xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เรียก“เด็กแม้ว”เข้าค่าย เห็นทีต้องมีรอบสาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ และอดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ถูกเรียกตัวเข้ากองทัพภาคที่ 1 เมื่อ 29 ม.ค.
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - และแล้ว คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ก็ต้องเรียกตัวนักการเมืองในเครือข่ายระบอบทักษิณเข้าไปปรับทัศนคติอีกรอบ หลังจากได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว และต่อเนื่องมาจนถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปพบนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 24-26 ม.ค.

คนที่ถูกเรียกตัวเข้าไปปรับทัศนคติรอบที่ 2 เป็นคนแรกก็คือ นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขตกรุงเทพฯ โดย พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ได้เชิญเข้าไปพบภายในกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 เมื่อวันที่ 27 ม.ค. เนื่องมาจากนายสิงห์ทองได้ให้สัมภาษณ์และโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวในทำนองว่า คสช.ได้ห้ามไม่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่โรงแรมเอสซีปาร์ค หลังจากที่ สนช.ลงมติถอดถอนเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา และนายสิงห์ทองยังคงให้ข่าวกับสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ พล.ท.กัมปนาทบอกกับสื่อมวลชนว่า เหตุที่เรียกนายสิงห์ทองมารายงานตัวเพื่อเตือนเรื่องการแสดงความเห็น เดี๋ยวก็ปล่อยกลับบ้าน ไม่เอาเข้าค่ายทหาร และเตรียมจะเรียกมาคุยอีกหลายคน

ต่อมา วันที่ 28 ม.ค.นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และอดีต รมว.ต่างประเทศในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ถูกเรียกเข้าไปปรับทัศนคติที่กองทัพภาคที่ 1 หลังจากนายสุรพงษ์ ซึ่งได้เข้าพบนายแดเนียล รัสเซล พร้อมกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ออกมาให้ข่าวต่อสื่อมวลชน ในทำนองสนับสนุนนายแดเนียลที่ต้องการให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกในประเทศไทย โดยบอกว่า สิ่งที่นายแดเนียลพูดสะท้อนมุมมองของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เพราะวันนี้มีการปิดกั้นกันเสียจนประชาชนไม่กล้าแสดงออก ซึ่งแบบนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย

นายสุรพงษ์ยังอ้างอีกว่า สหรัฐอเมริการู้ดีว่าอะไรเกิดขึ้นในประเทศไทย นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งต้องถูกปลดจากคนที่มาจากการแต่งตั้ง ก็เฝ้ามองด้วยความห่วงใย และหวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามโรดแมป ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.เคยพูดไว้

ซ้ำยังประชดประชันอีกว่า ถ้าทำให้บ้านเมืองสงบสุข เศรษฐกิจดี คนชั้นกลางคนชั้นล่างมีความสุขได้ ก็อยู่ยาวไปเลย 10 ปี ไม่ต้องเลือกตั้งก็ได้ พวกตนพร้อมสนับสนุน และเลิกเล่นการเมืองไปเลย แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ควรรู้ตัวเองและคืนอำนาจให้ประชาชน เอาแบบลูกผู้ชายเล่นกันแบบแฟร์ๆ ทำดีก็อยู่ต่อ ทำไม่ได้ก็ออกไป จะดันทุรังอยู่ทำไม

หลังจากถูกเรียกตัว นายสุรพงษ์ได้เดินทางเข้ากองทัพภาคที่ 1 เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 29 ม.ค. เพื่อพูดคุยและทำความเข้าใจกับทีมทหารจาก กกล.รส.โดยใช้เวลาพูดคุยประมาณ 3 ชั่วโมง ก็ได้ให้นายสุรพงษ์เดินทางกลับ โดยแหล่งข่าวในกองทัพภาคที่ 1 ยืนยันว่า ทหารไม่ได้รวบตัวหรือหิ้วตัวนายสุรพงษ์ที่ร้านอาหารย่านเมืองทองธานีตามที่มีกระเเสข่าว แต่เป็นการนัดหมายเวลาล่วงหน้าเเล้ว อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า นายสุรพงษ์ได้นัดผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ที่ร้านข้าวขาหมูย่านเมืองทองธานีในเช้าวันเดียวกัน แต่เมื่อนายสุรพงษ์เดินทางมาที่ร้านก็มีทหารรออยู่และนำตัวขึ้นรถไป

นอกจากนายสุรพงษ์แล้ว ในวันเดียวกัน นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ และอดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ก็ถูกเรียกเข้าพูดคุยในกองทัพภาคที่ 1 เนื่องมาจากนายจาตุรนต์โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัววิพากษ์วิจารณ์การลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์
ส่วนในต่างจังหวัด วันที่ 29 ม.ค.เช่นเดียวกัน นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง จ.ขอนแก่น ได้ถูกเชิญไปที่มณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร์ พร้อมด้วยนางพรรณวดี ตันติศิรินทร์ ภรรยา เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและปรับทัศนคติ จากกรณีที่ นพ.เชิดชัยแสดงความเห็นให้ท้ายนายแดเนียล รัสเซล ที่บอกว่ากระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นเรื่องทางการเมือง และเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก เพราะถ้าไม่ยกเลิกกฎอัยการศึก จะรู้ได้อย่างไรว่าคนส่วนใหญ่เขาคิดเห็นอย่างไร ที่อ้างว่าเพื่อความมั่นคง อยากถามว่าความมั่นคงของใคร

