xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บินไทยวิกฤติหนักหวั่นล้มละลาย เร่งแผนฟื้นฟูใหม่โละฝูงบิน-พนง.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากที่สายการบินไทย ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของไทยต้องประสบภาวะวิกฤติอย่างหนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินของโลกมีการแข่งขันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะสายการบินที่เกิดขึ้นในมากคือสายการบินต้นทุนต่ำ ทำให้มีผู้โดยสารมีทางเลือกในการใช้บริการของสายการบินมากขึ้น การบินไทยจึงเป็นสายการบินที่ต้องมีการปรับตัวอย่างหนัก ประกอบกับภาวะปัญหาการเมืองของไทยที่วุ่นวายในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณนักเดินทางเข้ามาภายในประเทศลดลงอย่างหนัก จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทการบินไทยอย่างหนักติดต่อกันมา 2 ปี

เมื่อพิจารณาผลประกอบการงวด 9 เดือน สิ้นสุดเดือนกันยายน 2557 ขาดทุน 9,210.73 ล้านบาท ซึ่งทางกระทรวงคมนาคม โดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดูแลบริษัทการบินไทย ถึงกับผงะกับตัวเลขการขาดทุนและต้องเร่งปรับแผนการบริหารโดยด่วน เริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนตัวผู้บริหารหลัก มีการดึงมือดีด้านการเงินอย่างนายจรัมพร โชติกเสถียร มานั่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในการบินไทย ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาการบินไทยนั้นเป็นแดนสนธยา และเป็นแหล่งทำมาหากินที่มีกลุ่มนักการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อฝูงบิน การจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ติดตั้งบนเครื่องบิน อะไหล่เครื่องยนต์ฯลฯ ล้วนแต่มีกลุ่มประโยชน์แฝงอยู่ภายในบริษัทมาอย่างยาวนาน

ขณะที่นโยบายจากคมนาคมให้เร่งสะสางปัญหาการขาดทุน เพราะเกรงว่าบริษัทจะเข้าขั้นล้มละลาย จึงได้สั่งให้มีการทำแผนยกเครื่องการปฏิรูปการบินไทยครั้งใหญ่ โดยระบุว่าตามแผนปฏิรูปองค์กรนั้น บริษัทต้องเร่งดำเนินการเรื่อง การปรับลดเที่ยวบินลงโดยเฉพาะเส้นทางที่เกิดความขาดทุนและมีผู้โดยสารเดินทางปริมาณน้อยลง การขายทรัพย์สินและปลดระวางเครื่องบิน 22 ลำออกจากฝูงบิน รวมถึงการเร่งแผนด้านการตลาด การปรับโครสร้าง และพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของการบินไทย (Non-Core) เช่น กิจการโรงแรม กิจการขนส่งน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมา การบินไทยยังไม่ได้มีการนำเสนอรายละเอียดดังกล่าว ซึ่งจะต้อง ศึกษารายละเอียดก่อนจึงจะสรุปได้ ซึ่งยอมรับว่า มาตรการดังกล่าวเป็นกลยุทธ์ที่ต้องเร่งดำเนินการ

“หลักการพิจารณาเกี่ยวกับธุรกิจ Non-Core นั้น จะต้องดูว่า การลงทุนอะไรบ้างที่ไม่เกิดประโยชน์หรือไม่ทำให้เกิดผลกำไร หากพิจาณาแล้วว่าไม่เกิดประโยชน์ก็ต้องขายหุ้นส่วนนั้นออกไป ซึ่งในส่วนของโรงแรมโนโวเทลสุวรรณภูมิ ต้องพิจารณาว่าจะต้องให้บริการผู้โดยสารควบคู่กับการให้บริการด้านการบินหรือไม่ส่วนกิจการขนส่งน้ำมันก็เช่นกันจะต้องพิจารณาด้วยว่าสายการบินมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด ส่วนการขายหุ้นสายการบินนกแอร์ ที่บินไทย มีถือหุ้นอยู่ 39 เปอร์เซ็นต์นั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการ (บอร์ด) ต้องพิจารณาความเหมะสม”พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

