ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
มีข้อวิวาทะทางความคิดกันมากเกี่ยวกับประเด็นการเลือกนายกรัฐมนตรี ต่างฝ่ายก็เสนอเหตุผลและข้อมูลสนับสนุนความเห็นของตนอย่างหลากหลาย ผมคิดบรรยากาศแบบนี้มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้คนในสังคมอยู่ไม่น้อย
จากอดีตถึงปัจจุบันสังคมไทยมีวิธีการเลือกนายกรัฐมนตรีมาแล้วหลายวิธี แต่ละวิธีได้นายกรัฐมนตรีที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้างตามกาลสมัย เท่าที่พอประมวลได้มีวิธีการหลักๆที่เคยใช้มาแล้ว ๓ วิธี
๑. เลือกตั้งโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ซึ่งสมาชิกทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร เราอาจเรียกว่ามาจาก “ปืน” คือเอาปืนมายึดอำนาจ และใช้อำนาจนั้นแต่งตั้งกลุ่มคนที่สมมติเอาเองว่าเป็นตัวแทนของประชาชน ทั้งที่จริงแล้วกลุ่มบุคคลเหล่านั้นเป็นตัวแทนของคณะที่เลือกพวกเขามานั่นเอง ดังนั้นเมื่อถึงคราวที่ต้องเลือกนายกรัฐมนตรี ก็จะเลือกบุคคลที่คณะรัฐประหารกำหนดไว้แล้ว เราจึงอาจเรียกนายกรัฐมนตรีแบบนี้ว่า “มาจากปืน” หรือ “ปืนเลือกนายกฯ”
๒. เลือกโดยการผสมผสานระหว่างสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร (หรือเรียกว่าสมาชิกวุฒิสภา) กับสมาชิกที่ซื้อเสียงประชาชนในการเลือกตั้งเข้ามา (หรือเรียกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) สภาที่มีคนเหล่านี้ไปรวมอยู่เราเรียกว่ารัฐสภา พวกเขาชอบอ้างว่าเป็นตัวแทนประชาชนเหมือนกัน แต่ที่จริงส่วนใหญ่เป็นตัวแทนของแกนนำของคณะรัฐประหาร หรือไม่ก็เป็นตัวแทนของนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง อย่างไรก็ตามดุลอำนาจระหว่างปืนกับทุน ปืนจะมีน้ำหนักกว่านิดหน่อย คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีจึงถูกกำหนดจากฝั่งปืนมากกว่าทุน ส่วนฝ่ายทุนก็ได้รับการจัดสรรอำนาจในตำแหน่งรองๆลงมา
๓. เลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ส่วนใหญ่มาจากตัวแทนของกลุ่มทุนอิทธิพลบ้าง ทุนสามานย์บ้าง แต่พวกนี้มักอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม ทั้งที่ส่วนใหญ่มาจากการซื้อเสียงและขายฝันหลอกประชาชน เราอาจเรียกนายกรัฐมนตรีที่มาจากวิธีการแบบนี้ว่า “มาจากทุนสามานย์” หรือ กลุ่มทุนสามานย์เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี
กล่าวอย่างเข้มงวด เราจึงอาจสรุปได้ว่าที่ผ่านมาไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดของประเทศไทยที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ และปัจจุบัน การถกเถียงว่าใครจะเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นเสมอ เท่าที่ผมจำได้เมื่อมีการนำประเด็นนี้ไปสำรวจความคิดเห็นจากประชาชน ประชาชนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่ตอบว่า “ต้องการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง”
