เอเอฟพี - ประชาชนหลายแสนคนตามเมืองสำคัญทั่วโลกตั้งแต่อเมริกา ยุโรป ไปจนกระทั่งถึงตะวันออกกลาง พร้อมใจกันแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับฝรั่งเศสเมื่อวานนี้ (11 ม.ค.) ภายใต้สโลแกน “ฉันคือชาร์ลี” (Je suis Charlie) และการชูปากกาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพในการแสดงออก
ประชาชนในกรุงเบอร์ลิน เรื่อยไปจนถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เยรูซาเลม และเบรุต ต่างชูธงชาติฝรั่งเศสและร้องเพลงชาติ “ลา มาร์แซแยส” (La Marseillaise) เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านเหตุโจมตีนิตยสาร ชาร์ลี เอ็บโด และซุปเปอร์มาร์เก็ตยิวในกรุงปารีสเมื่อสัปดาห์ที่แล้วซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 17 คน ทั้งชาวคริสต์ ชาวมุสลิม และชาวยิว ต่างเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้โดยทั่วหน้า พร้อมๆ กับที่ชาวฝรั่งเศสเกือบ 4 ล้านคนได้ออกมาแสดงพลังตามท้องถนนทั่วประเทศ
ที่อิสราเอลซึ่งชาวยิวฝรั่งเศส 4 คนที่ถูกสังหารในเหตุโจมตีซุปเปอร์มาเก็ตจะถูกส่งกลับไปประกอบพิธีฝัง มีชาวยิวกว่า 500 คนรวมตัวกันที่นครเยรูซาเลม ขณะที่ชาวปาเลสไตน์หลายสิบคนก็มาชุมนุมกันที่เมืองรามัลเลาะห์ในเขตเวสต์แบงก์ โดยชูธงชาติปาเลสไตน์และธงฝรั่งเศส พร้อมเขียนป้ายข้อความว่า “ปาเลสไตน์ยืนหยัดต่อต้านการก่อการร้ายเคียงข้างฝรั่งเศส”
ข้ามไปยังอีกฟากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ชาวแคนาดาราว 25,000 คน ในเมืองมอนทรีออลซึ่งพูดภาษาฝรั่งเศส ได้ออกมาแสดงพลังต่อต้านลัทธิหัวรุนแรง ส่วนที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก็มีการเดินขบวนอย่างสงบของประชาชนหลายพันคนที่นำโดยเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส เจราร์ด อาโรด์ ซึ่งถือป้ายข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า “We are Charlie”
“ผมมาอยู่ตรงนี้ตามคำขอร้องของชาวฝรั่งเศสในวอชิงตัน เพราะพวกเขาก็ไม่ต่างจากผมที่รู้สึกเป็นห่วงประเทศของเราที่กำลังเผชิญวิกฤตร้ายแรง” อาโรด์กล่าว โดยมีเอกอัครราชทูตจากสหภาพยุโรป, เยอรมนี, อิตาลี, ลิทัวเนีย, ยูเครน รวมไปถึงวิกตอเรีย นูแลนด์ ทูตสหรัฐฯฝ่ายกิจการยุโรป และคริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยืนเคียงข้าง
ที่นครลอสแองเจลิส แม้ดาราระดับแถวหน้าของฮอลลีวูดหลายคนจะสวมชุดเฉิดฉายเข้าสู่งานประกาศรางวัลลูกโลกทองคำประจำปี 2015 แต่ยังมีนักแสดงอีกหลายคนที่เลือกแต่งกายด้วยโทนสีสุภาพเพื่อแสดงความไว้อาลัยต่อเหตุโจมตีที่กรุงปารีส ขณะที่ จอร์จ คลูนีย์ และภรรยา รวมถึง เฮเลน เมียร์เรน, เคธี เบตส์ และ ไดแอน ครูเกอร์ เป็นหนึ่งในบรรดาคนดังที่ถือป้ายหรือติดเข็มกลัดคำว่า “Je suis Charlie”
ในภูมิภาคยุโรป ชาวเยอรมันราว 18,000 คนได้จัดกิจกรรมเดินขบวนที่กรุงเบอร์ลิน และสวมเสื้อทีเชิ้ตที่สกรีนคำว่า “Checkpoint Charlie Hebdo” ซึ่งมาจากชื่อจุดผ่านแดน Checkpoint Charlie ที่เคยแบ่งเมืองหลวงแห่งนี้ออกเป็นสองฝั่งในช่วงสงครามเย็น
ที่กรุงบรัสเซลส์ ฟิลิปเป เฌลุค นักวาดการ์ตูนชาวเบลเยียม เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเดินขบวนราว 20,000 คน และกล่าวว่าที่ตนออกมาทำกิจกรรมครั้งนี้ก็เพื่อ “เป็นเกียรติแก่เพื่อนร่วมอาชีพที่เสียชีวิต”
“ผมทราบดีว่าชาวมุสลิมคงจะรู้สึกเจ็บปวด และขายหน้ากับภาพการ์ตูนล้อเลียน แต่วัตถุประสงค์ของพวกมันไม่ได้เพื่อโจมตีอิสลาม แต่เป็นการโจมตีลัทธิถือหลักดั้งเดิม (fundamentalism)”
ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่การเดินขบวนในกรุงปารีสจะเริ่มขึ้น ก็มีประชาชนหลายร้อยออกมาแสดงพลังสนับสนุนชาวเมืองน้ำหอมทั้งที่นครซิดนีย์และกรุงโตเกียว