืองเบียร์รายงานว่าในวันจันทร์ (12 ม.ค.) กลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้าน PEGIDA สามารถดึงดูดประชาชนให้ออกมารวมตัวกันมากถึง 8,000 คนในเมืองเดรสเดน, 30,000 คนในเมืองไลป์ซิก, 20,000 คนในเมืองมิวนิก, 17,000 คนในเมืองฮันโนเวอร์, 9,000 คนในเมืองซาร์บรุคเคิน และ 5,000 คนในเมืองดุสเซลดอร์ฟ 4,000 คนในกรุงเบอร์ลิน และฮัมบูร์ก, 2,000 คนในเมืองรอสต็อค และจำนวนรองลงมาในเมืองอื่นๆ
ประธานาธิบดีเกาค์กล่าวในงานกิจกรรมที่จัดขึ้นบริเวณประตูบรันเดนเบิร์กในวันอังคาร (13 ม.ค.) ว่า “เราทุกคนล้วนเป็นเยอรมัน เยอรมนีมีความหลากหลายมากกว่าแต่ก่อน ผ่านการอพยพ ศาสนา วัฒนธรรมและจิตใจ ความหลากหลายนี้ทำให้ประเทศของเราประสบความสำเร็จ น่าสนใจและน่าชื่นชม”
ส่วนไอมัน มาซเยค ประธานสภามุสลิมของเยอรมนี บอกกับฝูงชนที่มาร่วมงานว่า เรายืนหยัดร่วมกันเพื่อเยอรมนีที่เปิดกว้างต่อโลก ด้วยความใจกว้าง เคารพต่อสิทธิการแสดงความเห็น สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและศาสนา
กิจกรรมนี้มีการถ่ายทอดสดไปทั่วเยอรมนีในการออกอากาศพิเศษที่ใช้ชื่อว่า “เยอรมนีคือชาร์ลี” ดัดแปลงจากวลี “เฌอ ซุยส์ ชาลี” หรือ “ฉันคือชาลี” ที่แสดงถึงการสนับสนุนนิตยสารชาร์ลี เอ็บโด ที่ตีพิมพ์การ์ตูนล้อศาสดามูฮัมหมัด จนถูกมือปืนบุกสังหารหมู่ในกรุงปารีสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยงานนี้มีบุคคลสำคัญจากทุกหมู่เหล่าทางการเมืองเข้าร่วม เช่นเดียวกับหล่าผู้นำคริสเตียนและตัวแทนจากสภากลางชาวยิวของเยอรมนี
แม้จะไม่ได้กล่าวสุนทรพจน์ในกิจกรรมนี้ แต่นางอังเกลา แมร์เคิล ได้ขอบคุณประชาคมมุสลิมกว่า 4 ล้านคนของเยอรมนีต่อกรณีที่ออกมาประณามความรุนแรงในปารีสอย่างชัดเจนและทันทีทันใด หลังจากเมื่อวันจันทร์ (12 ม.ค.) เธอบอกว่าอิสลามเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนี และไม่มีเนื้อที่สำหรับความเกลียดชัง การเหยียดผิวและลิทธิหัวรุนแรงในประเทศแห่งนี้