xs
xsm
sm
md
lg

เปิดจุดอ่อนร่าง กม.ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล จี้ “บิ๊กตู่” ทบทวน หวั่นก่อปัญหาชาติในอนาคต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เครือข่ายภาคประชาชน โต้ รัฐต้องรอบคอบ ผลักดันร่างพระราชบัญญัติและร่างพระราชกฤษฎีกา 8 ฉบับเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล อาจกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ต่างชาติไม่เข้ามาลงทุน เกรงจะถูกล้วงข้อมูล และทำให้เกิดการคอร์รัปชัน ดึงอำนาจกลับคืนก่อนมีรัฐธรรมนูญปี 2540 อีกทั้งเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โฆษก กปปส. จี้รัฐทบทวนการตั้งหน่วยงาน หากเกิดในยุคนักเลือกตั้งเข้ามาบริหารจะทำให้สื่อครอบงำประชาชนได้ง่าย

ความเร่งรีบที่จะทำให้เศรษฐกิจดิจิตอลเกิดขึ้นภายในปีนี้ อาจจะทำให้รัฐบาลมองข้ามผลกระทบที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในช่วงนี้ เพราะหลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ “ร่างพระราชบัญญัติ และร่างพระราชกฤษฎีกา” เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดิจิตอลทั้ง 8 ฉบับ ให้ผ่านฉลุย เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2558 และจากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ผ่าน สนช. (สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อเตรียมนำมาประกาศใช้เป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลต่อไป

อย่างไรก็ดี ภายในร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอลที่กำลังผลักดันให้เดินหน้าทันทีนั้น ก็มีเสียงทักท้วงและความเห็นจากหลายฝ่าย ถึงร่างกฎหมายดังกล่าว ทั้งในเรื่องของการให้อำนาจแก่พนักงานและเจ้าหน้าที่รัฐมากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะถูกลิดรอน โดย 6 เครือข่ายภาคประชาชน รวมตัวกันแสดงความกังวลต่อร่างกฎหมาย และต้องการให้มีการทบทวนเนื้อหาต่างๆ ใหม่

การเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาชนมีเครือข่ายพลเมืองเน็ต ทำหน้าที่เป็นโต้โผใหญ่นำสมาคมคนตาบอด แห่งประเทศไทย, มูลนิธิโลกสีเขียว, เอฟทีเอ วอทช์ กลุ่มศึกษาข้อตกลง เขตการค้าเสรีภาคประชาชน, มูลนิธิเพื่อการศึกษาของชุมชน และสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน ได้เตรียมยื่นเสนอคัดค้านทั้ง 8 ร่าง และเสนอแก้ไขกฎหมายบางฉบับเท่าที่จะสามารถทำได้ ต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา

สำหรับร่างกฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิตอล” 8 ฉบับ ที่ตัวแทนภาคประชาชนขอให้มีการทบทวน หรือชี้แจง พ.ร.บ. ที่ต้องติดตามต่อไปว่าเรื่องราวจะจบลงอย่างไรนั้น ประกอบด้วย
1. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
2. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
3. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
4. ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
5. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล
6. ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
7. ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.)
8. ร่าง พ.ร.ฎ.การจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

จุดอ่อนกฎหมายดิจิตอล

นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ตกล่าวว่า 6 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาชนได้แสดงความคิดเห็นในทิศทางเดียวกัน และตั้งข้อสังเกตว่าร่างกฎหมายดิจิตอลทั้ง 8 ฉบับ เน้นทางด้านความมั่นคงมากกว่า การคุ้มครองสิทธิด้านข้อมูลข่าวสารของประชาชน และสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด คือ นายกรัฐมนตรีสามารถสั่งเจ้าหน้าที่รัฐ และบริษัทเอกชน เพื่อขอดูข้อมูลบนโลกไซเบอร์ อย่างอินเทอร์เน็ต ไลน์ เฟซบุ๊ก ของบุคคลได้ โดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล ซึ่งประเด็นนี้ถือว่าเป็นจุดที่อาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ที่สำคัญยังเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลให้ได้ตามเป้าหมายอย่างแท้จริง เพราะจะทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนลดลง เนื่องจากไม่มั่นใจเรื่องความลับทางการค้า
นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต
“ชุดกฎหมายโดยเนื้อแท้ ไม่ใช่กฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิตอล” แต่เป็นชุดกฎหมายความมั่นคง ไม่ได้ส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ทั้งยังคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิความเป็นส่วนตัวขั้นพื้นฐาน”

