xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิภาวะของผู้บริหารสิ่งจำเป็นของสังคมไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

คุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของผู้บริหารหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นองค์การขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตามคือการมีวุฒิภาวะ หากผู้บริหารไร้วุฒิภาวะหรือมีแต่เพียงน้อยนิด องค์การมีแนวโน้มประสบปัญหา เกิดความแตกแยก และเกิดความโกลาหลขึ้นมาอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้

วุฒิภาวะนั้นเป็นความยับยั้งชั่งใจซึ่งเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างความความปรารถนาหรือความต้องการเพื่อตอบสนองกิเลส ตามความเชื่อหรืออุดมการณ์ส่วนตน กับการคำนึงถึงผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระทำซึ่งส่งผลต่อภาพรวมขององค์การหรือของประเทศ

เมื่อเราบอกว่าเด็กยังไม่มีวุฒิภาวะหรือมีวุฒิภาวะน้อย เราหมายความว่าเด็กมักตัดสินใจและกระทำโดยใช้ความต้องการตามอารมณ์ของตนเองเป็นหลัก มิได้พิจารณาความเป็นไปได้ของทางเลือกในการตัดสินใจให้รอบคอบ และไม่สนใจไยดีว่าผลลัพธ์ของการตัดสินใจนั้นจะสร้างความเสียหายหรือเกิดผลกระทบทางลบต่อองค์การและประเทศอย่างไร

การตัดสินใจและการกระทำที่อยู่บนฐานของความไร้วุฒิภาวะจึงมักเกิดผลลัพธ์ที่สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางทั้งตัวบุคคลที่ตัดสินใจเอง และบุคคลอื่นๆที่อยู่ในอาณาเขตของการตัดสินใจนั้นๆ

ผู้บริหารที่มีวุฒิภาวะสูงนั้นย่อมไม่ตัดสินใจโดยใช้อารมณ์ ความต้องการ และอำนาจ เพื่อตอบสนองความปรารถนาของตนเอง หากแต่ตัดสินใจและกระทำอย่างรอบคอบ รอบด้าน คำนึงถึงผลลัพธ์และผลกระทบที่ตามมา และเป็นไปเพื่อประโยชน์โดยรวมขององค์การและประเทศชาติ

ส่วนผู้บริหารที่มีวุฒิภาวะต่ำนั้น มักใช้อารมณ์ ความเชื่อ และความต้องการของตนเองเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจ จึงตัดสินใจแบบไม่ฟังใคร มีความหุนหันพันแล่นเป็นฐาน ไม่คำนึงถึงผลลัพธ์และผลกระทบที่ตามมา ใครท้วงติงก็จะหงุดหงิด โกรธง่าย

ผู้บริหารบางคนอาจมีความตั้งใจดี แต่เนื่องจากขาดวุฒิภาวะ จึงทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจแทนที่จะเป็นบวก กลับกลายเป็นลบ และสร้างความเสียหายอย่างคาดไม่ถึง

ผู้บริหารระดับสูงที่มีวุฒิภาวะต่ำมีหลายประเภท ประเภทแรก คือการเป็นผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่ อายุยังน้อย ด้วยอาจมีภาพลักษณ์เป็นคนเก่ง คนขยันในสายตาของผู้บริหารที่สูงกว่า จึงได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้เป็นผู้บริหารระดับสูงอย่างรวดเร็ว จึงขาดประสบการณ์ในการตัดสินใจ และมักจะตัดสินใจโดยอาศัยความเชื่อและความคิดของตนเองเป็นที่ตั้ง หากพฤติของบุคคลเช่นนี้ไม่ถูกยับยั้งหรือท้วงติง ท้ายที่สุดจะกลายเป็นคนที่บ้าอำนาจ เอาความต้องการของตนเองเป็นความถูกต้อง และจะมีการตัดสินใจที่คล้ายเด็กมากยิ่งขึ้น

ประเภทที่สอง เป็นผู้บริหารที่บังเอิญเปลี่ยนสถานะจากตำแหน่งที่มีอำนาจการตัดสินใจน้อยไปสู่ตำแหน่งที่มีอำนาจในการตัดสินใจมากอย่างฉับพลัน การเปลี่ยนแปลงสถานะและตำแหน่งอย่างฉับพลันอาจเกิดจากความจำเพาะเจาะจงของสถานการณ์บางอย่าง เช่น การลาออกของผู้มีตำแหน่งสูง หรือ ในกรณีการเมืองก็จะเกิดกับบุคคลที่เป็นพี่ น้อง หรือเครือญาติของนักการเมืองที่เคยมีอำนาจมาก่อน และต้องการสืบทอดอำนาจในวงศ์ตระกูลของตนเอง หรือ การได้รับการคัดเลือกอันเนื่องมาจากภาพลักษณ์ภายนอกบางอย่าง หรือบางกรณีก็มาจากการรัฐประหาร