นอกจากนี้มีการประเมินจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การบินไทยว่าอัตราการให้บริการของฝูงบินจำนวน 100 เครื่องนั้น จำเป็นต้องมีพนักงานประมาณ 16,000 -18,000 คน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนพนักงาน 25,000 คน ซึ่งการปรับลดพนักงานดังกล่าวนั้น ตัวเลขจริงอาจจะไม่ถึง 5,000 คน ซึ่งการจะปรับลดอัตราพนักงานเท่าไรนั้น จะต้องทำการศึกษารายละเอียดอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

ซูเปอร์บอร์ดไฟเขียว 5 แนวทางปฏิวัติใหญ่บินไทย

ในขณะคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดว่าซูเปอร์บอร์ด เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย โดยมีการพิจารณา 5 ประเด็นหลักคือ 1) การปรับเส้นทางบิน 2) การปรับแผนการตลาด 3) การขายทรัพย์สินและอากาศยานที่ไม่ได้ใช้งาน 4) การปรับโครงสร้างอัตรากำลังลดจาก25,000 คน ให้เหลือ 20,000 คน 5) การปรับปรุงและพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของการบินไทย (Non-Core) เช่น กิจการโรงแรม กิจการขนส่งน้ำมัน เป็นต้น

ทั้งนี้ แผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว ประกอบด้วย

1) แผนการปรับเส้นทางบินแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ เส้นทางบินที่ขาดทุนอย่างแน่นอนและขาดทุนอย่างต่อเนื่องจะให้หยุดบิน และใช้เวลา 6 เดือน 12 เดือน และ 18 เดือน ในการพิจารณาที่จะกลับมาบินใหม่อีกครั้ง ส่วนเส้นทางที่ขาดทุน แต่มีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้ ให้ปรับลดจำนวนเที่ยวบิน และให้ฟื้นฟูกิจการกลับมาภายใน 6-12 เดือน ส่วนเส้นทางที่พอมีกำไร ให้พัฒนาและเพิ่มการบริการ โดยเน้นการเชื่อมต่อเส้นทางบิน โดยเฉพาะส่วนของ 2 กลุ่มแรกที่มีการหยุดบินและลดจำนวนเที่ยวบินต้องมีการดำเนินการเพื่อไม่ให้ผู้โดยสารไม่ได้รับผลกระทบ

2) การปรับแผนการตลาด เน้นการปรับกลยุทธ์การขายตั๋วเพิ่มสัดส่วนขายผ่านระบบออนไลน์และขายเอง

3) แผนขายทรัพย์สินและอากาศยานที่ไม่ได้ใช้งาน เช่น การเร่งขายเครื่องบิน 22 ลำ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับลดเส้นทางบินที่ขาดทุน โดยเฉพาะเครื่อง บินเก่าและเครื่องที่ไม่สิ้นเปลืองน้ำมัน เพื่อช่วยลดภาระด้านการซ่อมบำรุงและค่าจอดต่างๆ

4) การปรับโครงสร้างอัตรากำลัง ตามแผน จะปรับลดพนักงานจำนวน 5,000 คน จากปัจจุบันที่มีอยู่จำนวน 25,000 คน แต่ยังไม่กำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจน โดยต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนการเกษียณก่อนกำหนดและแผนสมัครใจลาออกด้วย 5) ปรับปรุงพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของการบินไทย (Non-Core) เช่น กิจการโรงแรม กิจการขนส่งน้ำมัน อาจต้องพิจารณาว่าอาจมีการขายกิจการหรือโอนออกไปยังส่วนอื่นๆ

“การหยุดเลือดของการบินไทยได้ ต้องตัดในส่วนที่ทำให้ติดลบมากๆ ออกไปก่อน เช่น เคยลงทุน 2 แสนล้านต่อปี อาจลดลงเหลือ 150,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนแผนการรับมอบเครื่องบินใหม่และการชำระหนี้เครื่องบินนั้น ให้มีการเจรจาเพื่อขอยืดเวลาการรับมอบและการชำระหนี้ออกไป แต่ไม่ได้ยกเลิกแผนการสั่งซื้อเครื่องบิน” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