หลังจากการพูดคุย นพ.เชิดชัยบอกนักข่าวว่า มทบ.23 เรียกมาทำความเข้าใจเพื่อทำให้บรรยากาศในขอนแก่นดีขึ้นและไม่เกิดความปั่นป่วน ส่วนความคิดเห็นที่แตกต่างก็ว่ากันไป เพราะทางรัฐบาลก็รับผิดชอบอยู่แล้วที่จะทำตามโรดแมปให้ราบรื่น หลังจากได้คุยกันแล้วก็ดี ทุกฝ่ายต้องการให้จังหวัดสงบเรียบร้อย

นอกจากบุคคลที่กล่าวมาแล้ว ยังมีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และแกนนำคนเสื้อแดง ก็มีคิวถูกเรียกเข้าไปปรับทัศนคติในวันที่ 30 ม.ค.หลังจากนายณัฐวุฒิแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กในทำนองสนับสนุนนายแดเนียล รัสเซล ที่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทย

ขณะที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และ คสช.อยู่เนืองๆ ก็มีรายงานว่า ถูกเชิญตัวเข้าไปปรับทัศนคติในวันที่ 30 ม.ค.เช่นเดียวกัน

การที่ คสช.ต้องเรียกคนในเครือข่ายทักษิณหลายคนเข้าไปปรับทัศนคติเป็นรอบที่สอง เพราะมีพฤติกรรมที่จะสร้างความแตกแยก นั่นแสดงว่า แผนการปรองดองตามโรดแมป ที่ดำเนินกันมาตั้งแต่ภายหลังการยึดอำนาจ วันที่ 22 พ.ค.2557 นั้น ยังไม่บรรลุผลเท่าใดนัก

แม้สถานการณ์โดยทั่วไปจะอยู่ในความสงบ ไม่มีบรรยากาศของความขัดแย้งรุนแรงปรากฏให้เห็น แต่นั่นก็เป็นเพราะมีกฎอัยการศึก และคำสั่ง คสช.หลายฉบับควบคุมอยู่ แต่เมื่อมีเหตุการณ์ที่มากระตุ้นครั้งใด ความขัดแย้งก็ปรากฏออกมาทันที ดังกรณีการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นตัวอย่าง
หลังจากการยึดอำนาจวันที่ 22 พ.ค.2557 คสช.ได้จัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) โดยมี พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ มีแผนปฏิบัติการ 3 ขั้นตอน ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค.ถึงเดือน ก.ค.2557 แต่ดูเหมือนว่า ผลงานของ ศปป.จะสำเร็จเพียงแค่งานพิธีกรรมให้แกนนำฝ่ายต่างๆ มาจับมือสมานฉันท์กันเท่านั้น ขณะที่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “คลื่นใต้น้ำ” ก็ยังคงอยู่

ขณะที่ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการสร้างการปรองดองขึ้นมา แต่ก็ดูเหมือนว่า คณะทำงานชุดนี้มุ่งไปที่การหากลไกหรือเครื่องมือมาทำให้เกิดการปรองดองระหว่างคู่ขัดแย้ง และหวังจะให้เกิดความปรองดองขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้พูดถึงการขจัดต้นตอความขัดแย้งเท่าที่ควร

คำแถลงของนายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิก สปช.ในฐานะรองประธานคณะทำงานศึกษาแนวทางการสร้างการปรองดอง เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ยังบอกว่า มติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์จะมีผลกระทบต่อบรรยากาศของความปรองดอง เพราะการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี อาจทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งรู้สึกผิดหวัง ต้องการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ลงมาสมัครรับเลือกตั้งอีก

นั่นแสดงว่าคณะทำงานชุดนี้ ยังไม่เข้าใจถึงวิธีการสร้างความปรองดองที่แท้จริง นั่นคือการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อการขจัดต้นตอความขัดแย้ง
หากกลัวว่า จะมีประชาชนผิดหวังจากการลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทางแก้ก็คือ ต้องปฏิบัติการเชิงรุกออกไปให้ข้อมูลที่ถูกต้องว่า เหตุใด น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงสมควรถูกถอดถอน

แม้แต่การเรียกคนของพรรคเพื่อไทยเข้าไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร ก็ดูเหมือนว่า จะเน้นไปที่การให้ทุกคนอยู่เฉยๆ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ก็ปล่อยให้ความคิดที่ฉ้อฉล และข้อมูลที่บิดเบือนยังคงอยู่ต่อไป โดยอ้างว่าให้มีความเห็นต่างกันได้ ทั้งที่นั่นไม่ใช่ความเห็นต่าง แต่เป็นความเห็นผิดและเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง

ถ้าปล่อยให้เป็นอยู่อย่างนี้ ก็คงต้องมีการเรียกไปปรับทัศนคติรอบที่สาม สี่ ห้า อีกไม่สิ้นสุด


กำลังโหลดความคิดเห็น