xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กรรมตามทัน "แก๊งสมชาย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยนายธนะสิทธิ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าของสำนวนและผู้พิพากษาองค์คณะรวม 9 คน มีคำสั่งประทับรับฟ้อง คดีหมายเลขดำ อม. 2/2558 ที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี , พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี , พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. ทั้งหมดเป็นตำแหน่งเมื่อปี 2551 เป็นจำเลยที่ 1 - 4

ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 295 และ 302 จากกรณีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา กระทั่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 471 ราย

ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งนัดพิจารณาครั้งแรก เพื่อสอบคำให้การ จำเลยทั้งสี่ ในวันที่ 11 พ.ค.58 เวลา 09.30 น. ซึ่ง นายสมชาย กับพวก จะต้องเดินทางมาแสดงตัวต่อศาลเป็นครั้งแรกตามขั้นตอน เพื่อจะสอบคำให้การว่า จะรับสารภาพ หรือให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี

ย้อนเหตุการณ์ในอดีต การเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ตั้งแต่ปี 2548 และพัฒนามาเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ คนในตระกูลชินวัตร ตลอดจนทุกรัฐบาลที่เป็น"นอมินี" ของตระกูลชินวัตร

หลังจากพ.ต.ท.ทักษิณ ถูกโค่นล้ม โดยกลุ่มพันธมิตรฯ นายสมัคร สุนทรเวช ก็ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็เป็นรัฐบาลนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ต่อมา นายสมัคร ถูกศาลรัฐธรรมนูญ พิพากษาให้สิ้นสภาพการเป็นนายกฯ จากกรณีไปจัดรายการทำอาหาร "ชิมไปบ่นไป" ออกอากาศทางโทรทัศน์ โดยคดีนี้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เป็นผู้ร้อง

นายกรัฐมนตรีนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ คนต่อจากนายสมัคร ก็คือนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นน้องเขยของพ.ต.ท.ทักษิณ โดยได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯให้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2551 และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2551

รัฐบาลภายใต้การนำของนายสมชายได้ประกาศที่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ในขณะนั้นก็ได้เรียกประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อรับฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาล ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เวลา 09.30 น.

ในขณะเดียวกัน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งได้ชุมนุมอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ก็ประกาศที่จะขัดขวางการเข้าประชุมของสมาชิกรัฐสภา เพื่อมิให้รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยการเคลื่อนมวลชนมาปิดล้อมรัฐสภา ตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 6 ตุลาคม 2551

ขณะที่ นายสมชาย ก็ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ ที่ทำเนียบรัฐบาลชั่วคราวภายในท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อเวลา 23.00 น. คืนวันที่ 6 ต.ค. เช่นกัน เพื่อหารือถึงการรักษาความสงบเรียบร้อย ในวันรุ่งขึ้นที่รัฐบาลจะแถลงนโยบาย จึงได้เรียก พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. เข้ารับฟังนโยบาย โดย พล.ต.อ.พัชรวาท พร้อมด้วย พล.ต.อ. วิโรจน์ พหลเวชช์ รอง ผบ.ตร พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น. ได้เดินทางไปที่ดอนเมือง และได้พบกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยทั้งสองได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องดำเนินการเปิดทาง ให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมให้ได้ และสั่งให้ พล.ต.อ. พัชรวาท ไปปฏิบัติ โดย พล.อ.ชวลิต เป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ ควบคุมการปฏิบัติการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

หลังจากนั้น เวลาประมาณ 01.40 น. พล.อ.ชวลิต ได้เดินทางไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อนำมติครม. มาแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ว่า เช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องดำเนินการเปิดเส้นทาง ให้สมาชิกรัฐสภา เข้าประชุมให้ได้ โดยเวลา 05.00 น. ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ

เช้าตรู่วันที่ 7 ตุลาคม เวลาประมาณ 06.00น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายใต้การบัญชาการของคนกลุ่มนี้ จึงเปิดปฏิบัติการโหด เสียงระเบิด และควันจากแก๊สน้ำตา ทั้งชนิดยิง ชนิดขว้าง ผสานกับเสียงหวีดร้อง โกลาหล ของประชาชนและกลุ่มพันธมิตร ที่ได้รับบาดเจ็บ และพิษจากแก๊สน้ำตา บางคนขาขาด นิ้วขาด เป็นแผลฉกรรจ์ จนต้องถอยออกจากบริเวณหน้าอาคารรัฐสภา
 
จากนั้น ตำรวจเข้ายึดพื้นที่ และเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาที่เป็นเครือข่าย ลิ่วล้อของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าไปประชุมเพื่อรับฟัง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อ่านข้อความในกระดาษเพียงแผ่นเดียว ที่อ้างว่าเป็นนโยบายของรัฐบาล

ภาพข่าวการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สนำตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนประชาชนได้รับบาดเจ็บสาหัสเป็นจำนวนมาก ได้รับการเผยแพร่ออกไปทางสื่อ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ ท่ามกลางเสียงก่นด่าถึงความอำมหิต เหมือนไม่ใช่คนไทยด้วยกัน ทำให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเวลา 09.30 น.

