xs
xsm
sm
md
lg

ชาร์ลีเอ็บโดฉบับพิเศษ“ผู้รอดชีวิต”ใช้การ์ตูนล้อศาสดาอิสลามขึ้นปก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - นิตยสาร “ชาร์ลี เอ็บโด” เตรียมวางตลาดฉบับพิเศษซึ่งรูปแบบและเนื้อหายังคงยึดแนวเสียดสีท้าทายเหมือนเดิม โดยหน้าปกเป็นภาพการ์ตูนศาสดาโมฮัมหมัดยืนร้องไห้ชูป้าย “ฉันคือชาร์ลี” พร้อมคำบรรยาย “ยกโทษให้หมดแล้ว” ทางด้านทำเนียบขาวยอมรับผิดที่ไม่ส่งสมาชิกคณะบริหารระดับสูงไปร่วมเดินขบวนในปารีส ขณะที่เหตุการณ์โจมตีของผู้ก่อการร้ายในฝรั่งเศสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปลุกเร้าให้ทั้งกลุ่มต่อต้านอิสลามหัวรุนแรง และกลุ่มคัดค้านการดำเนินการดังกล่าวในเยอรมนี แข่งกันจัดการชุมนุมมวลชนแสดงกำลัง

หน้าปกของนิตยสารชาร์ลี เอ็บโดฉบับพิเศษที่เรียกว่าเป็นฉบับ “ผู้รอดชีวิต” ถูกนำออกแจกจ่ายเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ไปตามสื่อต่างๆ ก่อนที่จะวางแผงจริงในวันพุธ (14ม.ค.) โดยมียอดตีพิมพ์ 3 ล้านฉบับ ในภาษาต่างๆ 16 ภาษา และเตรียมวางจำหน่ายใน 25 ประเทศตามที่มีเสียงเรียกร้องต้องการ

ชาร์ลี เอ็บโดได้รับกำลังใจอย่างท่วมท้นจากทั่วโลก หลังเหตุมือปืนบุกสำนักงานของนิตยสารแห่งนี้ในกรุงปารีสเมื่อวันพุธที่แล้ว (7) และกราดยิงสังหารหมู่ 12 ศพ โดยในจำนวนนี้เป็นนักเขียนการ์ตูนอาวุโส 5 คน

อย่างไรก็ดี ภาพปกล้อเลียนศาสดาโมฮัมหมัดล่าสุด เป็นที่คาดหมายกันว่าจะกระตุ้นยั่วยุความโกรธแค้นของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง ตลอดจนชาวมุสลิมทั่วไป

ทั้งนี้ มือปืนสองคนที่ก่อเหตุสังหารหมู่กองบรรณาธิการชาร์ลี เอ็บโด ประกาศว่า เป็นการล้างแค้นให้ศาสดาโมฮัมหมัด

ทีมงานของนิตยสารฉบับนี้ตกเป็นเป้าถูกขู่ฆ่าครั้งแรกในปี 2006 จากการนำการ์ตูนของหนังสือพิมพ์จิลแลนด์ส-โพสเทนของเดนมาร์กมาตีพิมพ์ใหม่ โดยที่การ์ตูนชุดดังกล่าวได้ทำให้เกิดเหตุจลาจลรุนแรงในประเทศมุสลิมบางแห่ง

พนักงานนิตยสารนี้ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ล่าสุด ออกมาให้คำมั่นว่าจะสานต่อธรรมเนียมการล้อเลียนเสียดสีทุกศาสนา ทุกกลุ่มเหล่าการเมือง คนดัง และเหตุการณ์ใหม่ๆ โดยที่ผ่านมา ชาร์ลี เอ็บโด วาดการ์ตูนล้อเลียนกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงมาโดยตลอด

ริชาร์ด มัลคา ทนายความของชาร์ลี เอ็บโด ยืนยันว่า นิตยสารจะไม่ยอมจำนนต่อกลุ่มหัวรุนแรง พร้อมย้ำว่า ชาร์ลี เอ็บโดมองตัวเองว่า ไม่ได้เป็นหนังสือพิมพ์ที่ขายความรุนแรง และไม่เลื่อมใสความรุนแรง

ในการจัดทำฉบับพิเศษนี้ กองบรรณาธิการชาร์ลี เอ็บโด ต้องไปอาศัยทำงานในสำนักงานของหนังสือพิมพ์ “ลิเบราซิยอง” และหยิบยืมอุปกรณ์จากองค์กรสื่อต่างๆ เนื่องจากสำนักงานของตัวเองที่เป็นสถานที่เกิดเหตุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วยังเป็นพื้นที่ควบคุมเพื่อเก็บหลักฐานของตำรวจ
ตำรวจฝรั่งเศสพากันแสดงความเคารพร่างของตำรวจ 3 คน ในพิธีไว้อาลัยระดับชาติซึ่งจัดขึ้นที่ปารีสในวันอังคาร (13) ตำรวจเหล่านี้ซึ่งเป็นชาย 2 หญิง 1 และคนหนึ่งเป็นมุสลิม ได้ถูกสังหารโดยฝีมือของคนร้ายอิสลามิสต์หัวรุนแรงที่ก่อเหตุในสัปดาห์ที่แล้ว
นิตยสารที่มีอายุอานาม 44 ปีฉบับนี้ส่อเค้าล้มละลายรอมร่อก่อนถูกโจมตี และเดิมทีมียอดตีพิมพ์สัปดาห์ละ 60,000 ฉบับเท่านั้น

