ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เมื่อพินิจพิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง ณ ห้วงเวลานี้ ก็จะพบข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า เส้นทางชีวิตทางการเมืองของ “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งระบอบทักษิณเดินทางมาถึงจุดจบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นางสาวยิ่งลักษณ์มิได้เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของระบบอบทักษิณอีกต่อไป
ดังนั้น ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ก็มิได้มีความสำคัญต่ออนาคตของระบอบทักษิณเลยแม้แต่น้อย
ทั้งนี้ เนื่องเพาะระบอบทักษิณมี “ไพ่” ในมือให้เลือกเล่นเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นจากเมื่อครั้งที่ไม่มี “นช.ทักษิณ ชินวัตร” สมาชิกพรรคไทยรักไทยถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่พวกเขาก็ยังสามารถชนะการเลือกตั้งและกลับเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ที่สำคัญคือมิใช่ครั้งเดียวจึงเป็นเช่นนั้น
ด้วยเหตุนี้ สังคมไทยจึงเห็นคนอย่าง “สมัคร สุนทรเวช” หรือ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนั้น เฉกเช่นเดียวกับนางสาวยิ่งลักษณ์ที่ผันตัวเป็นนายกรัฐมนตรีแบบไร้คู่ต่อสู้
อย่างไรก็ตาม หากถามว่า เมื่อหมดเวลาของนางสาวยิ่งลักษณ์แล้ว ใครคือทายาททางการเมืองที่ นช.ทักษิณวางตัวเอาไว้
นี่เป็นคำถามที่ท้าทายและน่าค้นหาเป็นอย่างยิ่ง
กล่าวสำหรับนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นที่ชัดเจนว่าจะต้องติดบ่วงอยู่ในคดีทุจริตทางการเมืองไปอีกเป็นเวลาพอสมควร โดยเฉพาะคดีอาญาในโครงการรับจำนวนข้าวที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีมติชัดเจนที่จะฟ้อง เหลือเพียงภาคปฏิบัติจากอัยการสูงสุดเท่านั้นว่าจะตัดสินใจลงมือฟ้องเมื่อไหร่ ซึ่งไม่ว่าอัยการสูงสุดจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง จะยื้อหรือไม่ยื้อ แต่ผลที่เกิดขึ้นก็คือนางสาวยิ่งลักษณ์จะไม่สามารถขยับตัวทางการเมืองอะไรได้มากมายนัก และหรือถ้าขยับได้ก็ติดกับดับทางการเมืองสุ่มเสี่ยงที่จะตกเก้าอี้ได้ตลอดเวลา
กรณี ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด “นายบุญทรง เตริยาภิรมย์” และพวก ในข้อหาร่วมกันทำสัญญาซื้อขายข้าวที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศอย่างร้ายแรงคือ สิ่งที่ทำให้เห็นได้ไม่ยากเย็นนักว่า อนาคตของนางสาวยิ่งลักษณ์บนถนนการเมืองนั้นเป็นอย่างไร
ย้ำกันอีกครั้ง นางสาวยิ่งลักษณ์จึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดของโคลนนิ่งผู้พี่อีกต่อไป
ดังนั้น จงอย่าแปลกใจที่นายใหญ่มิได้ส่งสัญญาณสู้รบออกมาให้เห็น
ดังนั้น จงอย่าแปลกใจที่คนเสื้อแดงมีได้ขยับเขยื้อนหรือออกมาเคลื่อนไหวอะไรที่เป็นรูปธรรม จะมีบ้างก็เพียงการแสดงสัญลักษณ์แบบเสียไม่ได้เท่านั้น เพราะข้าทาสบริวารของระบอบทักษิณรับรู้ถึงสัญญาณนี้เป็นอย่างดี
แถมผลที่เกิดขึ้นกับนางสาวยิ่งลักษณ์ยังจะเรียกคะแนนสงสารทางการเมืองจากคนเสื้อแดงสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปหลังพ้นยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยอีกต่างหาก
แน่นอนว่า ทายาททางการเมืองของนักโทษชายหนีคดีจะเป็นใครเสียมิได้นอกจาก “เจ๊แดง” และ “สามี”
เจ๊แดงคนนั้นจะเป็นใครเสียมิได้นอกจาก “นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์” น้องสาวของ นช.ทักษิณ
เป็นเจ๊แดงผู้มากบารมีและร่ำรวยทรัพย์ศฤงคาร รวมทั้งมีนักการเมืองใน สังกัดที่พร้อมจะสั่งให้ซ้ายหันขวาหันเป็นจำนวนไม่น้อย