เมื่อมีอำนาจมากขึ้นมาอย่างฉับพลัน แต่ยังขาดประสบการณ์ในการใช้อำนาจและการตัดสินใจ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมามีสองแบบ คือ แบบแรก การตัดสินใจถูกครอบงำ บงการ และชี้นำจากกลุ่มผู้ที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง และแบบที่สองคือ การตัดสินใจตามความเชื่อของตนเอง มักจะเป็นแบบหุนหันพลันแล่น มักพูดและกระทำแบบคล้ายเด็กคือ ทำอะไรตามใจตนเองขาดความยับยั้งชั่งใจ และมักจะไม่คำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น ตลอดจนผลลัพธ์ที่ตามมา

ตัวอย่างของบุคคลที่มีการพูด การตัดสินใจ และการกระทำที่มีวุฒิภาวะต่ำมีให้เห็นอยู่เนืองๆในแวดวงการเมืองและองค์กรอิสระของสังคมไทย บางคนกระทำและแสดงกิริยามารยาทที่นำความอับอายมาสู่ประเทศ บางคนก็ไม่คิดก่อนจะพูดอะไรออกมาจนสร้างความขัดแย้งและความวุ่นวายก็มี บางคนก็มักอารมณ์เสียง่ายและแสดงออกมาอย่างชัดเจนบ่อยครั้งเมื่อถูกถามด้วยคำถามที่ตนเองไม่อยากได้ยินจากนักข่าว

ผู้บริหารที่มีวุฒิภาวะต่ำจึงมีแนวโน้มที่สร้างความเสียหายทั้งต่อตนเอง ต่อองค์การ และประเทศโดยรวม แม้ว่าผู้บริหารคนนั้นอาจมิได้มีความประสงค์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือตัดสินใจภายใต้ความเชื่อที่ว่าตนเองกำลังทำเพื่อประโยชน์ขององค์การและประเทศชาติก็ตาม

แต่ความเสียหายจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ หากผู้บริหารระดับสูงคนใดมีทั้งวุฒิภาวะต่ำบ้า อำนาจและความต้องการผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลักรวมกันอยู่ภายในการตัดสินใจและการกระทำของเขา องค์การใดหรือประเทศใดที่มีผู้บริหารในลักษณะนี้คงจะประสบปัญหาร้ายแรงตามมาในไม่ช้า

อย่างไรก็ตามความเสียหายขององค์การใดหรือประเทศใดจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าองค์ประกอบของวัฒนธรรมและบุคลิกของสมาชิกหรือประชาชนจะเป็นอย่างไร หากวัฒนธรรมเป็นแบบอำนาจนิยม ยอมจำนนและเชื่อฟังต่อต่อผู้มีอำนาจเหนือกว่าอย่างปราศจากเงื่อนไข หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และซุกขยะไว้ใต้พรม รวมทั้งการมีบุคลิกแบบรักษาตัวรอดเป็นรอดดี และแบบพูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้บริหารที่ไร้วุฒิภาวะและไร้คุณธรรมก็จะยิ่งมีมากขึ้น

สังคมไทยในขณะนี้มีวัฒนธรรมการเมืองและองค์การที่หลากหลาย บางกลุ่มก็ยังยึดติดกับวัฒนธรรมอำนาจนิยมและบุคลิกแบบเงียบงัน บางกลุ่มก็มีวัฒนธรรมแบบเสรีนิยมและมีส่วนร่วมและมีบุคลิกแบบกล้าพูด กล้าท้วงติงในสิ่งไม่ถูกต้อง การผสมผสานในระยะที่เปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมและบุคลิกภาพแบบนี้จึงมีความเป็นไปได้หลายอย่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ผมคิดว่าเงื่อนไขทางวัฒนธรรมและบุคลิกภาพของคนในสังคมมีส่วนสำคัญในการกำหนดให้ผู้บริหารตัดสินใจและกระทำอย่างมีวุฒิภาวะมากหรือน้อย และการสร้างเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมเพื่อให้ผู้บริหารมีวุฒิภาวะสูงขึ้นก็เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อองค์การและสังคมทั้งระยะสั้นและระยะยาว

หากองค์การใดหรือประเทศใดที่ยังมีผู้บริหารระดับสูงมีวุฒิภาวะต่ำ และยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ได้ ภาวะชะงักงันและเสื่อมถอยก็มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผมจึงขอให้ท่านทั้งหลายที่เป็นผู้บริหารและกำลังเป็นผู้บริหารตัดสินใจทำสิ่งใดโดยมีฐานของการมีวุฒิภาวะทีสูง อันจักเป็นตัวอย่างที่ดีคนทั้งหลาย

ส่วนท่านใดที่ยังไร้วุฒิภาวะ ก็ควรพยายามปรับปรุงตนเอง เพื่อสร้างวุฒิภาวะขึ้นมา เพราะหากยังตัดสินใจโดยไม่มีวุฒิภาวะแล้ว ความเสื่อมเสียก็มีแนวโน้มเกิดขึ้นกับตัวท่าน องค์การที่ท่านสังกัด และประเทศชาติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้


กำลังโหลดความคิดเห็น