รอยเตอร์/บีบีซี - วานนี้ (5 ม.ค.) กลุ่มผู้ประท้วงที่เยอรมนีได้รวมตัวเดินขบวนในหลายเมือง เพื่อต่อต้านคลื่นผู้อพยพจำนวนมหาศาล และการแผ่อิทธิพลของศาสนาอิสลาม ซึ่งนับเป็นการท้าทายนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ที่ออกมาวิงวอนให้ประชาชนถอยห่างจากการชุมนุมที่เธอมองว่า เป็นการเหยียดเชื้อชาติ
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ขบวนการรากหญ้าที่เพิ่งก่อตัวขึ้นโดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “ชาวยุโรปรักชาติต่อต้านกระแสอิสลามานุวัตรแห่งตะวันตก” (Patriotic Europeans Against the Islamization of the West) หรือ PEGIDA ได้ลุกขึ้นมาจัดการชุมนุมเกือบทุกสัปดาห์ ในเมืองเดรสเดน ทางตะวันออกของเยอรมนี
วานนี้ (5 ม.ค.) ประชาชนราว 18,000 คนที่เข้าร่วมกับขบวนการ PEGIDA ได้ออกมารวมตัวกันในเมืองเดรสเดน ทว่า การประท้วงในลักษณะคล้ายๆ กันของกลุ่มผู้ประท้วงฝ่ายต่อต้าน ที่ออกโรงประณามกลุ่ม PEGIDA ว่าเป็นผู้จุดชนวนให้เกิดกระแสเหยียดเชื้อชาติ และหมิ่นความเชื่อของชนต่างศาสนาในกรุงเบอร์ลิน และเมืองโคโลญ ทางตะวันตกของเยอรมนีกลับมีจำนวนมากกว่า
บรรดาผู้ประท้วงกลุ่ม PEGIDA พากันโบกสะบัดผืนธงชาติสีดำ แดง ทอง ของเยอรมนี ทั้งยังกวัดแกว่งโปสเตอร์ที่มีสโลแกนต่างๆ เป็นต้นว่า “ต่อต้านความคลั่งศาสนา และลัทธิหัวรุนแรง”
นอกจากนี้ โปสเตอร์ใบหนึ่งในโคโลญยังมีข้อความเรียกร้องให้เสิร์ฟ “มันฝรั่งแทนเคบับ” ซึ่งนับเป็นถ้อยคำโจมตีชาวตุรกีที่เป็นอพยพกลุ่มใหญ่ที่สุดในเมืองเบียร์ โดยมีจำนวนทั้งหมดราว 3 ล้านคน
ทั้งนี้ เยอรมนีนับเป็นประเทศที่มีกฎเกณฑ์ในการเปิดรับผู้แสวงหาที่พักพิงที่ใจกว้างมากที่สุดในโลก โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศนี้ต้องการชดเชยวีรกรรมอันโหดร้ายในสมัยนาซีเยอรมนี ทั้งนี้ ผู้ที่เดินทางเข้ามาขอลี้ภัยในเมืองเบียร์ โดยมากเดินทางมาจากภูมิภาคตะวันออกกลาง และเมื่อปีที่แล้วยอดผู้แสวงหาที่พักพิงก็ทะยานสู่ราว 200,000 คน เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2012 ถึง 4 เท่า
ระหว่างปราศรัยเนื่องในวันปีใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แมร์เคิลได้วิงวอนให้ชาวเยอรมันหลีกห่างจากกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านมุสลิม โดยชี้ว่าหัวใจของคนพวกนี้อัดแน่นไปด้วยความเกลียดชัง
วานนี้ (5) ผู้นำหญิงเยอรมันกล่าวที่เมืองนอยชเตรลิทซ์ ทางตะวันออกของประเทศว่า “เราต้อง...บอกว่า ลัทธิหัวรุนแรงขวาจัดซึ่งทำตัวเป็นภัยต่อชาวต่างชาติ และมีแนวคิดต่อต้านยิวไม่ควรมีที่ยืนในสังคมของเรา”
ที่เมืองโคโลญ ถิ่นที่อยู่ของประชากรชาวมุสลิมกลุ่มใหญ่ในเมืองเบียร์ พบว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านขบวนการขวาจัดออกมารวมตัวกันหลายพันคน ซึ่งมากกว่ากลุ่มผู้ประท้วงฝ่าย PEGIDA ถึง 10 เท่า ส่วนที่กรุงเบอร์ลิน ซึ่งมีประชากรหลากหลายชาติพันธุ์ ผู้ประท้วงฝ่ายต้าน PEGIDA ถึงราว 5,000 คน ได้เข้าขัดขวางไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านอิสลามประมาณ 400 คนเดินขบวนตามเส้นทางที่วางแผนเอาไว้ ทั้งนี้ตามข้อมูลของตำรวจท้องที่
นอกจากนี้ สำนักข่าวดีพีเอสรายงานว่า ที่เมืองสตุตการ์ต มึนสเทอร์ และฮัมบูร์ก ยังมีกลุ่มผู้ประท้วงฝ่ายต่อต้าน PEGIDA ออกมาชุมนุมรวมทั้งสิ้น 22,000 คน
ไฮโก มาส รัฐมนตรียุติธรรมเยอรมนีกล่าวในที่ชุมนุมของฝ่ายต่อต้านขบวนการ PEGIDA ที่กรุงเบอร์ลินว่า “เยอรมนีเป็นประเทศที่เปิดประตูต้อนรับผู้ลี้ภัย และคนส่วนใหญ่ที่ยังไม่ประกาศจุดยืนก็ต้องไม่เอาแต่ปิดปากเงียบ แต่ต้องออกไปรวมตัวกันแสดงพลังตามท้องถนน”
ทางด้าน มหาวิหารโคโลญซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญอันมีชื่อเสียงมากที่สุดของเยอรมนี ได้ดับไฟเพื่อเป็นการประท้วงกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านอิสลาม ขณะที่ประตูบรันเดนบูร์กก็ปิดไฟที่สาดส่องด้านนอกเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
นอกจากนั้น กิจการผู้ผลิตรถยนต์โฟล์กสวาเกน ในเมืองเดรสเดน ก็ปิดไฟโรงงานจนมืดสนิท เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทนี้มีจุดยืนสนับสนุน “สังคมที่ใจกว้าง มีเสรีภาพ และยึดหลักประชาธิปไตย”
ทั้งนี้ ขบวนการ PEGIDA ได้สั่นคลอนเสถียรภาพของสถาบันการเมืองเยอรมนี ทั้งที่ในตอนแรกการเคลื่อนไหวของกลุ่มขวาจัดน่าจะเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรค “อัลเทอร์เนทีฟ ฟอร์ เยอรมนี” (AfD) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่คลางแคลงสงสัยกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) เป็นทุนเดิม ทว่า สมาชิกของ AfD ซึ่งเดิมทีก็ประสบปัญหาแย่งชิงอำนาจภายในพรรคอยู่แล้ว ยังคงเสียงแตกจนไม่สามารถตกลงกันได้ว่าควรรับมือกับขบวนการ PEGIDA อย่างไร
ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนกว่า 1,000 คน โดยนิตยสารชเติร์น ของเมืองเบียร์ชี้ว่า ชาวเยอรมัน 1 ใน 8 ระบุว่า พวกตนพร้อมที่จะร่วมเดินขบวนต่อต้านอิสลาม หากขบวนการ PEGIDA จัดการประท้วงใกล้บ้านพวกเขา