ส่วนสามีไม่ต้องเฉลยก็น่าจะรู้แล้วว่าคือ “นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์” ผู้เป็นสามี อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่สองของตระกูลชินวัตรถัดจากนักโทษชายหนีคดีทักษิณ
เรียกว่าเป็นวาสนาในคราเคราะห์ของตระกูลชินวัตรก็เป็นได้ เพราะในขณะที่นางสาวยิ่งลักษณ์กำลังติดบ่วงจากคดีทุจริตรับจำนำข้าวพร้อมกับนักการเมืองในสังกัดพรรคเพื่อไทย อาทิ นายบุญ ทรงเตริยาภิรมย์ ร่วมกับข้าราชการและนักธุรกิจอย่างเสี่ยเปี๋ยง-นายอภิชาต จันทร์สกุลพร นางเยาวภากลับกำลังสบายอกสบายใจเพราะไม่ต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวเลยแม้แต่น้อย
กระนั้นก็ดี ถ้าจะว่าไปแล้วบารมีของนางเยาวภาและนายสมชายได้เปล่งประกายมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงระยะหลังๆ
กล่าวคือก่อนที่จะมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)จะมีมติในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว มีปรากฏการณ์ที่น่าแปลกประหลาดเกิดขึ้น เมื่อนักการเมืองในสังกัดพรรคเพื่อไทยตบเท้าเข้าอวยพรปีใหม่ “นางเยาวภา” และ “นายสมชาย” (วันที่ 12 มกราคม 2558) ที่หมู่บ้านเบฟเวอร์รี่ฮิล แจ้งวัฒนะ อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง โดยที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ถือดาบอาญาสิทธิ์ในมือคือกฎอัยการศึกมิได้ขัดขวางหรือห้ามปราบแต่ประการใด
ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่ห้ามจัดงานเลี้ยงต้อนรับ “นายวีระ สมความคิด” ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษจากรัฐบาลกัมพูชายิ่งเห็นได้ชัด
ทำไมรัฐบาลถึงห้ามจัดงานเลี้ยงต้อนรับนายวีระ แต่ไม่ห้าม “นางเยาวภาและ “นายสมชาย” ผู้มากบารมี เปิดบ้านให้ ส.ส.เพื่อไทยอวยพรปีใหม่
และเมื่อตรวจสอบรายชื่อคนที่เข้าอวยพรปีใหม่ “นางเยาวภา” และ “นายสมชาย” ก็จะเห็นว่าไม่ธรรมดา อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต รมว.ไอซีที นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรค นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ รักษาการโฆษกพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล และนายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เป็นต้น
นั่นแสดงว่าบารมีของ “นางเยาวภาและนายสมชาย” นั้น เปล่งรัศมีเรืองรองเป็นอย่างยิ่งในเวลานี้ กระทั่งกล่าวได้ว่า ถนนทุกสายในพรรคเพื่อไทยต่อสายไปที่นางเยาวภาและนายสมชายเลยก็ว่าได้
ขณะเดียวกัน ความจริงประการหนึ่งที่ต้องยอมรับกันก็คือ นางเยาวภาถือเป็นคนที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับขั้วอำนาจต่างๆ ไม่เป็นสองรองใครในบ้านเมืองนี้ ทั้งสายสัมพันธ์กับนักการเมือง สายสัมพันธ์กับทหาร สายสัมพันธ์กับตำรวจหรือสายสัมพันธ์กับทุน โดยเฉพาะกับ “ทหาร”
แม้กระทั่งในช่วงที่นางสาวยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี นางเยาวภาและนายสมชายก็ยังคงมีบทบาทสูง เผลอๆ จะสูงกว่านางสาวยิ่งลักษณ์เสียด้วยซ้ำไป จะกล่าวว่าเป็นมือประสานสิบทิศก็คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก
ที่สำคัญคือสัญญาณเกี่ยวกับการปรองดองอันเป็นคุณกับนางเยาวภาและนายสมชายมีความชัดเจนขึ้นเป็นลำดับจากปากของ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประกาศเสียงดังฟังชัดว่า ไม่เคยคิดร่างรัฐธรรมนูญเอาผิดย้อนหลังนักการเมืองบ้านเลขที่ 111/109 จนปิดทางลงเล่นการเมืองอีกไม่ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้อนาคตของ “นางเยาวภาและสามี” ก็ยิ่งสดใส ไม่ต้องค่อยพะว้าพะวงในเรื่องนี้อีก เพราะคำรับประกันจากอาจารย์ปื๊ดก็คือคำรับประกันจาก คสช. เพราะอาจารย์ปื๊ดรู้ดีว่า “แป๊ะ” คิดอย่างไร
