xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อชาร์ลีเอ็บโดใช้การ์ตูนล้อศาสดาอิสลามขึ้นปกจะกระตุ้นความเดือดดาลอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิตยสาร “ชาร์ลี เอ็บโด” เตรียมวางตลาดฉบับพิเศษซึ่งรูปแบบและเนื้อหายังคงยึดแนวเสียดสีท้าทายเหมือนเดิม โดยหน้าปกเป็นภาพการ์ตูนศาสดาโมฮัมหมัดยืนร้องไห้ชูป้าย “ฉันคือชาร์ลี” พร้อมคำบรรยาย “ยกโทษให้หมดแล้ว” ทางด้านทำเนียบขาวยอมรับผิดที่ไม่ส่งสมาชิกคณะบริหารระดับสูงไปร่วมเดินขบวนในปารีส ขณะที่เหตุการณ์โจมตีของผู้ก่อการร้ายในฝรั่งเศสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปลุกเร้าให้ทั้งกลุ่มต่อต้านอิสลามหัวรุนแรง และกลุ่มคัดค้านการดำเนินการดังกล่าวในเยอรมนี แข่งกันจัดการชุมนุมมวลชนแสดงกำลัง

หน้าปกของนิตยสารชาร์ลี เอ็บโดฉบับพิเศษที่เรียกว่าเป็นฉบับ “ผู้รอดชีวิต” ถูกนำออกแจกจ่ายเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ไปตามสื่อต่างๆ ก่อนที่จะวางแผงจริงในวันพุธ (14ม.ค.) โดยมียอดตีพิมพ์ 3 ล้านฉบับ ในภาษาต่างๆ 16 ภาษา และเตรียมวางจำหน่ายใน 25 ประเทศตามที่มีเสียงเรียกร้องต้องการ

ชาร์ลี เอ็บโดได้รับกำลังใจอย่างท่วมท้นจากทั่วโลก หลังเหตุมือปืนบุกสำนักงานของนิตยสารแห่งนี้ในกรุงปารีสเมื่อวันพุธที่แล้ว (7) และกราดยิงสังหารหมู่ 12 ศพ โดยในจำนวนนี้เป็นนักเขียนการ์ตูนอาวุโส 5 คน

อย่างไรก็ดี ภาพปกล้อเลียนศาสดาโมฮัมหมัดล่าสุด เป็นที่คาดหมายกันว่าจะกระตุ้นยั่วยุความโกรธแค้นของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง ตลอดจนชาวมุสลิมทั่วไป

ทั้งนี้ มือปืนสองคนที่ก่อเหตุสังหารหมู่กองบรรณาธิการชาร์ลี เอ็บโด ประกาศว่า เป็นการล้างแค้นให้ศาสดาโมฮัมหมัด

ทีมงานของนิตยสารฉบับนี้ตกเป็นเป้าถูกขู่ฆ่าครั้งแรกในปี 2006 จากการนำการ์ตูนของหนังสือพิมพ์จิลแลนด์ส-โพสเทนของเดนมาร์กมาตีพิมพ์ใหม่ โดยที่การ์ตูนชุดดังกล่าวได้ทำให้เกิดเหตุจลาจลรุนแรงในประเทศมุสลิมบางแห่ง

พนักงานนิตยสารนี้ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ล่าสุด ออกมาให้คำมั่นว่าจะสานต่อธรรมเนียมการล้อเลียนเสียดสีทุกศาสนา ทุกกลุ่มเหล่าการเมือง คนดัง และเหตุการณ์ใหม่ๆ โดยที่ผ่านมา ชาร์ลี เอ็บโด วาดการ์ตูนล้อเลียนกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงมาโดยตลอด

ริชาร์ด มัลคา ทนายความของชาร์ลี เอ็บโด ยืนยันว่า นิตยสารจะไม่ยอมจำนนต่อกลุ่มหัวรุนแรง พร้อมย้ำว่า ชาร์ลี เอ็บโดมองตัวเองว่า ไม่ได้เป็นหนังสือพิมพ์ที่ขายความรุนแรง และไม่เลื่อมใสความรุนแรง

ในการจัดทำฉบับพิเศษนี้ กองบรรณาธิการชาร์ลี เอ็บโด ต้องไปอาศัยทำงานในสำนักงานของหนังสือพิมพ์ “ลิเบราซิยอง” และหยิบยืมอุปกรณ์จากองค์กรสื่อต่างๆ เนื่องจากสำนักงานของตัวเองที่เป็นสถานที่เกิดเหตุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วยังเป็นพื้นที่ควบคุมเพื่อเก็บหลักฐานของตำรวจ

นิตยสารที่มีอายุอานาม 44 ปีฉบับนี้ส่อเค้าล้มละลายรอมร่อก่อนถูกโจมตี และเดิมทีมียอดตีพิมพ์สัปดาห์ละ 60,000 ฉบับเท่านั้น

แต่หลังการสังหารหมู่ นอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาลและเอกชนของฝรั่งเศสแล้ว ชาร์ลี เอ็บโดยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพในการแสดงออกของแดนน้ำหอม วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (11) ประชาชน 1.5 ล้านคน พร้อมทั้งผู้นำจากหลายสิบชาติร่วมเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสในปารีส เพื่อให้กำลังใจชาร์ลีเอ็บโด
กำลังโหลดความคิดเห็น