ไม่เพียงเท่านั้น ในร่างกฎหมายใหม่ที่เปิดช่องให้มีการนำคลื่นกลับมาอยู่ในมือของภาครัฐและกองทัพได้นั้น จะทำให้ภาพรวมกลับไปเหมือนยุคก่อนมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งทำลายหลักการที่ว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และทำลายกลไกการแข่งขันเสรีเป็นธรรม อีกทั้งทำลายความเป็นองค์กรอิสระของ กสทช.

ขณะเดียวกันที่ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตัดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรายได้ของ กสทช. ที่กำหนดตามวัตถุประสงค์เดิมว่าจะนำมาใช้เป็นกองทุนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ส่งเสริมคุ้มครองผู้บริโภค ส่งเสริมผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน การส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อของผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และส่งเสริมจริยธรรมการประกอบอาชีพออกทั้งหมด กลายสภาพเป็นกองทุนเพื่อให้รัฐและเอกชนกู้ยืม

หวั่นต่างชาติไม่เข้ามาลงทุนเกรงถูกล้วงลูก

ด้าน นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุว่า ร่างกฎหมายวาระแรก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการร่าง จากนั้นเมื่อสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้ามา ยังได้มีการเปลี่ยนคณะกรรมการโดยเฉพาะในส่วนของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งตัดคณะกรรมการด้านสิทธิและผู้บริโภคออกไป 3 ตำแหน่ง แต่เพิ่มกรรมการด้านความมั่นคงเข้ามาแทนที่ 2 ตำแหน่ง หลังจากนั้นก็รวบรัดออกร่างกฎหมาย

ร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านวาระที่สองมานั้น ถือว่าไม่เอื้อต่อเศรษฐกิจดิจิตอล ตรงกันข้ามกลับเป็นการทำลาย ทำให้บริษัทต่างชาติที่วางแผนจะเข้ามาดำเนินธุรกิจ วิตกและอาจจะไม่กล้าขยายธุรกิจเข้ามาในประเทศ

เห็นได้จากตัวอย่าง ประเทศที่พัฒนากฎหมายไซเบอร์แล้วเช่น ประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย หากเจ้าหน้าที่รัฐต้องการข้อมูลของประชาชนหรือข้อมูลทางธุรกิจจากบริษัทเอกชนนั้น ต้องใช้คำสั่งศาลเท่านั้น และเมื่อเร็วๆ นี้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ผู้นำสหรัฐอเมริกา ก็เพิ่งออกมากล่าวถึงปัญหาใหญ่ของประเทศในภาคธุรกิจที่มีการล้วงข้อมูลของผู้บริโภคนั้น ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งลิดรอนสิทธิส่วนบุคคล และต้องมีการแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นในประเทศ
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
อีกประเด็นที่สำคัญคือ การโอนอำนาจสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่า กสทช.จะมีผลงานไม่ดีตามที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงการจัดการงบประมาณยังมีการใช้จ่ายแบบสุร่ยสุร่าย และขาดการตรวจสอบที่ชัดเจนก็ตาม แต่ร่าง พ.ร.บ.นี้กลับมีหน่วยงานใหม่ขึ้นมาแทน ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษสามารถเข้าตลาดหุ้นได้ จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่าใครคือผู้ถือหุ้น เรื่องนี้ถ้าตั้งข้อสังเกตทำให้เข้าใจไปได้ว่าเป็น พ.ร.บ.ไซเบอร์ ที่รีบร้อนออกมาเพื่อเอาใจรัฐบาล

