xs
xsm
sm
md
lg

“พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์” เมื่อรัฐบาลรู้ทุกความลับของคุณได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไม่ต้องทำไม ให้ผ่านแล้วจะทำไมหรือ แล้วจะเป็นทำไมวะนายกฯเนี่ยจะเป็นทำไม” กลายเป็นวาทะร้อนแรงของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังถูกผู้สื่อข่าวจี้ถามถึงพ.ร.บ.ไซเบอร์ สร้างความสงสัยให้แก่ประชาชน เหตุใดท่านผู้นำที่เต็มไปด้วยอำนาจสั่งการเด็ดขาดจึงปล่อยวาทะแรงแบบนั้นออกมา

พ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิตอลล่าสุดที่ถูกตราหน้าจากหลายฝ่ายว่าเป็นพ.ร.บ.สอดไส้ที่แท้จริงกลับให้อำนาจรัฐเข้าถึงทุกข้อมูลความลับของประชาชน!!

พ.ร.บ.ที่ถูกเรียกโดยรวมๆ ว่าพ.ร.บ.เศรษกิจดิจิตอลนั้น ด้านหนึ่งก็มีขึ้นเพื่อรองรับกับยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีกฎหมายทั้งหมด 8 ฉบับด้วยกันได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์, ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, ร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมและร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ซึ่งหลายฉบับก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น โดยเฉพาะพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่ถูกมองจากหลายฝ่ายว่า เป็นพ.ร.บ.ที่ละเมิดสิทธิประชาชนถึงขั้นสามารถขอเข้าไปดูข้อมูลส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นในอินเทอร์เน็ต อีเมล ไลน์ แม้แต่จดหมายรัฐก็สามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด

อาทิตย์ สุริยวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต มองว่าทั้งหมดของร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิตอล และที่เกี่ยวข้องอีกรวมแล้ว 13 ฉบับ ดูเหมือนเป็นกฎหมายความมั่นคงมากกว่า!

โดยเขามองว่าจะส่งผลกระทบ 2 ประเด็น 1.ทรัพยากรพื้นที่การสื่อสารถูกบีบให้แคบลง จากที่ตอนนี้มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ที่จัดสรรคลื่นความถี่ ให้กลับไปเป็นแบบก่อนปี 2540 ทึ่รัฐดูแลคลื่นความถี่ทั้งหมดแจกจ่ายไปตามหน่วยงานต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ตกไปอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์และกองทัพ

และประเด็นที่ 2. คือการควบคุมที่เพิ่มขึ้น ทั้งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ไซเบอร์ มีการเข้าถึงข้อมูลเอกชน ดักรับข้อมูลประชาชนทั่วไปแต่ไม่มีกลไกคานอำนาจตรวจสอบ แม้ว่ารัฐควรมีอำนาจจัดการกับอาชญากรรมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นแต่อำนาจที่มากเกินไปอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

ผู้ประสานเครือข่ายพลเมืองเน็ตกล่าวอีกว่า เครือข่ายพลเมืองเน็ตร่วมกับ 5 องค์กรภาคประชาสังคม จะรวบรวมความเห็นจากผู้ประกอบการเพิ่มเติม ยื่นเหตุผลคัดค้านร่างกฎหมายทั้ง 10 ฉบับ ให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สายปฏิรูปสื่อ แต่จะไม่ส่งข้อเสนอแนะหรือเรียกร้องให้ สปช.ทำอะไรบ้าง เพราะเห็นว่าสปช.ไม่ได้มีที่มาที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ยังมีคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ดูแลกฎหมายภาพรวมที่อาจจะไปช่วยดูว่า ชุดร่างกฎหมาย 10 ฉบับนี้จะไปขัดกับกฎหมายที่มีอยู่แล้วหรือไม่ เพราะหลายฉบับก็มีความพยายามพูดถึงเรื่องคล้ายๆ กันนี้เหมือนกัน

พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ นั้นยังมีรายละเอียดที่น่าตกใจอย่าง มาตรา 10 ของร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ที่มีการขยายอำนาจเจ้าหน้าที่ในการดักจับ แฮกบัญชี แฮกคอมพิวเตอร์ และแฮกระบบได้โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องขออำนาจศาลในกรณีที่เชื่อว่ามีการทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

นอกจากนี้ ถ้าคิดว่าทำผิดกฎหมายอาญาอื่นๆ เจ้าหน้าที่ยังมีสิทธิ์แฮกข้อมูล ดักจับข้อมูล ยึดคอมพิวเตอร์ ยึดโทรศัพท์ และยึดอุปกรณ์โดยไม่ต้องขอหมายศาลอีกด้วย! ทว่าจนถึงตอนนี้ก็ยังเป็นข้อถกเถียงในด้านสิทธิและความมั่นคงว่าสิ่งไหนสำคัญกว่ากันในสังคมไทย

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754




กำลังโหลดความคิดเห็น