ทำไมคนส่วนใหญ่คิดแบบนั้น ผมคิดว่าเหตุผลสำคัญคือ การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจในการกำหนดว่าใครผู้นำประเทศ ใครบ้างละครับที่ไม่อยากรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจ ประชาชนชาวบ้านธรรมดาก็มีความรู้สึกเหมือนๆกับคนที่ถือปืนและถือทุนนั่นแหละครับ คืออยากมีอำนาจในการเลือกหรือกำหนดผู้บริหารประเทศเหมือนกัน
บางคนอาจแย้งว่าประชาชนต้องไว้ใจและเชื่อถือตัวแทนที่พวกเขาเลือกอันได้แก่ ส.ส. หากใครพูดแบบนี้แสดงว่าไม่เคยศึกษาทำความเข้าใจกับการเมืองไทยแม้แต่น้อย เพราะประชาชนในยุคพ.ศ.นี้เขาเฝ้าดูพฤติกรรมของคนที่อ้างว่าเป็นตัวแทนเขาอยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ในเวลานี้คือ พวกเขารู้สึกไม่ไว้วางใจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการตัดสินใจเลือกนายกรัฐมนตรีแทนตนเอง
ก็เห็นๆกันอยู่ว่าในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคนล้วนแล้วแต่มีปัญหาและสร้างความเสียหายแก่ประเทศทั้งสิ้น บางคนก็ทำให้ประเทศเกิด “โรคต้มยำกุ้ง” สร้างความล่มสลายทางเศรษฐกิจเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ มีคนล้มละลายและฆ่าตัวตายไปหลายคน บางคนก็สร้างเงื่อนไขให้ต่างชาติเข้ามากอบโกยสมบัติของชาติในช่วงหลังปี ๒๕๔๐ ถึง ๒๕๔๔ บางคนก็เป็นกระทำตัวเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ มีนโยบายที่ทำให้คนตายไปสองพันกว่าคน แถมยังทุจริตอย่างมหาศาล และสร้างความแยกแตกในสังคมไทยอย่างรุนแรง ในช่วงหลังปี ๒๕๔๔ ถึง ๒๕๔๙ และบางคนก็ทำให้ระบบข้าวไทยฟังพินาศด้วยนโยบายที่โง่เขลา แถมด้วยการทุจริตทุกขั้นตอน ทั้งยังทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายยับเยิน
เมื่อประชาชนเห็นตัวอย่างอยู่ชัดๆเช่นนี้ แล้วจะทำให้เขาไว้วางใจ ส.ส. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีได้อย่างไร
ระบบรัฐสภาของไทยนั้นตกอยู่ใต้การควบคุมบงการของนายทุนสามานย์เจ้าของพรรคการเมืองซึ่งสามารถสั่งการ ส.ส.ของพรรคให้ทำอะไรก็ได้ตามแต่ใจปรารถนา ดังนั้นเมื่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งสามารถควบคุมเสียงข้างมากในสภาได้ รัฐสภาก็กลายเป็นองค์กรเผด็จการทันที ยิ่งควบคุมข้างมากได้มากเท่าไร พฤติกรรมของการเป็นเผด็จการยิ่งเข้มข้นมากเท่านั้น ส่วนระบบการตรวจสอบในสภาของฝ่ายค้านก็กลายเป็นเครื่องประดับที่ไร้ความหมายใดๆทั้งสิ้น และเมื่อฝ่ายค้านทำอะไรในสภาไม่ได้ รัฐบาลไม่ฟังเหตุผลและไม่สนใจความชอบธรรมทางการเมือง ฝ่ายค้านก็ออกมาใช้เวทีนอกสภากดดันรัฐบาลต่อไปอันเป็นสิ่งที่ประจักษ์แก่สายตากันแล้วไม่ใช่หรือ
แต่ถ้าในกรณีที่เป็นรัฐบาลผสมซึ่งไม่มีพรรคการเมืองใดมีเสียงข้างมากอย่างเบ็ดเสร็จในสภาฯ ก็จะมีปัญหาความไร้เสถียรภาพและความอ่อนแอของรัฐบาล รัฐสภาก็เป็นเวทีในการต่อรองผลประโยชน์ของพรรคการเมืองและส.ส. บางคนอาจไม่ชอบโดยมองว่า หากรัฐบาลอ่อนแอ การผลักดันการพัฒนาประเทศก็เป็นไปได้ยาก แต่บางคนก็บอกว่าการมีรัฐบาลอ่อนแอก็ดีไปอีกแบบหนึ่งเพราะว่ารัฐบาลต้องฟังความเห็นของคนอื่นและไม่กล้าทำอะไรตามใจตนเองแบบเผด็จการ แม้ว่าจะพัฒนาช้าไปบ้างก็ดีกว่าการมีรัฐบาลที่เข้มแข็งแล้วมีความเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายต่อประเทศ