“จรัมพร”ยันปรับแผนบินไทยมีโอกาสรอดตาย

ขณะที่นายจรัมพร โชติเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทยยอมรับว่า แผนฟื้นฟูนี้จะทำให้บริษัทสามารถกลับมาทำกำไรในระยะยาวอีกครั้ง และจะทำให้เป็นความภาคภูมิใจของประเทศได้ ทั้งนี้ แผนฟื้นฟูยังไม่รวมไปถึง “การเลิกจ้างพนักงาน” แต่บริษัทอาจต้องขายทรัพย์สินบางส่วนของบริษัทออกไป เช่น ตึกสำนักงาน ส่วนในเส้นทางที่คาดว่าจะทำการยกเลิกบินยังไม่เปิดเผย โดยเปิดเผยเพียงว่า แผนฟื้นฟูนี้จะเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ของบริษัท

สำหรับประเด็นการเลิกจ้างพนักงานที่ถือเป็นตัวเลือกต้นๆ ในการลดค่าใช้จ่ายยังไม่ได้ถูกรวมไว้ เมื่อพิจารณาถึงต้นทุนต่อเที่ยวบินของการบินไทย ทั้งนี้พบว่า ในเที่ยวบิน 5 ชม.ของบางเส้นทาง การบินไทยมีพนักงานต้อนรับบนเครื่องอย่างน้อย 6 คน เมื่อเทียบกับสายการบินต่างชาติที่บินในเส้นทาง 12 ชม. กลับใช้จำนวนพนักงานต้อนรับจำนวนที่ต่ำกว่า และประกอบกับที่ผ่านมา ในรอบ 4 ปีล่าสุดสายการบินไทยเปิดตัวฝูงบินใหม่เข้าประจำการที่มีเครื่องบินจำนวนมากถึง 40 ลำ และยังมีกำหนดเตรียมรับมอบเครื่องบินใหม่เพิ่มอีก 22 ลำตั้งแต่ปี 2015 ไปจนถึงปี 2018

หวั่นบินไทยยังเลือดไหลไม่หยุด

สำหรับแผนการยกแก้ขาดทุนครั้งใหญ่นี้ยังจะต้องมีการลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในด้านการบริหารจัดการ รวมถึงต้นทุนในการให้บริการ ซึ่งเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อการให้บริการ และไม่สามารถแข่งขันกับสายการบินต่างชาติได้ นอกจากนี้ผู้บริหารการบินไทยและรวมถึงพนักงานจะต้องยอมสูญเสียและเสียสละผลประโยชน์ที่เคยได้รับ และยอมเฉือนเนื้อตัวเองบ้างเพื่อรักษาและห้ามเลือดให้หยุดไหล เช่น การยอมปรับลดเงินเดือนพนักงานลง 20-30 เปอร์เซ็นต์ หรือลาพักเพื่อศึกษาต่อ หรือปรับลดพนักงานลงในส่วนที่ไม่มีผลกระทบต่อการบริการ เมื่อสถานการณ์บริษัทดีขึ้นก็กลับเข้ามาทำงานใหม่อีกครั้ง

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวสายการบินต่าง ๆ เคยนำมาใช้เมื่อเกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจจนสามารถฝ่าสถานการณ์มาได้ ซึ่งต้องยอมรับว่ามาตราหลักๆ ที่เสนอมานั้นยังไม่เพียงพอผู้บริหารจะต้องกล้าตัดสินใจ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และโละพนักงานที่เรียกว่า “เด็กฝาก” ภายในการบินไทยเพื่อปรับลดภาระของบริษัทลงให้ได้

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการปรับแผนยกเครื่องครั้งนี้ เป็นภารกิจหนักอย่างยิ่ง ว่าจะสามารถฝ่ามรสุมไปได้หรือไม่ หากไปไม่ถึงดวงดาว การบินไทยซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติคงจะต้องล้มละลายไปในที่สุด ก็จะไม่มีสายการบินแห่งชาติอีกต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น