นายกฯ เป็นประธานประชุม รมต.อาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ยกไอซีทีมีบทบาทมากขึ้นสังคมโลก พัฒนาให้มีประโยชน์ด้านความมั่นคง ตอบสนองภัยคุกคามแฮกเกอร์ ใช้หนุนการศึกษา-เคลื่อนย้ายสินค้า เข้า AEC ต้องมั่นใจทำธุรกรรมต่างๆ ปลอดภัย ผุดไอเดียเปิดช่อง ASEAN Channel ไว้คุยกันฉับไว ชี้ฉุกเฉินช่วยกันทันท่วงที รมว.ไอซีทีสิงคโปร์สุดเฮฮา ขอเซลฟีร่วมนายกฯ
วันนี้ (22 ม.ค.) ที่โรงแรมแชงกรี-ลา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 14 โดยผู้เข้าร่วมงาน เช่น รัฐมนตรีด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศจากประเทศสมาชิกอาเซียน สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลีใต้ และอินเดีย ผู้แทนเลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศเลขาธิการอาเซียน
โดยนายกฯ กล่าวว่า เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที มีบทบาทมากขึ้นในสังคมโลกทั้งในระดับบุคคล ชุมชน ประเทศ และโลก เพราะเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันและกัน และการสื่อสารที่สะดวกรวดเร็ว ดังนั้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งซึ่งจะเป็นประโยชน์ในด้านความมั่นคงที่ใช้เครื่องมือไอซีทีเพื่อตอบสนองการป้องกันภัยคุกคามของอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ให้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ใช้สนับสนุนการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสแห่งความเท่าเทียมให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า ใช้อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และแรงงานระหว่างประเทศ
นายกฯ กล่าวต่อว่า การเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้ หลายฝ่ายต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านการเมือง และความมั่นคง เศรษฐกิจอาเซียนและสังคมวัฒนธรรมของอาเซียน การค้าการลงทุนต้องอาศัยโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการประกอบธุรกิจ ปัจจัยที่สำคัญที่จะสามารถสร้างความไว้ใจของผู้ใช้ได้ คือ การทำให้ทุกคน ทุกองค์กรมีความมั่นใจในการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการติดต่อ ในการทำธุรกรรมต่างๆ ว่ามีความปลอดภัย ด้วยการสร้างกฎ กติกา กลไกความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ผู้ประกอบการ กระตุ้นให้มีการให้บริการของผู้ประกอบการต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
นายกฯ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 98 ล้านเลขหมาย และกำลังจะกลายเป็น 100 ล้านเลขหมายในเวลาไม่ช้า มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 26 ล้านคน มีสถิติการใช้โปรแกรม Line ที่ 33 ล้านบัญชี มีการเชื่อมต่อผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น แม้ว่าส่วนใหญ่การใช้งานอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟน ยังไม่ใช่การนำมาใช้ในเชิงต่อยอดทางธุรกิจ แต่จะเป็นลักษณะของการใช้งานส่วนตัวก็ตาม ดังนั้น ทำอย่างไรจึงจะกระตุ้นให้เกิดการนำมาใช้ที่เป็นประโยชน์ในเชิงธุรกิจได้มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยกำลังผลักดันผ่านนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลจะต้องอาศัยการใช้ไปซีทีเป็นกลไกสำคัญ ในการปฏิรูปการผลิต การดำเนินธุรกิจ การค้า และบริการการศึกษา การสาธารณสุข บริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตคนในสังคม และการจ้างงานเพิ่มขึ้น
นายกฯ กล่าวต่อว่า ความร่วมมือด้านไอซีทีระหว่างสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำและการดำเนินการตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน 2015 ครอบคลุมยุทธศาสตร์ 6 ด้าน คือ การปฏิรูปเศรษฐกิจ การเสริมสร้างพลังแก่ประชาชน การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทุนมนุษย์ และการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี ตนเชื่อมั่นว่า ด้วยความพยายามของประเทศสมาชิกทุกคน ผู้นำทุกประเทศ มีความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการสนับสนุน ร่วมด้วยความสนับสนุนที่ดีของประเทศคู่เจรจา ประเทศที่ให้เกียรติมาประชุมในครั้งนี้ด้วย จะทำให้แผนแม่บทเหล่านี้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้
นายกฯ กล่าวอีกว่า ตนขออยากฝากความร่วมมือ 1. การเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ National Single Window เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่งข้ามแดนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันปริมาณการค้าระหว่างประเทศให้เพิ่มสูงขึ้นได้ 2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ โดยโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งจากงานวิจัยของธนาคารโลกได้ให้ข้อมูลไว้ว่า การเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตสามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยทุกๆการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ของอัตราการเข้าถึงบรอดแบนด์ จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของจีดีพีที่ร้อยละ 1.38 สำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงรายได้ปานกลาง