รัฐบาลที่อ่อนแอแม้จะไม่สร้างปัญหาแก่ประเทศมากจนเกินไป แต่ความกังวลก็มีอยู่บ้างว่าในกรณีที่เกิดวิกฤติการณ์ การมีรัฐบาลที่อ่อนแออาจทำให้วิกฤตการณ์บานปลาย จนทำให้ประเทศเสียหายยับเยินก็ได้
ทีนี้ลองมาดูการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงบ้าง แน่นอนระบบนี้จะทำให้ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของประเทศมากขึ้น ทำให้ฝ่ายบริหารมีความเข้มแข็ง รัฐบาลมีเสถียรภาพหากสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐบาล แต่หากสมาชิกเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนฯอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล การบริหารก็อาจไม่สะดวกราบรื่นเท่าที่ควร
การมีฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง ในสังคมไทยเราก็มีบทเรียนอยู่เหมือนกัน นั่นคือ ช่วงที่นายกรัฐมนตรีมาจากปืน ฝ่ายบริหารจะเข้มแข็งมากเป็นพิเศษ ผลด้านบวกคือทำให้การพัฒนาตามอุดมการณ์ของฝ่ายบริหารเป็นไปอย่างรวดเร็วราบรื่น ส่วนด้านลบคือฝ่ายบริหารไม่สนใจความรู้สึกหรือความต้องการประชาชนเท่าที่ควร ในทางกลับกันหากฝ่ายบริหารมาจากการเลือกของประชาชนโดยตรงก็จะกลายเป็นอีกปัญหาหนึ่ง นั่นคือ ฝ่ายบริหารจะตามใจประชาชนจนล้นเกินเพื่อรักษาความนิยม จนไม่คำนึงถึงเหตุผล และท้ายที่สุดก็สร้างความเสียหายแก่ประเทศอย่างยับเยิน ตัวอย่างเหล่านี้เห็นได้ในหลายประเทศแถบทวีปอเมริกาใต้
การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงคล้ายกับการเล่นพนันซึ่งเป็นเกมที่มีผลรวมเท่าศูนย์ กล่าวคือหากไม่ได้ทั้งหมด ก็จะเสียทั้งหมด การเลือกแบบนี้ทำให้สังคมมีโอกาสได้คนดีมีคุณธรรมและมีวิสัยทัศน์มาบริหารประเทศ เท่าๆกับโอกาสที่จะได้นักฉวยโอกาสทางการเมือง เปลือกนอกดูมีคุณธรรมแต่เนื้อในคือทรราช โอกาสที่จะได้ “รัฐบุรุษ” พอๆกับ โอกาสที่จะได้ “ทรราช” แต่ระบบรัฐสภาก็มีโอกาสแบบนี้เหมือนกัน โดยเฉพาะหากรัฐบาลเข้มแข็ง ดังเช่น พรรคนาซีของเยอรมัน และพรรคไทยรักไทยของไทยคือตัวอย่างระบบทรราช ที่มีรากฐานจากระบบรัฐสภานั่นเอง
ภายใต้การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ในกรณีที่ฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติมาจากคนละพวกกัน มีผู้ประเมินว่าจะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงขึ้น จนทำให้การบริหารเป็นไปได้ยาก ด้วยเหตุผลที่ว่าต่างฝ่ายต่างอ้างว่าตนเอง ตนเองมาจากประชาชน ก็คงจะเป็นความจริงอยู่บ้าง ดังตัวอย่างของประเทศไทยยุคจอมพลถนอม ช่วง พ.ศ. ๒๕๑๔ หรือ การเลือกตั้งท้องถิ่นของประเทศไทยช่วงเริ่มต้นที่มีการนำระบบการเลือกฝ่ายบริหารโดยตรงเข้ามาใช้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปปรากฏว่า ฝ่ายบริหารในองค์กรปกครองท้องถิ่นทั้งหลายก็ปรับตัวโดยใช้ยุทธวิธีต่างๆในการจัดการฝ่ายนิติบัญญัติ (ส่วนใหญ่เป็นการจัดสรรผลประโยชน์ให้ฝ่ายนิติบัญญัติในรูปแบบต่างๆ) จนทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายและสามารถบริหารต่อไปได้
