xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โลกทัศน์ใหม่ กมธ.ยกร่างฯ คุ้มครองสิทธิ"กลุ่มข้ามเพศ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เริ่มแล้ว สำหรับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งใช้ชื่อว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" ลงรายมาตรา ในที่นี้ จะขอยกมานำเสนอเฉพาะในส่วนที่มีการแก้ไขอย่างมีนัยสำคัญ เพื่ออุดช่องว่าง รูโหว่ ขจัดปัญหาที่มีการถกเถียงกันในอดีตและยังหาข้อยุติไม่ได้

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ (12-16 ม.ค.) ได้มีการพิจารณา บททั่วไป ภาค 1 พระมหากษัตริย์ และประชาชน และ ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง

ในหมวดพระมหากษัตริย์ มีการแก้ไขเพิ่มเติมใน มาตรา 7 ซึ่งแต่เดิมเคยมีปัญหาเรื่องการเรียกร้องนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 โดยหวังพึ่งพระราชอำนาจมาแก้ปัญหาการเมือง หรือกรณีก่อนรัฐประหาร ที่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ประธานวุฒิสภา ถูกป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แล้วรัฐสภาจะเปิดประชุมได้หรือไม่ ประเด็นเหล่านี้มีการถกเถียงกันในหมู่นักกฎหมาย ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ตีความในทิศทางที่ตัวเองจะได้ประโยชน์ แต่ที่สุดแล้วก็ไม่มีองค์กรใดจะมาตัดสินหาข้อยุติให้ได้ จึงต้องมีการเปิดช่องทางให้องค์กรใดองค์กรหนึ่ง มาทำหน้าที่ตัดสินและให้ได้ข้อยุติ เพื่อไม่ให้กระทบ หรือนำสถาบันเบื้องสูงมาแอบอ้างกันอีก

ตามรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น มาตรา 7 มีเพียงวรรคเดียว ระบุว่า "เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้การกระทำการ หรือวินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติรย์ทรงเป็นประมุข "

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ได้เพิ่ม วรรค 2ระบุว่า " ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกระทำ หรือการวินิจฉัยกรณีใดตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน ก็ได้ แต่สำหรับศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุด ให้กระทำได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี และเมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด"

โดยสรุปคือ ถ้ากรณีมีปัญหาใดที่ไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งคำชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นข้อยุติ และผูกพันทุกองค์กร

ในหมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 1 ความเป็นพลเมือง และหน้าที่ของพลเมือง มาตรา 1 ที่มีการแก้ไขให้ ประชาชนชาวไทย ในฐานะที่เป็นพลเมือง ต้องเคารพและปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย เคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น เคารพหลักความเสมอภาค ยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม มีค่านิยมที่ดี มีวินัย ตระหนักในหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม รู้รักสามัคคี มีความเพียร และพึ่งตนเอง

แต่ในช่วงวิกฤติการเมืองที่ผ่านมา มีปัญหาใหญ่คือ ความขัดแย้ง แตกความสามัคคีของคนในชาติ กมธ.ยกร่างฯ จึงได้เพิ่มเนื้อหา วรรคสอง ระบุว่า "พลเมืองต้องไม่กระทำการที่ทำให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติ หรือศาสนา หรือไม่ยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ เป็นปฏิปักษ์ หรือใช้ความรุนแรงระหว่างกัน"

ต่อไปนี้ ใครที่กระทำการปลุกปั่น ยั่วยุ ให้เกิดความเกลียดชัง แตกแยกของคนในชาติ ถือว่าบุคคลเหล่านั้นกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญทันที

นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดหน้าที่พลเมือง ใน มาตรา 3 ให้มีหน้าที่ 4 ข้อที่ต้องปฏิบัติ คือ

1. ปกป้องพิทักษ์ รักษาไว้ซึ่ง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัริย์ทรงเป็นประมุข

2 . ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร รักษาผลประโยชน์ของชาติ และปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด เสียภาษีอากรโดยสุจริต

3. ใช้สิทธิทางการเมืองโดยสุจริต และมุ่งถึงประโยชน์ส่วนรวม

4. ช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ ช่วยเหลือราชการ รับการศึกษาอบรม ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพโดยสุจริต ปกป้อง พิทักษ์ อนุรักษ์ และสืบสานขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งสงวนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อีกประเด็นที่มีความสำคัญ และเคยมีปัญหากันมาแล้วคือ เรื่อง สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล เกี่ยวกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งเกี่ยวพันกับ มาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 กรณีถ้าบุคคล หรือกลุ่มบุคคลมีการกระทำที่อาจก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาชนจะร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงหรือไม่ ที่ผ่านมาประชาชน มีการตีความว่าประชาชนยื่นฟ้องได้ ทำให้ไม่แน่ใจว่า ถูกหรือผิด ครั้งนี้

กมธ.ยกร่างฯ จึงจะเขียนให้ชัดว่า ประชาชนยื่นฟ้องร้องได้

โดยมีการแก้ไขเนื้อหาเดิมจาก มาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 กรณีบุคคลจะใช้สิทธิ หรือเสรีภาพ ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่พบเห็นการกระทำดังกล่าว ย่อมมีสิทธิร้องขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด และศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการ ให้เลิกการกระทำดังกล่าวและสั่งการอื่นได้

ประเด็นนี้ กมธ.ยกร่างฯได้แก้ไขตัดส่วนของ"พรรคการเมือง" ที่จะมีสิทธิร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับตัด วรรคสาม วรรคสี่ เดิม ซึ่งจะทำให้โทษยุบพรรค จากกรณีการล้มล้างการปกครองหมดไป โดยจุดสำคัญอยู่ที่ได้เปิดช่องให้ประชาชน ร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงไม่ต้องไปผ่านอัยการสูงสุด เหมือนในอดีต

นอกจากนี้ ในหมวดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ได้มีคำใหม่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ คือคำว่า“เพศสภาพ”เข้ามาด้วย เพื่อการคุ้มครอง สิทธิ เสรีภาพของ"กลุ่มข้ามเพศ" แต่ยังไม่ถึงขั้นรับรองการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน

โดย มาตรา 7 ระบุว่า "บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื่อชาติ ภาษา เพศ เพศสภาพ อายุ ความพิการ สภาพทางร่างกาย สุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้"

อย่างไรก็ตาม เรื่องสิทธิ เสรีภาพของบุคคลนี้ รัฐธรรมนูญมิได้มองในมิติของการเปิดกว้างเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพ เพิ่มเติมเข้ามาด้วย เพื่อป้องกัน หรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจ หรือสุขภาพของประชาชน หรือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติ หรือ ศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน ซึ่งเป็นการบัญญัติตามสภาพปัญหาในปัจจุบัน ที่มีการใช้คำพูดยั่วยุ หรือ ที่เรียกว่า Hate Speech

โดยในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง ระบุว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นของตน โดยการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณษและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น"

ส่วน วรรคสอง ระบุว่า การจำกัดเสรีภาพตามความวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง ข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในครอบครัวหรือความเป้นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกัน หรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน รือเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติหรือศาสนาหรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน

ประเด็นนี้ จึงเป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อตีกรอบการใช้เสรีภาพของสื่อสารมวลชนในทุกแขนงรวมถึงในโลกออนไลน์ ให้ชัดเจนขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น