ในช่วงที่ นายสมชาย แถลงนโยบายนั้น กลุ่มพันธมิตรฯ และประชาชน ที่ทราบข่าวก็หลั่งไหลกันมาที่หน้ารัฐสภา และสามารถยึดพื้นที่ ปิดประตูทางเข้าออก รัฐสภาได้อีกครั้ง ทำให้สมาชิกรัฐสภา ไม่สามารถออกจากที่ประชุมได้ สมาชิกส่วนหนึ่ง และนายสมชาย ต้องปีนกำแพงออกด้านหลัง ซึ่งเป็นบริเวณเขตพระราชฐาน โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้นำเฮลิคอปเตอร์ มารับตัวนายสมชาย ออกไปได้ ส่วนสมาชิกรัฐสภาจำนวนมากยังคงติดอยู่ภายใน

ปฏิบัติการสลายการชุมนุมจึงเริ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงบ่าย เพื่อเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาออกมาได้จนหมด แต่การระดมยิงแก๊สนำตา ก็ยังไม่หยุด และได้ขยายพื้นที่จากบริเวณหน้ารัฐสภา ลามมาถึงลานพระบรมรูปทรงม้า จากเวลาบ่ายไปจนถึงค่ำ

เวลาประมาณ 19.00 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่อยู่บริเวณด้านหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล และภายในกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มพันธมิตร ที่ถอยร่นจากหน้ารัฐสภา เพื่อกลับไปยังทำเนียบรัฐบาล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ"น้องโบว์" และมีผู้บาดเจ็บสาหัส ขาขาด มือขาด นิ้วเท้าขาด และบาดเจ็บที่ต่าง ๆ จำนวนมาก
 
จากรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง ของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้รายงานผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จำนวน 471 ราย รักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 86 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 14 ราย ประชาชน 72 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย

การปฏิบัติการของตำรวจในครั้งนั้น มีการเผนแพร่ไปทั่วโลก และได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างว่า การใช้กำลังเข้าสลายเช่นนั้น ถูกต้อง ชอบธรรม เหมาะสม หรือไม่ รวมทั้งคำถามอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เช่นคุณภาพยุทโธปกรณ์ ที่ใช้ แก๊สน้ำตาที่ยิงเข้าใส่ประชาชนแบบประหัตประหาร

กระทั่งมีการเรียกร้องให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะผู้นำประเทศ ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่มีสิทธิปฏิเสธ หรืออ้างเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น แต่ ฝ่ายรัฐก็อ้างถึง กลุ่มพันธมิตรฯ ระดมมวลชนจำนวนมาก ต้องการบุกเข้ารัฐสภา เพื่อไม่ให้สมาชิกรัฐสภาปฏิบัติหน้าที่ได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงต้องป้องกันความเสียหาย และรักษาความสงบเรียบร้อย ทั้งยังกล่าวอ้างว่า กลุ่มผู้ชุมนุมคือ ผู้ไม่หวังดี

หลังเกิดเหตุการณ์ แกนนำพันธมิตรฯ ได้นำเรื่องเข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อชี้มูลความผิด นายสมชาย กับพวก ซึ่งต่อมา ป.ป.ช.ได้มีมติฟ้องบุคคลที่เกี่ยวข้องในความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ประกอบไปด้วย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้สั่งการให้สลายการชุมนุม รวมทั้งชี้มูลความผิดทางอาญา และวินัยร้ายแรง ในฐานความผิดเดียวกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผบช.น.

โดยป.ป.ช. ส่งสำนวนคำฟ้องให้อัยการสูงสุด เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมือง และส่งเรื่องให้วุฒิสภา ถอดถอนนายสมชาย ออกจากตำแหน่งด้วย แต่ก็ไม่สามารถ ถอดถอนได้ เนื่องจากผลการลงมติมีเสียงถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 5 ของสมาชิกวุฒิสภา ขณะที่อัยการสูงสุด ก็มีมติสั่งไม่ฟ้องในเวลาต่อมา

ส่วน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่มีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และฐานละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ถูกส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัย ต่อมา พล.ต.อ.พัชรวาท ก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง ผบ.ตร. ไปเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2552 และถูกลงโทษปลดออกจากราชการไปเมื่อ 19 ตุลาคม 2552 ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ในยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่เมื่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ก็มีคำสั่งให้ยกโทษปลดออก พล.ต.อ.พัชรวาท ไปเมื่อวันที่ 17กรกฎาคม 2557

จากการที่อัยการสูงสุดไม่สั่งฟ้องบุคคลทั้งสี่ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำให้ป.ป.ช. ต้องหาทนายมาฟ้องเอง และศาลฯ ก็มีมติรับฟ้องไปแล้ว 
 
หลังเกิดเหตุการณ์ผ่านไปกว่า 6 ปี ต้องจับตาว่า วันที่ 1 พฤษภาคม นี้ นายสมชาย พล.อ.ชวลิต พล.ต.อ.พัชรวาท และพล.ต.ท.สุชาติ จะไปขึ้นศาลเพื่อเปิดการพิจารณาคดีนัดแรกหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น