สังคมไทยเป็นสังคมที่มีคนคิดมาก สำหรับการเลือกตั้งนายกฯโดยตรง มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจระบบนี้จะต่อต้านแบบใสซื่อ โดยอ้างว่าหากเลือกตั้งโดยตรงอาจมีผลกระทบต่อสถานะประมุขของประเทศ ที่จริงก็อาจคิดได้เพราะมีตัวอย่างของผู้นำประเทศในอดีตบางคนซึ่งที่มีอำนาจเด็ดขาดเคยแสดงพฤติกรรมที่กระทบต่อสถานะประมุขของประเทศมาแล้ว แต่ความจริงคือผู้นำเหล่านั้นบางคนมาจากปืน และบางคนมาจากทุน และทั้งหมดอยู่ภายใต้ระบบรัฐสภา คนที่คิดมากก็คิดต่อไปว่า นี่ขนาดไม่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง ยังกล้ากระทำเรื่องราวเช่นนี้ หากได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงไม่รู้ว่าจะขนาดไหน
แต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกันว่า คนที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง อาจเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนก็ได้ ดังนั้นในเรื่องนี้ การที่นายกฯมาจากแหล่งใดไม่สำคัญเท่ากับว่า จิตสำนึกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของคนผู้นั้นเป็นอย่างไร
ตอนนี้มีคนเสนอทางเลือกที่สาม ที่จริงก็ไม่ใช่ทางเลือกที่สามอะไรนัก คือจะให้สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และส.ว. เป็นผู้เลือกนายกฯ หรือเป็นการให้ตัวแทนกลุ่มทุน (ส.ส. และ ส.ว.บางส่วน) กับตัวแทนกลุ่มวิชาชีพที่มาจากการสรรหา (ส.ว. บางส่วน) การเลือกแบบนี้ก็ไม่มีหลักประกันอะไรและไม่ต่างจากระบบรัฐสภาที่ตัวแทนกลุ่มทุนเลือกทั้งหมด เพราะในท้ายที่สุดกลุ่มทุนก็สามารถชี้นำและกำกับผู้เลือกได้อยู่ดี
เขียนมายืดยาว แล้วตกลงจะเอาแบบใด ถึงตอนนี้ ถ้าจะให้ประเมิน ผมคิดว่าพวกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคงไม่เอาระบบที่นายกฯ หรือ คณะรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง เหตุผลหลักคงกลัวเรื่องสถานภาพทางการเมืองที่มีฐานสนับสนุนจากประชาชนของผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงว่าจะมีผลกระทบต่อสถานภาพขององค์ประมุขของประเทศ และความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งพวกผู้ร่างประเมินว่าจะรุนแรงกว่าการเลือกนายกฯโดยระบบรัฐสภา
แล้วพวกเขาจะเลือกแบบไหน ผมคิดว่าเขาจะเลือกระบบรัฐสภาซึ่งนายกฯมาจากการเลือกของ ส.ส. นั่นแหละ แต่จะออกแบบให้ฝ่ายบริหารไม่เข้มแข็งมากนัก และ ส.ส. มีลักษณะเป็นตัวแทนที่มีความหลากหลายนอกเหนือจากกลุ่มทุนและเครือญาตินักการเมืองมากขึ้นกว่าเดิม ผมคิดว่าพวกเขาจะเลือกรูปแบบที่ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพต่ำ และเข้มแข็งน้อย ส่วนจะพยายามออกแบบให้ฝ่ายประชาสังคมมีความเข้มแข็งมากขึ้นหรือไม่ ต้องคอยดูกันต่อไปครับ