แต่หลังการสังหารหมู่ นอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาลและเอกชนของฝรั่งเศสแล้ว ชาร์ลี เอ็บโดยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพในการแสดงออกของแดนน้ำหอม วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (11) ประชาชน 1.5 ล้านคน พร้อมทั้งผู้นำจากหลายสิบชาติร่วมเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสในปารีส เพื่อให้กำลังใจชาร์ลีเอ็บโด

อย่างไรก็ดี การเดินขบวนใหญ่ในปารีสกลายเป็นประเด็นที่ทำให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ถูกวิจารณ์อย่างหนัก เพราะนอกจากไม่ไปร่วมแสดงพลังแล้ว ยังส่งเพียงเอกอัครราชทูตประจำปารีสเป็นตัวแทนเท่านั้น

วันจันทร์ (12) จอช เออร์เนสต์ โฆษกทำเนียบขาวได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า โอบามาต้องการไปร่วมเดินขบวนที่ปารีส แต่ทำเนียบขาวจำเป็นต้องได้รับแจ้งหมายล่วงหน้านานกว่า 36 ชั่วโมงเพื่อจัดเตรียมการอารักขาประธานาธิบดีในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า เป็นความผิดพลาดที่อเมริกาไม่ได้ส่งสมาชิกคณะบริหารระดับสูงไปยังปารีส

ทั้งนี้ แม้อิริก โฮลเดอร์ รัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐฯ อยู่ในเมืองหลวงของฝรั่งเศสเพื่อร่วมประชุมสุดยอดต่อต้านการก่อการร้าย แต่ก็ไม่ได้ไปร่วมเดินขบวนเนื่องจากติดให้สัมภาษณ์สื่อ

ขณะเดียวกัน จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่อยู่ระหว่างเยือนอินเดีย เผยว่า จะเดินทางไปฝรั่งเศสภายในสัปดาห์นี้เพื่อยืนยันความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวระหว่างวอชิงตันกับปารีส

เหตุการณ์โจมตีของผู้ก่อการร้ายในปารีสนาน 3 วันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 17 ราย ยังปลุกเร้ากระแสต่อต้านอิสลามในเยอรมนี โดยวันจันทร์ที่ผ่านมา การชุมนุมต่อต้านอิสลามประจำสัปดาห์ที่เดรสเดนสามารถดึงดูดผู้คนได้ถึง 40,000 คน แม้ตำรวจให้ตัวเลขเพียง 25,000 คนก็ตาม

แกนนำการชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า ชาวยุโรปรักชาติต่อต้านกระแสอิสลามานุวัตรแห่งตะวันตก” (Patriotic Europeans Against the Islamization of the West) หรือ PEGIDA ขอให้ผู้ร่วมชุมนุมติดริบบิ้นดำเพื่อรำลึกถึงเหยื่อในปารีส

แม้กลุ่มนี้ยืนยันว่า ไม่ได้ฝักใฝ่อุดมการณ์ขวาจัด แต่ผู้ชุมนุมจำนวนมากกลับติดสัญลักษณ์และสวมเสื้อผ้าที่รู้กันว่าเป็นของพวกกลุ่มนีโอนาซี

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนกลุ่มคัดค้านการเดินขบวนต่อต้านอิสลามจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่า สำนักข่าวดีพีเอ ของเมืองเบียร์รายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้าน PEGIDA สามารถดึงดูดประชาชนให้ออกมารวมตัวกันมากถึง 8,000 คนในเมืองเดรสเดน, 30,000 คนในเมืองไลป์ซิก, 20,000 คนในเมืองมิวนิก, 17,000 คนในเมืองฮันโนเวอร์, 9,000 คนในเมืองซาร์บรุคเคิน และ 5,000 คนในเมืองดุสเซลดอร์ฟ 4,000 คนในกรุงเบอร์ลิน และฮัมบูร์ก, 2,000 คนในเมืองรอสต็อค และจำนวนรองลงมาในเมืองอื่นๆ

ในหลายเมืองซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างออกมาชุมนุมกัน ปรากฏว่าฝ่ายต่อต้าน PEGIDA มีจำนวนมากกว่าอย่างเช่นกัน โดยตำรวจกรุงเบอร์ลินเผยว่า มีประชาชน 4,000 คนชุมนุมคัดค้านกลุ่มต่อต้านอิสลามที่รวมตัวกัน 400 คน และที่มิวนิก มีประชาชน 20,000 คนร่วมคัดค้านกลุ่มต่อต้านอิสลาม 1,500 คน


เชื่อชาร์ลีเอ็บโดใช้การ์ตูนล้อศาสดาอิสลามขึ้นปกจะกระตุ้นความเดือดดาลอีก
นิตยสาร “ชาร์ลี เอ็บโด” เตรียมวางตลาดฉบับพิเศษซึ่งรูปแบบและเนื้อหายังคงยึดแนวเสียดสีท้าทายเหมือนเดิม โดยหน้าปกเป็นภาพการ์ตูนศาสดาโมฮัมหมัดยืนร้องไห้ชูป้าย “ฉันคือชาร์ลี” พร้อมคำบรรยาย “ยกโทษให้หมดแล้ว” ทางด้านทำเนียบขาวยอมรับผิดที่ไม่ส่งสมาชิกคณะบริหารระดับสูงไปร่วมเดินขบวนในปารีส ขณะที่เหตุการณ์โจมตีของผู้ก่อการร้ายในฝรั่งเศสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปลุกเร้าให้ทั้งกลุ่มต่อต้านอิสลามหัวรุนแรง และกลุ่มคัดค้านการดำเนินการดังกล่าวในเยอรมนี แข่งกันจัดการชุมนุมมวลชนแสดงกำลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น