นายกฯ กล่าวว่า 3. ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งจะเสริมสร้างความมั่นคงในระดับประเทศและภูมิภาค ทั้งนี้ เราตระหนักดีว่าอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์สามารถสร้างผลกระทบเชิงลบในวงกว้างได้อย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการบั่นทอนโครงสร้างพื้นฐาน หรือการสร้างภัยอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตนจึงอยากขอเน้นย้ำว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนจำเป็นต้องมีแนวทางร่วมกันในการสร้างความมั่นคงปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาคมอาเซียนจะเป็นสังคมที่เปี่ยมด้วยความมั่นคงและสันติสุข ทั้งนี้ การเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมที่แข็งแกร่งในภูมิภาค ประเทศสมาชิกยังต้องมองไปข้างหน้าร่วมกันและเรียนรู้ที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
นายกฯ กล่าวต่ออีกว่า อาเซียนภายหลังปี 2558 เป็นยุคที่ไอซีทีได้เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมภาคส่วนอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจเข้าสู่การเป็นองค์ประกอบสำคัญในชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วไป ความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จะถูกขับเคลื่อนโดยแนวโน้มสำคัญ หรือ Mega Trend ด้านไอซีที ซึ่งประกอบไปด้วย เครือข่ายสังคมออนไลน์ การวิเคราะห์และจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การใช้ไอซีทีผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ ความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกไอซีที ได้เปิดโลกแห่งการสื่อสารให้กว้างไกลและเชื่อมโยงวิถีชีวิตของผู้คนเข้าด้วยกันในรูปแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็มีทั้งความท้าทายและภัยคุกคามรูปแบบใหม่
นายกฯ กล่าวด้วยว่า ตนขอฝากเรื่องการเพิ่มช่องสื่อสารภายในอาเซียนผ่าน ASEAN Channel เพื่อให้มีการติดต่อสื่อสาร ระหว่างอาเซียนได้อย่างฉับไวทันที หากเราเปิด ASEAN Channel ได้ เราจะสามารถร่วมมือกัน เพื่อนกันต้องรู้ว่าเพื่อนอยู่ยังไง สัปดาห์นี้เพื่อนสบายดีรึเปล่า เพื่อนมีความสุขไหม อากาศดีไหม การค้า เศรษฐกิจ ผลิตผลทางการเกษตรเป็นยังไงต้องคุยกัน เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ ถึงกันอย่างรวดเร็ว และเป็นอีกหนึ่งช่องทางสื่อสารพิเศษอาเซียน
“ผมขอฝากการบ้าน ถ้าสามารถเปิด ASEAN Channel ได้ ทุกประเทศในอาเซียนคุยกันได้ กำหนดหัวข้อมาว่าอาทิตย์นี้เราจะส่งข่าวถึงเพื่อนรักกันยังไง จะได้มีใจถึงกัน เหมือนกับเราส่งความห่วงใยให้กับเพื่อน ส่งความรัก ความคิดถึงให้กับคนในชาติ ประชาชนทุกระดับทุกฝ่าย ผมคิดว่าจะเป็นการเปิดช่องทางการสื่อสารที่เร็วที่สุด หากมีเหตุอะไรขึ้นมาก็จะช่วยเหลือกันได้ทันที พร้อมยังรับรู้สถานการณ์ต่างๆ เช่น น้ำท่วม ภัยพิบัติ โรคระบาด เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่รวดเร็วทันเวลา” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามการพบปะพูดคุยกันก็จำเป็น ทุกคนก็อยากไปเยี่ยมเยือนทุกประเทศเพื่อนำความเจริญก้าวหน้ามาปรับปรุงในประเทศ ทั้งนี้ตนขอฝากความระลึกถึงผู้นำทุกประเทศที่ให้เกียรติประเทศไทย และส่งรัฐมนตรีมาร่วมประชุมวันนี้ ถือว่าเราพร้อมที่จะเดินหน้าประเทศไปสู่ประชาคมอาเซียน และหวังว่าเราจะเป็นประชาคมอาเซียนที่ชาญฉลาดด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตามเป้าหมายหลักของการประชุมนี้
ทั้งนี้ ภายหลังกล่าวเปิดการประชุมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอาเซียนที่เข้าร่วมการประชุม ได้ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันอย่างเป็นทางการ เมื่อเสร็จสิ้นการถ่ายภาพหมู่ ดร.ยาคอบ อิบราฮิม (Dr.Yaacob lbrahim) รัฐมนตรีไอซีทีสิงคโปร์ ได้ขอถ่ายภาพแบบเซลฟีกับนายกฯ และรัฐมนตรีอาเซียนบนเวที โดยผู้เข้าร่วมการประชุมได้ปรบมือกันอย่างเกรียวกราว จากนั้นนายกฯ ได้เดินทางออกจากห้องประชุม โดยก่อนขึ้นรถเดินทางกลับ เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนศูนย์รวมใจสลัมคลองเตยที่ร่วมแสดงจินตลีลาในพิธีเปิดงานได้มาส่งนายกฯ ขึ้นรถ นายกฯ ได้กล่าวขอบใจเด็กๆ พร้อมระบุด้วยว่างานนี้มีความสำคัญต่อลูกหลานที่จะเป็นอนาคตและความหวังของชาติ ขณะที่เด็กๆ ได้เดินไปโบกมือลานายกฯ ขึ้นรถด้วย