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
มีข้อวิวาทะทางความคิดกันมากเกี่ยวกับประเด็นการเลือกนายกรัฐมนตรี ต่างฝ่ายก็เสนอเหตุผลและข้อมูลสนับสนุนความเห็นของตนอย่างหลากหลาย ผมคิดบรรยากาศแบบนี้มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้คนในสังคมอยู่ไม่น้อย
จากอดีตถึงปัจจุบันสังคมไทยมีวิธีการเลือกนายกรัฐมนตรีมาแล้วหลายวิธี แต่ละวิธีได้นายกรัฐมนตรีที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้างตามกาลสมัย เท่าที่พอประมวลได้มีวิธีการหลักๆที่เคยใช้มาแล้ว ๓ วิธี
๑. เลือกตั้งโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ซึ่งสมาชิกทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร เราอาจเรียกว่ามาจาก “ปืน” คือเอาปืนมายึดอำนาจ และใช้อำนาจนั้นแต่งตั้งกลุ่มคนที่สมมติเอาเองว่าเป็นตัวแทนของประชาชน ทั้งที่จริงแล้วกลุ่มบุคคลเหล่านั้นเป็นตัวแทนของคณะที่เลือกพวกเขามานั่นเอง ดังนั้นเมื่อถึงคราวที่ต้องเลือกนายกรัฐมนตรี ก็จะเลือกบุคคลที่คณะรัฐประหารกำหนดไว้แล้ว เราจึงอาจเรียกนายกรัฐมนตรีแบบนี้ว่า “มาจากปืน” หรือ “ปืนเลือกนายกฯ”
๒. เลือกโดยการผสมผสานระหว่างสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร (หรือเรียกว่าสมาชิกวุฒิสภา) กับสมาชิกที่ซื้อเสียงประชาชนในการเลือกตั้งเข้ามา (หรือเรียกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) สภาที่มีคนเหล่านี้ไปรวมอยู่เราเรียกว่ารัฐสภา พวกเขาชอบอ้างว่าเป็นตัวแทนประชาชนเหมือนกัน แต่ที่จริงส่วนใหญ่เป็นตัวแทนของแกนนำของคณะรัฐประหาร หรือไม่ก็เป็นตัวแทนของนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง อย่างไรก็ตามดุลอำนาจระหว่างปืนกับทุน ปืนจะมีน้ำหนักกว่านิดหน่อย คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีจึงถูกกำหนดจากฝั่งปืนมากกว่าทุน ส่วนฝ่ายทุนก็ได้รับการจัดสรรอำนาจในตำแหน่งรองๆลงมา
๓. เลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ส่วนใหญ่มาจากตัวแทนของกลุ่มทุนอิทธิพลบ้าง ทุนสามานย์บ้าง แต่พวกนี้มักอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม ทั้งที่ส่วนใหญ่มาจากการซื้อเสียงและขายฝันหลอกประชาชน เราอาจเรียกนายกรัฐมนตรีที่มาจากวิธีการแบบนี้ว่า “มาจากทุนสามานย์” หรือ กลุ่มทุนสามานย์เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี
กล่าวอย่างเข้มงวด เราจึงอาจสรุปได้ว่าที่ผ่านมาไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดของประเทศไทยที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ และปัจจุบัน การถกเถียงว่าใครจะเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นเสมอ เท่าที่ผมจำได้เมื่อมีการนำประเด็นนี้ไปสำรวจความคิดเห็นจากประชาชน ประชาชนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่ตอบว่า “ต้องการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง”
