xs
xsm
sm
md
lg

กระแส “ฉันไม่ใช่ชาร์ลี” สะท้อนมวลชนมีจุดยืนแตกแยก กรณีสื่อล้ออิสลามแดนน้ำหอมถูกถล่มยิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - ถึงแม้จะมีประชาชนทั่วโลกหลั่งไหลไปร่วมแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หลังเกิดเหตุโจมตีสำนักงานนิตยสาร “ชาร์ลี เอ็บโด” ที่กรุงปารีส จนเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย และสร้างความอกสั่นขวัญแขวนแก่คนมากมายในฝรั่งเศส ทว่า ก็มีคนบางส่วนที่สังเกตเห็นเล่ห์เพทุบาย หรือรู้สึกสะอิดสะเอียนที่จะร่วมสนับสนุนนิตยสารรายสัปดาห์แนวเสียดสีประชดประชัน ที่มีจุดยืนเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้คนมากมาย

ประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ โอลองด์ แห่งฝรั่งเศสได้เน้นย้ำว่า เสรีภาพในการแสดงออกจะต้องไม่ถูกลิดรอนด้วยความหวาดกลัวภัยก่อการร้าย และเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจต่างให้สนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการรณรงค์เพื่อแสดงความสามัคคีผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ภายใต้การแฮชแท็กข้อความ “Je suis Charlie” (ฉันคือชาร์ลี) ที่เกิดขึ้นพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย

ทว่า ในอีกด้านหนึ่งได้เกิดกระแสคลางแคลงสงสัยขึ้นในหมู่พนักงานของชาร์ลี เอ็บโด ที่รอดชีวิตมาได้ โดยพวกเขาตั้งข้อสังเกตว่า คนบางส่วนไม่ได้สนับสนุนพวกเขาจากใจจริง เพราะคนเหล่านี้มองว่านิตยสารเจ้านี้ถ่ายทอดสิ่งที่ก้าวร้าว นอกจากนี้ยังมีคนอื่นๆ ที่ตั้งคำถามว่า ผู้นำโลกกว่า 40 คนที่มาเดินทางมาร่วมการเดินขบวนแสดงความสมัครสมานสามัคคีที่กรุงปารีสวานนี้ (11) เคารพสิทธิมนุษยชนมากน้อยเพียงใด

นาโล มากาลอู นักศึกษาภาควิชาคณิตศาสตร์ตั้งคำถามถึงปฏิกิริยาของนักการเมืองและสื่อมวลชนไว้ว่า “พวกเขาสรรหาคำพูดที่โก้หรูมาเชิดชูเสรีภาพในการแสดงออก และประชาธิปไตย แต่ก่อนหน้านี้พวกเขาไปอยู่ไหน ไม่ค่อยมีสิ่งที่พิสูจน์” ได้ว่า พวกเขาเชิดชูเสรีภาพอย่างจริงจังมากนัก

ถึงแม้จะได้รับกระแสความนิยมน้อยกว่า การรณรงค์ภายใต้แฮชแทก #JeSuisCharlie (#ฉันคือชาร์ลี) ไปไกลโข แต่ก็มีผู้ติดแฮชแท็กข้อความว่า #IamNotCharlie ออกมาให้เห็นอยู่บ้างทางทวิตเตอร์

แต่ที่แน่ๆ มีเพียงผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพียงกระหยิบมือเท่านั้นที่กล่าวยกย่องการก่อเหตุโจมตี 3 ครั้งในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 17 คน รวมถึงการปิดล้อมจับตัวประกันในซูเปอร์มาร์เก็ตของชาวยิว ทางตะวันออกของกรุงปารีส

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่านั้น กลุ่มคนที่บอกว่า แม้ว่าพวกเขาจะประณามการก่อเหตุโจมตีที่ฝรั่งเศสอย่างเด็ดขาด แต่ก็ไม่สามารถทำใจสนับสนุนสื่อที่ล้อเลียนศาสนาอย่าง ชาร์ลี เอ็บโด ได้

มาร์เซล เซล นักเขียนบล็อกชาวเบลเยียมระบุในเว็บไซต์ของตนเองว่า “คงจะเป็นเรื่องง่ายเกินไป (ที่จะบอกว่า) ผมคือชาร์ลี”

แม้ว่าเขาจะรู้สึกหวาดผวากับเหตุโจมตี และกล่าวประณามผู้ก่อเหตุโดยไม่สงวนท่าที แต่ก็ชี้ว่า หากเขามัวเสแสร้งว่าตนคือ "ชาร์ลี” ก็คงจะเป็นการกรระทำที่ “ขี้ขลาด” เพราะในอดีตเขาเคยออกมาวิจารณ์การตูนล้ออิสลามของนิตยสารฉบับนี้อย่างรุนแรง

ทางด้าน ซาคาเรีย มุมนี ชายลูกครึ่งฝรั่งเศส - มอสโกวัย 34 ปีที่นำผืนธงชาติฝรั่งเศสมาห่มตัว ขณะเข้าร่วมการชุมนุมที่จัตุรัส ปลาซ เดอ ลา เรปูบลิค เพื่อร่วมการเดินขบวนวานนี้ (11) ชี้ว่าเกิดความแตกแยกในการแสดงออกความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันครั้งนี้ โดยให้เหตุผลที่ต่างออกไป

มุมนี ซึ่งเคยเป็นอดีตแชมป์มวยไทย และเคยถูกทรมานในโมร็อกโก ก่อนจะได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรเอ็นจีโอต่างๆ เช่น ฮิวแมนไรต์วอทช์ ขณะถูกคุมขังที่นั่นกล่าวว่า “ผู้นำบางประเทศ และหัวหน้ารัฐบาลบางชุดไม่ควรเข้าร่วมงานนี้ เพราะกระทั่งตัวพวกเขาเองยังละเมิดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นในประเทศของตนเองอย่างรุนแรง”

โมร็อกโกได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า ใช้วิธีการทรมานเพื่อลงโทษ และได้ฟ้องร้องผู้กล่าวหาในฝรั่งเศส เมื่อเดือนมีนาคม ปีที่แล้ว

สำหรับ แบร์นารด์ โอลโทรป์ นักวาดการ์ตูนผู้มากประสบการณ์ของชาร์ลี เอ็บโดชี้ว่า ปัญหาอยู่ที่ “สหาย” หน้าใหม่ของหนังสือพิมพ์เจ้านี้

โอลโทรป์ ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางที่ฝรั่งเศสในชื่อ “วิลเลม” บอกว่า มีความสุขที่ได้เห็นคนทั่วโลกร่วมกันเดินขบวนปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามว่าคิดอย่างไรที่เห็น คีเอิร์ต วิลเดอร์ส นักการเมืองขวาจัดชาวดัตช์ เข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ครั้งนี้ เขากล่าวว่า “รู้สึกคลื่นเหียนที่จู่ๆ คนพวกนี้บอกว่าเป็นเพื่อนเรา”

“เราได้มิตรใหม่มากมาย ทั้งสมเด็จพระสันตะปาปา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ปูติน ผมว่าช่างเป็นเรื่องที่น่าขันเสียจริง” วิลเลมบอกว่า ที่ตนรอดมาได้ก็เพราะไม่ชอบไปร่วมประชุมพนักงานรายสัปดาห์ และตัวเขาไม่ได้อยู่ที่ปารีสขณะมือปืนสองพี่น้องบุกถล่มยิงเพื่อนร่วมงาน และตำรวจ 2 นายเสียชีวิต


กำลังโหลดความคิดเห็น