แถมตอกย้ำด้วยท่าทีของนายกฯ ลุงตู่เกี่ยวกับเรื่องการปรองดองและการ นิรโทษกรรมว่า “เรื่องความมั่นคงทางด้านการเมือง ไปแยกให้ออกว่าปรองดองคืออะไร ปรองดองคือทุกคนอยากจะคุยกัน ไปมาหาสู่กัน ดูแลกัน นี่คือปรองดอง ไม่มีศัตรู ไม่ได้โกรธเคืองกัน นี่คือปรองดอง อะไรคือกฎหมายก็ไปเข้ากระบวนการยุติธรรม วันนี้รัฐบาลมีสนช. ก็ให้เกียรติเขา ก็เหมือนสภา คนมันบังคับกันไม่ได้ เขาไปทำหน้าที่แทน ก็ต้องเชื่อมั่นในระบบ ถ้าไม่เชื่อเขาวันหลังก็ไม่ต้องเชื่อสภา ทำไมเชื่อก็บอกว่าประชาชนเลือกมา ก็เลือกเอาแล้วกัน กระบวนการยุติธรรมเขาจะบอกเองถูกหรือผิด ฟ้องก็ไปฟ้อง มีกลไกอยู่แล้ว ต่อสู้คดีได้ก็สู้ไป ถ้าติดคุกแล้วก็ไปขอพระราชทานอภัยโทษ ส่วนเรื่องนิรโทษกรรมก็ไปหาข้อมูลมา ผมไม่รู้เรื่องกฎหมาย”
มันช่างเป็นเรื่องบังเอิญเสียนี่กระไรที่ทุกเรื่องมันมาประเดดังแสดงความชัดเจนขึ้นในช่วงเวลานี้
หากยังจำได้ได้เคยมีหมอดูทำนายทายทักเสียด้วยซ้ำไปว่า ดวงของนางเยาวภานั้นมีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเช่นกัน
แต่จะอย่างไรก็ตาม ในขณะที่อนาคตทางการเมืองของนางเยาวภาและนายสมชายสดใสซาบซ่า ดูเหมือนว่า ชะตากรรมของนางสาวยิ่งลักษณ์ในคดีอาญาเกี่ยวกับทุจริตโครงการรับจำนำข้าวจะยังคงไม่ได้ข้อยุติ เนื่องเพราะกำลังเกิดความขัดแย้งอย่างหนักเกิดขึ้นระหว่าง 2 หน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่ร่วมกันในการดำเนินคดี นั่นก็คือ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช.” และ “สำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.)” ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องบอกว่าตลกสิ้นดี
กล่าวคือในขณะที่ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติออกมาแถลงข่าว โดยประกาศว่าว่าที่ประชุมคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.และอัยการสูงสุดเห็นพ้องต้องกันที่จะฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์คดีอาญาในโครงการรับจำนำข้าวด้วย อัยการสูงสุดกลับออกมาตอบโต้ว่า ไม่เป็นความจริงและอสส.ไม่เคยมีมติร่วมกับ ป.ป.ช.แต่อย่างใด
เรื่องโอละพ่อจึงเกิดขึ้น
นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด(อสส.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดีอาญาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนางสาวยิ่งลักษณ์อดีตนายกรัฐมนตรีในข้อหาไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เปิดเผยว่า ตนเองในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฯ ไม่เห็นทราบเรื่องที่ ป.ป.ช.ไปออกข่าว ไปประชุมกันตอนไหน ยังงงๆที่สำคัญคือทำไมไม่เชิญตนเอง
เพราะในความเป็นจริงแล้ว คณะทำงานฯ ยังไม่สรุปเรื่อง โดยขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่ไม่สมบูรณ์ สอบพยานเพิ่ม 2 ปากก็ยังไม่ถึงไหนยังไม่มีรายงานออกมา
“ผมจะเรียกคณะทำงานฯ มาสอบถามสรุปความว่า ตกลงยังไง ส่วนถามจะสอบถาม ป.ป.ช.หรือไม่ ผมคงไม่สอบถาม เมื่อ ป.ป.ช.เป็นคนให้ข่าวก็ต้องรับผิดชอบเอง ยืนยันว่าการพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในคดีนี้ต้องพิจารณาคำให้การของพยานที่สอบเพิ่มเติม และหลักฐานต่างๆ ที่ฝ่าย ป.ป.ช.ขอจากหน่วยราชการมาให้ครบถ้วนเสียก่อน”นายวุฒิพงศ์ยืนยันว่า การให้ข่าวของ ป.ป.ช.ไม่เป็นความจริง