ทำไมคนส่วนใหญ่คิดแบบนั้น ผมคิดว่าเหตุผลสำคัญคือ การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจในการกำหนดว่าใครผู้นำประเทศ ใครบ้างละครับที่ไม่อยากรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจ ประชาชนชาวบ้านธรรมดาก็มีความรู้สึกเหมือนๆกับคนที่ถือปืนและถือทุนนั่นแหละครับ คืออยากมีอำนาจในการเลือกหรือกำหนดผู้บริหารประเทศเหมือนกัน
บางคนอาจแย้งว่าประชาชนต้องไว้ใจและเชื่อถือตัวแทนที่พวกเขาเลือกอันได้แก่ ส.ส. หากใครพูดแบบนี้แสดงว่าไม่เคยศึกษาทำความเข้าใจกับการเมืองไทยแม้แต่น้อย เพราะประชาชนในยุคพ.ศ.นี้เขาเฝ้าดูพฤติกรรมของคนที่อ้างว่าเป็นตัวแทนเขาอยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ในเวลานี้คือ พวกเขารู้สึกไม่ไว้วางใจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการตัดสินใจเลือกนายกรัฐมนตรีแทนตนเอง
ก็เห็นๆกันอยู่ว่าในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคนล้วนแล้วแต่มีปัญหาและสร้างความเสียหายแก่ประเทศทั้งสิ้น บางคนก็ทำให้ประเทศเกิด “โรคต้มยำกุ้ง” สร้างความล่มสลายทางเศรษฐกิจเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ มีคนล้มละลายและฆ่าตัวตายไปหลายคน บางคนก็สร้างเงื่อนไขให้ต่างชาติเข้ามากอบโกยสมบัติของชาติในช่วงหลังปี ๒๕๔๐ ถึง ๒๕๔๔ บางคนก็เป็นกระทำตัวเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ มีนโยบายที่ทำให้คนตายไปสองพันกว่าคน แถมยังทุจริตอย่างมหาศาล และสร้างความแยกแตกในสังคมไทยอย่างรุนแรง ในช่วงหลังปี ๒๕๔๔ ถึง ๒๕๔๙ และบางคนก็ทำให้ระบบข้าวไทยฟังพินาศด้วยนโยบายที่โง่เขลา แถมด้วยการทุจริตทุกขั้นตอน ทั้งยังทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายยับเยิน
เมื่อประชาชนเห็นตัวอย่างอยู่ชัดๆเช่นนี้ แล้วจะทำให้เขาไว้วางใจ ส.ส. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีได้อย่างไร
ระบบรัฐสภาของไทยนั้นตกอยู่ใต้การควบคุมบงการของนายทุนสามานย์เจ้าของพรรคการเมืองซึ่งสามารถสั่งการ ส.ส.ของพรรคให้ทำอะไรก็ได้ตามแต่ใจปรารถนา ดังนั้นเมื่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งสามารถควบคุมเสียงข้างมากในสภาได้ รัฐสภาก็กลายเป็นองค์กรเผด็จการทันที ยิ่งควบคุมข้างมากได้มากเท่าไร พฤติกรรมของการเป็นเผด็จการยิ่งเข้มข้นมากเท่านั้น ส่วนระบบการตรวจสอบในสภาของฝ่ายค้านก็กลายเป็นเครื่องประดับที่ไร้ความหมายใดๆทั้งสิ้น และเมื่อฝ่ายค้านทำอะไรในสภาไม่ได้ รัฐบาลไม่ฟังเหตุผลและไม่สนใจความชอบธรรมทางการเมือง ฝ่ายค้านก็ออกมาใช้เวทีนอกสภากดดันรัฐบาลต่อไปอันเป็นสิ่งที่ประจักษ์แก่สายตากันแล้วไม่ใช่หรือ
แต่ถ้าในกรณีที่เป็นรัฐบาลผสมซึ่งไม่มีพรรคการเมืองใดมีเสียงข้างมากอย่างเบ็ดเสร็จในสภาฯ ก็จะมีปัญหาความไร้เสถียรภาพและความอ่อนแอของรัฐบาล รัฐสภาก็เป็นเวทีในการต่อรองผลประโยชน์ของพรรคการเมืองและส.ส. บางคนอาจไม่ชอบโดยมองว่า หากรัฐบาลอ่อนแอ การผลักดันการพัฒนาประเทศก็เป็นไปได้ยาก แต่บางคนก็บอกว่าการมีรัฐบาลอ่อนแอก็ดีไปอีกแบบหนึ่งเพราะว่ารัฐบาลต้องฟังความเห็นของคนอื่นและไม่กล้าทำอะไรตามใจตนเองแบบเผด็จการ แม้ว่าจะพัฒนาช้าไปบ้างก็ดีกว่าการมีรัฐบาลที่เข้มแข็งแล้วมีความเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายต่อประเทศ
