xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ปู” หนี อเมริกาให้ลี้ภัย ผู้ใหญ่หลับตา พาเปิดสัมปทานรอบ 21คนละเรื่องเดียวกัน!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หนี....ไม่หนี....
หนี....ไม่หนี...
หนี....ไม่หนี...
หนี....

เรื่องใหญ่เรื่องโตทางการเมืองของไทยซึ่งสังคมเฝ้าติดตามอย่างไม่กระพริบตาในเวลานี้ เห็นทีจะหนีไม่พ้นเรื่องของ “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีคนสวยที่ต้องคดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ว่าสุดท้ายแล้วจะตัดสินใจอย่างไร

หนีหรือไม่หนี

เพราะเมื่อพิจารณาจากประจักษ์พยาน หลักฐานที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดในคดีอาญา และอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องแล้ว ก็เชื่อว่าน่าจะหลุดยาก และโทษที่นางสาวยิ่งลักษณ์ได้รับนั้นสูงกว่าคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ ของ นช.ทักษิณแน่นอน

ยิ่งเมื่อเกิดอาการสะดุดจากการทำเรื่องขออนุญาตต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เดินทางไปยังฮ่องกงเพื่อพบพี่ชายสุดที่รัก เพื่อไปกินโจ๊กตามคำกล่าวอ้างของ “อ้ายปึ้ง-นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล” ทาสในเรือนเบี้ยของตระกูลชินวัตรด้วยแล้ว ยิ่งเห็นชัดว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ

ตรรกะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตอบคำถามเมื่อถูกซักถึงกรณีทหารกองทัพภาคที่ 3 ตรวจค้นขบวนรถของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ จ.เชียงใหม่ เพราะกลัวอดีตนายกรัฐมนตรีหนีออกนอกประเทศว่า “คงไม่ใช่ จะหลบหนีอย่างไร ท่านเป็นผู้ใหญ่แล้ว และเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ท่านรู้ดี ส่วนจะมีการแจ้งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทราบล่วงหน้าที่จุดตรวจดังกล่าวหรือไม่นั้น ผมไม่ทราบ แต่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต้องการให้เกิดความสงบเรียบร้อยในทุกพื้นที่ ถือเป็นความปรารถนาดี และยังเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ก็ต้องดูแล ท่านอยู่ กทม.เราก็ดูแลแบบนี้ ยืนยันไม่ใช่การแก้แค้นหรือจำกัดว่าท่านต้องไปอย่างโน้นอย่างนี้” ไม่น่าจะถูกต้อง

เพราะ นช.ทักษิณก็เป็นผู้ใหญ่ ก็เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีเช่นกัน แต่ นช.ทักษิณก็หนีคดีให้เห็นมาแล้ว

ทำไมนางสาวยิ่งลักษณ์ถึงจะไม่คิดหนี และคิดหนี 100 เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ว่าจะเลือกหนีด้วยวิธีใดเท่านั้น

หนีตามช่องทางปกติเหมือนที่ นักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพี่ชายเคยทำ หรือเลือกที่จะหนีด้วยวิธีพิเศษคือ “ขอลี้ภัยทางการเมือง” ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอึกทึกครึกโครมอยู่ในขณะนี้เท่านั้น

เวลางวดเข้ามาทุกที นางสาวยิ่งลักษณ์เหลือเวลาให้ตัดสินใจไม่มากนัก เพราะจากคำให้สัมภาษณ์ของนายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เกี่ยวกับความคืนหน้าของอัยการสูงสุดในการยื่นฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาฯ นั้น พบว่า คณะทำงานอัยการร่างคำฟ้องเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วและเหลือเพียงแค่การจัดเตรียมเอกสารหลักฐานประกอบการยื่นฟ้องเท่านั้น

และชัดเจนเข้าไปอีกเมื่อนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้สั่งการให้เลขาธิการ ป.ป.ช.ส่งหนังสือให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อให้ไปรายงานตัวต่ออัยการสูงสุด (อสส.) ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 10.00 น. เพื่อนำตัวส่งฟ้องต่อศาลฎีกาฯ โดยเป็นหนังสือให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกชี้มูลความผิดทางอาญากรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวให้แก่อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการส่งฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ถึงเวลาที่นางสาวยิ่งลักษณ์จะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญว่า จะเปลี่ยนคำนำหน้านามใหม่เป็น นักโทษหญิง หรือเปลี่ยนสภาพเป็น สัมภเวสี เหมือนผู้เป็นพี่ชาย

