xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดันทุรังสัมปทาน-บอนไซ กสทช. หรือ“สภาปฏิรูป”เป็นแค่ตุ๊กตายาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป็นที่ทราบกันดีว่าการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นั้น มีเป้าหมายสำคัญคือการยุติความขัดแย้งของคนในชาติและเดินหน้าปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ เพื่อไม่ให้ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก

มาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่ใช้บังคับอยู่จนวันนี้ จึงได้กำหนดให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ขึ้นมาทำหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่างๆ 11 ด้าน และ มาตรา 31 กำหนดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติมีอํานาจหน้าที่ 3 ข้อ อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 สัปดาห์มานี้ รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ทำให้ สปช.ไร้ความหมายไปในทันทีต่อเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง

นั่นคือ การเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ทั้งที่ สปช.มีมติไม่เห็นด้วย

และการที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ. 8 ฉบับ เพื่อรองรับการตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

กรณีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 นั้น ที่ประชุม สปช.เมื่อวันที่ 13 มกราคม ได้มีวาระพิจารณาการศึกษาเรื่องการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช. เสียงข้างมากเป็นผู้เสนอ

หลังมีการอภิปรายอย่างยาวนานจากเช้าจรดเย็น สปช.ได้ลงมติไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ ด้วยคะแนน 130 ต่อ 79 เสียง งดออกเสียง 21 จากจำนวนผู้เข้าประชุม 230 คน

กล่าวได้ว่า สปช.เกือบครึ่ง ไม่เห็นด้วยตามที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ของกระทรวงพลังงาน ได้ประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นประกวดราคาเพื่อเข้าสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมรอบที่ 21 จำนวน 29 แปลง ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2557 สิ้นสุดวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558

ทั้งนี้ ที่ประชุม สปช.เสียงข้างมากมีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวสองแนวทาง คือ 1.เห็นควรให้มีการชะลอการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 แล้วนำระบบการแบ่งปันผลผลิต มาใช้แทนระบบสัมปทาน 2. ให้รัฐใช้ระบบผสม โดยในแปลงที่มีศักยภาพด้านพลังงานสูง ให้รัฐใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิต ส่วนในแปลงที่มีศักยภาพพลังงานต่ำ ก็ให้รัฐใช้ระบบสัมปทาน

กระนั้นก็ตาม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายก็อ้างว่ามติของ สปช.ไม่ถึงขนาดตีตกทั้งหมด เพียงแต่เป็นการท้วงติงในเรื่องวิธีการเท่านั้น หากมีการปรับวิธีการคาดว่าจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

นายวิษณุบอกอีกว่า ตามหลักการในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 รัฐบาลมีความรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อ สปช.มีข้อเสนอแนะมา รัฐบาลก็สามารถที่จะพิจารณาได้ว่าจะรับทำหรือไม่ แต่โดยมารยาทรัฐบาลควรจะให้เกียรติ รับฟังข้อเสนอของ สปช. ทำได้ก็ทำ ทำได้บางส่วนก็ทำบางส่วน หรือจะไม่ทำตามก็ต้องชี้แจงกลับไป และเปิดเผยให้สาธารณชนรู้ด้วย

ส่วนนายณรงค์ชัย อัครเศรณี บอกว่า กระทรวงพลังงานได้มีการวิเคราะห์แล้วและเห็นว่าระบบสัมปทานเป็นระบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยในปัจจุบัน ดังนั้นจึงยังคงเดินหน้าตามกรอบที่กำหนด เพื่อรักษาเกียรติยศของประเทศไทย เนื่องจากนโยบายเปลี่ยนแปลงจะทำให้นานาชาติไม่เชื่อถือกระทบต่อความเชื่อมั่นได้ ส่วนหน้าที่ของ สปช.คือให้คำแนะนำ เราก็จะนำมาดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง แต่กระทรวงพลังงานเป็นผู้ปฏิบัติ เราออกประกาศไปก็เพราะเห็นว่าเหมาะสมแล้วเพราะประเทศเราเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่ได้มีมากมาย ระบบสัมปทานจะเอื้อให้คนอยากมาสำรวจเพราะถ้าพบปิโตรเลียมน้อยก็จ่ายน้อย พบมากก็จ่ายมาก ส่วนกรณีมีผู้เสนอระบบแบ่งปันผลประโยชน์นั้น ถ้าพบว่าดีจริงก็จะทำได้ในการเปิดรอบหน้า

นั่นเท่ากับว่า ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ตลอดจนมติของ สปช.130 ต่อ 79 นั้น ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง เมื่อคนเป็นรัฐมนตรีพลังงานยืนกระต่ายขาเดียวจะเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตามกรอบเวลาเดิม

ย้อนไปก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 ครม.ได้เห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ. 8 ฉบับ เพื่อรองรับการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งขณะนี้ร่างทั้ง 8 อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ในช่วงประมาณเดือนเมษายนที่จะถึงนี้

ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 8 ฉบับนั้น ล้วนแต่มีเนื้อหาที่จะส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งสิ้น อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์,ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล,ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

และที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักคือ ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่จะมีการปรับเปลี่ยนบทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จากที่เคยเป็นองค์กรอิสระ ให้ไปอยู่ภายใต้ “คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่จะเปลี่ยนเป็นกระทรวงดิจิทัลฯ อ้างว่า ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ จะไม่มีผลทำให้ กสทช.ถูกยุบ แต่ก็ยอมรับว่า อำนาจการกำหนดนโยบายต่างๆ จะถูกโอนไปให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณา ขณะที่การกำกับดูแลยังคงเป็นหน้าที่ของ กสทช.เหมือนเดิม

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มีส่วนเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 5 ส่วน คือ 1.การทำแผนแม่บทคลื่นความถี่แห่งชาติ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2.แผนแม่บทกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์, แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม และแผนการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคม ต้องสอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 3.ยุบรวมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) 4.การประสานงานระหว่างประเทศให้อยู่ในความดูแลของรัฐบาล และ 5.เงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ที่ กสทช.ดูแลอยู่ จะโอนไปอยู่ภายใต้กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

เห็นได้ชัดว่า กสทช.แม้จะไม่ถูกยุบ แต่จะพ้นสภาพการเป็นองค์กรอิสระไปโดยปริยาย

ความเป็นองค์กรอิสระของ กสทช.นั้น เป็นหลักการสำคัญที่มีต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550

ทั้งนี้ มาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 และมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 มีบทบัญญัติเนื้อความเดียวกันว่า "คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตาม วรรคหนึ่ง และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

การเกิดขึ้นของ กสทช.มาจากการต่อสู้ของภาคประชาชน ภายหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 เพื่อให้การใช้คลื่นความถี่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุนหรือรัฐเท่านั้น

นับตั้งแต่ กสทช.เริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ เมื่อปลายปี 2553 แม้จะมีผลงานที่ยังไม่เข้าตาประชาชนเท่าใดนัก แต่การเปลี่ยนสถานะของ กสทช.ให้พ้นจากการเป็นองค์กรอิสระ ไปอยู่ภายใต้กระทรวงดิจิทัลฯ ถือเป็นการล้มล้างหลักการสำคัญที่เคยบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ อันได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

การเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญขนาดนี้ ควรอย่างยิ่งที่จะต้องผ่านการรับฟังความเห็นจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยใช้กลไกของ สปช.นั่นเอง

แต่รัฐบาลกลับใช้เพียงมติ ครม.ด้วยข้ออ้างเพียงแค่ว่า เพื่อสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล แล้วจะมี สปช.ไว้ทำไมกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น