รัฐบาลที่อ่อนแอแม้จะไม่สร้างปัญหาแก่ประเทศมากจนเกินไป แต่ความกังวลก็มีอยู่บ้างว่าในกรณีที่เกิดวิกฤติการณ์ การมีรัฐบาลที่อ่อนแออาจทำให้วิกฤตการณ์บานปลาย จนทำให้ประเทศเสียหายยับเยินก็ได้
ทีนี้ลองมาดูการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงบ้าง แน่นอนระบบนี้จะทำให้ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของประเทศมากขึ้น ทำให้ฝ่ายบริหารมีความเข้มแข็ง รัฐบาลมีเสถียรภาพหากสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐบาล แต่หากสมาชิกเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนฯอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล การบริหารก็อาจไม่สะดวกราบรื่นเท่าที่ควร
การมีฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง ในสังคมไทยเราก็มีบทเรียนอยู่เหมือนกัน นั่นคือ ช่วงที่นายกรัฐมนตรีมาจากปืน ฝ่ายบริหารจะเข้มแข็งมากเป็นพิเศษ ผลด้านบวกคือทำให้การพัฒนาตามอุดมการณ์ของฝ่ายบริหารเป็นไปอย่างรวดเร็วราบรื่น ส่วนด้านลบคือฝ่ายบริหารไม่สนใจความรู้สึกหรือความต้องการประชาชนเท่าที่ควร ในทางกลับกันหากฝ่ายบริหารมาจากการเลือกของประชาชนโดยตรงก็จะกลายเป็นอีกปัญหาหนึ่ง นั่นคือ ฝ่ายบริหารจะตามใจประชาชนจนล้นเกินเพื่อรักษาความนิยม จนไม่คำนึงถึงเหตุผล และท้ายที่สุดก็สร้างความเสียหายแก่ประเทศอย่างยับเยิน ตัวอย่างเหล่านี้เห็นได้ในหลายประเทศแถบทวีปอเมริกาใต้
การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงคล้ายกับการเล่นพนันซึ่งเป็นเกมที่มีผลรวมเท่าศูนย์ กล่าวคือหากไม่ได้ทั้งหมด ก็จะเสียทั้งหมด การเลือกแบบนี้ทำให้สังคมมีโอกาสได้คนดีมีคุณธรรมและมีวิสัยทัศน์มาบริหารประเทศ เท่าๆกับโอกาสที่จะได้นักฉวยโอกาสทางการเมือง เปลือกนอกดูมีคุณธรรมแต่เนื้อในคือทรราช โอกาสที่จะได้ “รัฐบุรุษ” พอๆกับ โอกาสที่จะได้ “ทรราช” แต่ระบบรัฐสภาก็มีโอกาสแบบนี้เหมือนกัน โดยเฉพาะหากรัฐบาลเข้มแข็ง ดังเช่น พรรคนาซีของเยอรมัน และพรรคไทยรักไทยของไทยคือตัวอย่างระบบทรราช ที่มีรากฐานจากระบบรัฐสภานั่นเอง
ภายใต้การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ในกรณีที่ฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติมาจากคนละพวกกัน มีผู้ประเมินว่าจะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงขึ้น จนทำให้การบริหารเป็นไปได้ยาก ด้วยเหตุผลที่ว่าต่างฝ่ายต่างอ้างว่าตนเอง ตนเองมาจากประชาชน ก็คงจะเป็นความจริงอยู่บ้าง ดังตัวอย่างของประเทศไทยยุคจอมพลถนอม ช่วง พ.ศ. ๒๕๑๔ หรือ การเลือกตั้งท้องถิ่นของประเทศไทยช่วงเริ่มต้นที่มีการนำระบบการเลือกฝ่ายบริหารโดยตรงเข้ามาใช้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปปรากฏว่า ฝ่ายบริหารในองค์กรปกครองท้องถิ่นทั้งหลายก็ปรับตัวโดยใช้ยุทธวิธีต่างๆในการจัดการฝ่ายนิติบัญญัติ (ส่วนใหญ่เป็นการจัดสรรผลประโยชน์ให้ฝ่ายนิติบัญญัติในรูปแบบต่างๆ) จนทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายและสามารถบริหารต่อไปได้