ขณะที่ “นางสันทนี ดิษยบุตร” รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ขยายความเพิ่มเติมว่า การประชุมคณะทำงานร่วมฯ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 เป็นเพียงการประชุมเพื่อรับทราบข้อมูลการสอบพยานเพิ่มเติมตามความเห็นของนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุดเท่านั้น จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดเสนอต่อผู้บังคับบัญชาของแต่ละฝ่าย แล้วนำมาประชุมหารือร่วมกันอีกครั้งเพื่อพิจารณาว่าสำนวนสมบูรณ์เพียงพอที่จะฟ้องคดีหรือไม่และมีคำสั่งชี้ขาดต่อไป
ขณะเดียวกันทาง อสส.ยังให้ข้อมูลด้วยว่า ตามขั้นตอนของกฎหมายยังไม่เป็นไปตามที่ฝั่ง ป.ป.ช.ออกมาให้ข่าว เพราะไม่ได้มีการนัดหมายก่อนล่วงหน้า เพียงแต่ฝ่าย ป.ป.ช.ส่งโทรสารมานัดหมายเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 19 มกราคม 2558 และคณะทำงานร่วมฝ่ายอัยการหลายคนติดภารกิจจึงมีเพียงฝ่ายอัยการ 3 รายเข้าร่วมประชุม ดังนั้น การที่ ป.ป.ช.ออกมาให้ข่าวว่าคณะทำงานร่วมฯ มีมติแล้ว จึงไม่ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย คณะทำงานร่วมฯ มีหน้าที่เพียงพิจารณาพยานหลักฐานที่สอบสวนเพิ่มเติมว่าสมบูรณ์หรือไม่ ความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่อยู่ที่ อสส.เป็นผู้ชี้จาด
ด้านนายสรรเสริญ พลเจียกได้ออกมาตอบโต้ อสส.โดยยืนยันเช่นกันว่า คณะทำงานร่วมฯ ป.ป.ช.-อัยการสูงสุดมีมติไปเรียบร้อยให้ส่งฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ต่ออัยการสูงสุด โดยการประชุมคณะทำงานร่วมฯ นัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 มีตัวแทน ป.ป.ช.และอัยการสูงสุดอยู่ในที่ประชุม 13 คน ถือว่าครบองค์ประชุม ในจำนวนนี้เป็นตัวแทน ป.ป.ช.10 คน เป็นตัวแทนอัยการสูงสุด 3 สุด
โดยก่อนการประชุม ฝ่ายเลขาฯ ของ ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือแจ้งให้คณะทำงานฝ่ยอัยการสูงสุดทราบทุกคนแล้ว แต่ถึงเวลามีตัวแทนฝ่ายอัยการสูงสุดมาประชุมแค่ 3 คน ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า ขณะนี้ข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดีนางสาวยิ่งลักษณ์ได้สอบพยานบุคคลและหาพยานหลักฐานต่างๆ จนครบถ้วนหมดแล้ว จึงมีมติให้ส่งฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ส่วนที่นายวุฒิพงศ์ระบุว่ายังไม่ทราบเรื่อง และคณะทำงานงานฯ ยังไม่มีการสรุปเรื่องส่งฟ้องนั้น ไม่ทราบว่าตัวแทนฝ่ายอัยการสูงสุดไปประสานงานกันอย่างไร
ถ้าเป็นเช่นที่ อสส.ให้ข้อมูล คำถามก็คือ ทำไม ป.ป.ช.ถึงทำเช่นนั้น?
คำตอบมีเพียงประการเดียวคือ ป.ป.ช.ต้องการกดดัน อสส.
แต่ถ้าเป็นไปตามที่ ป.ป.ช.แถลงข่าว ก็มิอาจมองเป็นอื่นได้ว่า อสส.กำลังยื้อเวลาในคดีนี้ออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และดูเหมือนว่า ก็น่าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทำให้สังคมมีสิทธิที่จะเชื่อเช่นนั้น
นั่นหมายความว่า ชะตากรรมทางการเมืองในคดีที่นางสาวยิ่งลักษณ์กลัวที่สุดเพราะเป็นคดีอาญาจะยังคงไม่จบง่ายๆ และเมื่อไม่จบง่ายๆ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป เพราะตราบใดที่มีการหยิบเรื่องนี้ขึ้นมา การทำงานก็ย่อมสะดุด
นี่เป็นปัญหาที่ประมุขสูงสุดของระบอบทักษิณเล็งเห็นและได้ตัดสินใจกำหนดตัวผู้ท้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว
ส่วนขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นนางเยาวภาหรือนายสมชายอีกไม่นานก็รู้กัน
แต่ไม่ว่าใครจะมา สุดท้ายก็ต้องน้อมรับคำสั่งของนักโทษชายหนีคดีแต่เพียงผู้เดียวโดยไม่เปลี่ยนแปลง