ถ้าไม่ได้รับสัญญาณอันน่าปริวิตกมีหรือที่อยู่ๆ นางสาวยิ่งลักษณ์จะตัดสินใจเดินทางไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษร่วมกับครอบครัวและเครือญาติที่กู่ประจำตระกูลชินวัตร ณ วัดโรงธรรมสามัคคี อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ทั้งๆ ที่ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษตระกูลชินวัตรจะจัดขึ้นในเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับเทศกาลสงกรานต์ หรือปีใหม่เมืองของชาวล้านนา แต่ในปี 2558 นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์และครอบครัวชินวัตร กลับเลือกเดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศล

ประหนึ่งเหมือนกับต้องการล่ำลาบรรพบุรุษก่อนหนีออกนอกประเทศ อย่างไรอย่างนั้น

นช.ทักษิณเลือกหนีก่อนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาฯกว่า 2 เดือน

ส่วนนางสาวยิ่งลักษณ์มีทางเลือกในการหนีหลายทาง เช่น อาจหนีก่อนที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง เพราะไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าศาลจะพิจารณาให้ประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีทุจริตต่อบ้านต่อเมืองและมีมูลค่าความเสียหายสูง หรือหนีก่อนวันที่ศาลพิจารณาคดีนัดแรก เพราะหากนางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ไปปรากฏตัวที่ศาล ศาลก็จะจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว หรือหนีก่อนที่ศาลมีคำพิพากษา

แต่หนทางที่เป็นไปได้มากที่สุดคือหนีก่อนที่ศาลจะพิจารณาคดีนัดแรก เพราะส่งผลทำให้ศาลต้องจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว จากนั้นก็เดินทางไปต่างประเทศและป่าวประกาศฟ้องชาวโลกว่า เธอถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม หนทางหนีแบบที่นักโทษชายผู้พี่เคยทำมาคงจะทำไม่ง่ายนัก เพราะรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติเองก็ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นถ้าหากนางสาวยิ่งลักษณ์หนีสำเร็จ

นี่คือโจทย์ใหญ่ที่พี่น้อง 3 ป.คือพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ไม่อาจพลาดได้

นี่คือโจทย์ใหญ่ที่พี่น้อง 3 ป.มิอาจเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ได้

ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ผู้มากบารมีคือรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถมยังกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกต่างหาก ดังนั้น พล.อ.ประวิตรคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงถ้าหากนางสาวยิ่งลักษณ์หนีได้เป็นผลสำเร็จ

ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.อนุพงษ์คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

และต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์คือนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ดังนั้น จงอย่าแปลกใจที่ กองทัพภาคที่ 3 จะตั้งด่านตรวจรถในขบวนของนางสาวยิ่งลักษณ์ที่ออกมาจากหมู่บ้านกรีนวัลเลย์ อำเภอแม่ริม และส่งทหารติดตามความเคลื่อนไหวในทุกอย่างก้าวแม้ฝ่ายทหารจะออกตัวว่าเป็นการดูแลรักษาความปลอดภัยก็ตาม

เพราะเสถียรภาพและความมั่นคงของกองทัพ ของรัฐบาลและของคสช.ขึ้นอยู่กับการหนีของนางสาวยิ่งลักษณ์เป็นการเฉพาะ

เพราะการปล่อยให้นางสาวยิ่งลักษณ์หนีสำเร็จคือหายนะของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และรัฐบาล ไม่ว่าจะรู้เห็นเป็นใจหรือไม่รู้เห็นเป็นใจก็ตาม