สังคมไทยเป็นสังคมที่มีคนคิดมาก สำหรับการเลือกตั้งนายกฯโดยตรง มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจระบบนี้จะต่อต้านแบบใสซื่อ โดยอ้างว่าหากเลือกตั้งโดยตรงอาจมีผลกระทบต่อสถานะประมุขของประเทศ ที่จริงก็อาจคิดได้เพราะมีตัวอย่างของผู้นำประเทศในอดีตบางคนซึ่งที่มีอำนาจเด็ดขาดเคยแสดงพฤติกรรมที่กระทบต่อสถานะประมุขของประเทศมาแล้ว แต่ความจริงคือผู้นำเหล่านั้นบางคนมาจากปืน และบางคนมาจากทุน และทั้งหมดอยู่ภายใต้ระบบรัฐสภา คนที่คิดมากก็คิดต่อไปว่า นี่ขนาดไม่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง ยังกล้ากระทำเรื่องราวเช่นนี้ หากได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงไม่รู้ว่าจะขนาดไหน
แต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกันว่า คนที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง อาจเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนก็ได้ ดังนั้นในเรื่องนี้ การที่นายกฯมาจากแหล่งใดไม่สำคัญเท่ากับว่า จิตสำนึกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของคนผู้นั้นเป็นอย่างไร
ตอนนี้มีคนเสนอทางเลือกที่สาม ที่จริงก็ไม่ใช่ทางเลือกที่สามอะไรนัก คือจะให้สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และส.ว. เป็นผู้เลือกนายกฯ หรือเป็นการให้ตัวแทนกลุ่มทุน (ส.ส. และ ส.ว.บางส่วน) กับตัวแทนกลุ่มวิชาชีพที่มาจากการสรรหา (ส.ว. บางส่วน) การเลือกแบบนี้ก็ไม่มีหลักประกันอะไรและไม่ต่างจากระบบรัฐสภาที่ตัวแทนกลุ่มทุนเลือกทั้งหมด เพราะในท้ายที่สุดกลุ่มทุนก็สามารถชี้นำและกำกับผู้เลือกได้อยู่ดี
เขียนมายืดยาว แล้วตกลงจะเอาแบบใด ถึงตอนนี้ ถ้าจะให้ประเมิน ผมคิดว่าพวกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคงไม่เอาระบบที่นายกฯ หรือ คณะรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง เหตุผลหลักคงกลัวเรื่องสถานภาพทางการเมืองที่มีฐานสนับสนุนจากประชาชนของผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงว่าจะมีผลกระทบต่อสถานภาพขององค์ประมุขของประเทศ และความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งพวกผู้ร่างประเมินว่าจะรุนแรงกว่าการเลือกนายกฯโดยระบบรัฐสภา
แล้วพวกเขาจะเลือกแบบไหน ผมคิดว่าเขาจะเลือกระบบรัฐสภาซึ่งนายกฯมาจากการเลือกของ ส.ส. นั่นแหละ แต่จะออกแบบให้ฝ่ายบริหารไม่เข้มแข็งมากนัก และ ส.ส. มีลักษณะเป็นตัวแทนที่มีความหลากหลายนอกเหนือจากกลุ่มทุนและเครือญาตินักการเมืองมากขึ้นกว่าเดิม ผมคิดว่าพวกเขาจะเลือกรูปแบบที่ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพต่ำ และเข้มแข็งน้อย ส่วนจะพยายามออกแบบให้ฝ่ายประชาสังคมมีความเข้มแข็งมากขึ้นหรือไม่ ต้องคอยดูกันต่อไปครับ