ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว ที่รถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดให้บริการ เพื่อเป็นทางเลือก และลดปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ โดยสายแรกเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 คือ สายสุขุมวิท ระยะทาง 17 กม. และ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2554 ได้เปิดให้บริการส่วนต่อขยาย สายสุขุมวิทอย่างเป็นทางการ ระยะทาง 5.25 กม. จากสถานีอ่อนนุช ถึงสถานีแบริ่ง และสายสีลม ระยะทาง 6.5 กม. ตลอดเวลาดังกล่าว กลุ่มผู้พิการ โดยเฉพาะกลุ่ม "มนุษย์ล้อ" ได้แต่มอง ไม่สามารถเข้าไปใช้บริการได้โดยลำพัง หรือถ้าจะเข้าไปใช้ ก็เป็นไปด้วยความยุ่งยาก ทุลักทุเล เพราะการออกแบบก่อสร้างสถานี ไม่ได้จัดสร้างลิฟต์ ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการอย่างเพียงพอ
ความจริงแล้วคนกลุ่มนี้ ได้พยายามรณรงค์ ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่สังคม ถึงความเท่าเทียมของคนพิการในการเดินทาง ว่ารัฐต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับพวกเขา มาตั้งแต่ปี 2538 ก่อนที่จะมีการทำสัญญาการก่อสร้างรถไฟฟ้าในปี 2539 เสียอีก เพราะตาม พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ก็กำหนดไว้ชัดว่า ต้องจัดสร้างลิฟต์ และสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งบริเวณสถานี และบนขบวนรถ สำหรับคนพิการ ที่มาใช้บริการระบบขนส่งมวลชน
แต่รถไฟฟ้าบีทีเอส ก็มีการติดตั้งลิฟต์ไว้แค่ 5 สถานีเท่านั้น จากทั้งหมด 23 สถานี คือที่ สถานีสยาม หมอชิต ช่องนนทรีย์ สนามกีฬาแห่งชาติ และ อ่อนนุช ซึ่งเป็นสถานีปลายทาง และสถานีเชื่อมต่อ ทำให้คนพิการไม่สามารถลงที่สถานีอื่นได้ นอกจากนี้ยังเป็นการติดตั้งลิฟต์แค่จุดเดียวเท่านั้น และไม่มีจุดเชื่อมต่อในการเดินทาง ทำให้เมื่อลงลงลิฟท์มาแล้ว หากคนพิการต้องการข้ามถนนอีกฝั่ง ก็ไม่สามารถทำได้ นอกจากต้องนั่งแท็กซี่ข้ามเอง
นี่คือความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ที่ทำให้คนพิการไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะนี้ได้
จึงได้ยื่นเรื่องฟ้องผู้เกี่ยวข้องและมีหน้าที่รับผิดชอบ คือฟ้อง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้ว่าฯ กทม. ผอ.สำนักการโยธา กทม. และ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) ในข้อหา ร่วมกันละเลยต่อหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ต่อศาลปกครอง
วันที่ 22 กันยายน 2552 เป็นวันตัดสินในยกแรก ผลปรากฏว่า ผู้พิการเป็นฝ่ายแพ้ !!
ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา ให้ยกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่า แม้ขณะนั้นจะมี พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ แต่กฎหมายดังกล่าวไม่ได้กำหนดรายละเอียดของอาคาร สถานี และ ยานพาหนะ ที่จะต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการแต่อย่างใด การที่กทม. และบมจ.บีทีเอส ไม่ได้ก่อสร้างลิฟต์ และ สิ่งอำนวยความสะดวก จึงไม่อาจถือว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนด
แต่กลุ่มผู้พิการ ก็สู้ต่อในยก 2 โดย นายสุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความเสมอภาค กับพวก ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสูด
และวันที่ 21 มกราคม 2558 ก็เป็นวันแห่งชัยชนะของผู้พิการ ที่ต่อสู้มาอย่างทรหด ยาวนาน
ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษา กลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง สั่งให้กรุงเทพมหานคร จัดทำลิฟต์ขึ้นลงสำหรับผู้พิการ ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้ง 23 สถานี และให้จัดทำอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ทั้ง 23 สถานี รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการบนรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยให้เว้นที่สำหรับจอดรถเข็นคนพิการ มีความกว้างไม่น้อยกว่า 120 ซ.ม. มีราวจับ สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 80 ซ.ม. บริเวณทางขึ้นลง และติดสัญลักษณ์คนพิการไว้ ทั้งใน และนอกตัวรถที่จัดให้สำหรับคนพิการ ซึ่งกรุงเทพมหานคร ต้องดำเนินการตามคำสั่งศาลให้แล้วเสร็จ ภายใน 1 ปี หลังจากมีคำพิพากษา
ในรายละเอียดของคำพิากษาของศาลปกครองสูงสุดที่กลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ระบุว่า แม้ กทม.โดยผู้ว่าฯกทม. และ บีทีเอสได้ทำสัญญาสัมปทานระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 34 ก่อนที่จะมีกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2542) ออกความตาม พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ที่กำหนดลักษณะ อาคาร สถานที่ ยานพาหนะ หรือบริการสาธารณะอื่น ที่ต้องมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ และคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการจะออกระเบียบ คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ พ.ศ. 2544 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. 44 จึงไม่อาจใช้บังคับกับสัญญาสัมปทานดังกล่าวก็ตาม
แต่เมื่อกฎกระทรวง และระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว ย่อมเป็นหน้าที่ของกทม. ที่เป็นเจ้าของอาคารสถานีขนส่งมวลชน ต้องแก้ไขปรับปรุงอาคารสถานีรถไฟฟ้า ยานพาหนะ ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ โดยให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงคดีนี้ ปรากฏว่า กทม.ได้จัดทางขึ้น-ลง และลิฟต์ อำนวยความสะดวกแก่คนพิการเพียง 5 สถานี จากสถานีขนส่งจำนวนทั้งสิ้น 23 สถานี และไม่ได้แสดงให้ศาลเห็นว่า เหตุที่ไม่ได้จัดทางขึ้น-ลง และลิฟต์ อำนวยความสะดวกแก่คนพิการในอีก 18 สถานี เกิดจากข้อจำกัดอันใด
นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามเอกสารสรุปการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ที่ผู้ว่าฯ กทม. รายงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตามหนังสือที่ กท 4000/3314 ลงวันที่ 4 พ.ค.42 แสดงให้เห็นว่า อยู่ในวิสัยที่กทม. โดยผู้ว่าฯกทม.จะจัดอาคารสถานีรถไฟฟ้า ยานพาหนะให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ให้เป็นไปตามกฎหมายได้
ดังนั้น เมื่อนับแต่วันที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2542) ออกความตาม พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 กำหนดลักษณะอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ หรือบริการสาธารณะอื่นที่ต้องมีอุปกรณที่อำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 42 และระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ พ.ศ. 2544 มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.44
จนถึงวันที่ นายสุภรธรรม กับพวกจำนวน 3 คน นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ในวันที่ 13 ก.ย. 50 เป็นระยะเวลากว่า 6 ปี แต่กทม. เพียงจัดให้มีทางขึ้น-ลง และลิฟต์ อำนวยความสะดวกแก่คนพิการเพียง 5 สถานี จากสถานีขนส่งจำนวนทั้งสิ้น 23 สถานี จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล้าช้าเกินสมควร การที่ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง
นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของ การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของผู้พิการ ที่จะเป็นบรรทัดฐานให้สังคมพึงตระหนักต่อไปว่า การออกแบบอาคาร สถานที่ ที่เป็นบริการสาธารณะนั้น จะต้องคำนึงถึง "ภูมิสถาปัตย์" ที่จะต้องอำนวยความสะดวกแก่คนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคนปกติ เด็ก คนชรา และผู้พิการ โดยต้องยึดตรรกะ "เพื่อความเท่าเทียม" ไม่ใช่ยึดหลัก "เท่าที่จำเป็น"
เราต้องร่วมกันขับเคลื่อนสังคมไทยจาก "สังคมฐานเวทนานิยม" เมื่อมองผู้พิการ หรือผู้ที่ด้อยโอกาส ไปสู่ "สังคมฐานสิทธิ" ที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