xs
xsm
sm
md
lg

“กสม.” ไม่ขำด้วยสอบ “บุรีรัมย์ฯ” ลงโทษขาป่วนให้กะเทย “ตบจูบ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กสม.” คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่ตลกด้วยกับการลงโทษเหล่าบรรดาวัยรุ่นที่มาป่วนงาน GU12 Countdown 2015 ของทีม บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ด้วยการนำสาวประเภทสองมา “ตบ” แล้ว “จูบ” เพื่อเป็นการลงโทษ เล็งสอบชี้เข้าข่ายลงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

จากการนำเสนอผ่านข่าวของสื่อออนไลน์ เกี่ยวกับงาน GU12 Countdown 2015 ที่สนามไอโมบาย สเตเดียม ของสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา ได้นำเสนอถึงมาตรการการจัดการเหตุทะเลาะวิวาท โดยมีบทลงโทษ คือ 1. จะถูกปรับเงิน 100,000 บาท และส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย 2. จะถูกส่งขึ้นเวที “รักกันดีกว่า” โดยมี 2 ทางเลือก 2.1 ต้องตบแล้วจูบ ตบแล้วจูบ ๆ ๆ กับคู่กรณี จนกว่าจะรักกัน และ 2.2 ให้สาวประเภทสอง สั่งสอนด้วยการตบแล้วจูบ”

ซึ่งมีตัวแทนคณะทำงานการสนับสนุน ส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนข้ามเพศ ประกอบไปด้วย โครงการจัดตั้งมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิซิสเตอร์, กลุ่มพยูนศรีตรัง, คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ภาคีความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านเพศภาวะ เพศวิถีและสุขภาพ, ศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข สวัสดิการและสังคม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันการศึกษาที่มีประสบการณ์ในการทำงานเพื่อส่งเสริม สนับสนุนและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในมิติเพศภาวะ เพศวิถี และความเป็นธรรมทางเพศ ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกรณีมาตรการจัดการกับเหตุวิวาทในงานดังกล่าว โดยนายแพทย์ แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ บุคคลหลากหลายทางเพศ และการสาธารณสุขเป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว

ทั้งนี้ คณะทำงานมีความเห็นว่าจากมาตรการการลงโทษในการจัดการกับเหตุทะเลาะวิวาทในงานดังกล่าว ในข้อ 2.2 ระบุให้สาวประเภทสองสั่งสอนด้วยการตบจูบนั้น เป็นการดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาด ได้ทำให้เกิดการรับรู้ทางสังคมที่ทำให้ภาพลักษณ์ทางสังคมของคนข้ามเพศ (Transgender) ถูกมองว่าเป็นตัวตลก เชื่อมโยงกับความต้องการทางเพศ และเป็นบุคคลที่สามารถลงโทษหรือทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่นได้ ซึ่งนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานหรือการยอมรับว่าเป็นสิ่งปกติธรรมดาในสังคมไทย ตามหลักการสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ดังปรากฏในมาตราที่ 4 บัญญัติว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย การนำเอาอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) ของคนข้ามเพศ (Transgender) มาเป็นเงื่อนไขในการลงโทษ ถือเป็นการละเมิดคุณค่า และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อีกทั้งยังสร้างให้เกิดความเกลียดชังต่อคนข้ามเพศ (Tranphobia) ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดความรุนแรง การตีตรา และการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนสากล และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

ขณะที่ รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานโครงการจัดตั้งมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนามตัวแทนคณะทำงานฯ ขอเรียกร้องให้ผู้จัดงานทบทวนมาตรการและกลยุทธ์ทางการตลาด และจะต้องไม่ดำเนินการมาตรการและกลยุทธ์ดังกล่าวต่อไปอีก และเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกำหนดแนวทาง หรือระเบียบต่างๆ เพื่อเป็นแบบอย่างในการป้องกันการนำมิติทางเพศมาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด อันก่อให้อคติทางเพศ

ด้าน นายแพทย์ แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การนำอัตลักษณ์ของบุคคลไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามมาทำให้เป็นเรื่องตลกขบขัน หรือทำให้สังคมมองในลักษณะการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไม่ควรทำ ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะดำเนินการตรวจสอบ หากได้ผลอย่างไรจะแจ้งให้ผู้ร้องเรียนทราบต่อไป


คลิปการลงโทษดังกล่าวจาก Ohozaa Clip

* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น