นอกจากนั้นความรีบร้อนของคณะรัฐมนตรีเพื่อจะผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลให้เกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด จึงเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้ออกแบบกฎหมายฉบับนี้รีบออกร่างกฎหมายอย่างเร่งรัด ซึ่งในจุดนี้อาจเป็นหนทางไปสู่การคอร์รัปชันระดับนโยบาย ที่รัฐไม่ควรปล่อยให้กฎหมายฉบับนี้ออกมาสร้างปัญหาในอนาคต จึงขอให้ตรวจสอบผลกระทบที่ตามมาอย่างรอบคอบเสียก่อน อยากให้มองว่าผลเสียที่ตามมานั้น มีมากกว่าข้อดี อย่ารีบร้อนเพียงเพราะคิดว่าเศรษฐกิจดิจิตอลจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยให้ดีขึ้นในเร็วๆ นี้

โฆษก กปปส.แจงพันธกิจต้องชัดเจน

ขณะที่ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) กล่าวว่า อยากให้มีการทบทวนและชี้แจงเรื่องพระราชบัญญัติ ที่รัฐบาลจะนำมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล เพราะยุคนี้การสื่อสารของประชาชนและบุคคลอย่างมีสิทธิเสรีภาพ และปราศจากการครอบงำเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ไม่ปฏิเสธเรื่องความมั่นคง เพราะช่วงที่ผ่านมา อาจมีคนบางกลุ่มละเมิดกฎหมายอย่างชัดเจน โดยพยายามจะใช้การสื่อสารในโลกไซเบอร์มาเป็นเครื่องมือบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ จึงเห็นว่าทั้งเสรีภาพและความมั่นคงเป็นเรื่องเดียวกัน แต่เมื่อดูถึงภารกิจทั้ง 2 เรื่องนั้นมีความขัดแย้งกันเอง
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส.
สำหรับทางออกในเรื่องนี้ คือ ภายในองค์กรเดียวกัน น่าจะมีการแบ่งแยก 2 หน่วยงาน คือ “หน่วยงานที่ดูแลความมั่นคง” และ “หน่วยงานด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชน” ออกจากกัน

ส่วนในการจัดตั้งหน่วยงานให้เป็นนิติบุคคล “ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ” นั้น ต้องมีความชัดเจน เช่น ตามกฎหมายต้องไม่มีการแสวงหาผลกำไร และในเรื่องพันธกิจคืออะไร การดูแลบริหารงานที่เป็นอิสระจากรัฐ ความเป็นอิสระของคณะกรรมการต้องไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี นายเอกนัฏ ย้ำว่า ภายใต้รัฐบาล พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา การแต่งตั้งหน่วยงานนี้จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ามีการเปลี่ยนเข้าสู่ระบบปกติ มีการเลือกตั้ง มีการบริหารภายใต้รัฐบาลใหม่ อาจจะเป็นช่องว่างในการหาแสวงหาผลประโยชน์ เช่น การใช้สื่อมาเป็นช่องทางของการหาเสียงครอบงำประชาชน ซึ่งถึงจุดนี้อยากให้มีการทบทวนหรือชี้แจง เพื่อการรักษาสิทธิเสรีภาพของภาคประชาชน

ดังนั้นแม้การผลักดันพระราชบัญญัติ 10 ฉบับ จะเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งมีเป้าหมายต้องการจะผลักดันเศรษฐกิจให้ดีขึ้นด้วยนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล แต่ต้องมองว่าจะเน้นความมั่นคงมากกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนย่อมเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ เพราะหากไม่แยกเรื่องดังกล่าวออกจากกันจะเป็นจุดอ่อนสร้างปัญหาในอนาคตได้

กำลังโหลดความคิดเห็น