โดยส่วนตัวเมื่อก่อนนานมาแล้ว ผมเคยนิยมชมชอบและศรัทธา ด็อกเตอร์นักกฎหมายท่านหนึ่งในความรอบรู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและมีวาทะสำนวนโวหารที่อรรถาธิบายหลักกฎหมายได้อย่างคมคายชวนฟัง ซ้ำยังอธิบายเรื่องยากๆ ให้ผู้คนเข้าใจได้อย่างง่ายๆ และเพลิดเพลินไปกับถ้อยคำสำนวนที่ยกตัวอย่างเปรียบเทียบโน้มน้าวให้เชื่อตามได้อย่างมีตรรกะและเหตุผลน่าเชื่อถือ
ผมยังนึกเสียดายมาโดยตลอดว่า ถ้านักกฎหมายท่านนั้นยึดอาชีพเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว ประเทศไทยจะมีอาจารย์สอนกฎหมายที่มีประสิทธิภาพและศักยภาพสามารถผลิตนักกฎหมายที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศชาติได้อย่างเป็นคุณูปการ
แต่แล้วก็น่าเสียดายจริงๆ เมื่อกิเลสแรงกล้าฉุดดึงศักยภาพนั้นเข้าสู่วงการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนรับใช้รัฐบาลทั้งเผด็จการทหาร ทั้งการเมืองอาชีพนักเลือกตั้ง และธุรกิจการเมืองทุนสามานย์ ที่ได้ล่อหลอมกูรูทางกฎหมายท่านนี้จนได้รับฉายาอย่างน่าผะอืดผะอมว่า “เนติบริกร”
และถึงวันนี้ ถ้อยคำสำนวนที่เคยเปี่ยมล้นด้วยภูมิปัญญาบริสุทธิ์ของนักกฎหมายระดับเกจิอาจารย์แต่ดั้งเดิม กลับกลายเป็นโวหารที่เสียดแทงบาดลึกในหัวใจของผู้รักชาติรักแผ่นดินและรักความเป็นธรรมทุกครั้งไป ไม่ว่าจะเป็นสำนวน “ลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ” หรือ “อย่าเหาะเกินลงกา” ซึ่งล้วนแล้วแต่เสมือนหนึ่งคำสั่งปรามในเชิงถากถางแบบผู้มีอำนาจเหนือกว่า ที่ต้องการครอบงำทั้งการทำหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้เป็นไปตามความต้องการที่ประสงค์จะสนองผู้มีอำนาจในฐานะเนติบริกร
และนี่คือตอนหนึ่งของถ้อยคำสำนวนโวหารที่กล่าวในที่สัมมนา สนช.
“วันนี้ ทุกคนลงเรือลำเดียวกันแล้ว เหมือนคำโบราณที่ว่า ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ ไม่เช่นนั้นจะถูกแป๊ะไล่ลงจากเรือ ก็ต้องตามใจแป๊ะ คือเข้าใจในสิ่งที่เขาอยากให้เข้าใจ ส่วนเรื่องการทำประชามติ ภายหลังการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วนั้น ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้มีการทำประชามติได้ อาจจะต้องใส่เพิ่มไป 5 - 7 มาตรา ซึ่งภารกิจนี้วันหนึ่งอาจจะมาถึง สนช.”
ส่วนอีกถ้อยคำสำนวนนั้นมาจากการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อเดือนธันวาคม 25570
“เวลานี้ใครอยากพูดอะไรก็สามารถเสนอได้ แต่รัฐบาลเองจะพูดให้น้อยที่สุด ขณะที่หลายคนบอกว่าพวกเขาร้อนวิชา มีการออกมาแสดงความเห็นต่อการยกร่างฯ ที่หลากหลาย ที่จริงภาษาไทยยังมีอีกคำหนึ่งซึ่งเด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้จัก เก่ากว่าเรือแป๊ะ คือคำว่าเหาะเกินลงกาหมายถึง เกิน เลย ล้น เว่อร์ เพราะเมื่อตอนที่นางสีดาถูกจับตัวไป จากนั้นพระรามจึงออกตาม แต่พระรามกลัวว่านางสีดาจะไม่รู้ จึงให้หนุมานเอาแหวนไปให้นางสีดา เมื่อเห็นแหวนจะได้จำได้ หนุมานจึงดีใจเร่าร้อนวิชา ตีลังกาเหาะเหินเดินอากาศ ปรากฏว่าเหาะจนเลยเมืองลงกา ซึ่งแปลว่า วันนี้อาจมีลักษณะแบบนี้บ้าง ก็ไม่ว่ากัน แต่อีกหน่อยช่วยดึงกลับมาลงเมืองลงกาให้ได้ ไม่เช่นนั้นนางสีดาจะไม่รู้ การปฏิรูปก็จะไม่สำเร็จ รวมไปถึงการร่างรัฐธรรมนูญก็จะไม่สำเร็จ”
เห็นหรือยังครับว่าบัดนี้เนติบริกรท่านนี้แปรเปลี่ยนเป็นนักการเมืองเต็มตัวแล้ว ภูมิรู้ทางกฎหมายจึงย่อมพร้อมที่จะโอนเอียงไปตามกระแสอำนาจทางการเมือง มากกว่าการยึดมั่นในหลักการความเที่ยงตรงและเป็นธรรมอย่างแท้จริงอีกต่อไป
อ่านถึงตรงนี้ อาจมีบางท่านหงุดหงิดว่า ผู้เขียนเกรงกลัวอะไรหรือ จึงมิกล้าเอ่ยชื่อ ดร.วิษณุ เครืองาม ออกมาตรงๆ
ก็ขอเรียนว่า เมื่อหมดสิ้นศรัทธาในสิ่งที่เคยชื่นชมศรัทธาเสียแล้ว ก็ไม่อยากจะเอ่ยถึงให้ระคายเคืองแก่อารมณ์โดยไม่จำเป็น
และขอระบายความรู้สึกต่อสำนวนโวหารของเนติบริกร ด้วยบทกวีสั้นๆ ดังนี้
“ลงเรือแป๊ะ”
ถ้าลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ
ก็แบะๆ เบลอๆ แบบบ้าใบ้
ถามว่า ที่ลงเรือไปเพื่ออะไร
หรือตามแต่แป๊ะให้ ไม่รู้คิด
เห็นเรือแป๊ะสีสวยมีราศี
เลยกระดี๊กระด๊าไปตามจริต
ได้นั่งเรือลอยลำหลงทางทิศ
ไม่รับรู้ถูกผิด แป๊ะนำพา
เขาสั่ง ลงเรือแป๊ะต้องเชื่อแป๊ะ
ต้องแบะๆ เบลอๆ แบบใบ้บ้า
เดี๋ยวดูฉากถอดถอนตอนต่อมา
จะชัดว่าลงเรือกันเพื่ออะไร?
ว.แหวนลงยา