ดังนั้น หน้าที่ของรัฐบาลและคสช.คือการควบคุมไม่ให้นางสาวยิ่งลักษณ์หนีได้สำเร็จ

แต่ก็ใช่ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์จะหนีไม่ได้ เพราะชุดคำตอบที่จะอธิบายเรื่องนี้มีอยู่แล้วว่า เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายในประเทศจากการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง จึงจำต้องให้นางสาวยิ่งลักษณ์ไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศเฉกเช่นเดียวกับพี่ชาย

แล้วก็เป็นเรื่องที่บังเอิญอย่างร้ายกาจเช่นกันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดสอบคำให้การคดี “นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์-พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ-พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ-พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว” สั่งตำรวจสลายการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภาในปี 2551 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 471 รายในวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 นี้ หลังนายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าของสำนวน และผู้พิพากษาองค์คณะ รวม 9 คน มีคำสั่งประทับรับฟ้องเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 295 และ 302

ความน่าสนใจมิได้อยู่ตรงที่คดีนี้มีความคืบหน้า หากน่าสนใจตรงรายชื่อของผู้ถูกกล่าวหา 2 คนคือนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผู้เป็นพี่เขยของนางสาวยิ่งลักษณ์ และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้เป็นน้องชายของ พล.อ.ประวิตร

ทำไมคดีถึงได้บังเอิญมามีความคืบหน้าตรงนี้อย่างพอดิบพอดี

คงไม่ต้องขยายความว่า มีนัยสำคัญเช่นไร ก็เชื่อว่าน่าจะปะติดปะต่อเรื่องได้ไม่ยาก

เวลานี้ สถานการณ์การเมืองไทยได้แปรเปลี่ยนกลับกลายไปโดยสิ้นเชิง กลับตาลปัตรจากเดิมที่กระแส “ปรองดอง” ดังกระหึ่มทั่วทั้งแผ่นดิน สอดรับกับท่าทีประนีประนอมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติไปในทางตรงกันข้าม

สำหรับการขอลี้ภัยทางการเมืองที่เวลานี้กำลังเป็นที่โจษขานกันทั้งแผ่นดินนั้น ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีความเป็นได้สูง โดยเฉพาะเมื่อย้อนกลับไปดูท่าทีของสหรัฐอเมริกาต่อการรัฐประหารของ คสช.และต่อคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวที่ แดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกพูดชัดเมื่อครั้งมาปาฐกถาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า “เมื่อผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งถูกปลดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดถอนโดยผู้มีอำนาจที่ก่อรัฐประหาร และตกเป็นเป้าด้วยข้อหาอาญาในขณะที่กระบวนการและสถาบันพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยต้องหยุดชะงักลง ประชาคมโลกจึงเกิดความรู้สึกว่า ขั้นตอนเหล่านี้อาจเกิดแรงจูงใจทางการเมือง”

แต่ก็ต้องบอกว่า นี่เป็นเรื่องไม่ง่ายนักสำหรับการตัดสินใจของรัฐบาลอเมริกันของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เพราะขณะนี้กำลังอยู่ในห้วงเวลาสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในประเทศไทย นั่นก็คือ การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21

การยอมให้นางสาวยิ่งลักษณ์ลี้ภัยทางการเมืองคุ้มค่าหรือไม่กับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ตระกูลชินวัตรกำลังถูกรุกไล่อย่างหนัก มิใช่อยู่ในโหมดของการปรองดองเฉกเช่นในช่วงที่ผ่านมา

ถ้ารัฐบาล คสช.ตอบโต้สหรัฐฯ ที่ให้นางสาวยิ่งลักษณ์ลี้ภัยทางการเมืองด้วยการตัดสิทธิเชพรอนในการเข้าร่วมสัมปทาน ผลได้ผลเสียอะไรจะมากกว่ากัน

คำถามก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่ทฤษฎีและความเป็นไปได้ในข้อนี้กำลังดำเนินอยู่บนโต๊ะเจรจา

แม้ดูเผินๆ ว่าจะเรื่องการให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และการอนุญาตให้นางสาวยิ่งลักษณ์ลี้ภัยทางการเมืองเป็นคนละเรื่องเดียวกัน แต่ก็เป็นเรื่องของความเป็นไปได้ที่น่าขบคิด...ไม่น้อย




กำลังโหลดความคิดเห็น